ความเสียหายของประเทศไทยและประชากรอาเซียนอันเนื่องมาจากเหตุการณ์ “กบฎเสื้อแดง” 8-15 เมษายน 2552 นับเป็นเรื่องน่าใจหายอย่างยิ่ง แต่สิ่งที่สังคมไทยได้มาแบบไม่คาดฝันคือสภาวะการนำของนายกรัฐมนตรีที่สูงเด่นของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และการตื่นตัวของพลังเงียบทั่วประเทศผู้เฝ้าติดตามข้อมูลความจริงผ่านจอโทรทัศน์แบบเรียลไทม์
สิ่งที่สูญเสียกับสิ่งที่ได้มาจะสามารถชดเชย ทดแทนกันได้แค่ไหน ขึ้นอยู่กับว่าท่านนายกฯ และพลังทางสังคมที่ตื่นตัวดังกล่าว จะร่วมกันใช้โอกาสช่วงนี้อย่างไร ในการฟื้นฟูหลักนิติธรรมและความเป็นนิติรัฐ การเยียวยาสังคมและการปฏิรูปการเมืองในภาคปฏิบัติ
อย่ารีบร้อนยุบสภาครับท่านนายกฯ ผมมีข้อเสนอบางประการให้พิจารณา
1. เร่งรัดดำเนินคดีในเชิงคุณภาพ
จากความขัดแย้งทางการเมืองและสังคมตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา มีการละเมิดกฎหมาย การทำความเสียหายต่อสาธารณะและการก่ออาชญากรรมต่อบุคคลเป็นจำนวนมาก ซึ่งยังมิได้รับการดำเนินการจากเจ้าหน้าที่ตำรวจบ้าง ติดขัดในชั้นอัยการบ้าง รวมทั้งบางส่วนที่มีเหตุล่าช้าในชั้นศาล สิ่งเหล่านี้คือรูปธรรมปัญหาที่บั่นทอนความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายที่เรามักมองข้ามหรือทำแกล้งลืมกันเรื่อยมาจนเสียนิสัย การนิรโทษกรรมอยู่ร่ำไปโดยใช้ข้ออ้างความปรองดองที่ไร้หลักการจะยิ่งสร้างภาวะแทรกซ้อนและซ้ำเติมความไร้ขื่อแปของบ้านเมือง อันเป็นความเสียหายที่ประเมินค่าเป็นตัวเงินไม่ได้ ในจังหวะที่ดีเช่นนี้ สิ่งที่ควรทำคือการเร่งรัดดำเนินคดีในเชิงคุณภาพครับ
การดำเนินคดีในเชิงคุณธรรม หมายรวมถึงการให้ความสำคัญต่อคดีที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ความขัดแย้งและความไม่สงบทางการเมืองในช่วง 4 ปีทุกคดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีเหตุการณ์ที่สื่อมวลชนและสังคมให้ความสนใจ ทั้งที่เกิดในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด การตั้งข้อหาที่สมเหตุสมผลไม่เอนเอียง การดำเนินคดีอย่างโปร่งใส เป็นธรรม และเป็นที่ยุติได้ในระยะเวลาไม่นานเกินไป ซึ่งในครั้งนี้หากจะก้าวให้พ้นสภาวะ “กว่าถั่วจะสุก งาก็ไหม้” ผมคิดว่าต้องทำให้เสร็จภายใน 2 ปี
เพื่อการนี้ คงมีความจำเป็นที่รัฐบาลจะขอความร่วมมือจากฝ่ายตุลาการให้มีกลไกพิเศษขึ้นมาดูแลเป็นการเฉพาะ การตั้งคณะกรรมการทางสังคมช่วยติดตามสนับสนุนจะมีประโยชน์มาก การกำหนดเป้าหมายระยะเวลาให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการแล้วเสร็จรวมทั้งมาตรการให้คุณให้โทษน่าจะช่วยได้ ส่วนข้อโต้แย้งของฝ่ายอัยการที่มักกล่าวหาว่าตำรวจทำสำนวนอ่อนจึงไม่สั่งฟ้องนั้น ควรจัดให้มีกลไกศึกษาข้อเท็จจริงและให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย กระทรวงยุติธรรมต้องแสดงบทบาทอำนวยการความยุติธรรมให้ปรากฎ
2. ขันน็อตระบบความมั่นคงภายใน
