“หมอประเวศ” กางยุทธศาสตร์สมานฉันท์ฯ กระจายอำนาจ-ปฏิรูปยุติธรรม-นำพาสันติสุข

ผู้วางแผนก่อความไม่สงบวางแผนอย่างแยบยลลึกซึ้งที่จะก่อให้เกิดความเกลียดชังและสงครามระหว่างเชื้อชาติ ล่อให้รัฐบาลหลงกลเข้าปราบปรามด้วยความรุนแรง เพื่อโหมกระแสความเกลียดชังไปสู่โลกอิสลามทั้งโลก ถ้าสังคมไทยไม่เข้าใจไปตกหลุมที่เขาดักล่อ จะเกิดสงครามระหว่างเชื้อชาติ …

21 เม.ย. 2548 ที่มา : นสพ.มติชน (20/04/48) )

 

ยุทธศาสตร์สมานฉันท์ฯ เพื่อสร้างเสริมภูมิคุ้มกันเต็มพื้นที่

โดย ศ.น
.พ.ประเวศ วะสี (รองประธานกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ)

1.ผู้ก่อความไม่สงบต้องการยั่วยุให้เกิดจลาจลขึ้นในไทย

ผู้วางแผนก่อความไม่สงบวางแผนอย่างแยบยลลึกซึ้งที่จะก่อให้เกิดความเกลียดชังและสงครามระหว่าง
เชื้อ  ชาติ ล่อให้รัฐบาลหลงกลเข้าปราบปรามด้วยความรุนแรง เพื่อโหมกระแสความเกลียดชังไปสู่โลกอิสลามทั้งโลก ถ้าสังคมไทยไม่เข้าใจไปตกหลุมที่เขาดักล่อ จะเกิดสงครามระหว่างเชื้อชาติ ที่ก่อความสูญเสียทุกทาง และแก้ไขไม่ได้แม้ในเวลาเป็นสิบๆ ปีหรือร้อยปี ดังที่เกิดขึ้นในแอฟริกาใต้ ในตะวันออกกลาง ในศรีลังกา ในพม่า เป็นต้น คนไทยทุกฝ่ายจึงควรมีความเป็นเอกภาพในความเข้าใจสถานการณ์ของความไม่สงบใน
3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และร่วมกันสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้นให้จงได้

2.แนวคิดเรื่องภูมิคุ้มกัน

ร่างกายของเราเป็นระบบที่ดีที่สุด ในร่างกายของเรามีเชื้อโรคและมีเซลล์มะเร็งเกิดขึ้นทุกวัน แต่เราไม่เป็นโรคติดเชื้อและไม่เป็นมะเร็ง เพราะเรามีภูมิคุ้มกัน ภูมิคุ้มกันจะจำกัดหรือขจัดเชื้อโรคและเซลล์มะเร็ง แต่ถ้าภูมิคุ้มกันบกพร่อง เชื้อโรคและเซลล์มะเร็งจะลุกลาม ทำให้ป่วยและเสียชีวิต ดังในกรณีคนเป็นโรคเอดส์

สังคมก็เช่นเดียวกัน จะไปห้ามไม่ให้มีคนคิดร้ายไม่ได้ แต่ถ้าสังคมมีภูมิคุ้มกันก็ไม่เกิดเรื่องร้ายถึงจะมีเชื้อโรคหรือเซลล์มะเร็งทางสังคม ถ้าสังคมมีภูมิคุ้มกันบกพร่อง เรื่องเล็กก็จะลุกลามเป็นเรื่องใหญ่ และตายทั้งสังคมได้

ความสมานฉันท์และความยุติธรรม คือ ภูมิคุ้มกันทางสังคม

3.ความสมานฉันท์เป็นทั้งวิธีการและเป้าหมาย

ในเรื่องยากๆ และสลับซับซ้อน ไม่มีใครคนใดคนหนึ่ง หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะแก้ปัญหาได้ ความรู้-รัก-สามัคคี หรือความร่วมมือกันระหว่างทุกฝ่าย จะทำให้เกิดพลังสร้างสรรค์มหาศาลที่จะเอาชนะสิ่งยาก การรวมตัวร่วมคิดร่วมทำในทุกพื้นที่ ในทุกองค์กร และในทุกเรื่อง จะทำให้แก้ไขปัญหาและสร้างความเจริญที่แท้จริงได้ ความสมานฉันท์หรือการรวมตัวร่วมคิดร่วมทำจึงเป็นเครื่องมือแก้ไขปัญหาที่ยากและสลับซับซ้อน

