เครือข่ายโรงเรียนไทยไท : หลอมรวมการเรียนรู้เพื่อความเป็นไท

 

 “การเรียนรู้โดยเอาตำราเป็นตัวตั้ง โดยไม่เอาสถานการณ์ของชีวิตเป็นตัวตั้ง ไม่มีพลังพอที่จะทำให้มนุษย์เข้าใจสถานการณ์ที่ซับซ้อนและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้ไม่สามารถเผชิญกับสถานการณ์ความเป็นจริงได้ นำไปสู่วิกฤติการณ์ทั้งในตัวมนุษย์เอง ในสังคม ในสิ่งแวดล้อม อันเป็นวิกฤติการณ์แห่งยุคสมัย”

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ประเวศ วะสี

 

…………………………………………………………………………………………………………………………

หอประชุมเล็ก:15 ธันวาคม 2551 โครงการระพีเสวนาเกิดจากการร่วมแรงร่วมใจของเครือข่ายโรงเรียนไทยไท กลุ่มการศึกษาขั้นพื้นฐานแนวใหม่ ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มโรงเรียนทางเลือก 12 โรง โรงเรียนทอสี โรงเรียนนานาชาติเมธา โรงเรียนรุ่งอรุณ โรงเรียนจิตตเมตต์ (ปฐมวัย) โรงเรียนอนุบาลบ้านรัก โรงเรียนสัตยาไส โรงเรียนสัมมาสิกขาสันติอโศก โรงเรียนวรรณสว่างจิต โรงเรียนดรุณสิกขาลัย โรงเรียนสยามไตร โรงเรียนเพลินพัฒนาและการสนับสนุนการดำเนินงานจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) สำนักพิมพ์มติชน และ สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา (LDI) จัดชุมนุมเหล่าผู้กล้าสอน ประชุมเสวนาในหัวข้อการเรียนรู้เพื่อความเป็นไทย ครั้งที่1 ร่วมนำเสนอทางเลือกใหม่ของการศึกษาที่สร้างสรรค์ให้คนไทยเป็นไท
            โครงการระพีเสวนาเกิดขึ้นจากแรงบันดาลใจของศาสตราจารย์ระพี สาคริก ที่ได้ทุ่มเทแรงจิตแรงใจให้กับกระบวนการเรียนรู้ที่เชื่อมโยงวิถีชีวิตการเกษตรเข้ากับหลักพุทธธรรมอันนำไปสู่การเข้าถึงคุณค่าของการขัดเกลาจิตใจตนเองโดยหัวใจสำคัญอยู่ที่การเรียนรู้เพื่อเอาชนะใจตนให้หลุดพ้นจากความถือตนและวัตถุ ซึ่งท้ายที่สุด คือ จิตใจที่มีความเป็นไท
            ปัจจุบัน การเรียนที่ติดกรอบกับระบบการศึกษา กลับมุ่งเรียนวิชาเพื่อใช้เป็นบันไดไปสู่ความสำเร็จทางวัตถุของชีวิต นำมาซึ่งความทุกข์ของผู้เรียนและสังคม
ดังคำกล่าวของศาสตราจารย์ นายแพทย์ ประเวศ วะสี ว่า หากการเรียนเอาวิชาเป็นตัวตั้งจะก่อให้เกิดความทุกข์ แต่หากนำชีวิตเป็นตัวตั้ง การศึกษาจะกลายเป็นการเรียนรู้ที่ลึกซึ้งและมีความสุข
แนวคิดนี้ได้รับการตอบรับจากการศึกษาทางเลือกนำไปสู่การปฏิบัติและทดลองใช้หลายกลุ่ม เช่น กลุ่มการศึกษาขั้นพื้นฐานแนวใหม่ กลุ่มอุดมศึกษาทางเลือก กลุ่มการศึกษาตามอัธยาศัย กลุ่มการเรียนรู้ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง กลุ่มการเรียนรู้เพื่อสิ่งแวดล้อมและพลังงาน กลุ่มสื่อเพื่อการเรียนรู้ กลุ่มศิลปะเพื่อการเรียนรู้จากภายใน รวมทั้ง กลุ่มการแพทย์และสาธารณสุขทางเลือก
กลุ่มเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะสร้างองค์ความรู้ชุดใหม่เกี่ยวกับการเรียนรู้ที่แตกต่างไปจากการศึกษาแบบเดิมซึ่งเป็นการเปลี่ยนทัศนคติ ขยายมุมมองและสามารถที่จะพัฒนาไปสู่การเรียนรู้เพื่อความเป็นไท
เพราะโลกในศตวรรษที่ 21 จำเป็นต้องการการเรียนรู้ใหม่
