รายงานพิเศษ
โดย แสงอุทัย ศรีนาคร
ดังกล่าวแล้วว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมีความก้าวหน้ากว่ารัฐธรรมนูญ “ฉบับธงเขียว” (ปี 2540) โดยจุดต่างที่เป็นจุดแข็งของ “ผลไม้พิษ”
ลูกนี้ก็คือ เกือบทุกมาตราที่เป็นหลักประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชน จะไม่มีศัพท์บัญญัติพ่วงท้ายว่า “ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ” เหมือนที่ผ่านมา ฝ่ายการเมืองจึงไม่สามารถใช้เทคนิค “ดองกฎหมายลูก” เพื่อลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามความคุ้นชิน
ประการสำคัญก็คือ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังได้ขยายสิทธิแก่ชุมชนบนพื้นฐานความเป็นจริงในสังคมปัจจุบัน ที่มีชุมชนใหม่ๆ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตามพลวัตรทางเศรษฐกิจ โดยได้ขยายสิทธิชุมชนจากที่เคยคุ้มครองเฉพาะ “ชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม” ให้ครอบคลุม “ชุมชนใหม่และชุมชนร่วมสมัย” กล่าวคือ “บุคคลซึ่งรวมกันเป็นชุมชน ชุมชนท้องถิ่น หรือชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม ย่อมมีสิทธิอนุรักษ์หรือฟื้นฟูจารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่นและของชาติ และมีส่วนร่วมในการจัดการ การบำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม รวมทั้งความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืน” (มาตรา 66)
หมายความว่า ชุมชนชนทุกแห่งไม่ว่าเก่าหรือใหม่ ไม่ว่าใหญ่หรือเล็ก ย่อมได้รับความคุ้มครองอย่างเท่าเทียมกันตามบทบัญญัตินี้ และยังมีภูมิคุ้มกันรองรับอย่างต่อเนื่องคือ “การดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ จะกระทำมิได้ เว้นแต่จะได้ศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในชุมชน และจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียก่อน รวมทั้งได้ให้องค์การอิสระซึ่งประกอบด้วยผู้แทนองค์การเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากรธรรมชาติหรือด้านสุขภาพ ให้ความเห็นประกอบก่อนมีการดำเนินการดังกล่าว” (มาตรา 67 วรรคสอง)
อันเป็นเงื่อนไขใหม่ที่ไม่มีในรัฐธรรมนูญฉบับก่อน และเป็นเงื่อนไขแห่งชัยชนะของ “ชุมชนมาบตาพุด” ในการหยุดยั้งโรงงานอุตสาหกรรมที่จะซ้ำเติมวิกฤตด้านสิ่งแวดล้อม โดยที่ศาลปกครองหาได้คำนึงว่าโรงงานใดได้รับใบอนุญาตก่อสร้างแล้วหรือไม่ เนื่องจากคุณูปการแห่งเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญดังกล่าว
ดังนั้น หากใช้บรรทัดฐานเดียวกันจึงน่าเชื่อว่า กระทรวงคมนาคม โดยกรมทางหลวง คงไม่สามารถเดินหน้าโครงการทางหลวงพิเศษหมายเลข 6 สายบางปะอิน – นครราชสีมา หรือ “มอเตอร์เวย์ บางปะอิน – โคราช” มูลค่า 60,000 ล้านบาท เพราะขณะนี้หลายชุมชนใน อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ได้ผนึกกำลังเดินหน้ารณรงค์คัดค้านโครงนี้อย่างจริงจัง หลังจากที่ก่อนหน้านี้คนส่วนใหญ่ต่างไม่ทราบข้อมูลเท่าที่ควรว่า “โครงการนี้(จะ)ผลาญชาติและทำลายชุมชนอย่างไร”!?
“กลางดง – ขนงพระ – ป ากช่อง” ประณาม…มอเตอร์เวร!
เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2553 คณะอนุกรรมาธิการส่งเสริมภาคประชาชนมีส่วนร่วมป้องกันการทุจริต และตรวจสอบการดำเนินการของรัฐ วุฒิสภา ได้เดินทางไปสำรวจแนวเขตก่อสร้าง “มอเตอร์เวย์ บางปะอิน – โคราช” ในพื้นที่ ต.กลางดง, ต.หนองน้ำแดง, ต.หนองสาหร่าย, ต.ขนงพระ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา และเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการ ณ หอประชุมที่ว่าการ อ.ปากช่อง โดยคณะกรรมาธิการฯ เดินทางไปถึงเวทีในช่วงบ่าย ท่ามกลางการต้อนรับด้วยรอยยิ้มและแววตาแห่งความหวังของมีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 700 คน พร้อมด้วยป้ายหลากหลายข้อความคัดค้าน โดยข้อความที่สดุดตามากที่สุดก็คือ “ชาวปากช่อง ไม่เอามอเตอร์เวร” ทั้งนี้ ผลการประชุมรับฟังความคิดเห็นดังกล่าวสรุปได้ดังนี้
นายไพบูลย์ นิติตะวัน ประธานคณะอนุกรรมาธิการส่งเสริมภาคประชาชนมีส่วนร่วมป้องกันการทุจริต และตรวจสอบการดำเนินการของรัฐ ในฐานะประธานในที่ประชุม กล่าวเปิดการประชุมว่า จากการตรวจสอบโครงการต่างๆ ของรัฐบาล พบว่าหลายโครงการไม่ได้ทำเพื่อประชาชน แต่ใช้ประชาชนบังหน้าเพื่อเอื้อประโยชน์แก่ผู้รับเหมา โดยไม่คำนึงว่าประชาชนจะเดือดร้อน โครงการใหญ่ๆ ล้วนมีความไม่โปร่งใสและส่อทุจริต เช่น โครงการเช่ารถเมล์ NGV 60,000 ล้านบาท ซึ่งเกี่ยวข้องกับกลุ่มบุคคลเดียวกันที่จ้องจะผลาญชาติในโครงการมอเตอร์เวย์ บางปะอิน – โคราช ที่จะทำลายวิถีชีวิตและการค้าขายของประชาชน 2 ฝั่งถนนมิตรภาพ ดังนั้น คณะกรรมาธิการจึงต้องมาตรวจสอบข้อเท็จจริงและรับฟังความคิดเห็น เพื่อสรุปข้อมูลและข้อเสนอต่อนายกรัฐมนตรี (นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ) ขณะนี้เห็นได้ชัดว่าการจัดประชาพิจารณ์ที่ผ่านมาของกรมทางหลวงนั้นไม่ชอบ ดังนั้น ประชาชนควรจะร้องต่อศาลปกครองให้คุ้มครองและระงับโครงการที่ผลาญชาติและทำลายชุมชน
หนุนพัฒนารถไฟไม่ต้องเวนคืน : กรุงเทพฯ – โคราช 30 นาที
นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ เลขาธิการสมัชชาประชาชนแห่งประเทศไทย ในฐานะวิทยากรรับเชิญ แสดงความคิดเห็นว่า โครงการมอเตอร์เวย์ บางปะอิน – โคราช เริ่มต้นอย่างเงียบๆ มานานแล้ว โดยมีการเปิดเวทีประชาพิจารณ์แบบ “ลักปิด-ลักเปิด” คือไม่บอกว่าจะคุยเรื่องมอเตอร์เวย์ และใช้สถานที่อันมิดชิด โดยข้อสรุปที่ได้ก็คือ ไม่มีทางเลือกในการพัฒนาเส้นทางรถไฟ เพราะแหล่งเงินกู้จากญี่ปุ่น มีเงื่อนไขให้กู้ได้เพื่อสร้างถนนอย่างเดียว จึงเป็นที่มาของทางหลวงพิเศษ ระยะทาง 199 กิโลเมตร ต้นทุนรวม 300 ล้านบาท/ก.ม.