การแก้ปัญหาความขัดแย้งด้วยสันติวิธี เป็นวิธีการที่น่าจะเหมาะสมกับสังคมไทย ซึ่งมีวัฒนธรรม จารีตประเพณี ที่ผู้คนมีความเอื้ออาทรเป็นพื้นฐาน แต่หลายครั้งสังคมเลือกใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง อาจารย์ชัยวัฒน์ สถาอนันต์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จะวิเคราะห์สังคมไทยถึงโครงสร้างของปัญหาที่นำไปสู่ความรุนแรง และสันติวิธีจะเกี่ยวข้องกับประชาสังคมอย่างไร
ผมขอเริ่มต้นด้วยคำถามว่า ทำไมสังคมไทยจึงต้องเห็นความสำคัญของการแก้ปัญหาด้วยสันติวิธี ผมอยากจะอธิบายอย่างนี้ สังคมไทยกำลังเปลี่ยนแปลงและเผชิญกับอะไรใหม่ๆ ข้อวิจารณ์ต่อรัฐบาลคุณชวนประการหนึ่ง ซึ่งได้เคยเขียนไว้ในทางหน้าหนังสือพิมพ์ โดยเฉพาะในเรื่องของความขัดแย้ง ก็คือ รัฐบาลของพรรคประชาธิปัตย์ ไม่เข้าใจว่าเกิดความเปลี่ยนแปลงอะไรในสังคมไทย รัฐบาลของคุณทักษิณ ผมไม่แน่ใจว่าเข้าใจไหม การเปลี่ยนแปลงและอะไรที่ว่าใหม่นั้น ผมขอตั้งข้อสังเกต ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้ง ใน 5 เรื่องก็คือ
- ความขัดแย้งทั้งหลายที่เกิดขึ้นในวันนี้เป็นความขัดแย้ง
ซึ่งผูกโยงกับวิถีชีวิตของชาวบ้าน เราจะเห็นว่า มันมีจุดซึ่งมีความขัดแย้งใน 16 ภาคอีสานเป็นร้อยๆ จุด ข้อมูลของกระทรวงมหาดไทยบอกว่ามีการเดินขบวนกัน นับ 1000 ครั้ง ใน 2 ปีที่ผ่านมา นั่นหมายความว่าวันหนึ่งประมาณ 2 ครั้ง และเรื่องที่มีการเดินขบวน รวมกลุ่มเรียกร้อง ล้วนเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับ ดิน น้ำ ป่า เสียประมาณ 40-50% นี่ทำให้ต้องกลับมาย้อนถามว่า มันเกิดอะไรขึ้น บางคนบอกว่า คนกำลังสำลักสิทธิในการรวมตัวกัน ผมคิดว่าไม่ใช่ แต่ประเด็นก็คือ ปัญหาที่เกิดขึ้นตอนนี้มันกลายเป็นปัญหาชีวิตเขา ผมใช้คำว่า มันเป็นปัญหาของคนซึ่งถูกผลักไปติดฝา ทำให้ต้องลุกขึ้นมา เพราะว่าการติดฝาที่เกิดขึ้นมันเป็นการติดฝาซึ่งเกิดขึ้นซ้ำซาก มีงานศึกษาชิ้นหนึ่งน่าสนใจ เขียนโดย ซูซาน จอร์จ ชื่อ The Lucano report ซึ่งมันไม่ได้เกิดขึ้นจริง แต่เป็นการคิดขึ้นมาของ ซูซาน จอร์จ ว่า สมมุติถ้าบริษัทใหญ่ๆ ในโลกจะตั้งคณะทำงานขึ้น แล้วถามว่าสถานการณ์โลกจะเป็นยังไงต่อไป ผู้เชี่ยวชาญทั้งหลาย สรุปว่า โลกใน 20-30 ปีข้างหน้า จะเป็นโลกของการต่อสู้ระหว่างผู้ชนะกับผู้แพ้ แล้วในที่สุด มันจะเกิดสถานการณ์การเป็นผู้แพ้ แล้วก็แพ้ซ้ำซาก แพ้แล้วแพ้อีก แพ้ซ้ำซากก็หมายความว่า