เป็นการเรียนรู้ด้วยปัญญา
            ศาสตราจารย์กิตติคุณสุมน อมรวิวัฒน์ กล่าวถึง โครงการระพีเสวนาในการประชุมครั้งนี้ว่า อุดมการณ์ของเราเกิดขึ้นจากความศรัทธาในคุณค่าของความเป็นมนุษย์ให้เกียรติและเชื่อมั่นในคุณค่าของคนทุกคน
การศึกษาต้องพร้อม 2 ด้าน พัฒนาความเป็นคนและนำพาสังคมไปสู่สันติสุข
การเรียนรู้เป็นกระบวนการที่จะทำให้บุคคลหลุดออกจากความเป็นทาส เครือข่ายโรงเรียนไท-ไทย เกิดจากความร่วมแรงร่วมใจของผู้กล้าสอน
เรา อยากบอกว่า การเรียนรู้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นตลอดชีวิตตั้งแต่เกิดจนตายผ่านความรักและชุดประสบการณ์ของพ่อแม่ผ่านระบบชีวิต สนุกและมีความสุข แต่โชคดีของเด็กผ่านไปไม่นาน ระบบการศึกษาได้เข้ามาแทรกแซงและจัดกระบวนการเรียนรู้ใหม่ เมื่อเข้าสู่ระบบการศึกษาชั้นประถม การเรียนรู้ถูกแยกออกเป็นชิ้นส่วน ไม่สัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม ความสัมพันธ์ระหว่างคนห่างเหิน ยิ่งเข้าระระดับมัธยม ยิ่งเข้มข้นและทำให้เด็กเกิดภาวะของความเครียด
การศึกษาที่แยกย่อยแยกส่วนทำให้เกิดการฉกฉวย ห่างไกลจากตัวตน ชีวิต และตกเป็นทาสแห่งความทะเยอทะยาน แต่กระนั้น ศาสตร์ต่างๆ ในระบบการศึกษาใช่ว่าจะไร้ประโยชน์เสียทีเดียว การศึกษาจะต้องผสานความรู้และชีวิตเข้าด้วยกัน เป็นกระบวนการเรียนรู้ 2 วิถี คือ การดึงออกและการถ่ายเท
การศึกษาที่สมบูรณ์ไม่ได้เป็นการนำความรู้เข้าไปในสมองเท่านั้นแต่จะต้องเป็นการดึงความสามารถของเด็กออกมา มีความสนุกในการงานและเชื่อมั่นในตนเอง ด้วยการดึงความรู้ออกมาใช้อย่างสัมพันธ์กับชีวิต การศึกษาเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างครูและเด็ก เสริมหนุนให้มองโลกได้กว้างไกล ระหว่างครูกับครู ครูกับศิษย์ เชื่อมโยงกับสังคมและธรรมชาติ ผู้เรียนจะต้องเห็นคุณค่าในตนเอง คือ การศึกษาที่สร้างจิตอิสระ
การเรียนทำให้คนกล้าหาญ มั่นใจและไม่เกรงกลัวความยากลำบาก การศึกษาที่มีครูเป็นผู้ถ่ายทอดเพียงฝ่ายเดียว คับแคบและเข้มงวด เป็นส่วนทำให้คนไทยยอมจำนนกับสังคมที่ซับซ้อน การเรียนแนวใหม่จะทำให้เกิดความอิสระทางความคิด อย่างถูกต้องตามกาลเทศะ
เรียนรู้สิทธิของตนและเคารพสิทธิของผู้อื่น
การศึกษาเพื่อความเป็นไท จะเป็นการเรียนรู้เพื่อให้เป็นไปตามแผนที่หัวใจ เป็นการจัดกระบวนการเรียนรู้ให้เหมาะสม ผ่านดนตรี ผ่านการภาวนา ก่อเกิดปัญญา สร้างความตระหนักในคุณค่าของตนเอง การเรียนการสอนแนวใหม่จะต้องขยายออกสู่สิ่งแวดล้อมและการสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่น สร้างประสบการณ์ ไตร่ตรองทำให้ผู้เรียนได้เรียนรู้โดยมีชีวิตเป็นตัวตั้ง เรียนรู้ผ่านประสบการณ์
คนไทยในอีก 15 ปี ข้างหน้า จะไม่ตกเป็นทาสของเงินและด้านมืด
หลักสูตรพื้นฐานทางการศึกษาทั่วไป ขาดการคิดวิเคราะห์และนำความรู้เอามาใช้ การแหวกวงล้อมการศึกษาพื้นฐาน หลุดพ้นออกจากสัญชาติญาณเดิมเป็นการประสานจุดร่วมระหว่างวิชชาและชีวิต
การศึกษาที่สมบูรณ์แบบสามารถคุ้มครองโลก สร้างมนุษย์ที่มีจิตใจสูงและสันติภาพ
 
            กระแสการพัฒนาหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดการพัฒนาทั้งทางด้านสาธารณูปโภคและเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำ ความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจและความมั่นคงทางด้านรายได้ได้ยกระดับชีวิตของผู้คน แต่กระนั้น มีสิ่งที่น่าแปลกใจว่า การพัฒนายิ่งเติบโตมากขึ้นเท่าไร มิติของความเป็นมนุษย์ยิ่งลดน้อยลงไปมากกว่าเดิม
            หากย้อนไปในอดีต มนุษย์ยังไม่ได้แยกการเรียนรู้ออกจากชีวิต ถึงแม้ว่า จะไม่ได้เรียนหนังสือในโรงเรียนแต่มีความสามารถในการเรียนรู้อย่างรอบด้าน แม้ว่า ชาวนาจะไม่ได้เป็นครูแต่ก็สามารถสอนลูกสอนหลานของตนให้เติบโต อยู่รอดและเข้าใจในสภาพแวดล้อม รู้จักสังเกต ลม ฟ้า อากาศ ในการทำมาหากินและใช้ชีวิตอย่างสอดคล้องกับธรรมชาติ เมื่อเจ็บป่วยก็สามารถเข้าป่าหาสมุนไพรมารักษาตัวเองให้หายได้โดยไม่ต้องพึ่งแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
            ความสามารถในการจัดการตนเอง ภายใต้สถานการณ์ที่หลากหลายเหล่านี้เกิดขึ้นพร้อมกับความเป็นอยู่ของมนุษย์มานานแสนนาน มนุษย์สามารถจัดการกับการอยู่อาศัยของตัวเองได้อย่างเหมาะสม พอเหมาะและพอดี รู้จักพึ่งพาและพึ่งพิงตนเองได้โดยไม่เบียดเบียนสิ่งแวดล้อมรอบตัว แต่สิ่งเหล่านี้กำลังสูญหายเพียงเพราะคนในยุคนี้พาตัวเองไปติดอยู่กับการพึ่งพาวัตถุภายนอก
ความเจริญทางวัตถุทำให้เราพึ่งตัวเองได้น้อยลง
            อย่างไรก็ตาม ความหวังดูผุดพราย เมื่อเกิดการทบทวนความรู้ใหม่ อย่างมีนัยสำคัญดังการเกิดของชุมชนชูมาร์คเกอร์ คอลเลจ ที่เน้นปรัชญาที่อยู่ร่วมกันกับสิ่งแวดล้อมและชีวิตอันโยงใยถึงกันหรือการเกิดระบบการศึกษาทางเลือกที่เน้นมิติทางด้านจิตใจในหลากหลายระดับ เช่น ระบบการศึกษาแนววอลดอร์ฟ มอนเตสเซอรรี การศึกษาวิถีพุทธ ทั้งในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชีย รวมถึงการศึกษาระบบนาโรปะ สหรัฐอเมริกา ที่พยายามบอกให้คนเรารับรู้ถึงวิกฤติการณ์ในภาวะความเป็นมนุษย์และตรวจสอบวิธีคิดที่มีต่อโลกและธรรมชาติเพื่อสร้างการเรียนรู้ใหม่
            เครือข่ายโรงเรียนไทยไท เริ่มต้นด้วยการตั้งคำถามต่อระบบการศึกษาและทวงถามถึงการเรียนรุ้ที่แท้จริง ผ่านความเชื่อที่ว่า “หากเข้าใจถึงการเรียนรู้ที่แท้และจับหลักของการศึกษาได้แล้ว ระบบโรงเรียนมีส่วนเอื้อให้คนตื่นขึ้นจากการหลับในโลกปัจจุบัน”
            คำถาม 7 ประการที่ต้องใคร่ครวญ
1.การเรียนรู้เกิดขึ้นกับใคร สิ่งที่เรียนรุ้มากมายจะเกิดความหมายได้อย่างไร หากผู้เรียนไม่รู้จักตนเอง
2.การเรียนรู้เกิดขึ้นที่ไหน การเรียนรู้ มนุษย์ยังเรียนรุ้อยู่หรือไม่ ถ้าไม่มีระบบโรงเรียน
3.เมื่อไร คือ เวลาของการเรียนรู้ ผู้เรียนจะเรียนรู้ในสิ่งที่ตนไม่สนใจหรือผู้สอนจะสอนในสิ่งที่ตนไม่รักได้อย่างไร
4.เด็กเรียนรู้ได้อย่างไร คิดและให้ความหมายได้ด้วยตนเองหรือด้วยวิธีการป้อนข้อมูลกลับไปในสมองที่ว่างเปล่า
5.ควรเรียนอะไร อะไรที่ใช่ความรู้และอะไรที่ไม่ใช่ความรู้
6.ความรู้ที่มีอยู่ในโลกจะต้องเชื่อมโยงถึงกันหมด แต่เหตุใด การเรียน การสอนจึงแบ่งแยกออกเป็นวิชาที่ตายตัว
7.ใคร ควรเป็นผู้ประเมินผลการเรียนรู้ ใครควรเป็นผู้กำหนดและตัดสินว่ามีสิ่งใดบ้างที่ได้เรียนรู้และมีสิ่งใดบ้างที่ยังไม่ได้เรียนรู้
 
