องค์การมหาชนเพื่อความโปร่งใส กลไกสร้างพลังตรวจสอบภาคประชาชน

การเคลื่อนไหวเพื่อเฝ้าระวังและตรวจสอบการทุจริตประพฤติมิชอบในวงราชการและการเมืองของไทย โดยบุคคล กลุ่มองค์กร และสื่อมวลชนต่างๆ นั้น มีปรากฏให้เห็นอยู่ตลอดมา แต่ก็มักมีบทบาทเพียงแค่การออกมาตะโกนเปิดโปงเป็นครั้งคราว ก่อนที่จะเงียบหายไปอย่างรวดเร็วเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น

17 เมษายน 2549 08:18 น.

ภูมิคุ้มกันคอร์รัปชัน: นายแพทย์พลเดช ปิ่นประทีป ศูนย์วิจัยธรรมาภิบาล มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม

 

ปัญหาทุจริตคอร์รัปชันเป็นมะเร็งร้ายที่เกาะกินสังคมไทย และบ่อนเซาะความสามารถในการแข่งขันของประเทศมาอย่างยาวนาน โดยที่ทุกฝ่ายต่างยอมรับแนวโน้มความรุนแรง และเหตุปัจจัยอันซับซ้อนที่ยากต่อการแก้ไข

การเคลื่อนไหวเพื่อเฝ้าระวังและตรวจสอบการทุจริตประพฤติมิชอบในวงราชการและการเมืองของไทย โดยบุคคล กลุ่มองค์กร และสื่อมวลชนต่างๆ นั้น มีปรากฏให้เห็นอยู่ตลอดมา แต่ก็มักมีบทบาทเพียงแค่การออกมาตะโกนเปิดโปงเป็นครั้งคราว ก่อนที่จะเงียบหายไปอย่างรวดเร็วเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น

กลไกตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจบริหารที่ถูกออกแบบไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 อย่าง คตง. ป.ป.ช. กกต. ศาลปกครอง และศาลรัฐธรรมนูญ เอาเข้าจริงก็แก้ปัญหาไม่ได้มาก ซ้ำยังถูกกล่าวหาอย่างหมิ่นแคลนว่าถูกอำนาจการเมืองเข้าแซงแทรก และครอบงำไปเรียบร้อยแล้ว

เมื่อบ้านเมืองได้สะสมความไม่ถูกต้องและความชั่วร้ายมาถึงจุด พระสยามเทวาธิราชคงดลบันดาลให้ประชาชนกลุ่มต่างๆ อดรนทนไม่ได้จึงปะทุเป็นพลังคุณธรรมขนาดใหญ่ลุกขึ้นมาต่อสู้กวาดล้างกันไปทีหนึ่ง อย่างเช่นที่กำลังเกิดขึ้นในวันนี้

กล่าวคือรัฐบาลทักษิณมาถึงจุดจบด้วยปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน ปัญหาคุณธรรมจริยธรรมของผู้นำ และปัญหาการขายกิจการสัมปทานที่อ่อนไหวต่อความมั่นคงให้ต่างชาติ

และ หากจะถามว่าในการปฏิรูปการเมืองครั้งนี้ อยากได้อะไรมากที่สุดเพื่อแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน ผมขอตอบโดยไม่ลังเลเลยว่าอยากได้องค์กรมหาชนสัก 1 องค์กรที่ทำหน้าที่สนับสนุนการทำงานของเครือข่ายต้านคอร์รัปชันของภาคประชาชนอย่างจริงจัง ต่อเนื่องและมีหลักประกัน

แม้ว่าผมจะเห็นความสำคัญของการแก้ไขกฎหมาย ระเบียบข้อบังคับ และขั้นตอนกระบวนการของทางราชการที่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างในหลายๆ เรื่อง แต่ประสบการณ์และบทเรียนตลอดช่วงที่ผ่านมานั้น สอนให้รู้ว่านอกจากพลังภาคประชาชนแล้ว เราจะไปฝากความหวังไว้กับตัวบทกฎหมายและองค์กรอิสระ หรือกลไกเชิงอำนาจใดๆ โดยลำพังมิได้เลย

ผมจึงนึกถึงบทเรียนเมื่อครั้งวิกฤติปี 2535 รัฐบาลอานันท์ ปันยารชุน ตั้งองค์การมหาชนที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานของประเทศและมีบทบาทต่อการเปลี่ยนแปลง ซึ่งเป็นที่ยอมรับมาจนทุกวันนี้อย่างน้อย 2 องค์กร คือ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และสถาบันวิจัยระบบสุขภาพแห่งชาติ (สวรส.)