พวกที่โดนเวนคืนที่ดินก็พวกนี้ คนที่ลูกเข้าโรงเรียนไม่ได้ก็พวกนี้ ถูกไล่ออกจากงานก่อนก็พวกนี้ ทุนอะไรก็ไม่มี จึงโดนสถานการณ์แบบนี้มากที่สุด แล้ว จะทำอย่างไรต่อไป เมื่อโลกมีประชากรเพิ่มขึ้น ปัญหาก็เพิ่มขึ้น รายงานชิ้นนี้ให้คำตอบน่าสะพรึงกลัวพอสมควรว่า ถ้าคนชั้นกลางและคนชั้นสูงยังอยากจะดำเนินชีวิตอย่างที่เป็นอยู่ ก็ต้องเอาคนในโลกออกครึ่งหนึ่ง สิ่งที่น่าสนใจก็คือ แล้วจะเอาคนออกอย่างไร ใครจะมีชีวิตอยู่ แล้วใครจะต้องหลุดไปจากโลกนี้ ขณะที่เราเกิดสภาพของคนชายขอบมากขึ้น ความขัดแย้งที่เกิดมากขึ้นก็เพราะมันกระทบชีวิตเขา - การรวมกลุ่มด้วยตัวเองของชาวบ้านที่รัฐไม่คุ้นเคยและมองว่ามีผู้ชักนำ
สังคมไทยเป็นสังคมของการจัดกลุ่ม แต่เป็นการจัดโดยฝ่ายราชการ งานชิ้นสำคัญ ที่อธิบายเรื่องนี้เป็นงานทางประวัติศาสตร์คลาสสิก ของอาจารย์ ขจร สุขพานิช เรื่อง ฐานันดรไพร่ ประเด็นสำคัญของระบบฐานันดรไพร่ คือระบบการจัดการคน ที่ผ่านมาการจัดการคนนั้นทำโดยฝ่ายราชการ วันนี้คนเกิดการจัดการตัวเองได้ รวมกลุ่มกันเอง ราชการไม่คุ้นเคยคิดว่ามันเป็นไปไม่ได้ ต้องมีใครอยู่เบื้องหลัง มีมือที่สาม หรือมีความสัมพันธ์กับต่างประเทศเป็นอย่างไร ผมไม่ได้สงสัยว่ามันไม่จริง เพียงแต่บอกว่ามันไม่สำคัญ ในฐานะนักสังคมศาสตร์ มันไม่ได้น่าสนใจที่ตัวคนหรือกลุ่มบุคคลที่ทำให้มันเกิด แต่น่าสนใจที่สาเหตุในเชิงโครงสร้างซึ่งทำให้คนเหล่านั้นหรือกลุ่มเหล่านั้นออกมาเคลื่อนไหว ถ้ารัฐไม่เข้าใจฐานการเปลี่ยนแปลงใหม่นี้ ก็จะวนเวียนอยู่กับคำถามเดิมๆ ทั้งๆ ที่ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเป็นประเด็นใหม่ - รัฐปัจจุบันเป็นรัฐที่อยู่ท่ามกลางความขัดแย้ง และในท่ามกลางความขัดแย้งนั้น มักเป็นเรื่องของการมีผลประโยชน์หรือไม่มีผลประโยชน์ เป็นคนดีหรือเลว แต่ผมอยากให้มองในด้านความแตกต่างของคุณค่า ตัวอย่างเช่น กรณีท่อแก๊สยาดานา มีการโต้ตอบระหว่างฝ่าย ปตท. กับฝ่ายอนุรักษ์ที่ทำเนียบรัฐบาล ฝ่ายอนุรักษ์กล่าวหา ปตท.หลายข้อ รวมทั้งถามว่าทำไมไม่สนใจสิทธิมนุษยชนในพม่า ปตท. ตอบว่า เขาไม่มีหน้าที่ตรงนั้นเลย หน้าที่ของ ปตท. ก็คือหาแหล่งพลังงานตามเงื่อนไข 2 ข้อ คือ สะอาดและถูก เขาถูกตั้งขึ้นมาเพื่อให้ทำหน้าที่นี้ แล้วเขาก็ทำหน้าที่อย่างดีที่สุด ดังนั้น การมองคนเหล่านี้จึงไม่ได้อยู่ที่ดีหรือเลว สิ่งที่น่าสนใจก็คือ กระแสสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ผมถามว่า ปตท.ทำอะไรไปบ้าง เขาบอกว่าเขาได้พยายามอนุรักษ์ต้นไม้ทุกต้นที่ท่อแก๊สตัดผ่าน ผมถามว่าทุกต้นเลยหรือ เขาตอบว่า ทุกต้นที่มีค่า คำตอบนี้ทำให้ชาวบ้านที่นั่งอยู่อีกข้างโห่ ผมก็ถามว่าต้นไม้มีค่าที่ล้อมไปมีกี่ต้น เขาก็บอกว่าแปดพันกว่าต้น