คำถามเหล่านี้จะเป็นคำถามตั้งต้นเพื่อนำไปสู่การเรียนรู้ที่ชัดเจน เกิดเป็นธรรมชาติการเรียนรู้ที่แท้จริงของมนุษย์ในแต่ละเรื่องของการเรียนรู้เพื่อหาคำตอบผ่านการปฏิบัติจริง การสังเคราะห์ผ่านรูปแบบการเรียนการสอนจะต้องได้รับการประยุกต์เพื่อการสร้างและทดลองการเรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน เพื่อการทำความเข้าใจธรรมชาติให้เด็กๆ เกิดการเรียนรู้อย่างมีความสุข
การเรียนรู้จะต้องไม่สื่อผ่านงานวิชาการเพียงอย่างเดียวเท่านั้นแต่จำเป็นต้องผ่านกลวิธีการหลากหลายรูปแบบ เช่น ศิลปะ การเรียนรู้ผ่านชุมชน ผ่านวิถีชีวิต ละคร บทบาทของครูจะต้องเปลี่ยนไป ไม่ได้เป็นผู้สอนเท่านั้น แต่จะต้องเข้าไปมีส่วนในชีวิตเล็กๆ ของเด็กจริงๆ
 
            ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ประเวศ วะสี ขึ้นกล่าวถึงเรื่องการเรียนรู้เพื่อความเป็นไทในการประชุมครั้งที่ 1 ว่า การเรียนรู้ที่ดีเป็นสิ่งที่ประเสริฐที่สุดและช่วยให้เพื่อนมนุษย์อยู่รอดปลอดภัยและอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข
การปฏิรูปการเรียนรู้หรือการปฏิรูปการศึกษา 2540 กลายเป็นเรื่องการปฏิรูปองค์กร มากกว่าการปฏิรูปการศึกษาที่เอาความรู้เป็นตัวตั้งแล้วนำไปสู่ปัญญา ความรู้เกิดขึ้นมากมายในโลกและท่วมทับแต่กลับทำลายสิ่งอื่นๆ เพราะถูกชำและแยกออกเป็นส่วนๆ แต่ชีวิตต้องการการความเชื่อมโยงเหมือนอวัยวะและเซลล์ต่างๆ
นับร้อยปีที่การศึกษาทำให้คนไทยตัดขาดจากรากเหง้าของตนเอง ตัดขาดจากรากฐานทางวัฒนธรรมของตน ต้นไม้ต้องมีราก คนต้องมีราก หากถูกตัดราก เราก็อยู่ไม่ได้เหมือนต้นไม้
เรากำลังเผชิญกับวิกฤติการณ์ทางวัฒนธรรม
ความรู้ ทำให้เราถืออาวุธกันคนละแบบ ปัญญาจะต่างจากความรู้ ความเชื่อมโยงและรู้ทั้งหมด รู้ตัวเอง เรา คือ ส่วนหนึ่งของทั้งหมด เป็นการจัดความสัมพันธ์ระหว่างเราและสิ่งต่างๆ เมื่อเรามีจริยธรรมเราจะสร้างความสุขแก่สังคม
การเรียนรู้ต้องมีชีวิตและปัญญาเป็นตัวตั้ง
ชีวิตกับการศึกษาจะแยกขาดจากกันไม่ได้ ชีวิตไม่มีการว่างงานแต่การศึกษากลับทำให้เกิดการว่างงาน การศึกษาหาความรู้ต้องเกิดขึ้นตลอดเวลา ทั้งหมดนี้ เชื่อมโยงเข้าสู่เรื่องจิตใจที่เป็นอิสระ การเรียนรู้ต้องเชื่อมโยงไปสู่จิต ทั้งภายนอกและภายใน
เราต้องรู้และเท่าทันความนึกคิดของตนเองและสัมผัสอย่างลึกซึ้ง มือเท้าผิวหนังจะก่อให้เกิดการเชื่อมโยงของสรรพสิ่ง ก่อเกิดปัญญาและความเข้าใจ ทั้งในแง่ความงามและความเชื่อมโยงสัมพันธ์
เราไม่ได้อยู่โดดเดี่ยวและล่องลอย ชีวิตของเราอยู่ได้ด้วยการสัมพันธ์กับสิ่งอื่นๆ ทำให้เกิดมุมมองที่เชื่อมโยงกับสรรพสิ่ง ความทุกข์ในโลกล้วนเกิดจากการยึดมั่นในตัวตน หากลดอัตตาของตัวเองจะก่อเป็นความรักอันไพศาลต่อเพื่อนมนุษย์ ระหว่างมนุษย์และธรรมชาติ
เป็นความสันติสุขของการอยู่ร่วมกัน
ในลำดับต่อมา เครือข่ายโรงเรียนไทยไทได้ประกาศเจตนารมณ์ร่วมกัน ซึ่งสรุปออกมาเป็น จุดร่วมหลัก 4 ประการ
1.อุดมการณ์และความศรัทธาในชีวิตของมนุษยชาติ