การปล่อยให้ผู้นำต่างชาติเกือบ 20 ประเทศร่วมร้อย ต้องเผชิญชะตากรรมที่น่าอกสั่นขวัญแขวนที่พัทยาต่อหน้าสื่อมวลชนยักษ์ใหญ่จากทั่วโลก รวมทั้งการรอดชีวิตอย่างหวุดหวิดจาก 2 เหตุการณ์ของนายกรัฐมนตรีแห่งประเทศไทย และการรุมถล่มนายสนธิ ลิ้มทองกุลด้วยอาวุธสงครามกลางกรุง นับเป็นรูปธรรมความอ่อนแอถึงขีดสุดของระบบการรักษาความปลอดภัย และระบบความมั่นคงภายในแห่งชาติอย่างไม่ต้องการคำอธิบายใดอีกแล้ว
ทุกวันนี้ใครๆ ก็มองว่า ต้นเหตุที่กลไกอำนาจรัฐของเราอ่อนแอเป็นเพราะความสับสนในบทบาทหน้าที่ของตน แทนที่กองทัพ ตำรวจ หน่วยงานความมั่นคงและฝ่ายปกครองจะยึดมั่นในภารกิจการรักษาเสาหลักและขื่อแปของบ้านเมือง กลับทำตัวรับใช้นักการเมืองที่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนขึ้นมาบริหารประเทศโดยมุ่งรักษาสถานะความก้าวหน้าและประโยชน์ส่วนตัวกับพวกพ้องแคบๆ หรือบางครั้งถึงขั้นช่วงชิงยึดอำนาจมาครองเสียเอง
รัฐบาลควรช่วยให้ผู้นำเหล่าทัพและผู้บริหารหน่วยงานรัฐได้ตื่นจากภวังค์ หยุดคิดสับสนต่อบทบาทหน้าที่ กลับเข้ากรมกอง สร้างความเป็นมืออาชีพและศักดิ์ศรีแห่งวิชาชีพของสถาบัน
รัฐบาลควรรักษาระยะห่างและความสัมพันธ์ที่พอเหมาะพอสม เพื่อให้ผู้นำและประชาคมในกองทัพได้ปฏิรูปตนเองอย่างอิสระจริงจัง ศึกษาบทบาทภารกิจของกองทัพตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดอย่างลึกซึ้งและตีบทให้แตก ไม่ประนีประนอมกับการก่อกบฎและการก่อการร้ายที่คุกคามประเทศชาติและความสงบสุขของประชาชน ไม่ว่าจะเกิดจากกลุ่มการเมืองใด รวมทั้งหากเกิดกรณีที่จำเป็นต้องเข้าควบคุมสถานการณ์เพื่อรักษาไว้ซึ่งสถาบันหลักต่างๆ ของชาติ กองทัพต้องกล้าตัดสินใจและรับผิดชอบต่อการปฏิบัติหน้าที่ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่มีอยู่ทุกฉบับ รวมทั้ง พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายใน พรก.บริหารราชการในภาวะฉุกเฉิน และ พ.ร.บ.กฎอัยการศึกที่สามารถดำเนินการเฉพาะพื้นที่ด้วย
3. เยียวยาสังคมที่ฐานราก
แม้ประชาชนที่ฐานรากส่วนหนึ่งจะถูกแบ่งแยกเป็นสีแดง-สีเหลืองจากกระแสความขัดแย้งและความไม่สงบทางการเมืองในช่วงที่ผ่านมา แต่นั่นไม่ใช่คนส่วนใหญ่ อย่างไรก็ตามกระแสความขัดแย้งดังกล่าวมีส่วนช่วยปลุกให้ผู้คนซึ่งแต่ก่อนเคยหลับไหลทางการเมืองจำนวนหลายสิบล้านคน ได้ตื่นตัวสนใจและพูดคุยถกเถียงเรื่องบ้านเมือง
เมื่อกลับลงสู่บ้านเรือนและชุมชนท้องถิ่นอันเป็นฐานรากของสังคม เราจะพบว่าการเมืองภาคพลเมืองในระดับของชาวบ้านเป็นการเมืองเรื่องของการทำมาหากิน เรื่องความปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สิน เรื่องความสงบสันติสุข เรื่องแหล่งน้ำ เรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องสุขภาวะ เรื่องถนนหนทางและสิ่งอำนวยความสะดวก ฯลฯ ซึ่งไม่เกี่ยวกับอุดมการณ์สีแดง-สีเหลืองที่ขัดแย้งอยู่ในระดับโครงสร้างส่วนบน