ผมถามว่า มีค่าท่านหมายความว่ายังไง เขาตอบว่า มีราคาตามที่องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้กำหนดไว้ เวลาบอกว่าต้นไม้มีค่าในสายตาหน่วยงานราชการบางแห่ง เขาก็ไปดูรายการต้นไม้มีค่าขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ รายชื่อต้นไม้ที่มีค่าก็จะเป็นพวกไม้แดง ไม้รัง ไม้สัก ที่มีค่า เพราะว่ามันขายได้ ดังนั้น ค่าจึงเป็นค่าในเชิงพาณิชยกรรม อันที่จริงไม่อาจเรียกว่า value (คุณค่า) โดยตรง แต่น่าจะเป็น price (ราคา) มากกว่า
ที่ชาวบ้านหัวเราะเพราะว่าการมองถึงเรื่องค่าของชาวบ้านเป็นอีกแบบหนึ่ง สำหรับชาวบ้าน กระถินก็มีค่า หนุมานประสานกายก็มีค่า ของพวกนี้มันนำมาใช้ได้ แต่ในสายตาราชการมันไม่เกี่ยว ความขัดแย้งในสังคมไทยในขณะนี้ มันจึงไม่ใช่อันหนึ่งถูก อันหนึ่งผิด แต่มันมี 2 อัน ซึ่งมันวางอยู่คู่กัน แล้วคนก็ใช้กันคนละอย่าง ขณะที่โรงไฟฟ้าต้องการพลังงาน อีกทางก็ต้องการปะการัง ชาวบ้านถูกเรียกร้องว่า คุณเป็นคนส่วนน้อย ยอมเถอะ เสียสละหน่อย การเสียสละเป็นคุณธรรมแบบหนึ่ง แต่ปัญหาก็คือว่า หากท่านเป็นคนที่ถูกเรียกร้องให้เสียสละ ท่านจะเห็นราคาของคุณธรรม และหากท่านถูกเรียกร้องให้เสียสละซ้ำซาก ปัญหาก็มีอีกว่า ทำไมเสียสละทีไรเป็นเราทุกทีเลย คำถามนี้เกิดขึ้นเสมอ ทำให้เกิดปัญหาใหญ่ขึ้น
- บทบาทของรัฐกับราชการในสังคมไทยนั้นมีความสัมพันธ์กับอำนาจมาตลอด
ความเข้าใจเรื่องบทบาทของรัฐ เรื่องรัฐที่เป็นกลาง ข้าราชการที่เป็นกลาง ในสังคมไทยเรื่องความเป็นกลางนั้นมีปัญหาพอสมควร จากการวิเคราะห์ทางสังคมวิทยาที่น่าสนใจ ก็คือว่า ตัวอย่างเช่น ที่แม่จันผมเห็นคนร้องไห้เพราะอยากเป็นคนไทย ครูเขาบอกว่าเด็กสาวคนนี้ไม่ใช่เป็นเด็กไทย เป็นไทใหญ่ จึงไม่มีสัญชาติไทย พอไม่มีสัญชาติไทยชีวิตก็ตกระกำลำบากมาก นั่นคือ ออกจากหมู่บ้านไม่ได้ ถ้าจะออกก็ต้องเสียเบี้ยบ้ายรายทาง จะลงไปหางานทำในเชียงราย เอาเงินมา 300 บาท ต้องจ่ายรายทาง เวลาหาเงินได้จะกลับหมู่บ้านก็ต้องจ่ายอีก เรียนหนังสือก็เข้าโรงเรียนไม่ได้ บังเอิญคนนี้ได้เรียนหนังสือเพราะครูสงสาร