โดยอ้างว่าเพื่อให้จราจรคล่องตัว ทั้งๆ ที่ใช้ความเร็วได้เพียง 120 ก.ม./ช.ม.เท่ากับถนนมิตรภาพ หากเปลี่ยนเป็นการพัฒนาเส้นทางรถไฟจะไม่ต้องเวนคืนที่ดิน และหากขยายขนาดรางใหม่ให้ได้มาตรฐานโลก คือ 1.435 เมตร (รถไฟไทยใช้ราง 1 เมตร) รถไฟบรรทุกจะวิ่งได้ 120 ก.ม./ช.ม. ส่วนรถไฟโดยสารจะวิ่งได้ 150 ก.ม./ช.ม. ปัจจุบันรถไฟของจีนสาย “ปักกิ่ง-เทียนสิน” (ความเร็ว 250 ก.ม./ช.ม.) ใช้เวลาวิ่งเพียง 28 นาที ต้นทุนไม่ถึง 300 ล้านบาท/ก.ม. ดังนั้น เส้นทาง “กรุงเทพฯ – โคราช” หากเป็นรถไฟความเร็วสูงจะใช้เวลาวิ่งไม่ถึง 30 นาที
นายไชยวัฒน์ กล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีถูกข้าราชการหลอกว่ารถไฟของเวียดนามและมาเลเซียใช้รางขนาด 1 เมตร แต่ความจริงเวียดนามกำลังเปลี่ยนมาใช้รางขนาด 1.435 เมตร โดยจะแล้วเสร็จใน 2563 นอกจากนี้ยังมีแผนแม่บทระยะยาวถึง 40 ปีในการพัฒนาระบบรางด้วยงบประมาณ 1.7 ล้านล้านบาท (ใช้เงิน 4-5 หมื่นล้านบาท/ปี ในการพัฒนาระบบราง) สำหรับประเทศไทยตั้งแต่มีการใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 4 เป็นต้นมา (พ.ศ.2520) ไทยใช้เงินในการสร้างถนนมากกว่าระบบรางถึง 10 เท่า/ปี ส่วนประเทศจีนประกาศใช้รถไฟเป็นหลักในสมัย “เหมาเจ๋อตง” (พ.ศ.2483) โดยลอกแบบแผนพัฒนารถไฟหลวงของรัชกาลที่ 5 ปัจจุบันจีนมีรถไฟ ระบบราง และสถานีมากที่สุดในโลก และกำลังพัฒนารถไฟให้มีความเร็วถึง 450 ก.ม./ช.ม.
นายไชยวัฒน์ เปิดเผยด้วยว่า จีนได้ตั้งกองทุนเพื่อการพัฒนาอาเซียนขึ้น ปรากฏว่าไทยเป็นประเทศเดียวที่ไม่ขอกู้เงินจากกองทุนฯ มาพัฒนาการขนส่งระบบราง เพราะข้าราชการไทยอ้างว่าดอกเบี้ยของจีนแพงกว่าญี่ปุ่น โดยไม่คำนึงว่าเงินกู้จากญี่ปุ่นสร้างถนนได้อย่างเท่านั้น ประเด็นสำคัญส่งท้ายก็คือ ในอนาคตรางรถไฟทั่วโลกจะมีขนาด 1.435 เมตร แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม (นายโสภณ ซารัมย์) กลับยืนกรานว่าไทยต้องใช้ราง 1 เมตรเท่านั้น ขณะที่นายกรัฐมนตรีเน้นนโยบายให้รถไฟไทยเชื่อมรางกับต่างประเทศ แล้วจะเชื่อมกันได้อย่างไร
ยันอีไอเอเก่าไม่สมบูรณ์ : ทางขึ้น-ลงส่อเอื้อประโยชน์โบนันซ่า
หม่อมหลวงวัลย์วิภา จรูญโรจน์ นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะอนุกรรมาธิการฯ แสดงความเห็นว่า ชาวบ้าน ต.กลางดง ผู้ค้าแผงลอยริมทางหลายคนถามว่า “ไม่เอาโครงการนี้แล้วจะค้านอย่างไร” ก็ได้มีการชี้ประเด็นแล้วว่า การประชาพิจารณ์ที่ผ่านมาไม่สมบูรณ์ เพราะฉะนั้นต้องฟ้องศาลปกครอง เนื่องจากมอเตอร์เวย์ บางปะอิน – โคราช เป็นโครงการใหญ่ ต้องทำ EIA (การศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม) ซึ่งผ่านการอนุมัติ EIA เดือนพฤศจิกายน 2549 ถามว่า EIA สมบูรณ์หรือไม่ ขณะนี้เส้นทางบางจุดยังไม่แน่ชัด แล้วผ่าน EIA ได้อย่างไร แสดงว่าไม่สนใจผลกระทบลบเลย นอกจากนี้การกำหนดจุดขึ้นลงมอเตอร์เวย์ที่บริเวณคอกม้า ต.