เรามีความเชื่อมั่นว่า มนุษย์ทุกคนเกิดมาพร้อมกับคุณค่าอันประเสริฐซึ่งเป็นขุมทรัพย์ทางปัญญาและกรุณาอันยิ่งใหญ่ มนุษย์สามารถพัฒนาได้อย่างน่าอัศจรรย์ สามารถสร้างสรรค์ความรู้ขึ้นได้ด้วยตนเอง ศึกษาและพัฒนาตนเองได้ เกิดสำนึกอย่างลึกซึ้งในเรื่องคุณค่าและความดีงามไปจนถึงปัญญารู้แจ้งในธรรมชาติแห่งชีวิตและสรรพสิ่ง เกิดความสามารถในการเกื้อกูล ทั้งแก่มนุษยชาติด้วยกันและชีวิตอื่นๆ ไปจนถึงธรรมชาติทั้งหมดที่ผูกพันโยงใยกันอยู่นับอเนกอนันต์
2.หน้าที่สำคัญของการเป็นมนุษย์และการเป็นผู้ทำงานด้านการศึกษา
            คือ
            -ให้เกียรติและเคารพในคุณค่าอันประเสริฐในมนุษย์ทุกคน
            -พยายามที่จะหยั่งให้ถึงคุณค่าอันประเสริฐที่มีอยู่ในตัวเราเองเพื่อเปิดเผยและพัฒนาให้เจริญงอกงามจนถึงที่สุด
            -พยายามที่จะเชื่อมโยงคุณค่าอันประเสริฐภายในตัวเองเข้ากับคุณค่าอันประเสริฐที่มีอยู่ในทุกคนที่เกี่ยวข้องด้วยเพื่อเกื้อกูลกันฉันท์กัลยาณมิตรและร่วมเรียนรู้ร่วมเดินทางไปด้วยกัน
            3.เป้าหมายสุงสุดของการจัดการการศึกษา
            จากหน้าที่อันสำคัญของการเป็นมนุษย์และการเป็นผู้ทำงานด้านการศึกษา นำไปสู่เป้าหมายสูงสุดของการจัดการการศึกษา คือ
            -พัฒนาความเป็นคน หมายถึง การพัฒนาความเป็นคนให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ให้สามารถหยั่งถึงและพัมนาคุณค่าอันประเสริฐที่มีอยู่ในตนเอง ดำเนินชีวิตอย่างมีคุณค่า ใช้ปัญญานำสรรพวิชาและสมรรถนะทั้งหมดไปสร้างสรรค์หรือนำไปสู่การตัดสินใจและการกระทำหรือไม่กระทำใดใดให้เกิดประโยชน์ทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น สิ่งแวดล้อมและธรรมชาติทั้งหลาย
            -นำพาสังคมไปสู่สันติสุข หมายถึง การนำคุณค่าอันประเสริฐของมนุษย์มาเชื่อมโยงถักทอกันเพื่อร่วมกันแก้ปัญหาความติดตันของมนุษยชาติและเพื่อดำเนินไปอย่างสันติสุขร่วมกัน
            4.หลักพื้นฐานในการจัดการศึกษา
            จากความศรัทธาในชีวิตของมนุษยชาติ ความตระหนักในหน้าที่ของความเป็นมนุษย์และการเป็นผู้ทำงานในด้านการศึกษาและความตระหนักในเป้าหมายสูงสุดของการศึกษา นำมาสู่หลักพื้นฐานในการจัดการการศึกษา คือ การให้ความสำคัญสูงสุดกับชีวิตของมนุษย์ การศึกษาที่จะก่อให้เกิดคุณค่าสุงสุดได้ต้องตระหนักว่า ชีวิตมนุษย์ คือ มณฑลทั้งหมดของกระบวนการการศึกษา เพราะชีวิตนั้น เป็นทั้งองค์ประธานของการรับรู้ เรียนรู้และตัดสินใจ เป็นทั้งผู้ลงมือดำเนินการและเป็นทั้งผู้รับผลของการกระทำทุกอย่าง การศึกษาจึงต้องเอาชีวิตของมนุษย์เป็นตัวตั้ง ทั้งในจุดเริ่มต้น ทั้งในกระบวนการและทั้งในเป้าหมายของการจัดการศึกษาทั้งหมด
            เครือข่ายโรงเรียนไทยไท ขอตั้งปณิธานที่จะดำเนินการตามเจตนารมณ์ของคำประกาศนี้อย่างเต็มความสามารถเพื่อก่อเกิดคุณค่าสูงสุดแก่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง แก่ประเทศชาติ แก่สรรพชีวิตและแก่โลกอันเป็นที่รักของชีวิตทั้งหลาย
ประกาศไว้ ณ วันที่ 15 ธันวาคม 2551
โดยเครือข่ายโรงเรียนไทยไท
 
