หอศิลป์-พิพิธภัณฑ์ลำปาง แท้งก่อนคลอด?

เพราะลำปางเป็นเมืองประวัติศาสตร์ที่มีหลายสิ่งหลายอย่างไม่ได้รวบรวมไว้ให้คนรุ่นหลังได้รู้ และศึกษาส่วน “หอศิลป์” นั้นคงต้องดูรายละเอียดและระบุให้ชัดเจนว่า หอศิลป์คืออะไร มีองค์ประกอบอะไรบ้างจึงเรียกว่าหอศิลป์ แตกต่างกับพิพิธภัณฑ์อย่างไร…

ศชากานท์ แก้วแพร่

 

     จังหวัดลำปางอยู่ห่างจากกรุงเทพฯเกือบ 600 กม. เป็นจังหวัดที่แทบจะกลายเป็นทางผ่านสำหรับผู้ที่ต้องการ
จะเดินทางไปท่องเที่ยวทางภาคเหนือ เพราะส่วนมากแล้วจะมุ่งเข็มไปที่จังหวัดเชียงใหม่หรือไม่ก็เชียงราย โดยผ่านลำปางไปอย่างน่าเสียดาย

เพราะแท้จริงแล้วจังหวัดลำปางเป็นจังหวัดน่าสนใจอย่างยิ่ง ทั้งทางด้านประวัติศาสตร์ความเป็นมาที่เก่าแก่ไม่แพ้เชียงใหม่ รวมทั้งทางด้านการท่องเที่ยว มีเรื่องราวน่าสนใจไม่น้อยทีเดียว

เนื้อที่ 12,534 ตารางกิโลเมตร ภูมิประเทศเป็นป่าเขา และเป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำวัง มีเทือกเขาขุนตาล ซึ่งกั้นเขตแดนระหว่างลำปาง-ลำพูน เป็นอุโมงค์ให้รถไฟลอดผ่านน่าตื่นเต้นระยะทางรวม 1 กิโลเมตร จังหวัดลำปางจึงไม่ธรรมดา

คนลำปางเองบอกเล่าถึงประวัติความเป็นมาของจังหวัดว่า เริ่มตั้งแต่สมัยพระนางจามเทวี ทรงขึ้นครองนครหริภุญไชย(ลำพูน) ต่อมาเมื่อทรงมอบราชสมบัติให้เจ้ามหันตยศ พระโอรสองค์โต ครองนครหริภุญไชยแทน ส่วนเจ้านันตยศ โอรสองค์รองนั้นได้ไปสร้างเมืองใหม่และขนานนามเมืองนี้ว่า *เขลางค์นคร* พร้อมทั้งได้ราชาภิเษกเป็นกษัตริย์ครองเขลางค์นครเป็นพระองค์แรก ทรงพระนามว่า *พระเจ้าอินทรเกิงการ*

พระองค์ครองเมืองอยู่ไม่นานก็ทรงรำลึกถึงพระราชมารดา จึงทูลเชิญพระนางจามเทวีเสด็จยังเมืองเขลางค์นครและได้ทรงสร้างเมืองอาลัมภางค์นคร” ให้เป็นที่ประทับ โดยเหตุที่ทั้งนครเขลางค์และอาลัมภางค์นครมีอาณาเขตใกล้เคียงติดต่อกันประดุจเป็นเมืองเดียวกัน คนทั้งหลายจึงมักเรียกรวมกันว่า

นครเขลางค์อาลัมภางค์” และได้กลายเป็นนครลำปาง” ในที่สุด

 

วัดพระธาตุลำปางหลวง จ.ลำปาง

รถม้า ลำปาง

 

ลำปางมีอาณาเขตทิศเหนือติดกับจังหวัดเชียงใหม่ พะเยา และเชียงราย ทิศใต้ติดกับจังหวัดตาก และสุโขทัย ส่วนทิศตะวันตกติดกับจังหวัดลำพูนและเชียงใหม่ ทิศตะวันออกติดกับจังหวัดแพร่ และสุโขทัย

เพราะมีความเป็นมาเก่าแก่จังหวัดหนึ่งในประวัติศาสตร์นี่เองทำให้ทางจังหวัดลำปาง กำลังผลักดันให้มีการสร้าง *หอศิลปวัฒนธรรม จังหวัดลำปาง* และ *พิพิธภัณฑ์จังหวัดลำปาง*

ภาพเก่าหอศิลป์ฯ

เจริญสุข ชุมศรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง เปิดเผยถึงเรื่องนี้ว่า จากโครงการผลักดันอาคารศาลากลางหลังเก่าเป็นที่ตั้งตั้ง *หอศิลปวัฒนธรรมจังหวัดลำปาง* ซึ่งมีหน่วยงานทั้งส่วนราชการ และองค์กรเอกชนร่วมกันหารือเพื่อแนวทางผลักดันมาอย่างต่อเนื่องนั้น

หอศิลป์ฯ ปัจจุบัน

ล่าสุดเมื่อปลายเดือนกรกฎาคมจังหวัดลำปางได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฎสวนดุสิต จัดเวทีพิจารณ์ ความคิดเห็น(Focus Groups) เรื่องการจัดตั้งหอศิลปวัฒนธรรมจังหวัดลำปาง” ซึ่งมีการแสดงความเห็นที่หลากหลาย และมีการเสนอให้ร่วมกันจัดทำแผนดำเนินงาน กำหนดเป็นแผน TOR ที่ชัดเจน โดยมีบริษัทที่ปรึกษาเข้ามาศึกษารวมถึงกำหนดแนวทางการดำเนินงานอย่างเป็นระบบ

