ฮักแพง…แปงอุบล

อดีต สำหรับใครบางคน คือ เรื่องราวที่ผ่านมาและผ่านไป แต่อดีตสำหรับที่นี่ คือเรื่องราว ที่กำลังถูกหยิบยกขึ้นมา ให้เป็นคุณค่าสำหรับปัจจุบัน เพื่อกำหนดอนาคตของท้องถิ่นอุบลราชธานี อย่างมีทิศทาง…

ออกอากาศทางเนชั่นแชนแนล ทีทีวี1 วันเสาร์ที่ 20 สิงหาคม 2548

อดีต สำหรับใครบางคน คือ เรื่องราวที่ผ่านมาและผ่านไป แต่อดีตสำหรับที่นี่ คือเรื่องราว ที่กำลังถูกหยิบยกขึ้นมา ให้เป็นคุณค่าสำหรับปัจจุบัน เพื่อกำหนดอนาคตของท้องถิ่นอุบลราชธานี อย่างมีทิศทาง

ด้วยความเป็นเมืองนักปราชญ์ แหล่งศิลปวัฒนธรรมและศาสนา เรื่องราวและคุณค่าของเมืองอุบล กำลังได้รับการสืบค้น เพื่อคนท้องถิ่นอุบลในทุกวันนี้

ความเป็นแหล่งธรรมะของเมืองอุบล เป็นที่มาของโครงการท่องธารธรรม ซึ่งมุ่งหวังให้กลุ่มเยาวชน ได้มีโอกาสเรียนรู้และสัมผัสเรื่องราวทางธรรมะ ด้วยการสืบค้นประวัติ และหลักธรรมของหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น และหลวงปู่ชา พระเถระที่มีชื่อเสียงของเมืองอุบล พร้อมกับพัฒนากลุ่มเยาวชนในท้องถิ่น เพื่อเป็นมัคคุเทศก์ท่องธารธรรม ให้กับผู้คนมาเยือนได้เข้าใจ ความเป็นเมืองธรรมะของอุบล

 

ธิติสรรค์ โสภาสินธุ์ นักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี คณะทำงานโครงการท่องธารธรรม

บางทีเราก็ไม่รู้ตัวว่าเราได้อะไรไปบ้าง แต่สิ่งที่เราได้คือ ได้รู้การทำงานร่วมกัน ได้สืบค้น หาข้อมูลเกี่ยวกับอุบลร่วมกัน แล้วก็ได้มีกิจกรรมที่ทำร่วมกันครับ

 

พระอธิการ สมบูรณ์ ขันติโก เจ้าอาวาส วัดดอนธาตุ ต.ทรายมูล อ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี

ก็รู้สึกดีใจกับเขาที่เขาสนใจเรื่องนี้ ถ้าเขาไม่สนใจเขาก็ไม่มาศึกษา เขาก็จะได้ธรรมะเป็นน้ำดับไฟ ภายในใจของเขา พระพุทธเจ้าบอกว่า สัพทานัง ธรรมทานัง ชินาติ การเผยแผ่ธรรมะเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง พระพุทธเจ้าสรรเสริญ ถ้ามีคนสนใจเอาธรรมะไปใช้ มันก็เป็นบุญเป็นกุศลอันล้ำค่า แต่ว่าคนหายากที่จะสนใจ ธรรมะ เพราะเขาไม่รู้คุณค่าของธรรมะ

นอกจากนี้ยังมีคณะละครหุ่นฮักแพง ที่ถ่ายทอดเรื่องราวชีวิต ของนายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ นักการเมืองน้ำดีของคนอุบล เพื่อเป็นการเชิดชูบรรพชนคนการเมือง และเป็นแบบอย่างให้กับเยาวชนรุ่นปัจจุบันได้สัมผัส และเข้าถึงคนดีศรีอุบล

 

ธิดารัตน์ ขำค นักเรียนโรงเรียนนารีนุกูล จังหวัดอุบลราชธานี และ ประธานคณะละครหุ่นฮักแพง

