ออกแถลงการณ์ แล้วยังไง?

ออกแถลงการณ์ แล้วยังไง ?

พลเดช ปิ่นประทีป / เขียนให้โพสต์ทูเดย์ พุธที่ ๘ มกราคม ๒๕๕๗

น่าสงสารคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตรที่กำลังพลัดเดินเข้าไปสู่เขตมหันตภัยความขัดแย้งทางการเมืองและสังคมที่เผชิญหน้ากันรุนแรงขึ้นทุกขณะจนใกล้ถึงจุดแตกหัก โดยเจ้าตัวจะรู้หรือไม่และใครเป็นคนกำหนดให้เธอต้องเดินไปอย่างนั้น ช่างโหดร้ายเสียเหลือเกินในสายตาของผม

เมื่อตอนที่ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีใหม่ๆ ผมรู้สึกเหมือนว่าเราได้ฮ่องเต้วัยเตาะแตะมาบริหารบ้านเมือง แต่ก็นึกชมการตัดสินใจของคุณทักษิณที่เลือกส่งนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกมาให้คนไทยได้สัมผัสความแปลกใหม่ แอบหวังในใจว่าบางทีคุณสมบัติของผู้เป็นเพศ แม่ เมีย และลูกสาว” ในตัวเธอ น่าจะช่วยให้บรรยากาศบ้านเมืองเดินไปสู่ความปรองดองสมานฉันท์ได้บ้าง

แต่การณ์กลับตาละปัด รัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ได้ทำเรื่องที่ผิดพลาดมากมาย ทั้งเรื่องที่ชั่วร้ายและที่สร้างความเสียหายรุนแรง จนเกิดกระแสสังคม “ตาสว่างกันขึ้นมาแบบชั่วข้ามคืน ศรัทธาประชาชนและมวลชนรากหญ้าที่อยู่ในเครือข่ายจัดตั้งของพรรคเพื่อไทยคลอนแคลนอย่างหนัก ชื่อเสียงเกียรติภูมิของวงศ์ตระกูลที่สร้างไว้ถูกขุดขึ้นมาก่นด่าจนทะลายลงอย่างรวดเร็ว

ผมเคยพูดผ่านสื่อด้วยความห่วงใยฝากไปถึงคุณยิ่งลักษณ์หลายครั้ง ซึ่งเธอคงไม่ได้ยินหรอก ผมอยากให้คุณยิ่งลักษณ์รับรู้ความจริงของสถานการณ์อย่างที่มันเป็นจริงว่า ทุกวันนี้ผู้คนจำนวนมากมายมหาศาลขึ้นเรื่อยๆ ที่โกรธแค้นเกลียดชังรัฐบาลและวงศ์ตระกูลของคุณ ถ้าขืนดื้อดึงไปอย่างนี้ นานวันเข้าจะรักษาอะไรเอาไว้ไม่ได้เลย แม้แต่ครอบครัว วงศ์ตระกูลและฐานธุรกิจ การถอยเพื่อรักษาชีวิตและฐานทุนที่มีอยู่ ยังจะมีโอกาสได้กลับมากอบกู้ชื่อเสียงได้ในภายหลัง

น่าเห็นใจคุณสุเทพ เทือกสุบรรณ และ กปปส.ที่พยายามทุกวิถีทางให้รัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ต้องแสดงความรับผิดชอบทางการเมืองด้วยการลาออก เพื่อเปิดทางให้มีรัฐบาลคนกลางมารักษาการและทำการปฏิรูปบางเรื่องที่เร่งด่วนเสียก่อน แล้วจึงจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปตามปกติ แต่สิ่งที่ได้รับคือความเฉยเมย ไม่นำพา ไม่แยแสใดๆ แม้ว่าจะมีประชาชนนับล้านออกมาร่วมเคลื่อนไหวขับไล่ จนในที่สุด กปปส.จึงต้องตัดสินใจชูธง การปฏิวัติประชาชน” ขึ้นมานำมวลมหาประชาชน

ผมเคยสื่อสารไปยังคุณสุเทพด้วยเช่นกันว่า การยึดแนวทางสันติวิธี อหิงสาอย่างเคร่งครัดเป็นสิ่งที่ถูกต้องน่าชื่นชมและเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้สังคมสนับสนุนและเข้าร่วมกับฝ่าย กปปส.มากขึ้นทุกวัน แต่อย่างไรก็ตาม กปปส.ยังควรต้องยึดหลัก “ความมีเหตุผล ได้ประโยชน์และรู้ประมาณควบคู่ไปด้วย โดยต้องระวังอย่าลุกไล่ให้ฝ่ายตรงข้ามจนตรอกหรือพาตัวเองพลัดตกไปอยู่ในวงล้อมโดยประมาท แต่แกคงไม่ได้ยินอีกเช่นกัน

น่าเป็นห่วงมวลชนคนเสื้อแดงที่อีสานจำนวนไม่น้อยที่กำลังละล้าละลัง ส่วนใหญ่ไม่เชื่อว่าการเลือกตั้ง ๒ กุมภาพันธ์จะเกิดขึ้นจริง บางส่วนตาสว่างขึ้นและรู้วิธีปรับตัวในกระแสการเมืองปัจจุบัน แต่บางส่วนกังวลว่าจะถูกปราบปรามถ้าขั้วอำนาจเปลี่ยนจึงเตรียมต่อสู้แบบใต้ดินกันบ้างแล้ว สะท้อนว่างานสมานแผ่นดินต่อแต่นี้ไปนับวันยิ่งยากลำบากไม่ว่าจะได้ใครมาเป็นรัฐบาล ในขณะที่แกนนำเสื้อแดงบางส่วนที่นั่นพูดกันว่า พวกเขาเองก็อยากเห็นใครสักคนมาช่วยกวาดล้าง “ตระกูลชินออกไปจากการเมืองไทยเสียที เพราะที่ผ่านมา โกงกินบ้านเมืองมากเกินไปแล้ว

