พื้นที่ที่ใช้ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำเขื่อนราษีไศล โครงการโขงชีมูลชี้แจงต่อสังคมว่าเป็นพื้นที่สาธารณะประโยชน์ประชาชนใช้ร่วมกัน เป็นพื้นที่ที่มีน้ำท่วมถึงในฤดูฝนเป็นปกติ ในฤดูแล้งสามารถทำกินได้ ราษฎรอาศัยทำกินเฉพาะที่ของตลิ่งแม่น้ำและแหล่งน้ำธรรมชาติ เป็นพื้นที่เสี่ยงไม่สามารถทำกินได้ทุกปี….
ผลกระทบจากเขื่อนราษีไศล | ||
๑. การสูญเสียที่ดินทำกินของราษฎร พื้นที่ที่ใช้ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำเขื่อนราษีไศล โครงการโขงชีมูลชี้แจงต่อสังคมว่าเป็นพื้นที่สาธารณะประโยชน์ประชาชนใช้ร่วมกัน เป็นพื้นที่ที่มีน้ำท่วมถึงในฤดูฝนเป็นปกติ ในฤดูแล้งสามารถทำกินได้ ราษฎรอาศัยทำกินเฉพาะที่ของตลิ่งแม่น้ำและแหล่งน้ำธรรมชาติ เป็นพื้นที่เสี่ยงไม่สามารถทำกินได้ทุกปี
แท้จริงแล้ว พื้นที่ดังกล่าวคือพื้นที่บุ่งทามอันอุดมสมบูรณ์ที่สุดของภาคอีสาน เป็นที่ราบลุ่มอันกว้างใหญ่สองฝั่งแม่น้ำ ซึ่งมีน้ำท่วมถึงในฤดูน้ำหลาก ลักษณะทั่วไปจะเป็นที่ราบลุ่ม มีหนองน้ำ ร่องน้ำ และกุดซึ่งเป็นร่องรอยลำน้ำที่เปลี่ยนทางเดินไปแล้วมากมาย ความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ส่งผลให้เกิดสังคมพืชสัตว์อย่างหลากหลาย ทั้งนี้ ชุมชนสองฝั่งแม่น้ำมูนได้เข้ามาอาศัยทำประโยชน์ในพื้นที่บุ่งทามและตั้งชุมชนในบริเวณที่สูงขึ้นไป ปลอดภัยจากภาวะน้ำท่วมมาตั้งแต่ ๑๐๐-๒๕๐ ปีที่แล้ว(ประสิทธิ์ คุณุรัตน์,๒๕๓๕) การทำประโยชน์ของชุมชน มีทั้งการทำการประมง การทำนาปลูกพืชไร่และพืชสวนครัว การเลี้ยงวัวควายและการเก็บเกี่ยวผลผลิตจากป่า เช่น ฟืน เห็ด หน่อไม้ ไม้ใช้สอย พืชสมุนไพร ฯลฯ
จากการศึกษาของ รศ.ประสิทธิ์ คุณุรัตน์ แห่งมหาวิทยาลัยขอนแก่นพบว่าในการทำนาในพื้นที่ทามนั้นเป็นเศรษฐกิจสำคัญของชุมชน มีครัวเรือนร้อยละ ๘๘.๖ ที่มีนาทาม โดยมีที่ทำกินในนาทามเฉลี่ย ๑๑.๐ ไร่/ครัวเรือน โดยการถือครองส่วนใหญ่ได้มาโดยการเข้าไปบุกเบิกครอบครองของบรรพบุรุษและมีการตกทอดเป็นมรดกต่อกันมา และร้อยละ ๖๖.๒ ไม่เคยมีเอกสารสิทธิ์ในที่ดิน แต่ถือสิทธิ์ที่ยอมรับกันภายในชุมชนตามจารีตประเพณี นาทามได้ผลผลิตค่อนข้างสูง คือ ๖๘๔.๖ กิโลกรัมต่อไร่ ทั้งนี้เพราะมีความอุดมสมบูรณ์ของตะกอนแม่น้ำนั่นเอง(ค่าเฉลี่ยผลผลิตข้าวในนาทั่วไปในภาคอีสานประมาณ ๓๕๐ กิโลกรัมต่อไร่)
การทำนาในพื้นที่ทามนั้น ถือว่าเป็นการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นในการปรับตัวให้สอดคล้องกับภาวะธรรมชาติอย่างแท้จริง กล่าวคือ มีการทำนา ๓ แบบ ใน ๓ ลักษณะพื้นที่ ทำ “นาข้าวไร่ทาม”ในที่ดอน เริ่มในเดือนกุมภาพันธ์ เก็บเกี่ยวในเดือนกรกฎาคมหรือสิงหาคม พื้นที่เดียวกันนี้จะถูกจัดการแบบไร่หมุนเวียนในภาคเหนือ ทำ “นาหนองหรือนาปี่”ในบริเวณหนองที่มีน้ำแช่ขังหลังฝนแรกในเดือนเมษายน แล้วเก็บเกี่ยวในเดือนกันยายน และทำ “นาแซง”ในหนอง บวก บึง กุด ร่องน้ำที่มีน้ำแช่ขังตลอดปีแต่ไม่ลึกนัก ตกกล้าในเดือนมกราคม ปักดำเดือนกุมภาพันธ์แล้วเก็บเกี่ยวในเดือนเมษายน ความสำคัญของนาทามคือการปลูกข้าวไว้บริโภคในครัวเรือน เกือบทุกครัวเรือนจะต้องมีการทำนาทุ่งนาบ้านเพื่อการขาย
เป็นความผิดพลาดมหาศาลของโครงการโขงชีมูล ที่ไม่มีแผนใดๆในการชดเชยความเสียหายต่อผู้ได้รับผลกระทบ ไม่มีแม้ความใส่ใจว่าราษฎรในพื้นที่ทำมาหากินและมีความเป็นอยู่อย่างไร ข้อมูลดังกล่าวจึงไม่มีการศึกษาหรือถูกกล่าวถึงในทางที่เกี่ยวข้องกับโครงการมาก่อน