ในขณะเดียวกัน ความสมานฉันท์ยังเป็นเป้าหมายและผลของการพัฒนาอีกด้วย เพราะความสมานฉันท์หมายถึงความถูกต้องลงตัว ความบรรสานสอดคล้อง(harmony) ความสงบ สันติภาพ อันเป็นที่พึงปรารถนาของคนส่วนใหญ่

ฉะนั้น การที่รัฐบาลโดยเฉพาะท่านนายกรัฐมนตรี ตัดสินใจใช้ยุทธศาสตร์สมานฉันท์ จึงเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะไม่ใช่จะเหมาะกับการสร้างสันติสุขใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เท่านั้น แต่ใช้ได้ทั้งประเทศทีเดียว ทั้งหมดเป็นตัวอย่างของกระบวนการนโยบายสาธารณะอย่างยิ่งยวด

4.ปัจจัยแห่งความสมานฉันท์และสันติสุข

ความสมานฉันท์และสันติสุขจะมีได้ก็ต่อเมื่อ (1) ทุกคนมีเกียรติและมีศักดิ์ศรี (2) ทุกคนมีส่วนร่วมในการปกครองตนเอง (3) สังคมมีความยุติธรรม (4) มีความกรุณา รู้จักขอโทษ รู้จักให้อภัย

ซึ่งขยายความพอสังเขปดังนี้

(1) ทุกคนมีเกียรติและมีศักดิ์ศรี การเคารพศักดิ์ศรีและคุณค่าความเป็นคนของคนทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ก่อให้เกิดความรัก การอยากอยู่ร่วมกัน การรังเกียจเดียดฉันท์ดูถูกดูแคลนเพราะเชื้อชาติ ศาสนา สีผิว นำไปสู่การไม่อยากอยู่ร่วมกัน ความขัดแย้ง การอยากแยกประเทศ ความรุนแรงและสงคราม

ประเทศไทยต้องการการปรับปรุงเรื่องนี้อีกมาก วิธีเรียนประวัติศาสตร์ของเราในอดีตก่อให้เกิดความเกลียดชังคนเชื้อชาติอื่น เรามักจะนึกว่าคนเชื้อชาติไทยเท่านั้นเป็นคนไทย แต่คนเชื้อชาติอื่นเป็นเจ๊ก เป็นลาว เป็นญวน เป็นแขก ประเทศที่มีสันติสุข เช่น สวิตเซอร์แลนด์มีการอยู่ร่วมกันระหว่างคนเชื้อชาติต่างกันไม่ว่าคนพูดภาษาเยอรมัน หรือฝรั่งเศส หรืออิตาเลียน ต่างมีความรู้สึกว่าเป็นคนสวิสร่วมกัน หรืออย่างในอเมริกามีพลเมืองหลายเชื้อชาติมาก แต่ทุกคนเป็นคนอเมริกันหมด

เราต้องนิยามความเป็นคนไทยใหม่ว่าหมายถึงคนสัญชาติไทย โดยไม่คำนึงเชื้อชาติ ศาสนา ทุกคนเป็นคนไทยเหมือนกัน มีศักดิ์ศรีและมีคุณค่าแห่งความเป็นคนเหมือนกัน แล้วร่วมกันสร้างดินแดนแห่งนี้ให้เป็นดินแดนแห่งสันติสุข และความงดงาม

(2) ทุกคนมีส่วนร่วมในการปกครองตนเอง การเคารพศักดิ์ศรีและคุณค่าความเป็นคนของคนทุกคน ตามที่กล่าวข้างต้น เป็นรากฐานความดีงามทั้งปวง เช่น ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน ความยุติธรรม การพัฒนาอย่างมีศีลธรรม ฯลฯ