ดังนั้น ในคราวนี้ถ้าจะมีรัฐบาลแห่งชาติ หรือรัฐบาลพระราชทานขึ้นมาในช่วงเปลี่ยนผ่าน ผมจึงอยากเห็นการจัดตั้ง “สำนักงานกองทุนเพื่อความโปร่งใส” ขึ้นมาเป็นกลไกส่งเสริมสนับสนุนพลังภาคประชาชนในการแก้ปัญหาคอร์รัปชันและขับเคลื่อนประชาธิปไตยเชิงคุณธรรมไปพร้อมกัน

สำนักงานกองทุนเพื่อความโปร่งใสควรมีสถานภาพเป็นหน่วยงานรัฐที่ไม่ใช่ส่วนราชการ โดยจะเป็นองค์การมหาชนที่จัดตั้งโดยพระราชกฤษฎีกา ภายใต้ พ.ร.บ.องค์การมหาชน พ.ศ.2542 หรือจะเป็นองค์กรในกำกับรัฐที่มี พ.ร.บ.เฉพาะก็ได้

สำนักงานกองทุนเพื่อความโปร่งใสควรมีสถานะเป็นองค์กรอิสระที่อยู่ภายใต้กำกับของรัฐสภามากกว่าที่จะให้อยู่ในกำกับของรัฐบาล แบบเดียวกับสถาบันพระปกเกล้า เพราะจะทำให้มีสถานะเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายได้มากกว่า

ให้มีคณะกรรมการกองทุนเพื่อความโปร่งใสในรูปแบบพหุภาคี โดยมีสัดส่วนของผู้ทรงคุณวุฒิทางสังคมเป็นส่วนข้างมาก (อาจกำหนดให้มีไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80) โดยส่วนที่เหลือประกอบด้วยข้าราชการ นักการเมือง และผู้แทนจากองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้อง

ที่มาของเงินกองทุนกำหนดให้รัฐบาลต้องจัดสรรงบประมาณอุดหนุนอย่างน้อยปีละ 1,000 ล้านบาท หรืออาจกำหนดให้สำนักงบประมาณมีหน้าที่ต้องจัดสรรงบสมทบ 1% ของวงเงินโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ หรือโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ที่มีงบประมาณตั้งแต่ 100 ล้านบาทขึ้นไป เพื่อสนับสนุนกระบวนการมีส่วนร่วมตรวจสอบดูแลของภาคประชาชน โดยผ่านกองทุนเพื่อความโปร่งใส

ภารกิจของกองทุนเพื่อความโปร่งใส ได้แก่ การสนับสนุนการรวมตัวของประชาชนในการเฝ้าระวัง ตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชันทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับภูมิภาค ระดับชาติ และระดับโครงการ หรือระดับองค์กร การส่งเสริมกิจกรรมของภาคประชาชนในการสร้างจิตสำนึกของสังคมในเรื่องความโปร่งใส คุณธรรมจริยธรรม การสนับสนุนสื่อทำวิจัยเชิงสืบสวนสอบสวนและเปิดเผยข้อมูลการทุจริตคอร์รัปชัน การสนับสนุนกิจกรรมของภาคประชาชนในกระบวนการกำหนดนโยบายสาธารณะทั้งระดับท้องถิ่นและระดับชาติ

ปัญหาทุจริตคอร์รัปชันมิใช่ปัญหาที่จะสามารถใช้วิธีการกวาดล้างแบบทำสงครามโดยหวังว่าจะเอาชนะได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ในความเป็นจริงเราคงทำได้แค่การลดความรุนแรงของปัญหาลงไปเรื่อยๆ ตามลำดับ เร็วบ้างช้าบ้างตามจังหวะโอกาสและเหตุปัจจัย ด้วยการมีบทบาทของคนทั้งสังคมช่วยกันเฝ้าระวังป้องกันและป้องปรามเป็นด้านหลัก ส่วนที่เกิดปัญหาขึ้นแล้วก็ต้องจับให้ได้ไล่ให้ทันและลงโทษกันไปตามกติกาบ้านเมือง

กองทุนเพื่อความโปร่งใสจึงมุ่งเน้นไปที่กิจกรรมส่งเสริมให้มีกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนอย่างเข้มข้นและเชิงรุก เน้นการสร้างเสริมพลังอำนาจของภาคประชาชนในการร่วมแก้ปัญหา และร่วมกำหนดทิศทางการพัฒนา (Empowerment) มากกว่าการจัดบทบาทประชาชนให้เป็นเพียงผู้คอยรับฟังคำสั่งจากภาครัฐอย่างที่ผ่านมา

ที่มา : http://www.bangkokbiznews.com/2006/04/17/w017_95043.php?news_id=95043#

Be the first to comment on "องค์การมหาชนเพื่อความโปร่งใส กลไกสร้างพลังตรวจสอบภาคประชาชน"

Leave a comment

Your email address will not be published.