ต่อมา หลังจากมีการเก็บกักน้ำในปี ๒๕๓๖ และมีการเรียกร้องของราษฎรที่ได้รับผลกระทบ ในปี ๒๕๔๒ สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ทำการศึกษาพบว่า ในพื้นที่รอบอ่างเก็บน้ำราษีไศล มีครัวเรือนที่นาทามสูญเสียราว ๗,๘๕๖ ครัวเรือน พื้นที่นาทามที่ถูกน้ำท่วมราว ๔๖,๙๓๗ ไร่ ผลผลิตข้าวนาทามเปรียบเทียบระหว่างปี ๒๕๓๕ (ก่อนเก็บกักน้ำ) กับปี ๒๕๔๒ (หลังเก็บกักน้ำ) ลดลงประมาณปีละ ๑๗,๐๐๐ ตัน ซึ่งถ้าคิดราคาข้าวเหนียวนาทามสักกิโลกรัมละ ๖ บาท ผลประโยชน์ที่ชุมชนต้องสูญเสียจากการทำนาทามมีมากถึงปีละ ๑๐๒ ล้านบาท
ด้วยก่อนการก่อสร้างไม่มีการศึกษาใด ๆ มาก่อน เมื่อมีการร้องเรียนจากราษฎรให้รัฐบาลจ่ายค่าชดเชยที่ดินทำกินในปี ๒๕๓๗-๒๕๓๘ จึงไม่มีฐานข้อมูลใดๆ ในการแก้ปัญหา วิธีที่รัฐบาลขณะนั้นเลือกใช้ก็คือการสอบสวนสิทธิ์ผู้เรียกร้องโดยใช้แผนที่และการสอบปากคำผู้เกี่ยวข้อง ไม่ได้ตรวจสอบรังวัดพื้นที่จริงเพราะมีการเก็บกักน้ำแล้ว รัฐบาลนายบรรหาร ศิลปอาชา และ รัฐบาลพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ อนุมัติจ่ายค่าชดเชยให้ราษฎร ๑,๑๕๔ ราย ต่อมามีการคัดค้านจากพรรคการเมืองฝ่ายค้านและกลุ่มมวลชนที่ฝ่ายราชการตั้งขึ้น จนกลายเป็นเรื่องใหญ่ และปัจจุบันกลุ่มมวลชนดังกล่าวก็หันมาเรียกร้องต่อรัฐบาลให้จ่ายค่าชดเชยแก่กลุ่มตนด้วย
เศรษฐกิจสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ชุมชนต้องสูญเสียอย่างหนักหลังการมาของเขื่อนราษีไศล คืออาชีพการเลี้ยงวัวควาย ครัวเรือนร้อยละ ๙๐ เลี้ยงวัวควาย ครัวเรือนละตั้งแต่ ๑๐-๓๐ ตัว พื้นที่บุ่งทามเป็นทำเลที่กว้างขวาง มีพืชอาหารสัตว์หลากหลายและเพียงพอ มีแหล่งน้ำและที่พักสัตว์ ชุมชนแถบนี้มีแบบแผนการเลี้ยงแบบเฉพาะตัวและมีภูมิปัญญาที่สั่งสมมายาวนาน เมื่อมีการเก็บกักน้ำ ปริมาณการเลี้ยงวัวควายลดลง ชาวบ้านต้องขายไปเพราะไม่มีที่เลี้ยง ส่วนที่เหลือต้องหาที่เลี้ยงใหม่ ทั้งในทุ่งนา ป่าโคก และเลี้ยงที่บ้าน ข้อมูลของสถาบันวิจัยสังคมระบุว่า เมื่อเปรียบเทียบระหว่างก่อนและหลังการสร้างเขื่อน มีการเลี้ยงวัวในพื้นที่บุ่งทามลดลงร้อยละ ๗๕.๔ เปลี่ยนมาเลี้ยงที่บ้านเพิ่มขึ้นร้อยละ ๔๔๖.๗ ผู้เลี้ยงวัวลดลง ร้อยละ ๑๔.๙ และผู้เลี้ยงควายลดลงร้อยละ ๗๗.๖ ปริมาณวัวลดลงร้อยละ ๓๓.๗ และปริมาณควายลดลงร้อยละ ๘๕.๓
การหาอยู่หากินจากการเก็บผลผลิตจากป่าซึ่งเป็นฐานการยังชีพที่มั่นคงของชุมชนรอบพื้นที่บุ่งทามก็สูญเสียไปพร้อมกับการมาของเขื่อน นับตั้งแต่ การเก็บฟืน เผาถ่าน การหาไม้ใช้สอย ไม้ก่อสร้าง การเก็บเห็ด หน่อไม้ ผลไม้ป่า ผักป่าผักน้ำ พืชสมุนไพร ไข่มดแดง การหาปลา กบ เขียด หอย ผึ้ง มิ้ม ฯลฯ
|
||
๒. ปัญหาพื้นที่เสี่ยงต่อการถูกน้ำท่วม-นานอกอ่างเก็บน้ำ
คันดินกั้นน้ำ (Dike) ของเขื่อนราษีไศลซึ่งก่อสร้างขนาบสองฝั่งแม่น้ำมูนรวมทั้งสองฝั่งเป็นความยาวทั้งสิ้น ๔๕.๘ กิโลเมตร ได้ข้อสรุปแล้วจากคณะกรรมการศึกษาที่รัฐบาลตั้งขึ้นเมื่อปี ๒๕๔๐ ว่าคันดินดังกล่าวปิดกั้นน้ำจากที่สูงไม่ให้ไหลลงแม่น้ำมูนได้ดั่งเดิม ส่งผลให้น้ำท่วมนาบริเวณนอกอ่างเก็บน้ำเกือบทุกพื้นที่ ราษฎรซึ่งมีที่นาอยู่ในบริเวณดังกล่าวต้องประสพความเดือดร้อนมาทุกปี คณะกรรมการจึงมีมติให้แก้โดยการติดตั้งเครื่องสูบน้ำถาวรบนคันดิน ๗ จุด ซ่อมและเสริมคันดินอีก ๑ และ ๒ จุดตามลำดับ และตั้งอาสาสมัครชาวบ้านเพื่อเฝ้าระวังปัญหาที่เกิดขึ้นทุกปี แต่หลังจากนั้นก็ไม่มีการดำเนินการใด ๆ จนถึงปัจจุบัน
นั้น คือปัญหาในบริเวณที่มีการก่อสร้างคันดินกั้นน้ำเป็นขอบเขตชัดเจน ซึ่งก่อสร้างในพื้นที่เหนือเขื่อนนับระยะทางได้ประมาณ ๒๐ กิโลเมตรเท่านั้น เหนือนั้นขึ้นไปเป็นระยะทาง ๗๐-๘๐ กิโลเมตร เป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการเก็บกักน้ำของเขื่อนเช่นกัน อะไรเกิดขึ้นในพื้นที่ดังกล่าว?
