อนาคตสื่อสิ่งพิมพ์และสื่อไอทีอีสาน

การอยู่ได้ของสื่ออยู่ที่คนทำสื่อต้องเข้าใจว่าสื่อเพื่ออะไร?   สื่อท้องถิ่นทุกวันนี้กลายเป็นว่าอยากทำให้เป็นสื่อกระแสหลัก สื่อท้องถิ่นอยู่ไม่ได้เพราะไปทำตามเขา ความอยู่ได้ของสื่อกระแสหลักแนวคิดเขาคือ กำหนดคนอ่านให้กระจาย….

เรียบเรียง/ภาพ           นพรัตน์ จิตรครบุรี  กองบรรณาธิการทีมสื่อสารสาธารณะ

บรรยากาศลานโสเหล่

บรรยากาศ

“มหกรรมสื่อภาคประชาชน”

 

 

เมื่อวันที่ 22-24 เมษายน 2548 ที่ผ่านมา สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน) เครือข่ายสื่อภาคประชาชนภาคอีสาน และสหเครือข่ายองค์กรภาคประชาชน จ.อุบลราชธานี โดยกลุ่มคนที่ทำงานคลุกคลีกับชาวบ้านมานานและมองเห็นว่า สื่อคือพลังที่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรก็ได้  ได้ร่วมกันจัดงาน ป่าวเติน เอิ้นหมู่มหกรรมสื่อภาคประชาชนภาคอีสาน ครั้งที่ 1 ขึ้นที่ พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ จ.อุบลราชธานี งานนี้จัดขึ้นเื่พื่อเปิดเวทีให้องค์กรสื่อภาคประชาชนในภาคอีสาน ได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นซึ่งกันและกันในเรื่องอดีตและอนาคต ทบทวนและกำหนดบทบาทระหว่างสื่อภาคประชาชนกับสื่อกระแสหลักให้ชัดเจน เพื่อแสดงผลิตผลด้านสื่อภาคชุมชนในรอบ 10 ปี ของภาคอีสาน

เย็น วันที่ 22 เมษายน 2548 นักคิด นักเขียนที่ทำสื่อและคลุกคลีกับชาวบ้าน ได้ขึ้นเวทีร่วมกันโสเหล่ เกี่ยวกับ อนาคตสื่อสิ่งพิมพ์และสื่อไอทีอีสานเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล ความคิด และให้เห็นทิศทางของสื่อท้องถิ่น มีเนื้อหาดังนี้

 

 สื่อท้องถิ่น & สื่อกระแสหลัก ปัจจุบัน?

คุณแวง  พลังวรรณ

          ถ้าพูดถึงเรื่องสื่อทุกวันนี้วิถีชีวิตของบ้านเราก็มีการสื่อสารกันอยู่แล้ว สื่อชาวบ้านคือ การบอกกล่าว เล่าปากต่อปาก มีเรื่องใดเกิดขึ้นวันเดียวรู้กันเกือบทั้งหมู่บ้าน  มันเป็นวิถีที่ดำรงอยู่มาแต่เดิม

สื่อมีหลากหลาย สื่อที่แหลมคมของคนอีสานอาจไม่ใช่สื่อกระแสหลักอย่าง วิทยุ หนังสือพิมพ์ ทีวี แต่คนอีสานอาศัยวิถีวัฒนธรรม  ศิลปะ ดนตรี ในการสื่อ บอกเล่าเรื่องราวและความคิด  ศิลปวัฒนธรรมคือ สื่ออย่างดี ที่สื่อตรงไปตรงมาและชัดเจน

 

คุณนิกร จันทร์พรหม

          มองภาพรวมการตื่นตัวของสื่อท้องถิ่น วัฒนธรรมการเสพสื่อในแต่ละภาคมีความต่าง ภาคเหนือสื่อที่ได้รับความสนใจอย่างคึกคักคือ สื่อหนังสือพิมพ์ เช่น เชียงใหม่นิวส์ คนภาคตะวันออก จันทรบุรี ชลบุรี ตราด สนใจสื่อ เคเบิ้ลทีวี  ภาคใต้ สื่อของเขาคือการเสวนา พูดคุยเกี่ยวกับเรื่องบ้านเมือง การเมือง ภาคอีสานหนังสือพิมพ์ก็พอขายได้ พระเอกคือสื่อวิทยุ คนอีสานชอบฟัง นักจัดรายการจึงกลายเป็นที่ยอมรับ

          การอยู่ได้ของสื่ออยู่ที่คนทำสื่อต้องเข้าใจว่าสื่อเพื่ออะไร?   สื่อท้องถิ่นทุกวันนี้กลายเป็นว่าอยากทำให้เป็นสื่อกระแสหลัก สื่อท้องถิ่นอยู่ไม่ได้เพราะไปทำตามเขา ความอยู่ได้ของสื่อกระแสหลักแนวคิดเขาคือ กำหนดคนอ่านให้กระจาย เน้นคุณภาพงาน ดีไซด์รูปเล่ม การวางตลาดตรงกับกลุ่มเป้าหมาย เพื่อกระตุ้นให้คนอ่านมากขึ้น ซื้อมากขึ้น กำไรคือความสำเร็จ

          เราอย่าไปติดรูปแบบสื่อกระแสหลัก สื่อท้องถิ่นหากนำเสนอแบบ คิดง่ายๆ ต้นทุนถูก เช่น หนังสือพิมพ์ ดีไซน์ง่ายๆ กระดาษที่พิมพ์ไม่แพง แต่เน้นที่เนื้อหาให้สอดคล้องกับวิถีชุมชน ไม่จำเป็นต้องมีสปอนเซอร์ก็อยู่ได้ 

 