เคยเสนอไปว่าการสอนในท้องถิ่น ทำไมไม่เอาเรื่องในท้องถิ่นมาสอนให้เด็กรู้ อย่างเช่นเขารู้หรือเปล่าว่า ข้างบ้านปลูกต้นหอมต้นตะไคร้ขึ้น เขารู้ไหมว่า ทำไงให้ต้นตะไคร้มันอยู่ต่อไปได้และทำยังไง เขาไม่เคยรู้ รู้แค่ว่า สมการ ตรีโกน ทำยังไงมันถึงจะได้คำตอบ มันคือเรื่องใกล้ตัวเราเหรอ แล้วเรานำไปใช้ได้จริงไหม ในเรื่อง ท้องถิ่น ตัวเอง น่าจะใช้เรื่องใกล้ๆตัว เช่นว่าอุบลมีอะไรที่ดีเรารักษาอะไรไว้ตรงนี้ ส่วนเรื่องคอมพิวเตอร์ มันคือสิ่งที่ได้ไปก็เห็นด้วยในการที่จะสอนให้เด็กทันสมัยนั่นคือ สิ่งที่ดี แต่มันน่าจะดีไปพร้อมๆกับ เรื่องท้องถิ่นของตัวเองและเรื่องที่ ใกล้ตัวเด็กๆเอง

 

ด้วยความเป็นเมืองศิลป์ และวัฒนธรรมของอุบล ได้ถือเป็นถิ่นกำเนิดของครูเพลงอย่าง พงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา ศิลปินที่ถ่ายทอดเรื่องราวของคนอีสาน ผ่านผลงานเพลงและภาพยนตร์จำนวนมาก ดังนั้นเพื่อเป็นการสืบสานความเป็นเมืองนักปราชญ์ ตำนานศิลป์ โครงการฮักแพงครูเพลง จึงเกิดขึ้น เพื่อสืบค้น ถ่ายทอดเรื่องราวชีวิต และผลงานของครูเพลงพงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา ให้คนอุบลได้ร่วมกันภาคภูมิใจ

ไผท ภูธา คณะทำงานโครงการฮักแพงครูเพลงเมืองดอกบัว (พงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา )

ความเป็นเพลงของอาจารย์ มันสะท้อนภาพของคนอีสานได้ชัดเจน ด้านหนึ่งสะท้อนวิถีชีวิตของ คนอีสานได้ชัดเจนถูกต้อง ในแง่วัฒนธรรมประเพณีถูกต้อง แล้วเพลงของแกไม่เป็นพิษเป็นภัย มีแต่สร้างสรรค์ ผมอยากเห็นว่าคนรุ่นใหม่ศึกษาชีวิตของครูพงษ์ศักดิ์ แล้วก็ศึกษาผลงานของท่าน นำมาสู่การปรับปรุงตัวเอง แล้วเพิ่มเสริมจิตวิญญาณของคนอีสาน ของคนท้องถิ่นให้เกิดผลทางด้านการพัฒนา

 

ในวันนี้ ด้วยวัยกว่า 69 ปี พ่อพงษ์ศักดิ์ ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายที่บ้านเกิดในอำเภอศรีเมืองใหม่ และอุทิศตนให้กับงานพระศาสนา โดยใช้บริเวณบ้านเป็นลานบ้าน ลานธรรม จัดกิจกรรมเผยแพร่พระธรรมคำสอนในพุทธศาสนา

ไม่เพียงแต่เรื่องราวของบุคลต่างๆเท่านั้น แต่ประวัติศาสตร์ของท้องถิ่นอุบล ยังมีเรื่องราวอีกมากมายที่รอการสืบค้น เพื่อเชื่อมต่ออดีตสู่ความเปลี่ยนแปลงในปัจจุบันได้อย่างเข้าใจ และเข้าถึง ซึ่งนั่นคือที่มาของโครงการ ฮูปเก่า เว้าอุบล ด้วยการตามหา เก็บรวบรวมภาพเก่า และถ่ายทอดเรื่องราวเหล่านั้น ผ่านการเล่าเรื่องจากผู้อาวุโสในท้องถิ่น สู่คนรุ่นใหม่ๆ ในทุกวันนี้ เพื่อให้เรื่องราวของท้องถิ่นอุบล ไม่ตายจากไปตามกาลเวลา

 

พงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา ครูเพลงเมืองอุบล

ตอนแรกตั้งว่าอย่างน้อยเป็นส่วนตัวเสียก่อนภายในครอบครัว แต่พอทำเข้าจริงๆแล้วคิดว่า เราน่าจะ ทำอะไรให้มันมากกว่านั้น ก็เลยปฏิบัติธรรม เอานักเรียนมา นักเรียนในเขต อ.ศรีเมืองใหม่ประสานกับส่วน โรงเรียน ทุกโรงในอำเภอมี 50 กว่าโรงทั้งประถมมัธยม โดยมีเงื่อนไขว่า เด็กยากจนความประพฤติดี

 

สุวิชช คูณผล ข้าราชการบำนาญ ที่ปรึกษาโครงการฮูปเก่า เว้าอุบล

เพราะเราเชื่อว่ารูปเก่าจะเป็นสิ่งสำคัญที่บอกถึงอดีต และก็ความดีงามของอดีตที่รุ่งเรืองนั้น จะเป็นสิ่ง บอกเหตุถึงอนาคตที่รุ่งโรจน์ในภายภาคหน้า เมื่อเป็นอย่างนั้นแล้วเราก็ทำงานในแง่ที่ว่า เอาอดีตที่ดีงามมาฟื้นฟู เชิดชูในปัจจุบัน สิ่งที่ดีงามทั้งหลายแหล่เพื่อจะสืบสานไปสู่อนาคต

ปัญญา แพงเหล่า คณะทำงานโครงการฮูปเก่า เว้าอุบล

โครงการนี้คงเป็นสิ่งที่บ่งบอกความสามารถของคนอุบล ให้คนได้รู้ทั้งโลก เหมือนเขาทำเชียงใหม่ 700 ปี หรือนครสวรรค์หรืออะไรก็แล้วแต่ที่เขาทำ ก็ได้ผล อุบลอาจจะช้าหน่อยเพราะเป็นเมืองใหญ่ ต้องสืบค้น และมีคน หลายกลุ่มหลายชนชาติ หลายเผ่าพันธุ์ พูดวันเดียวไม่จบครับ คนเราถ้ารู้อดีต รู้ปัจจุบัน มันก็สานฝันอนาคตได้

 


ประเด็นเรื่องราวของท้องถิ่นอุบล มีคุณค่าที่ควรนำมาพูดคุย และถ่ายทอดเรื่องราวอย่างเป็นสาธารณะ ซึ่งคือที่มาของการจุดประกาย เวทีโสเหล่สาธารณะ เพื่อให้เป็นพื้นที่สาธารณะสำหรับทุกคนได้มาพูดคุยในเรื่องที่น่าสนใจ รวมถึงการมาใช้ชีวิตและมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกันมากขึ้น ในสภาวะของสังคมเมืองที่ต่างคนต่างอยู่ การจัดเวทีโสเหล่สาธารณะ12ครั้ง ใน1ปีที่ผ่านมา ได้กลายเป็นวิถีแบบใหม่ที่คนในเมืองอุบลเริ่มคุ้นชินกันมากขึ้น

 

ละไม โพธิ์ศรี คณะทำงานโสเหล่สาธารณะ เจ้าของร้านบ้านหนังสือ จ.อุบลราชธานี

และพี่ก็อยากเห็นครอบครัวมานั่งทำด้วยกัน แม่พาเด็กๆมา พาลูกๆมาหยิบหนังสือนิทานอ่านให้ลูกฟัง พี่เชื่อว่าถ้าทำตรงนี้เยอะๆทำเป็นประจำ คนเขาจะบอกว่า ออกไปเดินเล่นกันไหม แทนที่จะพาลูกดูทีวี ดูวีซีดีที่บ้าน ออกไปเดินงานศิลปะ หรือว่าลานโสเหล่ ไปอย่างนั้นดีกว่าจะมานั่งเฝ้าทีวี

 

นายแพทย์ บวร แมลงภู่ทอง คณะทำงานโสเหล่สาธารณะ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพศูนย์อนามัยที่ 7 อุบลราชธานี