ในบางพื้นที่ เช่น ตำบลยางคำ อ.โพนทราย จ.ร้อยเอ็ด ซึ่งเขื่อนราษีไศลกำหนดเอาฝั่งแม่น้ำมูนเป็นขอบเขตอ่างเก็บน้ำ ทุ่งนาไกลฝั่งออกไปมีระดับความสูงที่ ๑๑๗ ม.รทก. ต่ำกว่าระดับเก็บกักน้ำของเขื่อนเสียอีก (๑๑๙ ม.รทก.) จึงประสพกับน้ำท่วมนาทุกปีเช่นกัน
พื้นที่ที่อยู่สูงขึ้นไปเกือบสิบตำบล ในฤดูน้ำหลากก็ได้รับผลกระทบจากเขื่อนเช่นกัน สมัยก่อนการสร้างเขื่อน การทำนาในพื้นที่ทามและในนาทุ่งที่สูงขึ้นไปมักต้องถูกน้ำท่วม แต่เป็นการท่วมในระยะ ๑-๒ สัปดาห์ เท่านั้น ต้นข้าวในนายังไม่ตาย และสามารถฟื้นคืนได้ แต่หลังการก่อสร้างเขื่อน แรงอัดเอ่อของน้ำทำให้เกิดการท่วมยาวนานถึง ๑-๓ เดือน การศึกษาของสถาบันวิจัยสังคม จุฬาฯ ได้สำรวจผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการทำนาดังได้กล่าวแล้ว
ผลกระทบดังกล่าว ทางโครงการไม่ได้แสดงความรับผิดชอบใด ๆ เหตุผลหนึ่งที่หยิบยกมาอ้างก็คือ ผลกระทบดังกล่าวมีเหตุมาจากน้ำที่ไหลบ่ามาจากที่สูง ไม่ใช่น้ำจากเขื่อน และพื้นที่ดังกล่าวอยู่นอกขอบเขตความสูง ๑๑๙ ม.รทก. ทั้งนี้ถ้ามีการถามว่ามีการศึกษาเกี่ยวกับการอัดเอ่อของน้ำในลักษณะ back water effect ตามที่คณะกรรมการผู้ชำนาญการฯได้ให้ความเห็นไว้หรือไม่ ก็จะได้รับคำตอบทำนองว่า ลักษณะของเขื่อนราษีไศลจะไม่เกิดผลกระทบดังกล่าวเพราะก่อสร้างอยู่ตอนกลางของแม่น้ำและไม่มีการเก็บกักน้ำแบบถาวรเหมือนเขื่อนอื่นๆ
ความจริงประการหนึ่งที่เข้าใจได้ไม่ยากคือ เดิมเมื่อถึงฤดูน้ำหลาก ความกว้างของทางเดินน้ำบริเวณก่อสร้างเขื่อนคือบุ่งทามกว้างประมาณ ๖ กิโลเมตร เมื่อมีการสร้างเขื่อนมีการสร้างเขื่อนดินเป็นถนนฝั่งซ้ายยาว ๕ กิโลเมตร ฝั่งขวายาว ๑ กิโลเมตร โดยไม่มีช่องระบายน้ำใด ๆ เลย มีแต่ประตูระบายน้ำที่หัวงานเขื่อนเพียง ๗ บาน กว้างบานละ ๑๒.๕ เมตร รวมเป็น ๘๗.๕ เมตร น้ำที่เคยมีทางระบาย กว้าง ๖,๐๐๐ เมตร กลับเหลือช่องไหลเพียง ๘๗.๕ เมตร ในฤดูน้ำหลากน้ำจึงไหลไม่ทันและก่อผลกระทบอย่างมหาศาลต่อพื้นที่เหนือเขื่อนขึ้นไปนับ ๑๐๐ กิโลเมตร
เรื่องที่สร้างความคับแค้นใจให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบที่กำลังมีการตรวจสอบพื้นที่ทำกินอยู่ในปัจจุบันอีกเรื่องหนึ่ง คือ การยอมรับระดับผลกระทบที่ความสูง ๑๑๙ ม.รทก. จึงมีการตรวจสอบและรังวัดพื้นที่เฉพาะที่ต่ำจากระดับดังกล่าว ส่วนพื้นที่สูงที่เป็นเกาะอยู่กลางอ่างเก็บน้ำซึ่งเป็นที่มหาศาล เพราะในพื้นที่บุ่งทามมีพื้นที่สูงต่ำสลับกันไปดังที่กล่าวแล้ว ที่ดินดังกล่าวถูกจำแนกเป็นพื้นที่ “นอกอ่าง” โดยความจริง คือ พื้นที่ดังกล่าวถูกน้ำท่วมจริงดังได้กล่าวแล้ว ถึงแม้หากไม่ท่วมก็กลายเป็นเกาะ ไม่สามารถมีใครไปทำกินได้ต่อไป
|
||
๓. การสูญเสียป่าบุ่งป่าทามแหล่งความหลากหลายทางชีวภาพ
“มดลูกของแม่น้ำ”พื้นที่บุ่งทามถือได้ว่าเป็นระบบนิเวศน์ที่สำคัญของภาคอีสาน ของประเทศและของโลก มีภูมิสัณฐานที่หลากหลายอันเกิดจากอิทธิพลของสายน้ำ เช่น บุ่ง ทาม วัง ฮองหรือร่องน้ำ คุย วัง เวิน มาบ เลิง ดูน ซำ คำ หนอง บวก ปาก กุด แก้ง ฯลฯ ส่งผลให้มีความหลากหลายของพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์ในแต่ละบริเวณ และมีวงจรห่วงโซ่อาหารอันละเอียดซับซ้อน สัมพันธ์กับฤดูกาลที่เปลี่ยนไป ในฤดูแล้งพื้นดินมีโอกาสได้ตากแห้ง วัชพืชน้ำตายลง ถูกแผดเผาโดยแสงแดดจนแห้งรอเปื่อยเป็นอาหารพืชสัตว์ จะเป็นที่อาศัย หากินและแพร่พันธุ์ของสัตว์บก มดปลวก แมลง และเป็นที่จำศีลของกบเขียดและหอย เมือถึงฤดูน้ำหลากนอง สัตว์เล็ก แมลงและผลไม้ เมล็ดพืชต่าง ๆ เป็นอาหารอันโอชะของปลาที่ว่ายทวนน้ำขึ้นมาหากินและวางไข่ในพุ่มไม้อย่างปลอดภัย เหตุนี้จึงมีการเรียกพื้นที่นี้ว่า
ตามสารบบทางวิชาการนับได้ว่าป่าบุ่งป่าทามเป็น “พื้นที่ชุ่มน้ำ” (wetland) ประเภทหนึ่งซึ่งมีคุณค่ามากมาย ตั้งแต่การเป็นแหล่งเพาะฟักสัตว์น้ำ การเป็นแหล่งน้ำธรรมชาติ รักษาระดับน้ำใต้ดินและความชื้นในบรรยากาศ การป้องกันการพังทลายของตลิ่งแม่น้ำ การกรองสารพิษในน้ำ การชะลอภาวะน้ำท่วมเฉียบพลัน และที่สำคัญคือการเป็นแหล่งปัจจัยสี่ของมนุษย์
ผลจากการพัฒนาในยุคที่ผ่านมาได้ก่อให้เกิดการสูญเสียพื้นที่บุ่งทามไปมากมาย ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์และโดยการพัฒนาที่ถูกชี้นำด้วยความโลภ ตามลุ่มน้ำต่าง ๆ ในภาคอีสานในอดีตเคยมีพื้นที่บุ่งทามไม่น้อยกว่า ๔ ล้านไร่ ปัจจุบันเหลืออยู่น้อยมาก ขณะที่เรายังมีความรู้เกี่ยวกับพื้นที่อันสำคัญนี้อย่างจำกัด
บุ่งทามที่กว้างใหญ่ที่สุดของประเทศซึ่งเหลืออยู่ ก็คือบุ่งทามที่กำลังกลายเป็นอ่างเก็บน้ำราษีไศลนี่เอง
