เครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชั่น

เครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชั่น เกิดจากการรวมตัวกันของตัวแทนหน่วยงานจากภาครัฐบาล เอกชน ประชาชน องค์กรประชาชน สถาบันการศึกษา ปราชญ์ชาวบ้าน โดยมีจุดเริ่มต้นจากการรวมตัวกันในชื่อ “ที่ประชุมคณะทำงานประชาคมแผน 8” เมื่อปี 2540

มีการจัดการประชุมทุกเดือนที่สำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมกันจัดกระบวนการจัดทำแผน 8 ซึ่งได้ปรับทิศทางการพัฒนาจากเดิมเคยใช้เศรษฐกิจเป็นตัวตั้งมาใช้สังคมเป็นตัวตั้งแทน ต่อมาเมื่อเดินมีนาคม 2543 ภายหลังการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาเป็นครั้งแรก ที่ประชุมคณะทำงานประชาคมแผน 8 ร่วมกับสมาชิกวุฒิสภาส่วนหนึ่งที่สนใจงานประชาสังคม ได้ขยายเวทีออกไปเพื่อรองรับผู้สนใจเพิ่มขึ้น และย้ายการประชุมที่เคยจัดที่สำนักงานคณะกรรมการเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์ฯ) ไปจัดการประชุมตามสถานที่ต่างๆ เช่น สถาบันพระปกเกล้า รัฐสภา กระทรวงสาธารณสุข บริษัทบางจาก ธนาคารออมสิน ฯลฯ พร้อมกับเปลี่ยนชื่อเป็น “ที่ประชุมข่ายประชาสังคมไทย”

“ที่ประชุมข่ายประชาสังคมไทย” เป็นเวทีความเคลื่อนไหวของกลุ่มคน และองค์กรที่สนับสนุนงานชุมชนท้องถิ่นและประชาสังคม มีการประชุมแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารและความคิดเห็นกันทุกวันพุธต้นเดือน โดยมี ศ.นพ.ประเวศ วะสี เป็นประธานการประชุม สถานที่นัดประชุมเวียนกันไปตามเจ้าภาพทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด

ปลายปี 2543 มีการนำเสนอปัญหาคอร์รัปชั่นในที่ประชุม ศ.นพ.ประเวศ วะสี จึงได้มอบหมายให้ นายณรงค์ โชควัฒนา และ นพ.พลเดช ปิ่นประทีป รับไปจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ( Workshop) เป็นการเฉพาะ เพื่อเป็นการระดมความคิด พัฒนายุทธศาสตร์แก้ปัญหาคอร์รัปชั่น ของภาคประชาสังคมขึ้นมานำเสนอต่อที่ประชุมใหญ่ ผลจากการประชุมเชิงปฏิบัติการ ประมาณ 10 ครั้ง นอกจากจะได้ยุทธศาสตร์ภาคประชาสังคมเพื่อแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นแล้ว ยังได้ก่อตั้ง “เครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชั่น (คปต.)” ขึ้น ขณะนี้มีองค์กรที่ร่วมแสดงเจตจำนงก่อตั้งเครือข่ายฯ แล้ว 100 องค์กร และได้จัดตั้ง “กองทุนเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชั่น” ขึ้น เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2544 เพื่อเป็นกลไกสนับสนุนการทำงานต่อไป

การก่อตั้งกองทุนเครือข่ายฯ ดังกล่าว มีวัตถุประสงค์ ดังนี้
1) สนับสนุนกิจกรรมการเคลื่อนไหวของภาคประชาสังคม ในการเฝ้าระวังติดตามตรวจสอบ และแก้ปัญหาคอร์รัปชั่น
2) สนับสนุนสื่อมวลชนในการสืบค้นข้อมูลการทุจริตคอร์รัปชั่น แบบเจาะลึกและเผยแพร่สู่สาธารณะ
3) สนับสนุนและช่วยเหลืออาสาสมัครหรือองค์กรที่ได้รับผลกระทบจากการต่อสู้เอาชนะวิกฤตคอร์รัปชั่น
4) สนับสนุนกิจกรรมสร้างเสริมศักยภาพ และสมรรถนะของเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชั่น