โดยส่วนตัวผมไม่อยากเห็นการรัฐประหารและการแตกหักในบ้านเมืองอีกเลย แต่ถ้ามันจะเกิดก็คงช่วยอะไรใครไม่ได้ ขอเอาใจช่วยให้ไปแต่ในทางที่ดีที่เจริญ เพราะผมเรียนรู้จากประสบการณ์ว่าการต่อสู้แย่งชิงอำนาจกันระหว่างผู้หวังดี(fighting) ถึงที่สุดแล้วมักไม่สามารถแก้ปัญหาสังคมและประชาชนส่วนใหญ่ได้ เพราะการต่อสู้โค่นล้มกันนั้นล้วนต้องใช้ความเกลียดชังและอารมณ์ที่รุนแรงเป็นเครื่องนำพา เมื่อโค่นล้มกันลงไปแล้วยังมีงานแก้ปัญหาประชาชนและบ้านเมืองที่ยุ่งยากและซับซ้อนกว่ารออยู่ข้างหน้า

 

ยิ่งกว่านั้นในสภาพการต่อสู้ที่มิได้มีผู้ใดชนะแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ไม่มีผู้ใดที่พ่ายแพ้อย่างศิโรราบสิ้นเชิง ในภาวะเช่นนั้นหากขาดองค์ความรู้และทักษะความเชี่ยวชาญในการจัดการ ก็คงหนีไม่พ้นที่จะนำไปสู่ปัญหาใหม่ที่เก็บกดและรอวันประทุอีกครั้ง

 

 

 

ตรงข้ามกับการพัฒนา (development) ที่มีธรรมชาติอันแตกต่าง ด้วยงานพัฒนานั้นตั้งอยู่บนฐานของความรักในเพื่อนมนุษย์และการใช้องค์ความรู้และกระบวนการเรียนรู้และปรับตัวเพื่ออยู่ร่วมกันเป็นสำคัญ

โดยเฉพาะการพัฒนาในเชิงปฏิรูปที่ต้องใส่ใจลงลึกไปถึงการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง ระบบและกลไกที่เกี่ยวข้องในเรื่องนั้นๆ โดยมิได้ใช้วิธีการบังคับใจกัน

ผมชื่นชมกับความพยายามของกลุ่ม องค์กรและสถาบันต่างๆ ที่ออกมาเสนอทางออกทางเลือกในแนวสายกลางมากมาย การออกมาตั้งโต๊ะแถลงข่าวหรือออกแถลงการณ์เผยแพร่ผ่านสื่อสังคมและสื่อมวลชนทั่วไปเพื่อสะท้อนจุดยืน ท่าที ทรรศนะและข้อเสนอทางออกในมุมมองของกลุ่มตนอย่างเปิดเผย นับเป็นเรื่องที่ดีที่สังคมจะได้มีทางเลือกที่หลากหลาย แม้ว่าวันนี้คู่ขัดแย้งยังไม่ยอมรับ สังคมยังไม่มีสนใจ วันหน้าอาจจะเห็นคุณค่าและหยิบมาใช้

แต่อดตั้งคำถามกับตัวเองไม่ได้ว่า แล้วยังไงต่อ?

มาถึงวันนี้ ผมคิดว่าแค่ออกแถลงการณ์คงไม่พอแล้ว ผมอยากเห็นการลงมือลงแรงที่มากกว่า นั่นคือการรวมตัวเป็นกลุ่มของสถาบันทางสังคมที่มีน้ำหนักมากพอสำหรับการเจรจา ไกล่เกลี่ยและต่อรอง เพื่อให้สองฝ่ายมาพูดคุยและหาทางออกให้กับบ้านเมือง ซึ่งไม่ใช่ทางออกของฝ่ายใดฝ่ายเดียว แต่เป็นทางออกของเราทุกคนร่วมกัน เช่นนี้ข้อเสนอทางเลือกต่างๆ จะได้มีโอกาสนำออกมาใช้

สถาบันที่ผมนึกถึงในขณะนี้มีอย่างน้อย ๕ ภาคส่วนที่ควรต้องเข้ามาประกอบเครื่องกัน การทำเดี่ยวๆ จะไม่มีพลังมากพอและเสี่ยงต่อความล้มเหลวและถูกทำลาย ได้แก่ ๑. ภาคธุรกิจ (อาจมี ๗ องค์กรเป็นตัวแทน) ๒. ภาควิชาการ (ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย) ๓. ภาคกองทัพ ๔. ภาคสื่อมวลชน ๕. ภาคชุมชนท้องถิ่นและประชาสังคม

 

การนัดหมายปิดกรุงเทพฯก็ทำกันไปตราบใดที่ยังอยู่ในกรอบสิทธิ เสรีภาพและสันติอหิงสา

 

 

 

 

การเดินหน้าเลือกตั้งก็ว่ากันไปตราบใดที่มีอำนาจใช้เงิน ๓,๕๐๐ ล้านไปแลกกับบทเรียนรู้ของสังคมที่คิดว่าคุ้มค่า

 

 

 

แต่ถ้าหากคิดจะปราบปรามด้วยความรุนแรงหรือทำรัฐประหารก็คงต้องขอร้องแรงๆ ว่าอย่าทำเลย

ส่วนกลไกสะพานเชื่อมที่ว่านี้ เมื่อไรก็ตามที่เห็นว่าเป็นประโยชน์ จึงค่อยเรียกหากันก็ได้นะครับ

Be the first to comment on "ออกแถลงการณ์ แล้วยังไง?"

Leave a comment

Your email address will not be published.