ในพื้นที่อ่างเก็บน้ำอาณาเขตเกือบแสนไร่แห่งนี้ มีสภาพนิเวศน์แบบต่าง ๆ หลากหลายสลับกันไป โดยเฉพาะแหล่งน้ำธรรมชาติจำนวนไม่น้อยกว่า ๕๐๐ แหล่ง ในพื้นที่นี้ป่า ๓ ประเภทสลับกันไปตามลักษณะสูงต่ำและความชื้นของแต่ละพื้นที่ คือ ป่าบุ่งป่าทาม ซึ่งพันธุ์พืชหลักเป็นไม้พุ่มและพืชทนน้ำ พื้นที่ที่เป็นโนนสูงเป็น ป่าโคก ซึ่งมีต้น เหียง กราด เป็นพืชหลัก ส่วนพื้นที่ริมกุดซึ่งมีความชื้นตลอดปีเป็นพื้นที่ป่าดิบแล้ง มีต้นตะเคียน ยาง เป็นพืชเด่น
จากการศึกษาวิจัยของเครือข่ายชาวบ้านร่วมอนุรักษ์แม่น้ำมูน ๓ จังหวัด พบว่า มีพันธุ์พืชในพื้นที่บุ่งทามจำนวน ๒๕๐ ชนิด แยกเป็น ไม้ยืนต้น ๖๗ ชนิด ไม้พุ่ม ๓๓ ชนิด ไม้เลื้อย ๕๑ ชนิด ประเภทเป็นกอ ๔๓ ชนิด พืชน้ำ ๒๔ ชนิด เห็ด ๓๒ ชนิด (งานวิจัยไทบ้านราษีไศล, ๒๕๔๗)
สัตว์ป่า จากการศึกษาของ รศ.ประสิทธิ์ คุณุรัตน์ พบสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก ๑๐ ชนิด ใน ๔ วงศ์ สัตว์เลื้อยคลาน ๒๑ ชนิด ใน ๙ วงศ์ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ๑๓ ชนิด ใน ๖ วงศ์ และนก ๕๓ ชนิด ใน ๓๑ วงศ์ ยคลน์ พบสัตว์สะเทินบกสะเทินน้
ด้านพันธุ์ปลา ซึ่งจากงานวิจัยไทบ้าน พบว่า ในลำน้ำมูนและบริเวณบุ่งทาม มีปลาที่พบ ๑๑๒ ชนิด ในช่วงที่มีการเก็บกักน้ำ พบพันธุ์ปลา ๑๐๐ ชนิด แต่ปลาหลายชนิดลดจำนวนลงจนหายากมาก จนมีคำพูดว่า “มีเหมือนไม่มี” ปลาที่สูญพันธุ์และปลาหายากเป็นปลาอพยพและล้วนเป็นปลาที่สร้างเศรษฐกิจรายได้แก่ชุมชน เช่น ปลาแข่เหลือง ปลาเคิงดำ ปลาจอก ปลาจอกขาว ปลาจอกดำ ปลาซวยหางแดง ปลาเผียะขาว ปลาสูดหางขาว ปลาหมากผาง ปลาสบ เมื่อมีการเปิดบานประตูเขื่อนตามมติคณะรัฐมนตรี ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๔๓ ปรากฏว่าปลาเหล่านี้กลับคืนมา ยกเว้น ปลาขบ ปลาแข่เหลือง ปลาซวยหางแดง และปลาเผียะขาว
อนึ่ง หลังมีการเก็บกักน้ำใหม่ ๆ ในปี ๒๕๓๗ สงกรานต์ มีงาม โครงการทามมูลได้ศึกษาพบว่าปลา ๓๗ ชนิดลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว แต่จำพวกปลาชะโด ปลาปักเป้า เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็วเช่นกัน และปลาที่จับได้รสชาติเปลี่ยนไป มีกลิ่นคาวจัด เนื้อเหลว เน่างาย และมีเห็บปลาระบาด บางแห่งจะพบปลาขาวสร้อยลอยตายเป็นแพเพราะขาดออกซิเจน
ระบบนิเวศน์รอยต่อระหว่างผืนดินกับแผ่นน้ำอันมีความละเอียดซับซ้อนแห่งนี้มีวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตหลายระดับมาอย่างต่อเนื่องและมีลักษณะเฉพาะตัว ในอดีตมีความเปลี่ยนแปลงที่ค่อยเป็นค่อยไป สิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ที่อยู่ในห่วงโซ่ก็ค่อย ๆ ปรับตัว แต่การมาของเขื่อนราษีไศล เป็นการทำลายทุกห่วงโซ่ลงพร้อม ๆ กัน ขณะที่เรายังมีองค์ความรู้เกี่ยวกับพื้นที่บุ่งทามน้อยมาก
|
||
ในพื้นที่รอบอ่างเก็บน้ำที่ชาวบ้านเคยสูบน้ำขึ้นมาทำนาปรังและปลูกพืชผักในฤดูแล้ง หลังมีการเก็บกักน้ำในปี ๒๕๓๖ ปรากฏว่า พืชผักที่รดน้ำพากันเหี่ยวเฉาตายทั้งแปลงเพราะผลจากน้ำเค็ม ในพื้นที่การทำนาปรังมีความเค็มปนเปื้อนจนต้นข้าวตาย และเมื่อน้ำในแปลงนาแห้งลงก็ปรากฏส่าเกลือตกค้างอยู่ในนา ต้นไม้ธรรมชาติในแปลงนาก็ตายลงจำนวนมาก
ลักษณะการเกิดการแพร่กระจายของดินเค็มน้ำเค็มในพื้นที่รอบอ่างเก็บน้ำนี้ เกิดจากการนำน้ำที่เค็มอยู่ก่อนแล้วขึ้นมาใช้ในแปลงเกษตรจนเป็นอันตรายต่อต้นพืช
โดยปกติ หนึ่งในสามของแผ่นดินในภาคอีสานมีปัญหาการแพร่กระจายของดินเค็มน้ำเค็มอยู่แล้ว และมีชั้นหินเกลือใต้ผืนดินนอนนิ่งสงบอยู่เหมือนยักษ์หลับ กิจกรรมของมนุษย์ที่เสี่ยงอย่างยิ่งต่อการดึงเกลือเหล่านั้นขึ้นมายังผิวดินก็คือ การทำลายป่า การทำเหมืองเกลือและการสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ โดยน้ำในอ่างเก็บน้ำจะเพิ่มแรงกดและลงไปละลายเอาเกลือใต้ดินขึ้นมาแพร่กระจายที่ผิวดิน
จากการศึกษาแผนที่การกระจายดินเค็มเฉพาะจังหวัดศรีสะเกษ ของกรมพัฒนาที่ดิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พบว่า ในขอบเขตอ่างเก็บน้ำราษีไศลมีชั้นหินเกลือรองรับอยู่ข้างใต้เป็นพื้นที่ไม่น้อยกว่า ๑๐ ตารางกิโลเมตร มีความเป็นไปได้ที่ชั้นเกลือดังกล่าวจะถูกรบกวนจนเกิดปัญหาที่มนุษย์สุดจะแก้ในอนาคต
ในด้านหนึ่ง เขื่อนราษีไศลนำพาน้ำและดินเค็มมาสู่ไร่นาของชาวบ้าน ในอีกด้านหนึ่ง เขื่อนราษีไศล ก็ได้ทำลายอาชีพและวัฒนธรรมการต้มเกลือของชาวบ้านไปอย่างอำมหิต ชาวบ้านต้องหันไปพึ่งเกลือดิบจากตลาดมาบริโภค และก็มีอาการแพ้ คันตามเนื้อตัว เอามาทำปลาแดกก็เก็บไว้ได้มานาน หมดยุคของการต้มเกลือ