มนุษย์ต้องสามารถปกครองตนเองได้จึงจะเกิดสันติสุข เช่น ครอบครัวของเราถ้าให้คนอื่นมาปกครองเห็นจะลำบาก หรือประเทศของเรา ถ้าให้คนชาติอื่นมาปกครองไม่ว่าเขาจะดีหรือเก่งเพียงใด ก็เห็นจะลำบาก เพราะไม่มีทางทำให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมและความต้องการของเราได้ ไม่ต้องพูดถึงคอร์รัปชั่นและความฉ้อฉลของผู้มีอำนาจปกครอง

ในทำนองเดียวกัน ชุมชนท้องถิ่นต่างๆ มีความหลากหลายสุดประมาณ ไม่มีทางที่การปกครองโดยรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลางจะทำให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมและความต้องการของชุมชนท้องถิ่นได้ ไม่ต้องพูดถึงคอร์รัปชั่นและความฉ้อฉลซึ่งมากับอำนาจเสมอ การปกครองรวมศูนย์อำนาจจึงนำมาซึ่งความขัดข้อง ความขัดแย้ง และความไร้ประสิทธิภาพ

ไม่มีประเทศไหนเจริญได้ถ้าไม่กระจายอำนาจการปกครองไปสู่ท้องถิ่น สหรัฐอเมริกาเป็น “สหรัฐ” มาตั้งแต่ตั้งประเทศจึงแข็งแรงโดยรวดเร็ว สวิตเซอร์แลนด์ซึ่งเป็นประเทศเล็กกว่าเราก็แบ่งการปกครองเป็นหลายแคนตอน เยอรมนีแบ่งออกเป็นหลายแคว้น มาเลเซียมีหลายรัฐและมีสุลต่านและมุขมนตรีของแต่ละรัฐด้วยซ้ำ ทั้งหมดก็มีประเทศเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เราต้องออกจากมายาคติที่ว่าประเทศไทยเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แล้วกระจายอำนาจการปกครองไปสู่ท้องถิ่นไม่ได้ คิดอย่างนั้นขัดรัฐธรรมนูญเสียด้วยซ้ำ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 มาตรา 78 บัญญัติว่ารัฐต้องกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นพึ่งตนเองและตัดสินใจในกิจการท้องถิ่นได้เอง…รวมทั้งพัฒนาจังหวัดที่มีความพร้อมให้เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดใหญ่ โดยคำนึงถึงเจตนารมณ์ของประชาชนในจังหวัดนั้น”

กทม.ยังเลือกตั้งผู้ว่าราชการของตัวเอง ในอนาคต “เชียงใหม่มหานคร” “นครราชสีมามหานคร” “อุบลราชธานีมหานคร” “ปัตตานีมหานคร” จะเลือกผู้ว่าราชการของตัวเองบ้างได้ไหม หรือจะเรียกกลุ่มจังหวัดว่ามณฑลแบบของเก่าก็ได้

เราต้องจำไว้อย่างหนึ่งว่า ที่ใดมีการรวมศูนย์อำนาจ ที่นั่นอยากแยกตัว ที่ใดมีการกระจายอำนาจ ที่นั่นอยากอยู่ร่วม

ขณะนี้ชุมชนหลายแห่งในประเทศไทยทำการวิจัยเรื่องของตนเองและทำแผนแม่บทชุมชน มีการขับเคลื่อนแผนพัฒนาที่ตัวเองทำเองอย่างสอดคล้องกับวัฒนธรรมชุมชน เกิดความอยู่เย็นเป็นสุข ตำบลไม้เรียง จังหวัดนครศรีธรรมราช ที่ลุงยงค์แม็กไซไซเป็นผู้นำ เป็นต้นแบบของการทำแผนแม่บทชุมชน ควรสนับสนุนให้ชุมชนทุกตำบลใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้สามารถทำวิจัยเรื่องของตนเอง ทำแผนแม่บทชุมชน และขับเคลื่อนแผนพัฒนาชุมชนด้วยตนเอง นำไปสู่การพัฒนาอย่างบูรณาการที่สอดคล้องกับวัฒนธรรม เกิดความสมานฉันท์และร่มเย็นเป็นสุขเต็มพื้นที่

