วันนี้ (๒๗ เม.ย.) สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ร่วมกับสภาทนายความ และเครือข่ายนักวิชาการเพื่อประชาธิปไตย (ควป.) ได้จัดการประชุมหารือเพื่อหาแนวทางแก้วิกฤติประเทศ โดยเชิญองค์กรและเครือข่ายต่างๆ เข้าร่วม อาทิ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมรัฐศาสตร์แห่งประเทศไทย มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ เครือข่ายพ่อแม่เพื่อการปฏิรูปการศึกษาสถาบันสหัสวรรษ ฯลฯ…
หลายองค์กรภาคประชาชน เดินหน้า “ประชาสมาสัย” แก้วิกฤติประเทศ |
![]() |
วันนี้ (๒๗ เม.ย.) สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ร่วมกับสภาทนายความ และเครือข่ายนักวิชาการเพื่อประชาธิปไตย (ควป.) ได้จัดการประชุมหารือเพื่อหาแนวทางแก้วิกฤติประเทศ โดยเชิญองค์กรและเครือข่ายต่างๆ เข้าร่วม อาทิ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมรัฐศาสตร์แห่งประเทศไทย มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ เครือข่ายพ่อแม่เพื่อการปฏิรูปการศึกษา สถาบันสหัสวรรษ ฯลฯ โดยมีนางบัญญัติ ทัศนียะเวช ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ เป็นประธานการประชุม
นายพงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร ที่ปรึกษาสภาการหนังสือพิมพ์ฯ กล่าวว่า การประชุมในวันนี้ สืบเนื่องจากการที่สภาการหนังสือพิมพ์ฯ ร่วมกับสภาทนายความได้จัดทำสมุดปกขาวเพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาการซื้อขายหุ้นของบริษัทชินคอร์ปอเรชั่นให้กับกลุ่มเทมาเสกของสิงคโปร์ รวมทั้งจากการได้ปรึกษาหารือกับฝ่ายต่างๆ เพื่อให้เกิดประชาสมาสัยในการร่วมกันหาทางออกให้กับวิกฤติของประเทศไทยในยุคหลังทักษิณ โดยประเด็นที่จะหารือกันน่าจะมากไปกว่าการแก้ปัญหาการเลือกตั้ง หรือการเปิดสภาฯ แต่จะเป็นการระดมความคิดเพื่อประมวลปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นมาจากระบอบทักษิณ อาทิ ระบบการบริหารราชการแผ่นดิน ระบบเศรษฐกิจ ฯลฯ ว่าจะแก้ไขในแต่ละเรื่องอย่างไร ทั้งอาจนำไปสู่การจัดการประชุมใหญ่โดยการระดมความเห็นของคนทุกภาคส่วนในสังคม เพื่อหาข้อสรุปเสนอให้กับผู้ที่จะเข้ามาบริหารประเทศต่อไป นายธีรภัทร เสรีรังสรรค์ นายกสมาคมรัฐศาสตร์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า สมาคมรัฐศาสตร์ฯ มีนโยบายชัดเจนว่าสมาคมจะเข้ามามีบทบาทในการสนับสนุนการปฏิรูปการเมืองในระยะยาว ดังนั้น จึงอยากให้มองเป้าหมายระยะยาว ไม่มองแต่ปัญหาเฉพาะหน้า เราอยากเห็นประชาธิปไตยเชิงคุณภาพ และการจะเกิดประชาธิปไตยเชิงคุณภาพได้ ต้องทำให้ทุกฝ่ายตื่นตัวและเข้าใจปัญหามากขึ้น โดยต้องเข้าใจด้วยว่า รัฐธรรมนูญไม่ใช่ยาวิเศษของประชาธิปไตย ดังนั้น การปฏิรูปการเมืองรอบ ๒ ต้องแก้ทั้งรัฐธรรมนูญ และสิ่งที่อยู่ภายนอกรัฐธรรมนูญ เช่น การมองปัญหาของคนชั้นกลางในเมืองและคนชนบทที่แตกต่างกัน สิ่งที่อยากเห็น ไม่ใช่แค่มองปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น ประชาสมาสัยเป็นแนวคิดที่ดี เป็นจุดเริ่มต้นที่ทุกฝ่ายหันหน้ามาร่วมมือกัน โดยต้องมีแนวทางชัดเจนว่าต้องทำอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดประชาธิปไตยเชิงคุณภาพให้ได้ และต้องทำให้เป็นรูปธรรมชัดเจน ขยายเครือข่ายไปเรื่อยๆ เมื่อได้ข้อสรุปแล้วต้องทำให้เกิดผลเป็นรูปธรรม และต้องมีการประเมินผลเป็นช่วงๆ ว่าได้ผลอย่างไร นพ.