เครื่องมือเสริมสร้างความอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน

เครื่องมือเสริมสร้างความอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน
บล็อกTPBS/LDI ประจำวันจันทร์ที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๕๕

     ไทยพีบีเอส ในฐานะที่เป็นสื่อสาธารณะแห่งแรกในประเทศไทยและเป็นสื่อสาธารณะระดับชาติผู้เป็นน้องใหม่ของวงการสื่อสาธารณะของโลก ต้องขอบคุณภาคีเครือข่ายสื่อสารมวลชนแห่งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิค โดยเฉพาะอย่างยิ่ง AIBD ที่ให้เกียรติมอบภารกิจการเป็นเจ้าภาพการจัดประชุมสุดยอดในครั้งนี้
ในโอกาสนี้ ในฐานะตัวแทนของสังคมไทยผู้มีส่วนเข้ามาดูแลไทยพีบีเอสตั้งแต่ช่วงการก่อตั้งและร่วมบุกเบิกพัฒนาสื่อสาธารณะแห่งนี้มาจนครบสี่ขวบปี ผมจะขอเสนอมุมมองบางประการต่องานสื่อสารมวลชนและสื่อสาธารณะ ในแง่มุมของการเป็นเครื่องมือของสังคมในการเสริมสร้างความอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันในความแตกต่างหลากหลาย
โดยส่วนตัว ผมไม่มีความรู้และข้อมูลที่มากพอ และไม่อยู่ในวิสัยที่จะไปประเมินสถานการณ์และบทบาทของสื่อมวลชนในประเทศต่างๆ ในเอเชีย-แปซิฟิค หรือแม้กระทั่งกลุ่มประเทศอาเซียน ว่ามีพลังขับดันทางบวกหรือแรงหน่วงเหนี่ยวอย่างไรบ้างต่อการพัฒนาในแต่ละประเทศ แต่สำหรับประเทศไทยแล้ว เราอยู่กับมันและเห็นพัฒนาการและการคลี่คลายตัวในเรื่องนี้ได้อย่างชัดเจน
ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขเมื่อปี๑๙๓๒ หรือเมื่อ ๘๐ปีที่ผ่านมา ในช่วง ๔๐ปีแรกอำนาจที่แท้จริงตกอยู่ในมือของกลุ่มทหารและกองทัพ จนเมื่อเกิดการลุกฮือของนักศึกษา-ประชาชนในปี ๑๙๗๓ บทบาทนักการเมืองและกลุ่มธุรกิจการเมืองจึงเข้ามาแทนที่โดยผ่านกระบวนการเลือกตั้ง อย่างไรก็ตามพัฒนาการประชาธิปไตยในเชิงคุณภาพของประเทศก็ยังคงลุ่มๆ ดอนๆ มาโดยตลอด กล่าวคือ จิตสำนึกความเป็นพลเมืองของสังคมไทยยังเติบโตได้อย่างเชื่องช้า ในขณะกลุ่มธุรกิจการเมืองมีศักยภาพแข็งแรงและเข้าแสวงประโยชน์จากอำนาจรัฐอย่างเต็มรูปแบบมากขึ้นทุกที ส่วนกองทัพก็ยังคงแทรกเข้ามาเป็นตัวแปรเป็นระยะ และน่าสังเกตว่าในแต่ละช่วงเวลา สื่อมวลชนไทยมีบทบาทอย่างสูง ทั้งในด้านการสร้างความตื่นตัวในระบอบประชาธิปไตยและการเป็นเครื่องมือของรัฐและกลุ่มผลประโยชน์

