เข้าใจวิถีตัวเอง เพื่อตั้งรับอย่างเท่าทัน บนสำนึกแห่งความเป็นอุทัยธานี

อุทัยธานี  จังหวัดที่คาบเกี่ยวระหว่างภาคเหนือและภาคกลางจนหลายคนมักผ่านเลยไป ทั้งที่ความเป็นจริง ท้องถิ่นที่มีความเป็นมายาวนานแห่งนี้ไม่เพียงมากด้วยเรื่องราวทางประวัติศาสตร์และภูมิปัญญาของท้องถิ่น หากอุดมด้วยทรัพยากรทั้งดิน น้ำ ป่า …

โครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะ–ท้องถิ่นน่าอยู่ จ.อุทัยธานี

อุทัยธานี จังหวัดที่คาบเกี่ยวระหว่างภาคเหนือและภาคกลางจนหลายคนมักผ่านเลยไป ทั้งที่ความเป็นจริง ท้องถิ่นที่มีความเป็นมายาวนานแห่งนี้ไม่เพียงมากด้วยเรื่องราวทางประวัติศาสตร์และภูมิปัญญาของท้องถิ่น หากอุดมด้วยทรัพยากรทั้งดิน น้ำ ป่า จนกลายเป็นแหล่งรวมผู้คนจากหลายชาติพันธุ์ ทั้งชุมชนเรือนแพริมฝั่งแม่น้ำสะแกกรัง ชุมชนการค้าของชาวจีน มอญ ลาวครั่ง กะเหรี่ยง และอื่นๆ ซึ่งหลากหลายทั้งวัฒนธรรม ความคิด และความเชื่อ แต่ก็สามารถดำรงเอกลักษณ์ของแต่ละกลุ่มชนไว้ได้พร้อมๆ กับการดำรงชีวิตอยู่บนวิถีเกษตรกรรมที่เรียบง่าย ปราศจากการแย่งชิง แข่งขัน

หากท่ามกลางกระแสธารอันเชี่ยวกรากของความเปลี่ยนแปลงที่ชื่อ โลกาภิวัตร ความเป็นท้องถิ่นอุทัยธานีที่เคยมีวิถีชีวิตอันเงียบสงบจนแทบจะไม่มีความกระตือรือร้น ไม่รับรู้และสนใจโลกภายนอกเท่าที่ควร อาจกำลังทำให้ท้องถิ่นแห่งนี้ต้องพบกับความเปลี่ยนแปลงที่ฉาบฉวยและรวดเร็วจนคนท้องถิ่นไม่สามารถตั้งรับได้ทันกับสถานการณ์ใหม่ๆ ของโลกปัจจุบัน อีกทั้งการถูกรุมล้อมด้วยกระแสการพัฒนาซึ่งมาพร้อมกับโครงการต่างๆ โดยเฉพาะการถูกจับตามองให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวในอนาคต จึงเป็นเรื่องท้าทายแห่งยุคสมัยที่ชาวอุทัยธานีต้องเตรียมพร้อมสำหรับการตั้งรับอย่างรู้เท่าทันบนการเปลี่ยนแปลงที่ยากจะหลีกเลี่ยงนี้ให้ได้

แม่น้ำสะแกกรัง

 

ด้วยความที่เป็นท้องถิ่นขนาดเล็กบนเนื้อที่ไม่มากนักของอุทัยธานี คนท้องถิ่นที่นี่จึงยังคงรักษาวิถีชีวิตที่ผูกพันกับศาสนาและวัฒนธรรมเอาไว้ได้อย่างเหนียวแน่น ซึ่งหากพิจารณาถึงลักษณะทางกายภาพของเมืองจะพบว่าบรรพบุรุษในอดีตได้บรรจงออกแบบและก่อสร้างวัดไว้รอบทุกมุมเมือง วัดจึงเป็นศูนย์รวมทางจิตใจของผู้คนมาตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน เช่นเดียวกับที่ภาพคนหิ้วตะกร้าใส่อาหารไปทำบุญที่วัดในช่วงเทศกาลกลายเป็นภาพชินตาของคนอุทัยไปเสียแล้ว ความที่เป็นเช่นนี้จึงไม่แปลกหากเราจะไม่ค่อยได้รับรู้หรือได้ยินข่าวร้ายหรือเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้นจากท้องถิ่นแห่งนี้

 

 