(3) สังคมมีความยุติธรรม ถ้าชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็ง และมีการปกครองตนเอง ความยุติธรรมก็เกิดง่ายขึ้น แต่ก็ยังมีโครงสร้างบางอย่างที่ก่อให้เกิดความอยุติธรรม เกินความสามารถของชุมชนท้องถิ่นที่จะจัดการได้ รัฐต้องตั้งเป็นวาระแห่งชาติที่จะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้เกิคความยุติธรรม เมื่อสังคมมีความยุติธรรม ใครๆ ก็อยากที่จะอยู่ร่วมกัน

(4) มีความกรุณารู้จักขอโทษ รู้จักให้อภัย สังคมจะมีแต่การแข่งขันต่อสู้กันแบบตาต่อตาฟันต่อฟันเท่านั้นไม่ได้ เพราะจะเกิดความร้าวฉานและรุนแรงและจะเก็บความเจ็บปวดเจ็บแค้นพยาบาทกันชั่วลูกชั่วหลานไม่ได้ เพราะจะไม่เกิดความสงบสุข ในความเป็นมนุษย์ต้องมีความกรุณา รู้จักขอโทษ รู้จักให้อภัย จึงจะอยู่ร่วมกันด้วยความสุขได้ ในสังคมใดๆ รัฐอาจจะทำผิดพลาดและรุนแรงกับคนบางคน บางกลุ่ม บางเผ่า จึงมีธรรมเนียมว่าผู้ที่ดำรงตำแหน่งที่มีอำนาจ เช่น ประธานาธิบดี นายกรัฐมนตรี พระสันตะปาปา จะเป็นผู้กล่าวคำขอโทษในสิ่งที่ตนเองไม่ได้ทำ แต่สถาบันที่ตนดำรงตำแหน่งสืบแทนเป็นผู้ทำ เช่น คลินตัน เมื่อดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ในนามของรัฐบาล กล่าวคำขอโทษประชาชนในสิ่งที่รัฐบาลก่อนหน้านั้นทำผิดพลาดไว้ หรือพระสันตะปาปา จอห์น ปอล ที่ 2 ที่เพิ่งล่วงลับไป ได้กล่าวคำขอโทษต่อองค์กร เผ่าพันธุ์ต่างๆ ที่คริสตจักรเคยทำผิดพลาดไว้ในอดีต เมื่อมีการกล่าวคำขอโทษ และมีการให้อภัย จะลบล้างแผลในจิตใจที่ค้างคาอยู่ให้จางหายไป แล้วกลับมาสมานฉันท์กันได้

ความรุนแรงในภาคใต้ได้ก่อให้เกิดบาดแผลทางจิตใจอย่างลึกและยากที่จะลบออกด้วยการฝังกลบหรืออธิบายด้วยเหตุผลใดๆ รัฐบาลควรจัดพิธีอโหสิกรรมแห่งชาติ นายกรัฐมนตรีควรเป็นผู้นำ ในนามของรัฐบาล กล่าวคำขอขมาลาโทษ หากรัฐตั้งแต่ในอดีตจนปัจจุบันได้ทำการใดๆ ที่เป็นการล่วงเกินประชาชน ทุกคนทุกฝ่ายที่ร่วมพิธีกรรมรำลึกถึงว่าตนอาจเคยล่วงเกินซึ่งและกันอย่างไรบ้าง กล่าวคำขอขมาลาโทษต่อกันและกัน และมีการกล่าวคำให้อภัยต่อกันและกัน มหาอภัยธรรมจะชำระล้างความหมักหมมทางจิตใจออกไป เพื่อให้คนไทยทั้งปวงมีความสมานฉันท์ เกิดพลังแผ่นดินในการเยียวยาโรคาพยาธิทางสังคม ให้สามารถพัฒนาไปสู่สันติสุขได้

ปัจจัยทั้ง 4 เหล่านี้ ถ้าก่อให้เกิดขึ้น จะนำไปสู่ความสมานฉันท์และสันติสุข

ตามหลักการดังกล่าวมาทั้งหมดข้างต้น อาจมีแนวทางการดำเนินการ 10 ประการดังต่อไปนี้

(1) เยียวยาผู้สูญเสียทุกฝ่ายอย่างทั่วถึง ฉับไว และมีน้ำใจ ปล่อยตัวผู้ถูกจับกุมคุมขังในกรณีก่อความไม่สงบหากไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าประกอบอาชญากรรม พิจารณาออกกฎหมายนิรโทษกรรมแก่ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย เพื่อสร้างบรรยากาศแห่งความสมานฉันท์ เปิดเผยเอกสารสอบสวนกรณีกรือเซะและตากใบ ตั้งคณะกรรมการอิสระติดตามผู้สูญหาย