ขนงพระ ก็ส่อว่าจะเอื้อประโยชน์แก่ผู้มีอิทธิพลในกิจการท่องเที่ยวรายใหญ่ในบริเวณใกล้เคียง (โบนันซ่า) ดังนั้น ประชาชนต้องไม่ยอมรับ EIA โครงการนี้
หม่อมหลวงวัลย์วิภา กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้รูปแบบการลงทุนของโครงการก็ยังไม่ชัด จากเดิมที่เป็น “โครงการของรัฐ” แต่เมื่อ EIA ผ่านแล้วกลับความพยายามจะเปลี่ยนเป็น “โครงการร่วมทุน” ดังนั้น ถือได้ว่า EIA ไม่สมบูรณ์ เพราะกระบวนการพิจารณาต่างกัน ด้วยเหตุนี้ประชาชนจึงสามารถฟ้องให้เป็นโมฆะ และฟ้องผู้อนุมัติ EIA ได้ด้วย ประการสำคัญที่อยากให้สังคมรับทราบก็คือ หลักการศึกษา EIA สามารถตอบโจทย์ว่า “ไม่สมควรทำโครงการ” ก็ได้ ไม่ใช่ว่ารัฐจะมุ่งทำ EIA เพื่อลดผลกระทบจากโครงการเท่านั้น เช่น กรณีมอเตอร์เวย์ตัดผ่านหน้าโรงเรียน กรมทางหลวงก็บอกว่าจะสร้างสะพานลอยให้เด็กนักเรียน
สอนมวยกรมทางฯ ใช้แค่ 2 พันล้าน! ปรับมิตรภาพเป็นมอเตอร์เวย์
นายสุรินทร์ สนธิรติ แกนนำชาวปากช่อง แสดงความเห็นว่า ขอคัดค้านโครงการ มอเตอร์เวย์ บางปะอิน – โคราช ในการนำเงินมหาศาล (60,000 ล้านบาท) มาทำถนน 199 กิโลเมตร โดยเชื่อว่าหากคนกรุงเทพฯ ทราบข้อมูลนี้ ก็คงคัดค้านเช่นกัน ปัจจุบันถนนมิตรภาพในวันปกติก็สามารถทำความเร็วได้ 120 ก.ม./ช.ม.อยู่แล้ว จึงไม่ต้องการเสียเงินเพิ่ม 200 บาท/เที่ยว แม้แต่วิศวกรกรมทางหลวงก็ยอมรับว่าโครงการนี้ไม่จำเป็น “แต่ต้องทำเพราะนายต้องการ” สะท้อนให้เห็นว่านักการเมืองชอบตั้งโครงการ แล้วค่อยหาเหตุผลรองรับภายหลัง
ดร.ประพันธ์ศักดิ์ รัตนประภา อดีตอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ผู้เคยรับราชการในกรมทางหลวงมานาน แสดงความเห็นว่า กรมทางหลวงสามารถปรับปรุงถนนมิตรภาพให้เป็นเสมือนมอเตอร์เวย์ได้ ด้วยงบประมาณไม่เกิน 2,000 ล้านบาท โดยการปิดจุดกลับรถทั้งหมด (20 จุด) และสร้างเกือกม้ากลับรถแทน และทำจุดยกระดับบริเวณทางแยกเพื่อหลีกเลี่ยง “ไฟเขียว-ไฟแดง” ส่วนการพัฒนาระบบราง ขอสนับสนุนให้มีรถไฟความเร็วสูง “กรุงเทพฯ – โคราช” โดยไม่เห็นด้วยกับแนวคิดของนายกรัฐมนตรีที่จะสร้างรถไฟความเร็วสูงไป จ.ระยอง ซึ่งมีโรงงานอุตสาหกรรมเป็นส่วนใหญ่ นอกจากนี้ขอเสนอให้ผู้ได้รับผลกระทบร่วมกันร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่น่าจะพึ่งหวังได้
ชี้มอเตอร์เวย์เอื้อรถคอนเทนเนอร์ : อบต.แฉราคาที่ดินทรุดกระอัก!
