ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา ผมระมัดระวังที่จะไม่ไปให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนในประเด็นที่พาดพิงถึงกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับการบริหารงานของเจ้ากระทรวง เพราะถือเป็นมารยาทที่ผู้ใหญ่พึงกระทำเป็นแบบอย่าง
แต่ผมยังสนใจศึกษาเรียนรู้ว่าภายหลังจากความพยายามที่จะ Rethink และ Re brand พม. มา 16 เดือน เมื่อฝ่ายการเมืองเปลี่ยนไป สิ่งดีๆ ที่ริเริ่มและปรับฐานเอาไว้ให้นั้นจะเป็นอย่างไรกันบ้าง
ในช่วงรัฐบาลสุรยุทธ์ แม้เป็นรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารแต่ความโดดเด่นกลับมิใช่งานด้านความมั่นคง ด้านการเมือง หรือด้านเศรษฐกิจ หากอยู่ที่งานด้านสังคม ซึ่งในส่วนนี้มีกระทรวง พม. เป็นหัวรถจักร อาจารย์ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม และคณะของพวกเราได้ทำให้เกียรติภูมิและภาพพจน์ของกระทรวงเล็กๆ ที่ไม่มีใครสนใจกลับกลายเป็นที่กล่าวขาน เปล่งประกาย และมีสีสันขึ้นอย่างฉับพลัน ซึ่งสัมผัสได้จากความภาคภูมิใจของข้าราชการ พม. ทั้งในภูมิภาค และส่วนกลาง ที่ทำงานสัมพันธ์กับเพื่อนข้าราชการต่างกระทรวงและสื่อมวลชนสะท้อนออกมา
รัฐมนตรี พม. 6 คนใน 3 รัฐบาล ที่ผ่านมาเพียงชั่วข้ามปีภายหลังจากยุคนั้น ต้องถือเป็นสถิติที่ไม่น่าประทับใจเลย เพราะเป็นภาพสะท้อนให้เห็นว่าผู้นำการเมืองแบบเก่ายังไม่เล็งเห็นความสำคัญของกระทรวง พม. จึงส่งรัฐมนตรีมาตามโควต้าเสมือนเป็นสมบัติผลัดกันชมมากกว่าที่จะมุ่งแก้ปัญหา และสร้างสรรค์สังคมให้เป็นผลงานของรัฐบาลและเป็นที่ยังประโยชน์สุขแก่ประชาชนจริงจัง
ครั้นจะโทษนักการเมืองฝ่ายเดียวก็กระไรอยู่ อันที่จริงตัวข้าราชการ พม. 6,000 คน เองนั่นแหละคือตัวแปรสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้าราชการระดับผู้บริหารสำนัก กรม และกองต่าง ๆ (ซี 8-9-10) รวมทั้งปลัดกระทรวง ผมเชื่อว่าผู้บริหารของ พม. ยังคงตระหนักได้ดีว่ากระทรวง พม. ควรเดินไปในทิศทางไหน ระหว่างสิ่งใหม่ที่เราช่วยกันริเริ่มกับสิ่งที่เป็นการเมืองแบบเก่าๆ แต่ความเข้มแข็งในหลักคิด และความกล้าหาญทางจริยธรรมอาจยังไม่ถึงขั้นที่จะต้านทานอำนาจการเมืองที่ศูนย์กลางได้ ตรงกันข้ามกับพวกที่อยู่ในภูมิภาคซึ่งห่างไกลออกไป เพราะที่จังหวัดต่างๆ เรายังคงได้รับทราบถึงการทำงานร่วมกันระหว่าง พมจ. และข่ายงานประชาสังคมเป็นที่สนุกสนานและน่าชื่นใจ
นพ.พลเดช ปิ่นประทีป
จันทร์ 2 มีนาคม 2552
Be the first to comment on "“อนิจจา พม.”"