ประกิต วาทีสาธกกิต ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ และว่าที่ สว.กทม.กล่าวว่า เท่าที่ได้ศึกษารัฐธรรมนูญ ๒๕๔๐ พบว่า ได้นำเอาสิ่งดีของรัฐธรรมนูญหลายประเทศ แต่พัฒนาทางการเมืองของไทยยังไม่พร้อมกับระบบที่กำหนดไว้ใน รัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ ไม่มีกระบวนการที่จะทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมือง จึงเห็นด้วยว่า น่าจะมีการศึกษาบทเรียนที่ผ่านมา ว่าอะไรคือต้นเหตุของปัญหาต่างๆ เป็นลักษณะทางวิชาการ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะทำอย่างไร ให้เกิดขบวนการตรวจสอบถ่วงดุลทางการเมืองโดยภาคประชาชน ทั้งนี้ ต้องคอยคำวินิจฉัยของศาลด้วย ส่วนองค์กรที่จะเข้ามาเป็นเจ้าภาพน่าจะเป็นสมาคมรัฐศาสตร์ฯ เพราะเกี่ยวข้องโดยตรง และจะทำอย่างไรให้เกิดเป็นกระบวนการที่ต่อเนื่อง นายเดชอุดม ไกรฤทธิ์ นายกสภาทนายความ กล่าวว่า การจะดำเนินการอะไรต้องดูกำหนดระยะเวลา ในระยะสั้น ขณะนี้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ยังมุ่งที่จะจัดการเลือกตั้งไปเรื่อยๆ ส่วนจะหวังว่าศาลจะตัดสินให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ เพราะศาลตัดสินนอกเหนือคำร้องไม่ได้ จึงควรเร่งมาดูว่าจะนำเสนอประเด็นคำฟ้องต่อศาลอย่างไร ให้ทันวันที่ ๒ พ.ค. ส่วนในระยะปานกลาง จะเห็นว่าแผนพัฒนาการเมืองและการกำหนดมาตรฐานจริยธรรมทางการเมืองตาม รัฐธรรมนูญ มาตรา ๗๖ และ มาตรา ๗๗ ไม่เคยได้รับการปฏิบัติตั้งแต่รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ จนถึงปัจจุบัน ประชาชนก็ไม่มีส่วนร่วม จึงควรทำแผนพัฒนาการเมืองภาคประชาชนโดยประชาสมาสัย เพื่อให้นักการเมืองมีมาตรฐานทางคุณธรรมและจริยธรรมมากกว่าที่เป็นอยู่ หากที่ประชุมอยากจะเริ่มต้นคือ สังคายนา แผนพัฒนาการเมืองภาคประชาชนเพื่อกำหนดเป็นแนวทางให้นักการเมืองและข้าราชการนำไปปฏิบัติ ภายหลังการประชุม นายเดชอุดมกล่าวสรุปผลการประชุมว่า ที่ประชุมได้พูดถึงการแก้ไขปัญหาวิกฤติประเทศเป็น ๓ ระยะคือ ๑) ระยะสั้น ต้องรวบรวมข้อมูลการดำเนินคดีของศาลว่าจะนำไปสู่การยกเลิกการเลือกตั้งเมื่อ ๒ เม.ย.และ ๒๓ เม.ย.ได้หรือไม่ ซึ่งต้องดำเนินการภายในวันที่ ๑ พ.ค. ดังนั้น จะมีการหารือระหว่างเครือข่ายต่างๆ อีกครั้ง ในวันที่ ๑ พ.ค. เวลา ๑๔.๐๐ น. ๒) ระยะกลาง ต้องเร่งจัดทำมาตรฐานคุณธรรมและจริยธรรมของนักการเมืองโดยเร็ว ด้วยการให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมมากที่สุด และ ๓) ระยะยาวให้ดำเนินตามข้อเสนอของสมาคมรัฐศาสตร์ฯ ในการสร้างประชาธิปไตยเชิงคุณภาพ เพื่อให้การเมืองภาคประชาชนเกิดความเข้มแข็งต่อไป สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ๒๗ เมษายน ๒๕๔๙ |
ที่มา : www.thaibja.org |
Be the first to comment on "หลายองค์กรภาคประชาชน เดินหน้า ประชาสมาสัย แก้วิกฤติประเทศ"