ครั้งหนึ่งผมคุยกับปลัดอำเภอ เขาบอกว่า ครั้งแรกกรมประชาสงเคราะห์มาสำรวจ แล้วบอกเด็กคนนี้เกิดเมืองไทย ให้สัญชาติได้ ครั้งที่สองกรมการปกครองมาสำรวจ มาแล้วก็หาคนพูดไทยไม่ได้ เลยออกเอกสารว่าไม่ได้เกิด ตกลงคนๆ หนึ่งมีเอกสารทางราชการ 2 ฉบับ ผมถามว่าถ้ากรณีอย่างนี้เคยไหมที่ทางราชการจะเลือกใช้เอกสารที่เป็นประโยชน์กับชาวบ้าน คำตอบคือไม่เคย เพราะไม่มีใครอยากเสี่ยง ปลัดบอกว่า ถ้าเขาเลือกใช้เอกสารของกรมประชาฯ บอกว่าเป็นคนไทย ถ้ามีปัญหาอะไรเกิดขึ้นเช่น เรื่องยาเสพติด ก็ซวยอีก เพราะฉะนั้นเวลาที่รัฐต้องตัดสินใจก็เลยไม่ค่อย จะตัดสินใจเข้าข้างประชาชนสักเท่าไหร่ เพราะมันติดขัดในเรื่องระบบที่มันมีปัญหาอยู่ นี่คือบทบาทใหม่ของรัฐ แล้วรัฐแบบนี้ต้องหาวิธีเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เคยเป็นอยู่ หลายครั้งที่รัฐหันมาใช้ความรุนแรง อย่างที่เราเห็นในหลายๆ กรณี
- ความขัดแย้งที่ปรากฏชัดผ่านการรวมกลุ่มในทุกวันนี้ มันเกิดอยู่ทั่วไป
ความขัดแย้งจึงเป็นเรื่องธรรมชาติ เราจึงต้องทำความเข้าใจกับความขัดแย้งใหม่ ความขัดแย้งไม่ใช่เรื่องอัศจรรย์อะไร เป็นเรื่องธรรมดา เป็นเรื่องปกติ ถ้าใช้สมมุติฐานนี้การจัดการกับความขัดแย้งจึงไม่ใช่วิธีขจัดความขัดแย้ง เพราะมันเป็นเรื่องธรรมชาติ เหมือนกับความแก่ วันที่ท่านส่องกระจกแล้วเห็นผมขาวเส้นแรก Reaction ของท่านคืออะไร ผมขาวเส้นแรกมันคือคำเตือน เป็นคำเตือนถึงความจริงของชีวิตบางอย่าง คนบางคนได้เห็นผมขาวเส้นแรก ก็วิ่งไปหายาย้อมผม ปฏิกิริยาเราคือจะหยุดมัน แต่ถ้าเราเห็นมันเป็นธรรมชาติ ปฏิกิริยาจึงไม่ใช่หยุดมัน แต่จะต้องกลับมาคิดว่าจะอยู่กับมันอย่างไร ทำนองเดียวกันกับความขัดแย้ง ถ้าเรามองว่ามันเป็นเรื่องธรรมชาติเป็นเรื่องธรรมดา โจทย์ก็จะไม่ใช่จะขจัดมันอย่างไร แต่จะอยู่กับมันอย่างไร อยู่ในลักษณะไหน ที่สร้างสรรค์ เป็นบวก และเกื้อกูลกัน ความขัดแย้งก็ทำให้เป็นบวกได้ และนำไปสู่ทางออกที่ดีได้ด้วย
สังคมไทยเป็นสังคมที่มีความขัดแย้งเยอะมาก และเป็นสังคมที่มีความรุนแรงอยู่ ถามว่าสังคมไทยมีปัญหายังไง ผมว่าสังคมไทยนั้นเป็นสังคมที่สำเร็จ ในการหลอกตัวเองสูง และเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งที่มันหลอก ก็คือ เรื่องของความรุนแรง ในช่วงเวลา 40 ปีที่ผ่านมา มีความรุนแรงเกิดขึ้นกลางเมือง 3 ครั้ง ที่เห็นได้ชัด บางครั้งก็เกิดในแบบที่ไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อน ผมหมายถึงกรณีอย่าง 6 ตุลา สำหรับผมเหตุการณ์เหล่านั้นบอกว่า สังคมไทยไม่ใช่ข้อยกเว้นสำหรับความรุนแรง แต่ความขัดแย้งนั้นเป็นเรื่องธรรมชาติ ปัญหาใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นก็คือว่าเราจะหาวิธีอยู่กับความขัดแย้งอย่างไรโดยหลีกเลี่ยงความรุนแรง คำตอบหนึ่งที่ผมอยากนำเสนอก็คือ การใช้สันติวิธี