นอกจากนี้ยังได้มีการรวบรวมศึกษาถึงพฤติกรรมการคอร์รัปชั่น ในประเทศไทยว่ามีการทำกันอย่างไรบ้าง เพื่อเป็นการศึกษาและทำความเข้าใจ กับกระบวนการคอร์รัปชั่นที่ทำกันอยู่อย่างแพร่หลาย
พฤติกรรมการคอร์รัปชั่นในประเทศไทย (คัดจากหนังสือยุทธศาสตร์การต่อต้านคอร์รัปชั่นในประเทศไทย พ.ศ. 2543)
1) การทุจริตของเจ้าหน้าที่ที่มีหน้าที่รับผิดชอบด้านการเงินและการบัญชี
2) การทุจริตเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้าง
3) การแสวงหาประโยชน์จากงานให้บริการประชาชน งานตรวจสอบหรือควบคุมงานที่เกี่ยวกับความยุติธรรม
4) การจ่ายสินบนเพื่อให้ได้การผูกขาดกิจการบางประเภท ที่ต้องได้รับสัมปทานจากรัฐบาลและจ่ายเพื่อให้คงสภาพการผูกขาดนั้นไว้
5) คอร์รัปชั่นในกระบวนการจัดเก็บภาษีศุลกากรและภาษีมูลค่าเพิ่ม
6) อำนาจขององค์กรกำกับดูแลและค่าเช่าทางเศรษฐกิจในธุรกิจโทรคมนาคม

การวางแผนในเชิงปฏิบักการเพื่อให้สังคมปลอดจากการคอร์รัปชั่นจึงต้องทำอย่างเร่งด่วนและเอาจริงเอาจัง โดยมี แผนปฏิบัติการเพื่อสร้างสังคมปลอดคอร์รัปชั่น ดังต่อไปนี้
(คัดจากหนังสือยุทธศาสตร์การต่อต้านคอร์รัปชั่นในประเทศไทย พ.ศ. 2543)

1) การกำจัดโอกาสของการทุจริต
– ลดการใช้อำนาจดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ของรัฐในการจัดสรรผลประโยชน์ของรัฐทั้งในรูปของตัวเงิน เช่น การจัดสรรเงินส่ง
– เสริมและอุดหนุนธุรกิจหรือสินค้าบางประเภทหรือการประกันราคาสินค้า ในรูปแบบของการให้เอกสิทธิ์ในการดำเนินการที่มีผลกำไร เช่น การจัดซื้อจัดจ้าง การให้สัมปทานการก่อสร้างโครงข่ายการขนส่งและสื่อสารตลอดจนการแปรรูปรัฐวิสาหกิจซึ่งจะเป็น “พื้นที่สีเขียว” สำหรับการทุจริตคอร์รัปชั่นในอนาคต
– ลดการใช้อำนานดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ของรัฐในการบังคับใช้กฏหมาย และกฏระเบียบในลักษณะการเลือกปฏิบัติเพื่อที่จะเอื้ออำนวยผลประโยชน์ ให้แก่ธุรกิจหรือกลุ่มบุคคลบางกลุ่ม เช่น การจัดเก็บภาษีสรรพากร และศุลกากร
2) การลดแรงจูงใจของเจ้าหน้าที่ของรัฐและภาคเอกชนในการทุจริตคอร์รัปชั่น
3) สร้างกระแสสังคมและสถาบันที่เข้มแข็งในการป้องกันและต่อต้านคอร์รัปชั่น

เครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชั่นจึงเสนอยุทธศาสตร์ที่จะทำในระยะเวลาอันใกล้ และสามารถนำไปทำได้จริง โดยทุกฝ่ายร่วมมือกัน ทั้งภาคประชาชน ภาครัฐ ราชการ และการเมือง เพื่อให้สังคมปราศจากพิษภัยจากคอร์รัปชั่น โดยวาง ยุทธศาสตร์ของเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชั่น ไว้ดังนี้
– รวมศูนย์กำลังพลเมือง ติดตามการปฏิบัติงานของรัฐบาลและองค์การอิสระในการป้องกันและแก้คอร์รัปชั่น
– ประสานข่ายงานประชาสังคมจัดทำแผนที่ คอร์รัปชั่นในทุกจังหวัดและทุกกระทรวง
– สนับสนุนสื่อมวลชนทำการวิจัยสืบค้นกรณีคอร์รัปชั่น
– รวบรวมอาสาสมัครต่อต้านคอร์รัปชั่นท่ามกลางกระบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม
– จัดตั้งกองทุนสนับสนุนการดำเนินการของภาคประชาชน
– สร้างสรรค์รูปแบบการใช้มาตรการเชิงสังคมและระบบบัญชีดำ ต่อผู้ทุจริตคอร์รัปชั่น
– ส่งเสริมค่านิยมการยกย่องคนดี การไม่สยบยอมต่อการใช้อำนาจโดยมิชอบ และการบริโภคแบบพอเพียง
– สร้างแบบอย่างการทำงานที่โปร่งใสภายในเครือข่าย และองค์กรสมาชิกเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชั่น

 

Be the first to comment on "เครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชั่น"

Leave a comment

Your email address will not be published.