     ภายหลังเหตุการณ์การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยเดือนพฤษภาคมในปี ๑๙๙๒ หรือเมื่อ ๒๐ปีที่ผ่านมา ประเด็นสื่อมวลชนได้ถูกชูขึ้นมาเป็นองค์ประกอบสำคัญต่อการคงอยู่และการพัฒนาของระบบประชาธิปไตยไทย จนต่อมาได้เกิดทีวีเสรี เกิดกระแสการปฏิรูปสื่อ เกิดองค์กรอิสระในการกำกับดูแลสื่อและโทรคมนาคม ต่อมาเมื่อทีวีเสรีประสบปัญหาวิกฤต ไม่สามารถก้าวพ้นอำนาจทุนไปสู่ความเป็นอิสระได้ ในที่สุดจึงพัฒนามาเป็นการจัดตั้งเป็นสื่อสาธารณะขึ้นแทน คือไทยพีบีเอสในปัจจุบัน
แม้ว่าสื่อสาธารณะแบบไทยพีบีเอสเป็นสิ่งที่ดี แต่การถือกำเนิดขึ้นท่ามกลางกระแสความขัดแย้งแตกแยกทางสังคมที่รุนแรงมาก และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการเกิดขึ้นในยุคของรัฐบาลและรัฐสภาที่มาจากการรัฐประหาร ทำให้กลายเป็นประเด็นที่ทุกขั้วการเมืองต่างหวาดระแวงและจ้องบั่นทอนหรือไม่ก็พยายามแทรกแซงเพื่อใช้เป็นประโยชน์กับฝ่ายของตนตลอดเวลา ในระยะ ๔ ปีที่ผ่านมามีบทเรียนรู้และประสบการณ์ของไทยพีบีเอสที่เป็นประโยชน์ซึ่งจะขอฝากให้พวกเราพิจารณาบางประการ
ประการแรก เนื่องจากไทยพีบีเอสใช้เงินภาษีของประชาชนในการทำงาน จึงต้องสร้างทางเลือกที่แตกต่างจากสื่อรัฐและสื่อธุรกิจ ด้วยการตั้งมาตรฐานข่าวและรายการที่สูงและกำหนดจริยธรรมการทำงานสื่อสารมวลชนที่เข้มข้นเป็นพิเศษ สื่อสาธารณะต้องแข่งขันกับตัวเองเพื่อสร้างความเชื่อถือไว้วางใจจากผู้เสียภาษี สื่อสาธารณะไม่ใช่และต้องไม่เป็นคู่แข่งกับสื่อรัฐและสื่อธุรกิจ ตรงกันข้าม สื่อสาธารณะควรเป็นสื่อที่เข้ามาเติมเต็มให้สังคมมีทางเลือกที่หลากหลายและสมดุลมากขึ้น ควรมีการแบ่งปันและร่วมมือเป็นพันธมิตรกันในการพัฒนาความเป็นพลเมืองของภาคประชาชนและชุมชนท้องถิ่น สร้างสังคมคุณภาพและคุณธรรม
ประการที่สอง ในกระแสความแตกแยกทางการเมืองและความคิดที่รุนแรง มีการต่อสู้แย่งชิงอำนาจในโครงสร้างส่วนบนที่พลิกขั้วกันไปมา ต่างฝ่ายต่างมีเครือข่ายสื่อที่จัดตั้งขึ้นมาอย่างเป็นขบวนเพื่อห้ำหั่นกัน เราพบว่าเมื่อถึงจุดหนึ่งสังคมจะเรียกร้องต้องการสื่อที่เป็นอิสระ เป็นกลางและถือประโยชน์ประชาชนส่วนรวมเป็นที่ตั้ง ไม่เลือกข้าง ทั้งนี้เพื่อเป็นแหล่งข้อมูลข่าวสารสำหรับตรวจสอบความถูกต้องและใช้อ้างอิงท่ามกลางความสับสน เช่นเดียวกัน ในเหตุการณ์พิบัติภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นแบบกว้างขวางหรือแบบฉับพลัน อย่างกรณีมหาอุทกภัยเมื่อปีที่แล้ว ไทยพีบีเอสซึ่งไม่ติดขัดในเงื่อนไขเวลาออกอากาศกับสปอนเซอร์แบบทีวีธุรกิจ และมีการตัดสินใจที่คล่องตัวกว่าสื่อของทางราชการ เราจึงพร้อมที่จะปรับผังรายการได้ทันทีเพื่อปฏิบัติการรายงานข่าวสถานการณ์วิกฤตและให้ความรู้-ข้อมูลข่าวสารที่จำเป็นในการจัดการตนเองของประชาชนผู้ประสบภัยนับล้านๆ ครอบครัวได้โดยทันที ซึ่งทั้งสองกรณีนี้ ความเป็นองค์กรสื่อสาธารณะและความมีอิสระทางบรรณาธิการที่แท้จริงคือหัวใจ
ประการที่สาม เราพบว่าสภาผู้ชมผู้ฟังเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้สื่อสาธารณะมีความแตกต่างไปจากสื่อทั่วไปและมีส่วนอย่างสำคัญต่อการทำงานของไทยพีบีเอส ทั้งในด้านส่งเสริมการมีส่วนร่วม การพัฒนารายการ การสร้างเสริมสังคมที่รู้เท่าทันสื่อและการตรวจสอบการทำงานของสถานี นอกจากนั้น นักข่าวพลเมืองในเครือข่ายของไทยพีบีเอส ประมาณ ๓,๐๐๐ คน ที่มีถิ่นฐานกระจายตัวตามชุมชนท้องถิ่นทั่วประเทศและที่เกาะติดประเด็นเฉพาะอย่างหลากหลาย ก็นับผลิตผลเชิงนวัตกรรมชิ้นหนึ่งในช่วงที่ผ่านมาและเป็นทุนทางสังคมที่ทรงคุณค่าของสื่อสาธารณะ