“ถ้าเราขาดความรู้ความเข้าใจ สิ่งที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนามันก็จะง่าย ก็เลยมาจับเรื่องความรู้เรื่องเมือง จริงๆ ความรู้เรื่องเมือง ถ้าคนไม่เข้าใจจะมองเห็นแค่เพียงความสวยงาม แต่ไม่รู้ว่ากว่าจะมาเป็นความสวยงาม มันมีที่มาที่ไปอย่างไร มันก็น่าจะให้คนที่อยู่ในเมืองเองได้เรียนรู้เรื่องราวของตัวเอง”


ลาวรรณ ทัยคุปต์
คณะทำงานโครงการฯ จ.อุทัยธานี

เมื่อเป้าหมายคือการได้รู้จักตัวตนของตัวเอง การตั้งต้นจากการสืบค้นความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ของท้องถิ่นจึงเริ่มขึ้น โดยดึงเรื่องความศรัทธาทางศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ขณะเดียวกันบุคคลสำคัญที่ได้ทำคุณงามความดีแก่บ้านเมืองก็ควรได้รับการสืบค้นไปพร้อมกัน เช่น สมเด็จพระวันรัต เพื่อสร้างความภาคภูมิใจและรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของท้องถิ่น โดยกระบวนการสืบค้น เรียนรู้ เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเหล่านี้จะทำผ่านกิจกรรมหลายรูปแบบร่วมกับกลุ่มคนหลากหลายวัย เริ่มตั้งแต่โครงการภาพเก่าเล่าขานตำนานเมืองอุทัย การจัดเวทีเสวนาสะแกกรัง สายน้ำแห่งชีวิต การเชิญชวนเยาวชนมาร่วมกันสืบค้นเมืองจากผู้เฒ่าผู้แก่ การจัดค่ายความงามของวิถีชีวิตผ่านงานศิลปะของเยาวชนจากหลายพื้นที่ ค่ายเขียนบ้านอ่านเมือง ซึ่งไม่เพียงเป็นการร่วมบันทึกประวัติศาสตร์ วิถีชุมชน และภูมิปัญญาของเมืองอุทัยเอาไว้เท่านั้น หากเป็นการสร้างสำนึกรักและผูกพันต่อชุมชนตนเองให้แก่คนรุ่นใหม่ไปพร้อมกัน เพื่อคุณค่า ความดีงาม ของท้องถิ่นจะได้รับการสืบสานไปด้วย

 

โครงการภาพเก่าเล่าขานตำนานเมืองอุทัย ค่ายความงามของวิถีชีวิตผ่านงานศิลปะ
 

N เชื่อมภูมิปัญญาดั้งเดิม…เพื่อเผชิญรับความเปลี่ยนแปลง

หนทางของการเรียนรู้ภูมิปัญญาที่คนในอดีตได้สั่งสมมาจนถึงคนรุ่นปัจจุบันจึงเป็นเสมือนอาวุธที่ไม่ต้องลงทุนเพื่อใช้ต่อสู้กับความเปลี่ยนแปลงที่มาพร้อมโลกาภิวัตร เป็นการประสมประสานความรู้ที่มีอยู่ข้างในของท้องถิ่นกับความรู้ใหม่จากภายนอก ปลายทางของการต่อสู้จึงไม่ได้มีเพียงความรู้หรือความผูกพันทางประวัติศาสตร์ที่มีแก่ท้องถิ่นเพิ่มขึ้น หากเป็นการได้มาซึ่งคำตอบว่า คนอุทัยจะอยู่อย่างไรภายใต้สภาพบริบทที่เป็นอยู่ บริบทของการถูกกระทำจากภายนอกทั้งโดยกระแสทุน กระแสวัฒนธรรมต่างชาติ และโดยเฉพาะกระแสความคิดที่ชื่นชมความสำเร็จจากวัตถุเป็นตัวตั้ง หลายต่อหลายโครงการที่หมุนเวียนเข้ามาทั้งโดยราชการหรือภาคการลงทุนจึงสวยงามแต่เพียงชื่อ แต่จบและจากไปพร้อมกับความขมขื่นที่คนท้องถิ่นต้องแบกรับต่อไปตลอดชีวิต

 