ทางด้าน ศาสตราจารย์ นายแพทย์วิจารณ์ พานิช ได้ตั้งข้อสังเกตว่าการปฏิรูปการศึกษาปี 2540 เป็นเพียงการปฏิรูปโครงสร้างแต่ไม่ใช่การปฏิรูปการเรียนรู้ของเด็ก ของครูและของสังคมไทยอย่างแท้จริง การเรียนรู้ที่อยู่ภายในระบบการศึกษาไทยเป็นการจับความรู้ใส่เข้าไปในตัวคน การเรียนรู้อีกขั้วเป็นการเน้นความงอกงามที่มาจากภายในให้งอกงามอย่างลุ่มลึกและอย่ายึดมั่นกับตัวความรู้เพราะความรู้เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
ครู ต้องเปลี่ยนบทบาทตัวเอง เป็นผู้จัดกระบวนการให้เกิดการเรียนรู้แก่เด็ก เป็นความรู้ที่เกิดมาจากภายใน โดยทั่วไปจะเน้นความรู้ที่ประจักษ์ชัด เหตุผลที่พิสูจน์ได้ ความรู้ชนิดนี้มีจุดอ่อน
ในชีวิตจริง ความรู้เชิงทฤษฏีใช้น้อยมากกว่าความรู้เชิงปฏิบัติ ดังนั้น การเรียนรู้ต้องสร้างชุดประสบการณ์ที่เชื่อมโยงเข้าสู่ชีวิต เรียนรู้ผ่านฐานการปฏิบัติและชีวิตจริง
การออกแบบที่เชื่อมโยงกับชีวิตจริงจะทำให้เราได้เรียนรู้เชิงปฏิบัติผ่านการสัมผัสของตัวเองในทุกๆ ด้าน รวมทั้งทักษะทางใจและความรู้สึกทางจิตวิญญาณ
 
การเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง คือ วิธีการเรียนรู้แบบที่ เรียกว่า แลกเปลี่ยนเรียนรู้ หากได้ปฏิบัติจริงและอิสระในการเรียนจะยิ่งมีพลังมาก สร้างพลังการเรียนรู้ในการเคารพคนอื่นผ่านผัสสะของตัวเอง
การเรียนรู้ คือ การสร้างโปรแกรมในสมอง หากเรียนรู้แบบเป็นก้อน การเรียนรู้จะไม่ลึก หากเรียนรู้ผ่านประสบการณ์จริงจะเกิดความลึกและปัญญา เราต่างมีสองด้าน คือ ด้านสว่างและด้านมีด การเรียนรู้จะต้องลดทอนหรือควบคุมธรรมชาติด้านมืดโดยการเรียนรู้จากชีวิตจริงให้ได้มากที่สุด
ครู คือ ใคร ครู จะต้องเป็นผู้เรียนรู้ ฝึกทักษะของการเรียนรู้ให้งอกงามจากภายใน
คำถาม คือ เราจะสร้างให้เกิดการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพสูงลึกและลดอัตตาตัวเองและเคลื่อนไปด้วยกันได้อย่างไร
การศึกษา ทุกวันนี้เพาะความเกลียดชัง
เรา ต้องสร้างการศึกษาที่เพาะความรักขึ้นมาบนโลก

Be the first to comment on "เครือข่ายโรงเรียนไทยไท : หลอมรวมการเรียนรู้เพื่อความเป็นไท"

Leave a comment

Your email address will not be published.