สันติวิธีหมายถึงกระบวนการใช้อำนาจเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมโดยไม่ใช้กำลัง ในกระบวนการที่ไม่ใช้กำลัง ไม่ใช้ความรุนแรง ไม่ทำร้ายคนอื่น ก็แสดงให้เห็นว่า เสียงของคนที่พยายามถูกทำให้เงียบ มันอยู่ตรงไหน เพราะฉะนั้นการใช้สันติวิธีในความหมายที่ผมเสนอ ก็คือ การสื่อสารความทุกข์ให้สังคมได้รับรู้ แล้วในสังคมที่มีความขัดแย้งสูง มีปัญหาสูง ขณะนี้เรามีความขัดแย้งทางเศรษฐกิจ ข้อแตกต่างในทางรายได้ของผู้คนมีสูงมาก แตกต่างกันมาก มีความขัดแย้งในเชิงนิเวศ แต่วันนี้ปัญหาเชิงเศรษฐกิจ และนิเวศมันเชื่อมกัน มันกลายเป็นปัญหาในเชิงอัตลักษณ์ของคนด้วย มันเป็นปัญหา Identity ของคนด้วย เช่น ความขัดแย้งระหว่างชาวเขากับชาวพื้นราบเช่นที่จอมทอง เชียงใหม่ ในทางหนึ่งมันเป็นปัญหาเกี่ยวกับนิเวศ เรื่องน้ำ ทางหนึ่งมันเป็นปัญหาเชิงเศรษฐกิจ คือ ข้างล่างเขาปลูกลำไย เขาก็ต้องการใช้น้ำ ข้างบนก็มีวิถีชีวิตแบบชาวเขา พอขัดแย้งกันมากขึ้น ก็หยิบยกว่า พวกมันเป็นชาวเขา พวกเราเป็นคนไทย เป็นคนเมือง
เรื่องเหล่านี้เป็นปัญหาใหญ่ที่กำลังจะเกิดขึ้น ถ้าเราผลักคนไปถึงขนาดนั้น มันคงมีปัญหาในเรื่องความรุนแรง
ความขัดแย้งทางเศรษฐกิจก็น่าสนใจ เมื่อสองปีก่อนมีข่าวทาง หน้าหนังสือพิมพ์ว่า มีร้านขายกระเป๋าผู้หญิง กระเป๋าที่แพงสุด ใบละ 4 แสนบาท สั่งมา 30 ใบ แล้วก็หมด สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือว่า ถ้าผมเป็นคนๆ หนึ่ง ซึ่งบ้านก็ถูกเวนคืน กำลังจะถูกออกจากงาน ลูกก็จะเข้าโรงเรียน กำลังลำบากทำนองนี้ แล้วผมเงยหน้ามาเห็นสิ่งเหล่านี้ ถามว่าผมรู้สึกอย่างไร จะให้ชื่นชมกับความมั่งมีนั้นเหรอ ความรวยไม่ใช่สิ่งผิดในตัวมันเอง แต่ว่าความรวยในปัจจุบันเป็นความรวยที่ไม่มีความละอายกำกับ นั่นล่ะที่เป็นปัญหา มันเป็นความรวยที่ไม่สำรวม เป็นความรวยซึ่ง Showoff
สมัยหนึ่งตราเสื้ออยู่ข้างใน สมัยนี้ตราเสื้อมันอยู่ข้างนอก หรือสุภาพสตรีที่ไปซื้อนาฬิกาจากต่างประเทศราคา 10 ล้าน