ตัวอย่างของการเชื่อมโยงภูมิปัญญาเพื่อการอยู่รอดท่ามกลางจังหวะก้าวที่รวดเร็วของกระแสการพัฒนาได้เกิดขึ้นแล้วที่บ้านทัพคล้าย อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี เมื่อชาวลาวครั่งซึ่งเป็นคนพื้นถิ่นได้กลับมาเห็นคุณค่าและสิ่งดีงามที่เคยมีมาแต่อดีตของชุมชนอีกครั้ง นั่นก็คือ วัฒนธรรมผ้าทอ ซึ่งทำกันทุกหมู่บ้านเพราะทุกคนในหมู่บ้านล้วนมีผ้าทอเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินชีวิตและใช้กันในเกือบทุกกิจกรรมของหมู่บ้าน แต่ด้วยกระแสทุนที่กำหนดความเปลี่ยนแปลงของชาวบ้านจากวิถีเดิมที่ทำเพื่อใช้ เหลือจึงขาย กลายเป็นผลิตขายและเข้าสู่ระบบการแข่งขันเชิงพาณิชย์จนลดทอนความสามัคคีและความเอื้ออาทรที่เคยมีมาแต่อดีต การจะเชื่อมร้อยให้วิถีชีวิตแต่ก่อนกลับมาอีกครั้งจึงจำเป็นต้องมาจากทุนเดิมทางวัฒนธรรมที่ทุกบ้านมีเหมือนกัน บวกกับการให้ความสำคัญเรื่องการทำบุญซึ่งสามารถเชื่อมโยงจิตใจทุกคนได้ การจัดงานจุลกฐินจึงเกิดขึ้นบนฐานความคิดเรื่องการเชื่อมร้อยและอนุรักษ์ภูมิปัญญาผ้าทอของชุมชนกับวิถีผู้คนซึ่งอยู่บนชะตากรรมเดียวกัน กลายเป็นงานใหญ่ระดับตำบลที่ทุกคนมีส่วนร่วมจนกระทั่งจังหวัดเห็นดีเห็นชอบและรับไปจัดเป็นงานประเพณีของจังหวัดในเวลาต่อมา

การจะรู้จักตัวเองได้ จึงต้องยืนอยู่บนความเข้าใจตัวเอง ให้ความสำคัญกับวิถีของตัวเอง และร่วมกันค้นหาคำตอบว่าจะกลับมาอยู่อย่างไรกับท้องถิ่นวันนี้ของตัวเอง การหันมามองบริบทตัวเองเพื่อเข้าใจตัวเองยังจะช่วยให้เห็นหนทางที่จะแก้ปัญหาด้วยตัวเอง ซึ่งนำมาสู่การพึ่งพาตนเองอย่างแท้จริง ตัวอย่างเช่น การยอมรับในวิถีการทำนาบนพื้นที่ซึ่งมีลักษณะเฉพาะของท้องถิ่นจังหวัดอุทัยธานี นั่นคือ การเป็นพื้นที่ลาดเท จึงไม่สามารถเก็บกับน้ำเอาไว้ได้ นโยบายการส่งเสริมปลูกข้าวนาปรังซึ่งต้องใช้น้ำมากจึงเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในท้องถิ่นแห่งนี้ด้วยเช่นกัน ส่งผลต่อการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคในบางพื้นที่ในช่วงหน้าแล้ง

อย่างไรก็ดี คณะทำงานได้กระตุ้นให้คนในท้องถิ่นและหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องหันมาใส่ใจในภูมิปัญญาดั้งเดิมเรื่องการทำนาบนพื้นที่ลาดเทโดยผ่านกระบวนการจัดการความรู้ จนกลายเป็นชุดความรู้ที่ใช้เผยแพร่ทั่วไปในจังหวัด รวมทั้งศูนย์เรียนรู้เกษตรผสมผสานที่เป็นพื้นที่ปฏิบัติจริงจากการใช้ภูมิปัญญาดั้งเดิมในการจัดการน้ำซึ่งได้กลายเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับผู้สนใจตั้งแต่ระดับตำบลไปจนถึงระดับจังหวัด

งานจุลกฐิน บ.ทัพคลาย ปี 2548

N อุปสรรคและทางออกที่ฝ่าฟัน

การทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องในโครงการฯ สามารถเข้าใจแนวคิดโครงการฯ ได้อย่างถ่องแท้ถือเป็นเรื่องยากและต้องใช้เวลา โดยเฉพาะเป็นเรื่องของระบบคิด วิธีคิด และการร่วมงานกับราชการที่มักมีวิธีคิดเป็นชุดความคิดเดียวกันหมดทั้งประเทศ คือทำงานบนฐานข้อมูลอันเป็นวิชาการมากจนขาดพื้นฐานความเข้าใจในบริบททางสังคมและสภาพแวดล้อมของท้องถิ่น ซึ่งหากต้องร่วมทำงานด้วย การหวังผลที่เห็นการเปลี่ยนแปลงจำเป็นต้องออกแรงผลักดันอย่างมาก