|
||
๕. ปัญหาน้ำเน่า น้ำเสียและปัญหาสุขภาพ
เมื่อมีการเก็บกักน้ำ ป่าทามทั้งผืนจมอยู่ใต้น้ำ เกิดการเน่าเปื่อยของต้นไม้ใบไม้ ส่งผลให้น้ำเน่าเสีย น้ำมีสีดำ ยิ่งน้ำนิ่งไม่มีการถ่ายเทยิ่งเพิ่มความรุนแรง เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุง
แหล่งน้ำที่หลายชุมชนใช้ผลิตน้ำประปา(กุด)เกิดสกปรกเพราะมีเศษซากวัชพืชเน่าเปื่อยหมักหมม เกิดผลกระทบต่อบ่อน้ำตื้นทั่วไปที่ชาวบ้านใช้บริโภค หลังการสร้างเขื่อน ระดับน้ำใต้ดินยกระดับสูงขึ้น น้ำบ่อในชุมชนจำนวนมากเริ่มมีสนิมปนเปื้อน บางบ่อน้ำกลายเป็นน้ำกร่อย น้ำเค็มและเป็นสนิม
เกิดการระบาดของวัชพืชน้ำจำพวกจอกแหนและหอยคัน เมื่อชาวบ้านลงน้ำไปหาปลาก็เกิดอาการคันตามเนื้อตัวอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ชาวประมงไม่อยากลงน้ำ ถ้าถูกหอยคันเข้าแล้ว ต้องเกาจนเกิดแผลเรื้อรังหลายเดือนกว่าจะหาย จนชาวบ้านพากันเรียกหอยคันว่า “กรมการจัดหางาน”บางคนน้ำเหลืองเสียก็กลายเป็นแผลลุกลามจนเสียการเสียงาน
ผลที่ตามมาอีกอย่างหนึ่งก็คือการระบาดของหอยเชอรี่ พร้อมกับการสูญพันธุ์ของหอยโข่งซึ่งต้องวางไข่ในดินในฤดูแล้ง หอยเชอรี่ระบาดไปยังทุ่งนาทุกพื้นที่รอบอ่างเก็บน้ำราษีไศล โดยเฉพาะพื้นที่ที่สูบน้ำไปทำการเกษตร
ผลกระทบด้านสุขภาพ จากการศึกษาของสถาบันวิจัยสังคม พบว่า หลังการสร้างเขื่อนชาวบ้านเกิดเจ็บป่วยด้วยโรคที่ไม่เคยเป็นมาก่อนถึงร้อยละ ๑๙.๐ โรคที่พบมากที่สุด คือ โรคผิวหนังผื่นคันร้อยละ ๔๐ ของโรคที่พบ นอกนั้นก็มีโรคท้องร่วง ตาแดง หวัดเรื้อรัง ภูมิแพ้และพยาธิต่าง ๆ ทั้งยังมีอาการป่วยจากการกินปลาปักเป้า แพทย์โรงพยาบาลราษีไศลลงความเห็นว่าเกิดจากพิษปลาปักเป้า(fish poisoning, tetrodo toxin intoxication)มีอาการชารอบริมฝีปาก แขนขาและปลายมือปลายเท้า กล้ามเนื้ออ่อนเพลีย ไม่มีแรง หายใจขัด ในอดีต ปลาปักเป้าเป็นปลาที่ชาวบ้านสามารถบริโภคได้ไม่เคยมีอาการแพ้พิษ
และโรคที่มาพร้อมกับโรคอื่นๆ ก็คือโรคเครียด วิตกกังวล เกิดจากการสูญเสียที่ทำกินอย่างไม่เป็นธรรม เมื่อมีการรวมกลุ่มเพื่อผลักดันให้มีการแก้ปัญหา ซึ่งมีความยากลำบากเพราะมีการต่อสู้ยืดเยื้อเผชิญหน้ากับรัฐอย่างตึงเครียด และเป็นกิจกรรมที่ต้องลงทุนลงแรงพอสมควร บางครอบครัวถึงขั้นนำโฉนดที่ดินไปจำนองเพื่อนำเงินมาใช้ในการต่อสู้ หลายคนเกิดอาการเครียดถึงขนาดไปหาหมอ และมีไม่น้อยกว่า ๑๐ คนที่เสียชีวิตขณะชุมนุม
|
||
๖. ผลกระทบต่อแหล่งน้ำชลประทานเดิม
ในพื้นที่อ่างเก็บน้ำของเขื่อนราษีไศลนั้น เดิมเคยมีโครงการชลประทานขนาดเล็กระดับชุมชนและมีการใช้ประโยชน์ร่วมกันในท้องถิ่นอยู่แล้ว เป็นโครงการของกรมชลประทาน กรมการปกครอง กรมโยธาธิการ สำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบท(รพช.) กรมทรัพยากรธรณี ส่วนมากจะเป็นสระน้ำขนาดใหญ่ ฝายน้ำล้น ทำนบกั้นน้ำ บ่อน้ำตื้น แหล่งน้ำเหล่านี้ เมื่อก่อสร้างเสร็จหน่วยงานรัฐก็จะมอบให้องค์กรท้องถิ่นหรือชุมชนเป็นผู้จัดการดูแล เฉพาะในพื้นที่อำเภอราษีไศลและอำเภอบึงบูรพ์ พบว่า มีโครงการชลประทานดังกล่าว จำนวน ๑๒ โครงการ คือ อ่างห้วยน้ำเค็ม ฝายบ้านหนองบัวดง ฝายกุดก้อม ฝายน้ำล้นกุดปลาเซียม ฝายน้ำล้นห้วยน้ำเค็ม ฝายหนองโดน ฝายน้ำล้นหนองตาหวด ทำนบฮองหวาย อ่างเก็บน้ำร่องไผ่ ฝายน้ำล้นอ่างร่องไผ่ ฝายหนองหล่ม(กั้นห้วยทับทัน)อ่างเก็บน้ำร่องจิกปูด อ่างเก็บน้ำบ้านโนนลาน รวมงบประมาณในการก่อสร้างทั้งสิ้นประมาณ ๔๐ ล้านบาท
ในโครงการต่าง ๆ ดังกล่าว ราษฎรได้ใช้ประโยชน์ในการใช้น้ำอุปโภคบริโภค การปลูกผักสวนครัว เลี้ยงสัตว์ บางแห่งสามารถใช้เป็นแหล่งน้ำในการทำนาปรังในฤดูแล้ง
เขื่อนราษีไศลได้สร้างอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทับซ้อนลงไปในพื้นที่ดังกล่าว ท่วมทั้งพื้นที่เก็บน้ำและท่วมทั้งพื้นที่ทำกินที่ใช้ประโยชน์รอบอ่างเก็บน้ำเดิม ถือเป็นการทำโครงการที่ซ้ำซ้อน และที่สำคัญคือเสียแบบแผนการใช้ประโยชน์เดิมที่ชุมชนได้ใช้ประโยชน์อยู่แล้ว
อนึ่ง ก่อนการก่อสร้างไม่มีงานศึกษาใดๆ เกี่ยวกับโครงการชลประทานเดิมในพื้นที่ ทั้งที่มีรายงานความเห็นของคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ สำนักนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม คราวประชุมครั้งที่ ๕/๒๕๓๖ วันที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๕๓๖ ระบุว่า บางส่วนของโครงการโขงชีมูล ซ้ำซ้อนกับโครงการชลประทานที่ได้สร้างเสร็จแล้ว กำลังก่อสร้าง หรือวางแผนไว้ ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อโครงการของกรมชลประทานและยังเป็นการสูญเสียงบประมาณของประเทศ