นับเป็นจุดเริ่มต้นที่เป็นรูปธรรมหลังมีการพูดคุยเรื่องนี้มานาน อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้จะมีการประชุมร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อย่างต่อเนื่องเพื่อติดตามความก้าวหน้าร่วมกันอย่างจริงจังต่อไป”

ขณะที่รองผู้ว่าฯเจริญสุขพูดอย่างมีความหวัง สมโชติ อ๋องสกุล นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้ความรู้เพิ่มเติมว่า จังหวัดลำปางถือได้ว่าเป็น 1 ใน 9 เมืองเก่าแก่ของสยามประเทศ จากหลักฐานได้พิสูจน์แล้วว่าเป็นเมืองที่เก่าแก่ที่สุดใน 9 เมืองเก่า ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าภาคภูมิใจของชาวจังหวัดลำปางเป็นอย่างยิ่ง พิสูจน์ได้จาก ร่องรอยภูเขาไฟ 3 ปล่องที่มีความสมบูรณ์มาก แหล่งลิกไนต์ในจังหวัดลำปางที่มีอายุเก่าแก่ มีสุสานหอย แหล่งดินขาวซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดเครื่องปั้นดินเผาจนกลายเป็นอุตสาหกรรมเซรามิคทุกวันนี้

ที่น่าสนใจที่สุด มีการค้นพบมนุษย์โบราณอายุไม่ต่ำกว่า 5 แสนปี ที่มีความสัมพันธ์กับมนุษย์ปักกิ่งและมนุษย์ชวา มีภาพเขียนสีประตูผาจำนวน 1,782 ภาพ โดยปัจจุบันได้ถูกจำลองภาพไปไว้ที่พิพิธภัณฑ์จังหวัดเชียงใหม่แล้ว และโบราณสถานที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งนั้นก็คือ พระธาตุลำปางหลวง และเป็นถิ่นกำเนิดของชนชั้นปกครองของล้านนา ได้แก่เจ้า 7 ตน”

ดังนั้น จึงควรเริ่มต้นหาข้อสรุปร่วมกันให้ชัดเจนว่า ลำปางต้องการอะไร เพื่อสร้างบรรยากาศในพื้นที่รอบจังหวัดลำปาง ให้เป็นเมืองประวัติศาสตร์และต้องการให้อาคารศาลากลางหลังเก่า หอศิลป์ออกมาในรูปแบบไหน

จากนั้นเป็นเรื่องของส่วนราชการของจังหวัดที่จะจัดหาบริษัทที่ปรึกษา มาดำเนินการคิดรูปแบบ และภาพรวมของการรวบรวมศิลปวัฒนธรรม โบราณสถานและโบราณวัตถุเข้าด้วยกัน แล้วนำรายงานมาเสนอต่อคณะทำงาน

ส่วนในเรื่องของการใช้ชื่อของสถานที่ว่าหอศิลป์หรือพิพิธภัณฑ์ น่าจะเป็นเรื่องท้ายๆ ที่จะมาตัดสินกันอีกครั้งหนึ่ง” ข้อเสนอแนะจากอาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

เรื่องนี้ยังได้รับการสนับสนุนจากนักประวัติศาสตร์ลำปาง ศักดิ์ รัตนชัย ที่ว่า หากต้องการให้จังหวัดลำปางทั้งเมืองเป็นเมืองประวัติศาสตร์ ควรจะต้องจัดให้มี “พิพิธภัณฑ์” เป็นอย่างแรก

เพราะลำปางเป็นเมืองประวัติศาสตร์ที่มีหลายสิ่งหลายอย่างไม่ได้รวบรวมไว้ให้คนรุ่นหลังได้รู้ และศึกษาส่วน “หอศิลป์” นั้นคงต้องดูรายละเอียดและระบุให้ชัดเจนว่า หอศิลป์คืออะไร มีองค์ประกอบอะไรบ้างจึงเรียกว่าหอศิลป์ แตกต่างกับพิพิธภัณฑ์อย่างไร เพื่อกำหนดแนวทางการผลักดันที่ชัดเจนต่อไป

ข้อถกเถียงเรื่องการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์และหอศิลป์จังหวัดลำปาง เป็นหัวข้อที่ถกกันมานานพอสมควร

 

กิจกรรม “ฟื้นถิ่น” จาก ร.ร.ไหล่หินวิทยาคม อ.เกาะคา 25 กรกฎาคม 2547

ขณะที่หลายฝ่ายเสนอว่า ที่ผ่านมามีการประชุมเรื่องการจัดตั้งหอศิลป์บ่อยครั้ง แต่ไม่มีการสรุปผลการประชุมในแต่ละครั้ง ทำให้การดำเนินงานมีความล่าช้า เป็นอุปสรรคข้อหนึ่งที่ทำให้การจัดตั้งพิพิธภัณฑ์และหอศิลป์ไม่คืบหน้าไปถึงไหน

ขณะเดียวกันยังสรุปประเด็นไม่ได้ว่า หากต้องการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ควรจะมุ่งเน้นให้ชุมชนให้ได้เรียนรู้วัฒนธรรมของตัวเองอย่างไร และหากต้องการจัดตั้งหอศิลป์ก็จะต้องเป็นที่รวบรวมศิลปวัฒนธรรมของลำปาง เอาแค่ประการแรก ต้องหาแนวคิดและหลักการให้ได้ว่าคนลำปางต้องการอะไร?

ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2548 ปีที่ 28 ฉบับที่ 10015 หน้า 34

Be the first to comment on "หอศิลป์-พิพิธภัณฑ์ลำปาง แท้งก่อนคลอด?"

Leave a comment

Your email address will not be published.