นายวีรา ชัยฤทธิไชย ทนายความชาวปากช่อง แสดงความเห็นว่า โครงการนี้ก่อตัวตั้งแต่ปี 2544 ก่อนจะเป็นรูปร่างในปี 2549 ถามว่าโครงการนี้เป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชน หรือบรรดานักการเมืองจอมโปรเจคท์และบรรดาผู้รับเหมาใหญ่ๆ ข้อสังเกตก็คือปัจจุบันมีรถคอนเทนเนอร์วิ่งระหว่างภาคอีสานกับแหลมฉบังกว่า 1,000 เที่ยว/วัน โดยเจ้าของกิจการขนส่งดังกล่าวมีล้วนมี “ฝรั่งหัวดำ” ถือหุ้นเงียบๆ ดังนั้น ผู้ได้ประโยชน์จากมอเตอร์เวย์ก็คือผู้ประกอบการรายใหญ่ๆ รัฐธรรมนูญ มาตรา 3 ระบุว่า เจ้าของอำนาจอธิปไตยคือประชาชน จึงต้องถามประชาชนก่อนจะทำโครงการที่ประชาชนไม่ได้ประโยชน์
แม่บ้าน ต.หนองน้ำแดง (ไม่ทราบชื่อ) แสดงความเห็นว่า ไม่ต้องการมอเตอร์เวย์ เพราะจะทำให้เสียเวลามากขึ้นในชีวิตประจำวัน โดยต้องอ้อมมากขึ้นในการส่งลูกไปโรงเรียนและไปจ่ายตลาด
สมาชิก อบต.หนองน้ำแดง (ไม่ทราบชื่อ) แสดงความเห็นว่า ผลกระทบจากโครงการนี้เกิดขึ้นแล้ว โดยที่ดินใกล้นแนวเขตก่อสร้าง บางแห่งเคยได้ราคา 2 – 3 แสนบาท/ไร่ ปัจจุบันเหลือ 5,000 บาท/ไร่ ชาวบ้านพยายามคัดค้านมาตั้งแต่ปี 2544 แต่ไม่เป็นผล ตนเองมีสวนละมุดอยู่ 40 ไร่ กำลังจะถูกมอเตอร์เวย์ผ่าเป็น 2 ฝั่ง เมื่อจะเก็บผลผลิตต้องอ้อมถึง 20 กิโลเมตร
กรรมการภาคประชาชน อ.ปากช่อง (ไม่ทราบชื่อ) แสดงความเห็นว่า ขอคัดค้านโครงการนี้เพราะจะผ่า อ.ปากช่องเป็น 2 ฝั่ง ตนเคยไปร่วมประชาพิจารณ์ที่โคราช โดยได้ยืนยันว่าคนปากช่องไม่เคยรับรู้ และไม่เคยสนับสนุนมอเตอร์เวย์ จึงขอสนับสนุนให้ฟ้องศาลปกครองและผู้ตรวจการแผ่นดิน ส่วนการแก้ไขปัญหาจราจรแออัดในช่วงเทศกาลนั้น หากกรมทางหลวงขยายช่องทางบริเวณ “ทับกวาง – มวกเหล็ก” เป็น 8 – 10 เลน รถก็จะไม่ติด และควรลดจุดกลับรถโดยใช้เกือกม้าแทน จะช่วยได้มากยิ่งขึ้น
พระภิกษุ (เจ้าอาวาสวัดถ้ำไตรรัตน์) แสดงความเห็นว่า มอเตอร์เวย์จะตัดผ่านหน้าวัด ซึ่งจะก่อให้เกิดเสียงรบกวนสมาธิของพระ และทำลายบรรยากาศของวัด
แกนนำชาวปากช่อง (ไม่ทราบชื่อ) แสดงความเห็นว่า ได้คัดค้านโครงการนี้มาตั้งแต่ต้น เพราะนอกจากไม่มีประโยชน์แล้ว ยังทำลายสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตของชุมชน หากคณะรัฐมนตรียกเลิก ทุกอย่างก็จบ ไม่ต้องรอให้ประชาชนไปฟ้องศาลปกครอง
4 ตำบลชูธงต้าน : เตือนนายกฯ อย่าทำลายมรดกโลกเขาใหญ่
นายประยูร ศรีวัฒนวงศ์ นายกเทศมนตรีตำบลกลางดง แสดงความเห็นว่า หากกรมทางหลวงขยายถนนมิตรภาพบริเวณทางขึ้นเขา 3 – 4 จุด รถก็จะไม่ติดในช่วงเทศกาล ตนเคยเสนอขอให้สร้างสะพานกลับรถ กรมทางหลวงตอบว่าไม่มีงบประมาณ (ประมาณ 30 ล้านบาท) แต่กลับจะสร้างมอเตอร์เวย์ได้ ดังนั้น จึงขอคัดค้านโครงการนี้