|
||
๗. ปัญหาความขัดแย้งแตกแยกในชุมชนท้องถิ่นและสังคม เขื่อนราษีไศล ถือเป็นโครงการรัฐที่ก่อความขัดแย้งให้เกิดขึ้นมากที่สุดโครงการหนึ่ง ทั้งระดับชุมชน ระดับท้องถิ่น ระดับชาติ ทั้งความขัดแย้งแตกแยกระหว่างชุมชนกับรัฐ ระหว่างผู้ได้รับผลกระทบและผู้คาดว่าจะได้ประโยชน์ ๑๒ ปีที่ผ่านมา นับแต่มีการเก็บกักน้ำ ชาวชุมชนราษีไศลมีแต่ข่าวขัดแย้ง ทะเลาะเบาะแว้ง การต่อสู้ชิงไหวชิงพริบ บรรยากาศแห่งความไม่เชื่อถือไม่ไว้วางใจครอบคลุมไปทั่ว
เริ่มจากการเรียกร้องของชาวบ้านให้ทบทวนระดับการเก็บกักน้ำ และการขอมีส่วนร่วมในการจัดการเขื่อนเมื่อปี ๒๕๓๗ มีการรวมตัวเคลื่อนไหวด้วยการร้องเรียนในทุกระดับ แต่ไม่มีการตอบสนองใด ๆ จากทางโครงการ ๆ กลับร่วมมือกับฝ่ายปกครองระดับอำเภอในการติดตาม ขู่ปรามแกนนำชาวบ้าน เมื่อมีการเคลื่อนไหวถึงขั้นชุมนุมก็มีการจัดตั้ง “กลุ่มผู้อยากได้น้ำ” ขึ้นมาจัด “ม็อบชนม็อบ”หลายครั้งต่อมากลุ่มเรียกร้องแปรข้อเรียกร้องเป็นการเรียกร้องค่าชดเชยและให้มีการศึกษาผลกระทบเพื่อมีมาตรการในการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม กลุ่มชาวบ้านที่ทางราชการจัดตั้งขึ้นก็ติดตามขัดขวางและคัดค้านเกือบทุกขั้นตอน กระทั่งในวันรับค่าชดเชย จนภาพที่ออกมาคือประชาชนขัดแย้งและแตกแยกกันเอง
หลังการรับค่าชดเชยของผู้เรียกร้องกลุ่มแรก(สมัชชาคนจน) มีการพยายามของหน่วยงานราชการร่วมกับนักการเมืองในการสร้างภาพของการทุจริตให้เกิดขึ้นเพื่อโจมตีฝ่ายตรงกันข้าม โดยเฉพาะช่วงที่จะมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลหรือช่วงที่ประชาชนมีแผนการชุมนุมทางการเมือง ด้วยการให้สัมภาษณ์ทางวิทยุ โทรทัศน์และหนังสือพิมพ์ สร้างความโกลาหลทางการเมืองอย่างมาก และขณะเดียวกันก็สร้างความคับแค้นใจให้แก่ชาวบ้านผู้รับค่าชดเชยจนต้องออกมาเคลื่อนไหวชี้แจงอย่างต่อเนื่อง นำพาให้ภาคประชาสังคม องค์กรประชาธิปไตยออกมาเคลื่อนไหวสนับสนุนการต่อสู้ของชาวบ้าน เกิดเป็นคดีความขึ้นมากมาย
ตั้งแต่ปี ๒๕๔๑ ถึงเดือนมิถุนายน ๒๕๔๓ เกิดมีเจ้าหน้าที่รัฐฟ้องร้องฝ่ายประชาชนจำนวน ๑๐ คดี มีผู้ตกเป็นผู้ต้องหาจำนวน ๒๖ คน นับตั้งแต่ รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหา รองผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ แกนนำชาวบ้าน นักวิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชน นายกสภาทนายความ หนังสือพิมพ์ ๒ ฉบับ กระทั่งหมอผีประจำที่ชุมนุม เป็นคดีข้อกล่าวหาตั้งแต่การทุจริต บุกรุกสถานที่ราชการ หมิ่นประมาท
หลังจากนั้น กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน เจ้าของโครงการได้ยื่นฟ้องร้องทางแพ่งต่อชาวบ้านผู้รับค่าชดเชยไปแล้ว จำนวน ๔๔๕ ราย ในข้อหารับลาภที่ไม่ควรได้โดยการรับค่าชดเชยเมื่อปี ๒๕๔๐ เป็นไปโดยการตรวจสอบไม่เรียบร้อย ผิดระเบียบราชการ
อาจไม่มีกรณีขัดแย้งในโครงการรัฐใดในประเทศไทยที่มีคดีและผู้ตกเป็นผู้ต้องหามากมายเท่ากรณีราษีไศลอีกแล้ว
หลังจากการจ่ายค่าชดเชยเมื่อปี ๒๕๔๐ แล้ว กลุ่มชาวบ้านที่ราชการจัดตั้งขึ้นเพื่อต่อต้านกลุ่มผู้เรียกร้องได้เกิดการเรียนรู้ว่า ที่แท้พวกเขาถูกหลอก และโดยแท้จริงแล้ว พวกเขาก็เป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบเช่นกัน แต่ที่ผ่านมาไม่เคยเชื่อว่าตนเองมีสิทธิ์ที่จะได้รับการชดเชยใด ๆ เพราะไม่มีเอกสารสิทธิ์ในที่ดินทำกิน พวกเขาจึงพากันละจากกลุ่มจัดตั้งเดิม แล้วจัดตั้งกลุ่มเพื่อเรียกร้องค่าชดเชยที่ดินทำกินตามที่กลุ่มสมัชชาคนจนได้บุกเบิกสร้างบรรทัดฐานไว้แล้ว บ้างจัดตั้งกลุ่มของตัวเองขึ้นมาใหม่ บ้างเข้าร่วมเป็นสมาชิกของสมัชชาต่าง ๆ ที่เคลื่อนไหวปัญหาประชาชนในภาคอีสานอยู่ จึงล่าสุด มีกลุ่มเรียกร้องหลัก ๆ คือ สมัชชาเกษตรกรรายย่อยภาคอีสาน ต่อมาแยกตัวออกมาตั้งองค์กรเองชื่อ สมาพันธ์เกษตรกรภาคอีสาน(สพอ.) ,สมัชชาเกษตรกรอีสาน(สกอ.),กลุ่มเกษตรกรฝายราษีไศล(กรษ.),สมัชชาลุ่มน้ำมูล(สลม.), สมาพันธ์เกษตรกรแห่งประเทศไทย(สกท.),กลุ่มกำนันผู้ใหญ่บ้าน,กลุ่มอิสระ,สมัชชาคนจน(เรียกร้องการฟื้นฟูชุมชน สิ่งแวดล้อม และการมีส่วนร่วม) ต่อมามีการแตกกลุ่มใหม่ๆ เรื่อยๆ จนเรียกกันว่า “๑๒ ราศี”