นับเป็นเรื่องดีที่ขณะนี้รัฐบาลกำลังขับเคลื่อนโครงการชุมชนพอเพียง ที่เปิดโอกาสให้หมู่บ้าน-ชุมชนทั่วประเทศ 75,000 แห่ง สามารถกำหนดตนเองว่าจะพัฒนาชุมชนอย่างไรโดยรัฐบาลจัดสรรงบประมาณให้ตามขนาดของชุมชนตั้งแต่ 1-7 แสนบาท โครงการเช่นนี้หากได้รับการเอาใจใส่ที่ดีพอ จะเป็นเครื่องมือในการเยียวยาสังคมและสร้างประชาธิปไตยชุมชนที่ฐานรากได้เป็นอย่างดี
อย่างไรก็ตาม มีบทเรียนที่พึงสังวรว่าในยุครัฐบาลไทยรักไทย โครงการนี้เรียกว่า SML ซึ่งเปิดทางให้นักการเมืองและหัวคะแนนเข้ามาจุ้นจ้านมากจนถึงกับรู้กันเป็นนัยว่านี่คือผลประโยชน์ที่มาทดแทน “งบ สส.” นั่นเอง ต่อมาในยุครัฐบาลสุรยุทธ์ ในนามของโครงการอยู่ดีมีสุข อำนาจการตัดสินอนุมัติโครงการอยู่ที่นายอำเภอและผู้ว่าราชการจังหวัด จนเป็นเหตุให้มีเสียงโอดครวญทั่วภาคอีสานว่าถูกชักเปอร์เซ็นต์อย่างเป็นระบบ
ท่านนายกฯ ครับ มีเครื่องมือทางยุทธศาสตร์อยู่ชิ้นหนึ่งที่ผมอยากแนะนำคือ พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551 ซึ่งมีสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) องค์การมหาชนในกำกับของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เป็นผู้ดูแล มีสภาองค์กรชุมชนเป็นกลไกการทำงานมีองค์กรชุมชนที่ พอช.ประเมินว่าเข้มแข็งประมาณ 50,000 องค์กรทั่วประเทศ เครื่องมือเหล่านี้หากรู้จักใช้ โดยเชื่อมโยงกับบทบาทขององค์กรเอ็นจีโอและองค์กรภาคประชาสังคมในระดับท้องถิ่นจะช่วยภาครัฐได้มาก
4. เปิดพื้นที่ทางสังคม ร่วมปฏิรูปการเมืองภาคปฏิบัติ
การปฏิรูปการเมืองมิใช่มีความหมายเพียงแค่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือการนิรโทษกรรมนักการเมืองเท่านั้น การปฏิรูปส่วนสำคัญและยากที่สุดคือการปฏิรูปวิธีคิด และพฤติกรรมของผู้เกี่ยวข้องรวมทั้งของสังคมด้วย ดังนั้นในกระบวนการปฏิรูปการเมืองภาคปฏิบัติจึงจำเป็นต้องเปิดพื้นที่ทางสังคมอย่างกว้างขวาง และการใช้สื่อสารมวลชนเป็นเครื่องมือขับเคลื่อนทางปัญญาอย่างขนานใหญ่
แนวทางของนักการเมืองในสภาที่กำลังดำเนินการอยู่ขณะนี้สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าไว้ได้เลยว่าจะถูกกระแสต่อต้านจากสังคมครั้งใหญ่ที่ใหม่กว่าเดิม การมุบมิบรวบรัดแก้รัฐธรรมนูญโดยนักการเมืองผู้มีส่วนได้เสียนั้นแม้ว่ารัฐธรรมนูญจะเปิดโอกาสให้ทำได้ก็ไม่สมควรหักหาญน้ำใจภาคประชาชน โปรดอย่าประมาทปรากฏการณ์ชุมชนนางเลิ้ง-ดินแดง-อุรุพงษ์ ฯลฯ และอย่าประมาทพลังทางสังคมใน พ.ศ.นี้เป็นอันขาด
รัฐบาลควรหนักแน่นและยืนหยัดการทำงานของสภาฯ ต่อไปจนครบวาระ โดยในระหว่างนี้ ควรขับเคลื่อนกระบวนการสังคมในการปฏิรูปการเมือง ให้เวลาในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและเจรจาต่อรองกันจนตกผลึกในหลักการสำคัญ ของระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขที่เป็นฉันทามติของสังคมไทยมาเกือบ 80 ปี ว่ามีเรื่องใดที่ต้องคงไว้หรือเรื่องใดที่ต้องการปรับปรุงแก้ไข ก่อนที่จะก้าวไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญในรายละเอียดต่อไป
นพ.พลเดช ปิ่นประทีป
โพสต์ทูเดย์ 7 เมษายน 2552
Be the first to comment on "อย่ารีบร้อนยุบสภาครับท่านนายกฯ"