ในสภาพแบบนี้ ช่องว่างมันไม่ใช่แค่ตัวเลข แต่ภาพพวกนี้ทำให้มองเห็นว่าคนที่ยากลำบากยิ่งถูกผลักออกไปมากขึ้น ถ้าสภาพความขัดแย้ง ถูกปล่อยให้เป็นอย่างนี้ต่อไป ก็ต้องคิดกันว่าแล้วจะแก้กันยังไง ระบอบประชาธิปไตยช่วยได้ไหม ปัญหาของระบบประชาธิปไตยปัจจุบันมันเป็นการปะทะกันระหว่างสิ่งที่ผมอยากจะเรียกว่า ประชาธิปไตยแบบมีตัวแทน กับประชาธิปไตยทางตรง ระบบประชาธิปไตยแบบมีตัวแทนเป็นสิ่งจำเป็น แต่ไม่เพียงพอกับการจัดการปัญหาปัจจุบัน เพราะมีข้อจำกัดเยอะ
ปัญหาของรัฐบาลคุณชวน คือความดีของแก ความดีเป็นปัญหาเยอะ โดยเฉพาะเมื่อคุณเชื่อว่าคุณเป็นคนดี หมายความว่าถ้าผมเชื่อว่าผมไม่ได้ซื้อเสียง แล้วผมเป็นนายกรัฐมนตรีที่ซื่อสัตย์ เวลาเห็นใครมารวมกลุ่ม มาทำอะไรทั้งหลายทั้งปวง มันจะหมายความว่ายังไง ก็ผมเป็นตัวแทน แล้วคุณมาทำไม คุณก็ต้องมีเบื้องหลังสิ เพราะถ้าไม่มีเบื้องหลัง ความเป็นตัวแทนของผมก็มีปัญหา เพราะฉะนั้นแกก็จะไม่รับในสิ่งที่เกิดขึ้น นายกรัฐมนตรีที่ดีอาจเป็นนายกฯ ที่มีชนัก
สถานการณ์แบบนี้เราพบว่า ในระบบราชการมีคนดี มีคนเล็กๆ น้อยๆ ทำโน่นนี่ มหัศจรรย์เยอะ แก้ปัญหายาเสพติดได้ เปลี่ยนผู้คนทำให้ชุมชนเข้มแข็งขึ้น ถ้าอย่างนั้นแล้วเราจะทำอย่างไรให้มีแนวทางใหญ่ที่จะผลักดันสังคมให้ก้าวไปข้างหน้าได้ ตรงนี้เป็นหน้าที่ของภาคประชาสังคม
ภาคประชาสังคมอาจจะผลักดันสังคมไทยให้หันมาสนใจกับการจัดการความขัดแย้งด้วยสันติวิธีมากขึ้น
กระบวนการประชาสังคม (Civil society) หรืออาจเรียกว่า อารยะสังคม หมายความว่า กระบวนการเปลี่ยนแปลงที่เป็นไปอย่างมีอารยะ ใช้เหตุใช้ผล ใช้การชักจูง ใช้ความเป็นมิตร และใช้สันติวิธี ตรองให้เห็นว่าเหตุของปัญหาอยู่ที่ไหน นี่คือ วิถีของอารยะ ซึ่งมันไปสอดคล้องกับเรื่องของประชาสังคม ที่มีพื้นที่อิสระ พื้นที่ที่มีแนวคิดแยกออกจากรัฐ เพราะพื้นที่ของรัฐเป็นพื้นที่ของการใช้ความรุนแรง
รัฐทำงานโดยเหตุผล 2 อย่างคือสร้างระเบียบในสังคม และวิถีในการสร้างระเบียบในสังคมอันหนึ่งคือการใช้ความรุนแรง
แม้กฎหมายก็หนุนอยู่ด้วยความรุนแรงทั้งสิ้น ท่านจอดรถผิดที่ เขาจะปรับ ท่านไม่ยอมเขาก็จับ ฉะนั้นภาคประชาสังคมคือ การสร้างพื้นที่ซึ่งเป็นอิสระ เพราะปัจเจกชนหรือผู้คนสามัญสามารถตัดสินใจได้ด้วยตัวเอง เป็นนายของตัวเอง ไม่เป็นข้าของรัฐ แต่เป็นพลเมือง เป็น Citizen ความเป็นพลเมืองต่างจากความเป็นข้าของรัฐ พลเมืองนั้นตัดสินใจ พลเมืองมีตัวเลือก พลเมืองเข้าใจตำแหน่งแห่งที่ของตน และพลเมืองมีคุณูปการต่อภาพใหญ่ เพราะฉะนั้นประชาสังคมคือ การผลักดันให้ประชาชนมีความเป็นพลเมืองมากขึ้น หมายความว่า เอาธุระกับเรื่องซึ่งเป็นสาธารณะทั้งหลาย เอาธุระเมื่อเห็นผู้คนเดือดร้อน เมื่อคนเล็กคนน้อยถูกรังแก ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็น สังคมที่ทอดทิ้งไม่เอาธุระ เป็นสังคมซึ่งวันหนึ่งก็ต้องตาย การเอาธุระด้วยการหาวิธีเปลี่ยนแปลงสังคม อาจอาศัยเงื่อนไขของสันติวิธีเป็นหลัก แต่เริ่มต้นจากสิ่งเหล่านี้
ผมเขียนคำสั่ง 66/43 ขึ้น มันเป็นคำสั่งสมมุติโดย เลียนแบบมาจากคำสั่ง 66/23 ในอดีต ผมยกเอาคำสั่ง 66/23 ก็เพราะว่ามันเป็นเครื่องมือทางการเมืองที่สำคัญในการจัดการกับปัญหา ซึ่งบ้านอื่นเมืองอื่นต้องใช้ความรุนแรงสาหัสเลย ของเราก็ใช้ ตายกันก็เยอะทั้งสองฝ่าย แต่ในที่สุดผู้นำทางการเมือง ทหาร และผู้คนจำนวนมากพบว่า วิธีเหล่านั้นไม่ได้ช่วยอะไร ความสำเร็จของเขาคือ เขาเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ แล้วก็ทำด้วย มันสำคัญยังไง
มันสำคัญเพราะมันบอกว่าเหตุของปัญหาไม่ใช่คนซึ่งเป็นคอมมิวนิสต์ เหตุก็คือปัญหาความอยุติธรรมในสังคม เมื่อเหตุเป็นอย่างนี้ การแก้ก็ไม่ต้องไปไล่ฆ่า ไล่ตีฟันเขาหรอก แต่เห็นเขาว่าเขาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทย เปลี่ยนศัตรูมาเป็นมิตร และวิธีการจัดการกับมิตรย่อมไม่ใช่ความรุนแรง ก็เลยต้องเป็นการเมืองนำการทหาร ผมคิดว่าคำสั่ง 66/23 โดยตัวมันเอง เวลานี้อาจไม่ใช่เวลาของมัน แต่ว่าเราสามารถเรียนรู้จากมันได้ และถ้าเราคิดว่าสังคมไทยกำลังเผชิญกับความขัดแย้ง ที่เปลี่ยนรูปแปลงร่างไป
เราพบว่าความจริงของสังคมไทยก็คือ เราสามารถใช้ความรุนแรงต่อกันและกันได้ เราเห็นว่ารัฐยังมีปัญหาอยู่ ในขณะเดียวกันภาคประชาสังคมก็เข้มแข็งขึ้น เป็นไปได้ไหมที่จะผลักดันให้มีแนวทาง ในการแก้ไขความขัดแย้งโดยสันติวิธี ทั้งนี้เพื่อให้สังคมไทยก้าวไปข้างหน้า ในรูปลักษณ์ที่เราอยากจะไปถึง และด้วยวิธีการที่เราปรารถนา
นิทานเกี่ยวกับการแก้ปัญหาความขัดแย้ง ครอบครัวหนึ่ง พ่อเสียชีวิต ทิ้งพินัยกรรมไว้ว่า ปัญหาก็คือ ถ้าเราถือพินัยกรรมแบบไม่บิดพลิ้ว วิธีการหนึ่งในการแก้ไขความขัดแย้งในนิทานคือ ผมกำลังเสนอว่าการจัดการขัดแย้งด้วยสันติวิธีมันไม่ได้หมายความ ในเชิงเทคนิคอย่างเดียวแต่มันหมายความในทางปัญญา สร้างสรรค์กว่าเดิม มันไม่ใช่วิธีง่ายๆ เพราะวิธีง่ายๆ มีราคาของความง่าย
|
Be the first to comment on "อารยะสังคมกับสันติวิธีในสังคมไทย"