เมื่อเกิดเป็นหลายกลุ่มเช่นนี้ การเคลื่อนไหวเรียกร้องเกิดขึ้นคนละคราว ได้สร้างข้อตกลงกับหน่วยงานรัฐในการแก้ปัญหาคนละแบบ ยิ่งเป็นอุปสรรคต่อการแก้ปัญหามากขึ้น และดูเหมือนหน่วยงานรัฐใช้เงื่อนไขนี้ในการ “แบ่งแยกแล้วปกครอง” อย่างได้ผล หลายกลุ่มหันมาทะเลาะกันเอง ด้วยวิธีการแก้ปัญหาที่ตกลงไว้กับหน่วยงานรัฐไม่เหมือนกัน
ความขัดแย้งบาดหมางกันระหว่างคนในชุมชนเดียวกัน ญาติพี่น้องกัน แม้กระทั่งในครอบครัวเดียวกันได้สร้างบาดแผลฉกรรจ์ให้กับชุมชนที่เคยอยู่ร่วมกันมาอย่างกลมเกลียว สงบสันติมาแต่โบราณ
ปัจจุบัน หลังการปฏิรูประบบราชการเมื่อเดือนตุลาคม ๒๕๔๕ กรมชลประทานได้เข้ามารับผิดชอบโครงการ ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาเขื่อนราษีไศลเป็นชุดเดียวกัน ให้ราษฎรผู้เดือดร้อนไปลงทะเบียนกับกรมชลประทานโดยตรง ไม่ขึ้นอยู่กับกลุ่มจัดตั้งเดิม กลายเป็นว่ามีการแยกย่อยกันอยู่เป็นกลุ่มเล็กบ้างใหญ่บ้าง จำนวน ๒๓ กลุ่ม (มกราคม๒๕๔๘)
เหตุสำคัญของความขัดแย้งที่เกิดขึ้นก็เพราะ ขาดการศึกษาถึงวิถีวัฒนธรรมและความต้องการที่แท้จริงของชุมชน ขาดการสำรวจพื้นที่อย่างถี่ถ้วนก่อนลงมือก่อสร้าง เมื่อผลกระทบเกิดขึ้นจริงตอนเก็บกักน้ำแล้วก็ไม่มีฐานข้อมูลใดๆ ในการแก้ปัญหา ท่ามกลางความขัดแย้งก็ไม่กลไกใดๆที่จะนำพาในการหาข้อยุติได้ นับเป็นจุดอ่อนสำคัญของระบบราชการ ขณะที่วัฒนธรรมอำนาจที่แฝงฝังมาอย่างยาวนานในสังคมไทยก็แสดงออกอย่างเต็มที่ที่นี่
|
||
ผลประโยชน์ของเขื่อนราษีไศล
ในเอกสารสรุปผลการวิเคราะห์ปัญหาผลกระทบและแนวทางแก้ไขปัญหาการจ่ายค่าชดเชยที่ดินโครงการฝายราษีไศล ของกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน ลงวันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๔๓ได้สรุปวัตถุประสงค์ของโครงการหลังจากเปลี่ยนจากการสร้างฝายยางมาเป็นเขื่อนคอนกรีตว่า… เขื่อนราษีไศลจะทำหน้าที่สกัดและเก็บกักน้ำที่มีอยู่ในลุ่มน้ำเดิมและน้ำที่ผันมาจากลุ่มน้ำโขงไว้ในบริเวณลำน้ำมูนและลำน้ำสาขา แล้วผันเข้าสู่พื้นที่สองฝั่งทั้งด้านเหนือน้ำและท้ายน้ำด้วยระบบ gravity (ใช้แรงดึงดูดของโลก) ให้มากที่สุดเท่าที่สภาพพื้นที่จะอำนวย รวมทั้งการผันน้ำจากลุ่มน้ำมูนไปยังลุ่มน้ำชี เพื่อลดสภาวะน้ำท่วมในฤดูฝน พื้นที่บางแห่งอาจเสริมด้วยระบบสูบน้ำเพื่อให้โครงการนี้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด
เขื่อนจะเก็บกักน้ำไว้ได้ ๗๔.๔๓ ล้านลูกบาศก์เมตร ได้พื้นที่ชลประทานในฤดูฝน ๗๙,๑๒๐ ไร่ในฤดูแล้ง ๒๘,๔๒๕ ไร่ และถ้ามีการสูบน้ำโขงเข้ามาจะได้พื้นที่ชลประทานในฤดูฝน ๒๘๘,๐๐๐ ไร่ ฤดูแล้ง ๖๔,๑๐๐ ไร่
เอกสารดังกล่าวสรุปผลประโยชน์ที่เกิดในช่วงเวลานั้นว่า ด้านอุปโภคบริโภค ราษฎร ๙๘ หมู่บ้าน ๔๘,๐๐๐ คนได้ประโยชน์ และราษฎรในเขตเทศบาลท่าตูม เทศบาลราษีไศล เทศบาลกันทรารมย์ อีก ๒๔,๐๐๐ คน ได้ใช้น้ำ ๓ ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ด้านการชลประทาน ระหว่างปี ๒๕๓๖-๒๕๔๓ โครงการสูบน้ำด้วยพลังงานไฟฟ้าเดิม ๒๐ สถานี ได้ใช้น้ำในฤดูฝน ๔๑,๗๖๐ ไร่ ฤดูแล้ง ๓,๖๗๑ ไร่
ผลประโยชน์ด้านการประมง ราษฎรทำการประมงหน้าเขื่อนมีรายได้เฉลี่ยปีละ ๔.๒ ล้านบาท
ผลประโยชน์ด้านการเพิ่มและกระจายรายได้ ในเขตชลประทานของกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงานราษฎรมีรายได้ ๒๑,๕๙๔ บาทต่อครัวเรือนต่อปี ในเขตรับประโยชน์จากเขื่อน ๑๙,๕๐๐ บาทต่อครัวเรือนต่อปี และเขตที่ได้รับผลกระทบ ๑๐,๕๕๐ บาทต่อครัวเรือนต่อปี
|
||
จากความจริงที่เกิดขึ้นดังที่ได้อภิปรายแล้ว เรามีข้อพิจารณาต่อเขื่อนราษีไศล คือ | ||
(๑)ผลประโยชน์จากการใช้น้ำของเขื่อนราษีไศลยังไม่เกิดขึ้นจริง
ผลประโยชน์จริงของเขื่อนราษีไศลจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อมีการใช้น้ำชลประทานเพิ่มขึ้นจากเดิม แต่ความจริงก็คือสถานีสูบน้ำที่สร้างใหม่ ๒ สถานี ที่อำเภอรัตนบุรีและอำเภอบึงบูรพ์ซึ่งจะเพิ่มพื้นที่ชลประทาน ๓๗,๓๖๐ ไร่ (เอกสารเผยแพร่ว่า ๓๔,๔๒๐ ไร่)นั้น ยังสร้างไม่เสร็จ และมีการทดลองสูบน้ำสำหรับทำนาปรังในพื้นที่ตำบลดอนแรด อ.รัตนบุรี เพียงครั้งเดียว เมื่อปี ๒๕๔๕ ประมาณ ๑๐๐ ไร่เท่านั้น
สำหรับตัวเลขพื้นที่ชลประทาน ๔๑,๗๖๐ ไร่ในฤดูแล้งและ ๓,๖๗๑ ไร่ ตามรายงานดังกล่าวเป็นตัวเลขตามโครงการเดิม ๒๐ สถานีสูบน้ำทั้งเหนือเขื่อนและท้ายเขื่อน เป็นตัวเลขเต็มตามวัตถุประสงค์ที่โครงการวางไว้ ไม่ใช่ตัวเลขการใช้ประโยชน์จริง
และ ๑๑ ใน ๒๐ สถานีดังกล่าว เป็นพื้นที่ที่ไม่ได้รับประโยชน์จากเขื่อนราษีไศล เพราะอยู่ใต้เขื่อน แต่เป็นพื้นที่ชลประทานของเขื่อนหัวนา (อีก ๑ เขื่อนในโครงการโขงชีมูลเช่นกัน)
ตัวเลขในรายงานดังกล่าวจึงเป็นตัวเลขที่ฉวยโอกาสแอบอ้างเท่านั้น!