สื่อชาวบ้าน

คุณวีระศักดิ์ ขุขันธิน

            สื่อชาวบ้านน่าสนใจ ปัจจุบันมีหนังสือเขียนถึงเรื่องชาวบ้าน สถานีวิทยุพยายามออกสื่อชาวบ้าน และเป็นทางเลือกสำหรับประชาชนที่น่าสนใจที่สุด

          คุณวีระศักดิ์ กล่าวต่อว่า สิ่งที่มีโอกาสทำตลอดเวลาคือ การแต่งเพลง เพลงเด็ก(เด็กดอยใจดี) เพลงเพื่อชีวิตที่เล่าเรื่องของชาวบ้าน ความดีงาม การที่มีโอกาสทำงานคลุกคลีอยู่กับสื่อท้องถิ่นทำให้รู้ว่า สื่อท้องถิ่น มีความอิสระต่อแหล่งทุนเพราะสื่อกระแสหลักทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็น ทีวี วิทยุ หนังสือพิมพ์ ฯลฯ เป็นแค่สื่อขายของ ขายโฆษณา ใช้เป็นที่ประกาศของผู้มีอำนาจ อยู่ไม่ได้ถ้าไม่มีสปอนเซอร์สนับสนุน ตรงนี้เองที่ทำให้สื่อกระแสหลักขาดความเป็นอิสระเพราะต้องทำตามเงื่อนไขของแหล่งทุน

 

คุณปิยราช อิททรพานิช

          เราต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่าสื่อชาวบ้านที่เราพูดถึง เราเข้าใจยังไง? มีสื่ออะไรบ้าง ใครเป็นคนทำ สื่อให้ใคร สื่อเพื่ออะไร?

          มีความพยายามของชาวบ้านในการทำสื่อ คนที่ทำสื่อท้องถิ่นคือ คนที่ทำงานเป็นกลุ่ม องค์กร รวมกลุ่มกันทำ ปรากฏการณ์สื่อท้องถิ่นที่ผ่านมาคนทำสื่อต่างคนต่างทำ มีสื่อท้องถิ่นหลายฉบับทำออกมาได้ดี แต่มีข้อจำกัดเฉพาะพื้นที่ อ่านอยู่ในวงกำกัดเฉพาะพื้นที่

          สื่อท้องถิ่นมีข้อจำกัดหลายด้าน เงิน ทุน คนและการเชื่อมโยง ทุกวันนี้คนทำงานหายากนอกจากมีใจแล้วต้องมีทักษะในการสื่อด้วย ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย และในแวดวงคนทำสื่อท้องถิ่นไม่ได้มีการมาคุย มาเชื่อมโยงเนื้อหา แนวทางสื่อท้องถิ่นให้มันไปในทิศทางเดียวกัน ช่วยหนุนเสริมซึ่งกันและกับ

          สื่อชาวบ้านต้องตอบโจทย์ได้ว่าทำไปเพื่อชาวบ้านทำให้ชาวบ้านดีขึ้นยังไง  สื่อน่าจะแลกเปลี่ยน หนุนเสริม ขยายผลร่วมกัน การสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงสื่อ กลุ่มคนทำสื่อท้องถิ่น จะช่วยทำให้ข้อมูล ข่าวสารส่งต่อถึงกัน เคลื่อนส่งต่อมันจะเห็นพลังของสื่อ

 

สื่อไอทีอีสาน

คุณพันธนันท์ โอษฐเจษฎา

          สื่อเว็บไซด์มีข้อจำกัดเรื่องเครื่องมือ (อุปกรณ์คอมพิวเตอร์) และการเข้าถึงของชาวบ้าน แต่สามารถสื่อสารได้ทั่วโลก พื้นที่ของสื่อกระแสหลักมีพื้นที่จำกัดและใช้ต้นทุนสูง เว็บไซด์คือทางเลือก ทางออกหนึ่งที่ใช้ต้นทุนไม่สูง และเป็นพื้นที่สื่อที่ค่อนข้างอิสระ

          เว็บเสียงอีสาน (www.esanvoice.org) ที่ดูแลอยู่มีจุดมุ่งหมายคือ อยากให้ข่าวคราวของคนอีสานได้รับรู้ทั่วโลก เป็นพื้นที่รองรับ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับชาวบ้าน เพราะเป็นข่าวที่เราเอามาจากชาวบ้าน จากพื้นที่จริงๆ โดยการลงไปทำงานหาข่าวจากพื้นที่่ไม่ใช่แค่การโทรสัมภษาณ์ บางข่าวเป็นคนในพื้นที่ส่งมาให้

         

          โสเหล่ นักคิด นักเขียน เกี่ยวกับ อนาคตสื่อสิ่งพิมพ์และสื่อไอทีอีสานโสกันจนเห็นว่าคนทำสื่อท้องถิ่นต้องสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงส่งต่อข้อมูลซึ่งกันและกัน เพื่อเพิ่มพื้่นที่สื่อให้กับชาวบ้าน

          ที่สำคัญสื่อท้องถิ่นต้องเกิดจากชาวบ้าน สรา้งจากความรู้ของชาวบ้าน เป็นปากเป็นเสียงให้กับชาวบ้าน

 

 


 

 

ที่มา :  เวทีโสเหล่ อนาคตสื่อสิ่งพิมพ์และสื่อไอทีอีสานงาน ป่าวเติน เอิ้นหมู่มหกรรมสื่อภาคประชาชนภาคอีสาน ครั้งที่ 1 วันที่ 22 เมษายน 2548  ที่ พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ อุบลราชธานี

Be the first to comment on "อนาคตสื่อสิ่งพิมพ์และสื่อไอทีอีสาน"

Leave a comment

Your email address will not be published.