แม่บ้านชาวปากช่อง (ไม่ทราบชื่อ) แสดงความเห็นว่า ขอคัดค้านโครงการนี้ เพราะปัจจุบันใช้เวลาเดินทางไป/กลับในชีวิตประจำวัน 3 กิโลเมตร หากมีมอเตอร์เวย์จะทำให้ต้องเดินทางอ้อมเพิ่มขึ้นวันละ 20 กิโลเมตรในการไปทำงานและรับส่งลูก
กรรมการภาคประชาชน อ.ปากช่อง (ไม่ทราบชื่อ) เปิดเผยว่าตนได้รับคำร้องเรียนจากชาวบ้าน 4 ตำบลโดยตลอด คือ กลางดง หนองน้ำแดง หนองสาหร่าย และขนงพระ ทั้งหมดต่างเกรงว่าวิถีชีวิตจะเดือดร้อน นายกรัฐมนตรีบอกว่าจะรับฟังประชาชน จะยืนข้างประชาชน ดังนั้น ขอให้นายกรัฐมนตรีพัฒนารถไฟแทนมอเตอร์เวย์
ชาวบ้าน ต.หนองน้ำแดง (ไม่ทราบชื่อ) แสดงความเห็นว่า ต.หนองน้ำแดง ได้รับผลกระทบจากมอเตอร์เวย์มากที่สุด (ระยะทางกว่า 10 ก.ม.) จึงได้คัดค้านมาตลอด แต่ไม่เป็นผล ปัจจุบันราคาที่ดินทรุดหนัก บางแห่งจากราคาไร่ละล้าน เหลือเพียงแสนเดียว ดังนั้น ชาวบ้านต้องร่วมกันสู้อย่างเข้มแข็งและเด็ดขาด
นายไพบูลย์ นิติตะวัน ได้ขอให้ผู้เข้าร่วมประชุมทั้งหมดแสดงฉันทามติว่า ต้องการหรือไม่ต้องการโครงการมอเตอร์เวย์ บางปะอิน – โคราช ปรากฏว่าผู้เข้าร่วมประชุมพร้อมใจกันตะโกนว่า “ไม่ต้องการ” อย่างเป็นเอกฉันท์ ดังนั้น จึงเสนอให้มีการจัดตั้ง “เครือข่ายประชาชนคัดค้านโครงการมอเตอร์เวย์” เพื่อเป็นแกนหลักในการต่อสู้คัดค้านต่อไป
ดร.ประสาน ยุวานนท์ แกนนำอาวุโสชาวปากช่อง แสดงความเห็นว่า นักการเมืองเคยชินกับการฝ่าฝืนความรู้สึกของประชาชน แต่ปัจจุบันประชาชนเข้มแข็งขึ้น จึงไม่ง่ายเหมือนก่อน โดยส่วนตัวยังเชื่อในเกียรติยศของนายกรัฐมนตรี ที่ต้องรู้ว่า อ.ปากช่อง มีอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ซึ่งเป็นมรดกโลก ดังนั้น ผู้บริหารประเทศพึงสำเหนียกว่าอะไรควร อะไรไม่ควร แหล่งโบราณคดีบ้านเชียงจมอยู่ใต้ดิน ยังได้รับการเชิดชูให้เป็นมรดกโลก แล้วเหตุใดจะปล่อยให้มีการทำลายมรดกโลกเขาใหญ่
สรุปไม่คุ้ม/ไม่โปร่งใส/ไม่จำเป็น : กมธ.ประกาศร่วมต้านกำแพงอัปยศ!
นายไพบูลย์ นิติตะวัน กล่าวสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นว่า เห็นได้ชัดว่าโครงการมอเตอร์เวย์ บางปะอิน – โคราช ไม่คุ้มค่า ไม่สมบูรณ์ และไม่มีความจำเป็นใดๆ ไม่ว่าปัจจุบันหรืออนาคต เพราะจะสร้าง “กำแพงอัปยศ” ทำลายชุมชนและการค้าอย่างถาวร อย่างไรก็ตาม การดำเนินโครงการนี้ไม่ได้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะต้องฟ้องศาลปกครองต่อไป โดยส่วนตัวเชื่อว่าโครงการนี้เกิดยาก แต่ประชาชนต้องเข้มแข็งตลอด โดยคณะกรรมาธิการฯ พร้อมสนับสนุนเต็มที่
หมายเหตุ: โปรดติดตามบทส่งท้ายในตอนหน้า
Be the first to comment on "หยุด! มอเตอร์เวย์ บางปะอิน โคราช หยุด! ผลาญชาติ ทำลายชุมชน (2)"