ประการที่สี่ เครือข่ายความร่วมมือและพันธมิตรสื่อสาธารณะนานาประเทศเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่มีความสำคัญอย่างมากต่อการทำงานของไทยพีบีเอส การแสวงหารายการสุดยอดสารคดี และรายการสาระประโยชน์ที่สร้างสรรค์-แปลกใหม่ เพื่อการศึกษาของพลเมือง การแลกเปลี่ยนข่าวสารและรายการระหว่างกัน ตลอดจนการถ่ายทอดทางเทคนิควิชาการและเทคโนโลยี ล้วนเป็นสิ่งที่ช่วยย่นระยะเวลาเดินทางได้เป็นอย่างดี
ประการที่ห้า สื่อมิติใหม่หรือสื่อแห่งอนาคตเป็นแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วมากและจะส่งผลต่อภูมิทัศน์สื่อและบทบาทตัวแสดงที่เกี่ยวข้องอย่างขนานใหญ่ ด้านหนึ่งเป็นการเสริมพลังองค์กรสื่อสารมวลชนในการสร้างสรรค์ ผลิตและเผยแพร่สาระสู่ผู้ชมผู้ฟังได้กว้างขวางและหลากหลายช่องทางมากขึ้น อีกด้านหนึ่งประชาชนก็สามารถเป็นทั้งผู้บริโภคและผู้สร้างสรรค์ ผลิตและเผยแพร่ข่าวสาร-รายการได้ด้วยตนเอง ไทยพีบีเอสมีความพร้อมที่จะร่วมขบวนพัฒนาสื่อมิติใหม่และสื่อแห่งอนาคตอย่างเต็มตัว ด้วยมาตรฐานข่าวสารและรายการ และด้วยจริยธรรมของสื่อสาธารณะ
จากบทเรียนรู้และประสบการณ์ของไทยพีบีเอสดังได้กล่าวข้างตน ทำให้เราเห็นคุณค่าของสื่อสาธาธารณะ ในฐานะเครื่องมือของสังคมในการพัฒนาประเทศและชุมชนท้องถิ่นที่มีความแตกต่างหลากหลาย เป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาและรับมือกับวิกฤตทั้งจากภัยธรรมชาติและจากความขัดแย้งระหว่างคนในสังคม เป็นเครื่องมือเชื่อมโยงผู้คนต่างเชื้อชาติ ศาสนาและวัฒนธรรมที่อยู่ร่วมประเทศให้เข้ามาหากันได้ดียิ่งขึ้น และเป็นเครื่องมือที่สามารถส่งเสริมบทบาทของประชาชนกับประชาชนในกลุ่มประเทศที่มีเขตแดนติดต่อกัน เพื่อสร้างความรับรู้ ความเข้าใจ ความหวงแหนในสันติภาพและความอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน
เมื่อปี ๒๐๐๓ มีการประชุมรัฐมนตรีข้อมูลข่าวสารและการสื่อสารของกลุ่มประเทศเอเซีย-แปซิฟิค ที่กรุงเทพฯแห่งนี้ ในคราวนั้นเป็นการเตรียมตัวแต่ละประเทศเพื่อเข้าร่วมเวทีประชุมสุดยอดของโลกด้านข้อมูลข่าวสารที่เจนีวา หัวข้อที่เป็นสาระหลักในการถกเถียงกันในครั้งนั้นคือเรื่องสื่อสาธารณะ ซึ่งภายหลังการประชุมได้มีการประกาศเป็นปฏิญญาที่เรียกกันว่า BKK DECLARATION 2003
๕ ปีหลังจากประกาศฉบับนั้น ไทยพีบีเอส สื่อสาธารณะแห่งแรกของประเทศไทยได้ถือกำเนิดขึ้น ซึ่งก็คงไม่ผิดนักที่จะนับว่าเป็นผลพวงมาจากเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ดังกล่าวด้วยส่วนหนึ่ง
วันนี้ การประชุมสุดยอดเอเซีย-แปซิฟิคด้านสื่อสารมวลชนได้เวียนกลับมาที่กรุงเทพฯอีกครั้ง ไทยพีบีเอสในฐานะเจ้าภาพ เรามีความพร้อมที่จะร่วมงานกับองค์กรสื่อสารมวลชนที่หลากหลายในทุกประเทศ เราอยากเห็นบทบาทการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมในการพัฒนาสื่อที่มากขึ้น ทั้งภายในและระหว่างประเทศ และสุดท้าย เราอยากมีเพื่อนสื่อสาธารณะในภูมิภาคอาเซียนมาเป็นเพื่อนร่วมทาง

พลเดช ปิ่นประทีป

Be the first to comment on "เครื่องมือเสริมสร้างความอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน"

Leave a comment

Your email address will not be published.