(2) จัดทำเอกสารหลักของยุทธศาสตร์สมานฉันท์และความยุติธรรม เผยแพร่อย่างกว้างขวาง ให้ประชาชนและทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมให้ข้อเสนอแนะ รัฐบาลควรขอให้สื่อมวลชนของรัฐและเอกชนเผยแพร่และส่งเสริมการมีส่วนร่วมในยุทธศาสตร์สมานฉันท์และความยุติธรรมอย่างกว้างขวาง

(3) ยกร่างคำสั่งนายกรัฐมนตรีเรื่องยุทธศาสตร์สมานฉันท์และความยุติธรรมเพื่อให้เป็นระเบียบวาระแห่งชาติ

(4) ซักซ้อมทำความข้าใจกับข้าราชการที่ปฏิบัติงานหรือจะไปปฏิบัติงานใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในยุทธศาสตร์สมานฉันท์และความยุติธรรม รวมทั้งพัฒนาทักษะสันติวิธี

(4) จัดพิธีอโหสิกรรมแห่งชาติ โดยนายกรัฐมนตรีเป็นผู้นำทุกฝ่ายในการกล่าวคำขอขมาลาโทษ หากมีการล่วงล้ำก้ำเกินกัน และมีการให้อภัย

(5) จัดการประชุมสมัชชาแห่งชาติ เพื่อนิยามความเป็นไทยว่าหมายถึงคนสัญชาติไทย ไม่ว่าจะมีเชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ หรือศาสนาใด และจุดประกายเรื่องการเคารพศักดิ์ศรีและคุณค่าความเป็นคนของคนทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน เพื่อรวมความรู้สึกของคนไทยทั้งมวลในการสร้างดินแดนแห่งนี้ให้มีสันติสุขและความงดงาม

(6) ส่งเสริมความร่วมมือของทุกฝ่ายในพื้นที่ในการคลี่คลายปัญหา และส่งเสริมให้เกิดเครือข่ายสมานฉันท์และสันติวิธีขยายตัวเต็มพื้นที่

(7) ส่งเสริมการรวมตัวของคนในชุมชนทุกตำบล ทำการวิจัยเรื่องของตนเอง นำผลมาทำแผนแม่บทชุมชน ซึ่งเป็นแผนการพัฒนาอย่างบูรณาการอันสอดคล้องกับวัฒนธรรมชุมชนท้องถิ่น และขับเคลื่อนการพัฒนาไปสู่ความอยู่เย็นเป็นสุขเต็มพื้นที่

(8) ทบทวนและเสริมสร้างให้เกิดความยุติธรรมเต็มพื้นที่ ควรเชื้อเชิญผู้พิพากษา อัยการ และทนายความ ทั้งหมดใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้มีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ในการปฏิรูประบบความยุติธรรม

(9) จัดให้มีการปรึกษาหารือกันอย่างจริงจังถึงการกระจายอำนาจการปกครองไปสู่ท้องถิ่นตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ หากเป็นการสมควรส่งเสริมให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการ “ปัตตานีมหานคร” ทำนองเดียวกับ กทม. ทั้งนี้ โดยรวมปัตตานี ยะลา และนราธิวาส หรือจะเรียกเป็นมณฑลตามของเก่าก็ได้ ซึ่งจะทำให้เงื่อนไขการแบ่งแยกดินแดนลดลงทันที

ที่นำเสนอนี้ในนามส่วนตัวไม่ใช่เอกสารของคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ เพื่อให้ฝ่ายต่างๆ และสาธารณะใช้ประกอบการพิจารณาตามสมควร

ขอให้เพื่อนคนไทยร่วมกันฝ่าฟันเอาชนะอุปสรรคต่างๆ สร้างดินแดนแห่งนี้ของเราให้มีสันติสุข และความงดงาม

Be the first to comment on "“หมอประเวศ” กางยุทธศาสตร์สมานฉันท์ฯ กระจายอำนาจ-ปฏิรูปยุติธรรม-นำพาสันติสุข"

Leave a comment

Your email address will not be published.