ผลการศึกษาของสถาบันวิจัยสังคมในช่วงระยะเวลาเดียวกัน จากคำถามเกี่ยวกับการได้รับผลประโยชน์จากการมีเขื่อนราษีไศลของครอบครัวทั้งในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบและพื้นที่ที่คาดว่าจะได้รับผลประโยชน์ พบว่าโดยรวมมีครัวเรือนถึงร้อยละ ๖๒.๓ ตอบว่าไม่ได้รับประโยชน์อะไรจากการมีเขื่อนราษีไศล
โดยเฉพาะในชุมชนที่โครงการเขื่อนราษีไศลอ้างว่าจะเป็นพื้นที่รับประโยชน์ กลุ่มตัวอย่างถึงร้อยละ ๖๗.๒ ตอบว่าไม่ได้รับประโยชน์อะไรเลย ส่วนพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ มีผู้ตอบว่าไม่ได้รับประโยชน์อะไรร้อยละ ๖๐.๗(สถาบันวิจัยสังคม,๒๕๔๗)
ส่วนการอ้างถึงผลประโยชน์ทางด้านการอุปโภคบริโภคใน ๓ เทศบาลนั้นก็ไม่เป็นความจริง เพราะการประปาเทศบาลตำบลท่าตูม จ.สุรินทร์ ไม่ได้ใช้น้ำจากแม่น้ำมูนทำน้ำประปา เทศบาลกันทรารมย์นั้น อยู่ใต้เขื่อนราษีไศลลงไปประมาณ ๘๐ กิโลเมตร(อยู่เหนือเขื่อนหัวนาประมาณ ๑๐กิโลเมตร) ส่วนเทศบาลเมืองคง อ.ราษีไศล ซึ่งอยู่ใต้เขื่อนราษีไศลลงไป ๕ กิโลเมตรก็ไม่จำเป็นต้องใช้น้ำจากเขื่อนราษีไศลเช่นกัน การเก็บกักน้ำของเขื่อนราษีไศลเสียอีกที่จะทำให้เทศบาลแห่งนี้ขาดแคลนน้ำทำน้ำประปา
ด้านการประมงที่มีตัวเลขผลประโยชน์ที่ได้รับปีละ ๔.๒ ล้านบาท นั้น อาจเปรียบกันไม่ได้เลยกับผลที่เสียไปตามที่เราทราบเกี่ยวกับผลกระทบที่เกิดขึ้นแล้วว่า ปลาเศรษฐกิจหายไป กบและหอยหลายชนิดหายไป เครื่องมือประมงพื้นบ้านซึ่งมี ๓๑ ชนิด ส่วนใหญ่ไม่สามารถใช้ในการหาปลาในน้ำลึกได้อีกต่อไป แล้วยังมีวัชพืชและหอยคันระบาด เป็นอุปสรรคต่อการหาปลา ปลาที่จับได้รสจืด เน่าเร็ว
จากการศึกษาของโครงการทามมูล เมื่อปี ๒๕๓๘ ศึกษากลุ่มตัวอย่าง ๓๖๖ ครอบครัว ใน ๑๑ หมู่บ้าน พบว่ารายได้จากการประมง (หาปลา หอย กบเขียด ) มีรายได้รวมปีละ๓,๘๖๕,๐๔๙ บาท เฉลี่ยครอบครัวละ ๑๐,๕๖๐ บาท พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อนราษีไศล ๑๔๑ หมู่บ้าน ถ้าประมาณว่า ก่อนการสร้างเขื่อน มีคนทำการประมงสัก ๕,๐๐๐ คน ก็จะมีรายได้รวม ๕๒.๘ ล้านบาท ตัวเลขผลประโยชน์ทางด้านการประมงที่โครงการอ้างถึงจึงเป็นผลโทษมากกว่า
ส่วนตัวเลขผลต่างทางรายได้ตามรายงานดังกล่าวก็เป็นตัวบอกได้ชัดเจนในตัวเองแล้ว เขตพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อนมีระดับรายได้ต่ำกว่าอีก ๒ เขตถึงหนึ่งเท่าตัว เพราะได้รับผลกระทบจากเขื่อนราษีไศล นั่นเอง
|
||
(๒)สถานีสูบน้ำเดิมทำงานได้โดยไม่ต้องมีเขื่อนราษีไศลและใช้น้ำชลประทานน้อยมาก
จากการสำรวจภาคสนาม สถานีสูบน้ำด้วยพลังงานไฟฟ้าต่าง ๆ ดังกล่าวมีการใช้ประโยชน์น้อยมาก เพราะปัญหาการทำนาปรังต้องลงทุนสูง มีโรคแมลงรบกวนและมีปัญหาด้านการตลาดผลิตไม่คุ้มทุนกับการที่จะต้อง “ซื้อน้ำ” และปัญหาสำคัญที่สุดก็คือ น้ำในแม่น้ำมูนมีความเค็มสูงจนข้าวตายและมีเกลือตกค้างในที่นาจนเกิดผลกระทบในการทำนาปี
ปัญหานี้ ทางโครงการเคยอธิบายว่า ชาวบ้านอาจไม่ใช้น้ำในการทำนาปรัง แต่ได้ใช้ในการทำนาปี โดยเฉพาะปีที่ฝนทิ้งช่วง ความจริงก็คือ ในฤดูที่ฝน “ทิ้งช่วง” ระหว่างการทำนาปีนั้น ในลำน้ำมูนจะมีน้ำอยู่แล้วจากฝนต้นปี สถานีสูบน้ำด้วยพลังงานไฟฟ้าเกือบทุกสถานีสามารถสูบน้ำใช้ได้ โดยไม่ต้องพึ่งการเก็บน้ำของเขื่อนเลย
|
||
ที่มา : www.esanvoice.org |
Be the first to comment on "เขื่อนราษีไศล บทสะท้อนความล้มเหลวและความอับจนของโครงการโขงชีมูล"