หนทางที่คณะทำงานชีวิตสาธารณะ จ.อุทัยธานี ใช้เป็นทางออกก็คือการสร้างกระบวนการเรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน ด้วยการร่วมคิด ร่วมลงมือปฏิบัติ วิเคราะห์ สังเคราะห์ และใช้กระบวนการจัดการความรู้เป็นตัวเปลี่ยนผ่านเพื่อนำไปสู่การเห็นคุณค่าของท้องถิ่นตัวเอง รูปธรรมที่เกิดขึ้น คือ การชักชวนให้องค์กรปกครองท้องถิ่น และภาคราชการในจังหวัด เช่น อบจ. อบต. ทรัพยากรน้ำ และอื่นๆ เข้ามาเรียนรู้การทำงานไปพร้อมกัน ซึ่งเป็นการลดช่องว่างทางความคิดและปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต อย่างไรก็ดี แม้เรื่องระบบคิดจะเป็นอุปสรรคต่อการทำงาน แต่ในแง่การขอความร่วมมือจากภาคราชการแล้วมักได้รับการตอบรับที่ดีเสมอ

การดำเนินงานของภาครัฐซึ่งส่วนมากมาพร้อมกับนโยบาย แผนงาน ซึ่งไม่ใช่แค่ระดับท้องถิ่นจังหวัด แต่บางครั้งเป็นนโยบายระดับชาติที่ส่งผลโดยตรงต่อท้องถิ่น กลายเป็นปัจจัยกระทบต่อความอ่อนแอของชุมชนท้องถิ่นที่อาจอ่อนแออยู่แล้วให้แย่ลงไปกว่าเดิม ดังเช่นโครงการที่มักทุ่มเม็ดเงินมหาศาลลงไปในหมู่บ้าน แต่ละเลยการให้ความคิดให้วิธีการเพื่อให้ชาวบ้านสามารถมีชีวิตอยู่อย่างยั่งยืนได้ ภาวะเช่นนี้เองที่ส่งผลร้ายซ้ำแล้วซ้ำเล่าต่อการตัดสินใจด้วยตัวเองของท้องถิ่น

สิ่งที่คณะทำงานเผชิญจึงถูกพยายามปรับแก้ด้วยกระบวนการของงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น ด้วยหวังว่ากระบวนการของงานวิจัยท้องถิ่นจะช่วยหาทางออกที่ลงลึกให้กับการเข้าใจความเป็นมาเป็นไปของท้องถิ่นตัวเองในที่สุด แต่ทั้งนี้การที่ชุมชนหมู่บ้านจะกำหนดตัวเองได้นั้น คณะทำงานโครงการฯ จะทำหน้าที่เป็นเพียงผู้สร้างทางเลือก แต่ผู้ตัดสินใจย่อมหมายถึงคนในชุมชนบนเงื่อนไขของศักยภาพและบริบทที่ชุมชนท้องถิ่นนั้นๆ เป็นอยู่

สิ่งที่เป็นอุปสรรคจนเกินจะต้านรับไหวนอกจากการเตรียมพร้อมเพื่อตั้งรับอย่างรู้เท่าทันบนฐานทุนความรู้และภูมิปัญญาที่มีอยู่ของท้องถิ่น ก็คือ กระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกที่มาพร้อมกับระบบทุนนิยม ซึ่งสร้างภาวะนิสัยของการเป็นนักบริโภคอย่างไม่สิ้นสุดตั้งแต่คนเมืองไปถึงคนชนบท กระทบต่อจุดยืนและภูมิปัญญาดั้งเดิมของท้องถิ่น จนทำให้มองข้ามคุณค่าในประวัติศาสตร์ของท้องถิ่นที่เคยมีมา

 

N ข้อค้นพบและบทเรียน

1. การค้นหาและนำจุดแข็งทางวัฒนธรรมของท้องถิ่นมาเป็นจุดร่วมเพื่อจุดประกายการทำงานชีวิตสาธารณะให้เกิดขึ้นบนฐานที่เชื่อมโยงกันระหว่างภูมิปัญญาดั้งเดิมกับวิถีชีวิตของชุมชนท้องถิ่น ภายใต้บริบทการเปลี่ยนแปลงของสังคมที่ท้องถิ่นต้องตั้งรับและปรับตัวให้รู้เท่าทัน

2. การสืบค้นผ่านประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่คณะทำงานทำจะยืนอยู่บนหลักคิดการสืบค้นเพื่อสร้างความเข้าใจตัวตนของท้องถิ่นและสภาพพื้นที่ของตัวเองให้มากที่สุด รวมทั้งการใช้ความรู้เป็นตัวนำซึ่งผลที่เกิดขึ้นจะค่อยๆ ปรากฏตามมามากกว่าการเห็นผลโดยทันที โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงเรื่องแนวคิดซึ่งไม่สามารถเห็นผลได้โดยเร็ว การยืนอยู่บนหลักคิดนี้ได้ช่วยทำให้การเคลื่อนไหวงานอยู่บนฐานของความเข้าใจในธรรมชาติของผู้ที่เกี่ยวข้องด้วย

3. การเคลื่อนงานผ่านกระบวนการมากกว่าการชักนำให้เกิดทำตาม สิ่งสำคัญคือความเข้มแข็งเด็ดเดี่ยวของแกนนำที่จะทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงทั้งทางความคิดและแบบอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะที่สังคมอ่อนแอลงไปทุกที

4. การแก้ปัญหาด้วยตัวเองจะไม่เกิดขึ้น หรือหากเกิดขึ้นก็ไม่มีวันสิ้นสุด หากเจ้าของปัญหาไม่เข้าใจความเป็นมาและบริบทของท้องถิ่นตัวเอง ประกอบกับการเชื่อมความรู้จากภายในและภายนอกโดยอาศัยภูมิปัญญาดั้งเดิมเป็นเครื่องนำทาง

5. ศักยภาพที่จะถูกพัฒนาขึ้นทั้งในเชิงกระบวนการและงานความรู้เป็นเรื่องต้องฝึกฝน ทดลองในการปฏิบัติจริง ลำพังเพียงการไปรับการอบรมมาเท่านั้นไม่อาจเพียงพอ ซึ่งเมื่อได้นำมาปรับใช้จะเห็นข้อผิดพลาดที่เป็นบทเรียนมากขึ้นไปอีก เป็นการเรียนรู้อย่างไม่มีจบสิ้น ประสบการณ์จริงจากการทำงานของทีมอุทัยธานีก็คือ การสรุปบทเรียนทุกครั้งหลังเสร็จกิจกรรมซึ่งไม่ได้ช่วยให้มีบทเรียนเกิดขึ้นเท่านั้น แต่ยังทำให้คนทำงานได้ใช้บทเรียนเหล่านั้นสำหรับแก้ไขการทำงานครั้งต่อไปด้วย

FACT SHEET
เอกสารข้อมูล
เอกสารข้อมูลประกอบ : ห้องย่อยที่ 2 การสร้างอัตลักษณ์ท้องถิ่นกับวิถีชีวิตสาธารณะ
เวทีสัมมนาวิชาการประชาสังคม “ทำการเมืองภาคพลเมืองในท้องถิ่นไทย : ความท้าทายแห่งยุคสมัย” วันที่ 19 พฤศจิกายน 2549 ที่ โรงแรม ปริ๊นพาเลซ กทม
สนับสนุนข้อมูลโดย

โครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะ – ท้องถิ่นน่าอยู่ จ.อุทัยธานี

ศูนย์ประสานงานประชาคมเมืองอุทัย เลขที่ 119/23 ถ.ศรีน้ำซึม อ.เมือง จ.อุทัยธานี 61000

โทรศัพท์ 08-1972-0125 โทรศัพท์และโทรสาร 0-56571-485

จัดทำโดย

โครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะ – ท้องถิ่นน่าอยู่

มูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา

เลขที่ 693 ถ.บำรุงเมือง เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ 10100

โทรศัพท์ 0-2621-7810-2 โทรสาร 0-2621-8042-3 www.ldinet.org

สนับสนุนโดย

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

Be the first to comment on "เข้าใจวิถีตัวเอง เพื่อตั้งรับอย่างเท่าทัน บนสำนึกแห่งความเป็นอุทัยธานี"

Leave a comment

Your email address will not be published.