ปัจจุบันการสยายปีกของธุรกิจผูกขาดของบริษัทยักษ์ใหญ่ในประเทศไทยกำลังเติบโตรวดเร็วชั่วพริบตา แน่นอนว่าผลจากการเติบโตแบบไร้ขีดจำกัดนี้ย่อมกระทบกับธุรกิจ SME และร้านโชว์ห่วยนับแสนองค์กรในขณะนี้
ที่ผ่านมามีการเรียกร้องให้รัฐบาลประกาศนโยบายป้องกันการผูกขาดทางการค้า สร้างความเป็นธรรมในการประกอบธุรกิจมาโดยตลอด แต่ไม่ปรากฏผลมากนัก แม้ว่าประเทศไทยจะมีพรบ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2542 แต่กฎหมายฉบับดังกล่าวมีความล้าหลังหลายประการ โดยเฉพาะระเบียบการข้อปฏิบัติอันเนื่องจากความไม่ชัดเจนของกฎหมาย เช่น ไม่มีแนวทางเกี่ยวกับการวิเคราะห์ขอบเขตตลาดและการคำนวณส่วนแบ่งตลาดที่ชัดเจน รวมถึงความล่าช้าของการออกกฎเกณฑ์ที่จะนำไปสู่การปฏิบัติได้จริง หรืออาจได้รับการประนีประนอมจากหน่วยงานของรัฐ เนื่องจากความไม่ชัดเจนของกฎหมาย
นพ.พลเดช ปิ่นประทีป สมาชิก สปช. กล่าวว่าล่วงเลยมาแล้ว 16 ปี ครั้งนี้เป็นความพยายามอีกหนหนึ่งในนามของ สปช.ที่เห็นจุดอ่อนของประเทศและกลไกต่างๆที่ยังอ่อนแอ จึงได้มีข้อเสนอเร่งผลักดันให้รัฐบาลและสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ให้ความสำคัญต่อการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายการแข่งขันการค้าให้สามารถป้องกันการกระทำอันผูกขาดหรือลดทอนการแข่งขัน ในการประกอบธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรมเพื่อมอบเป็นของขวัญแก่ทุนท้องถิ่นนับแสนรายที่กำลังอ่อนแรงลงทุกขณะ
นพ.พลเดช เสนอว่า รัฐบาลและสนช.ควรร่วมกันผลักดัน (ร่าง) พรบ.การแข่งขันทางการค้าพ.ศ…. ตามข้อเสนอของคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายและเครือข่ายปฏิรูปเศรษฐกิจเพื่อลดความเหลื่อมล้ำให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน โดยกฎหมายฉบับดังกล่าวจะเข้ามาแก้ไขข้อจำกัดของพรบ.การแข่งขันการค้า พ.ศ.2542 ซึ่งมีความล้าหลังในหลายประการ เช่น ความเป็นอิสระของคณะกรรมการ ความสามารถในการบริหารและบังคับใช้กฎหมาย ความครอบคลุมประเด็นสำคัญทางกฎหมาย เพื่อคุ้มครองทุนชาติและทุนท้องถิ่น
“ปัจจุบันปัญหาของการผูกขาดกลายเป็นเนื้อสนิมที่กัดกร่อนการอยู่รอดและเลี้ยงตัวเองได้ของคนในประเทศ ธุรกิจค้าปลีกรายย่อยที่เปิดใหม่ไม่สามารถอยู่ได้ งานวิจัย และงานวิชาการทุกชิ้นตอกย้ำให้เห็นตรงกันว่าเรากำลังอยู่ในยุคของการถูกผูกขาดครอบงำอย่างน่าเป็นห่วง” นพ.พลเดชระบุ
อย่างไรก็ตาม ทิศทางดังกล่าวนี้สอดคล้องกับการที่กรมการค้าภายใน เตรียมเสนอให้ที่ประชุมของสนช.พิจารณาแก้ไขกฎหมายแข่งขันทางการค้าเช่นกัน โดยวัตถุประสงค์การปรับปรุงก็เพื่อให้กฎหมายแข่งขันทางการค้ามีความเป็นสากลมากขึ้น หลังจากที่ประเทศต่างๆ ทั่วโลกเกือบ 200 แห่งมีการบังคับใช้กฎหมายฉบับดังกล่าวแล้ว อีกทั้งยังเป็นการรองรับที่ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(เออีซี) จะต้องทำให้กฎหมายมีความโปร่งใส เป็นธรรม และช่วยสร้างความเชื่อมั่น และดึงดูดการลงทุนให้เข้ามาในประเทศมากขึ้น
นอกจากนี้จะมีการเสนอให้ปรับปรุง สำนักงานแข่งขันทางการค้าให้เป็นองค์กรอิสระ ให้สามารถทำงานได้คล้ายๆ กับการทำงานของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(คปภ.) โดยจะศึกษารูปแบบการทำงานลักษณะนี้ แต่อาจจะยังให้อยู่ภายใต้สังกัดกระทรวงพาณิชย์ และจะให้การตั้งคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า มีอิสระในการทำงานปลอดจากการครอบงำของฝ่ายการเมืองมากขึ้น
งานยากจากนี้ คือด่านวัดใจสมาชิกสนช.ที่มาจากภาคส่วนต่างๆ และรัฐบาล ในการปฏิรูปและการพลิกโฉมประเทศไทยใหม่ให้สำเร็จ โดยอาศัยความเด็ดขาดและก้าวข้ามผลประโยชน์ของกลุ่มทุนผูกขาดที่กัดกร่อนประเทศไทยในเวลานี้
Be the first to comment on "เดิมพันประเทศไทย"