คือเวทีโสเหล่สาธารณะ มันคงไม่มีรูปแบบที่ตายตัวหรอก แต่ในยุคนี้อยู่คนเดียวมันไม่รอด มันต้องเกิด การรวมกลุ่ม ก็มาแลกเปลี่ยนกัน ก็คือการสร้างให้วัฒนธรรมเดิมๆกลับมา แล้วก็มาแลกเปลี่ยนกันมาคุยกัน มาโชว์กัน ใครมีอะไรดีๆก็มาเจอกันมาเชื่อมกัน มีที่จะมาเจอกัน เวทีนี้ถ้ามาวางใจด้วยกัน เอาใจมาวางกันแล้ว ทำมาจากข้างใน เอาใจมาวางแล้วอยากจะให้บ้านเมืองอุบลพัฒนาขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง เพราะฉะนั้นคนอย่างนี้มีอีก เยอะ เพียงแต่ว่ามันไม่มีที่ที่เขาจะรวมกัน

 

ทุกวันนี้ ความเจริญ และการพัฒนาที่รวดเร็วมากขึ้น ส่งผลให้การเชื่อมต่อระดับนโยบายระหว่างประเทศ เกิดขึ้นอย่างง่ายดาย แน่นอนว่า ประเด็นต่างๆในระดับนานาชาติ และระดับชาติ ย่อมส่งผลกระทบต่อท้องถิ่น อย่างยากจะหลีกเลี่ยง จึงเป็นความจำเป็นที่จะต้องมีการสื่อสารสาธารณะ ให้คนในท้องถิ่นได้ รับทราบ และเกิดการแลกเปลี่ยนเพื่อเป็นเวทีแห่งการเรียนรู้ และตั้งรับกับสถานการณ์ใดๆที่จะเกิดขึ้นอย่างรู้เท่าทัน

 

มนตรี โกศัลวัฒน์ เลขาธิการ สมาคมเกษตรก้าวหน้า อ.ตระการพืชผล จ.อุบลราชธานี

เพราะฉะนั้นเวทีชาวบ้านที่เราจะคุยกัน ผมคิดว่าสำคัญมาก อย่าลืมนะครับว่าเวลาเขามีคำถามไปถาม ทีวีไม่ได้ ตอบไม่ได้ มันพูดไปเรื่อยๆ แต่เวทีสาธารณะเราถามได้ ผมฟังไม่เข้าใจหรือพูดอะไรไม่รู้เรื่อง ถามได้ แล้วเขามีคำตอบจนเขาเข้าใจ เพราะฉะนั้นตรงนี้แหละเราน่าจะขยายผลไปที่แต่ละหมู่บ้าน ให้เวลาเขาตอนเย็นๆ ก็ได้ เวลาที่เขากลับมาบ้านจากทำงาน มาคุยกันชั่วโมงสองชั่วโมง ตรงนั้นผมคิดว่า เป็นการให้ข้อมูลที่ชัดเจน มีการถาม การตอบ มีซักไซ้ไล่เรียง ทำความเข้าใจให้ถูกต้องได้

 

อุบลในวันนี้ แตกต่างจากอดีตอย่างมาก แต่นั่น ไม่ใช่สิ่งที่แยกให้ผู้คนออกห่างจากความเป็นท้องถิ่น การรับรู้และเข้าใจ ในการสร้างท้องถิ่นให้น่าอยู่ ต้องเกิดจากผู้คนในท้องถิ่น ร่วมกันสร้างให้เกิดขึ้น ด้วยการใช้ทุนทางสังคมของตนเอง เรียนรู้คุณค่าจากอดีต เชื่อมโยงกับปัจจุบัน เพื่อนำไปสู่การวางอนาคตของท้องถิ่นร่วมกัน

 


 

สารคดี : บ้านเมืองเรื่องของเรา ชุดชีวิตสาธารณะ ท้องถิ่นน่าอยู่
ผลิตโดย :
งานพัฒนาการสื่อสารฯ โครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะท้องถิ่นน่าอยู่ สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา

 

ข้อมูลและภาพประกอบ : ทีมงานพัฒนาการสื่อสารฯ สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา 18-12-2549

 

 

Be the first to comment on "ฮักแพง…แปงอุบล"

Leave a comment

Your email address will not be published.