เด็ก นกกระดาษ และความจริงที่ภาคใต้

…ระหว่างทางไปตู้เสบียง ผมต้องเดินโคลงตัวไปมาตามแรงโยกของแต่ละโบกี้ เมื่อถึงตู้เสบียงผมพบนกกระดาษที่ร้อยด้วยเส้นด้ายห้อยแกว่งอยู่ไปมา…ภาพของเยาวชนจากปัตตานี ยะลา นราธิวาสและสงขลาย้อนมาอีกครั้ง ความรู้สึกและเรื่องราวของเด็กและเยาวชนภายใต้สถานการณ์ที่เรียกว่าไฟใต้   ซึ่งผลกระทบที่ตามมาไม่ได้เลือกเพศ วัย กระทั่งศาสนา

 

สุเทพ  วิไลเลิศ : เรียบเรียง

กองบรรณาธิการ : ทีมสื่อสารสาธารณะ

27 ธันวาคม 2547

 

-1-

เกือบหกโมงเช้าแล้วแต่ไม่มีแสงอาทิตย์สาดมา ผมก้มลงอ่านหนังสือพิมพ์ฉบับวันก่อนมีข่าวเกี่ยวกับการเปิดเผยผลสรุปกรณีการสังหารหมู่ที่ตากใบ ทำให้ผมนึกถึงช่วงเวลาเดียวกันนี้เมื่อหลายวันก่อน ขณะที่ยังอยู่บนขบวนรถไฟหาดใหญ่-กรุงเทพ

…ระหว่างทางไปตู้เสบียง ผมต้องเดินโคลงตัวไปมาตามแรงโยกของแต่ละโบกี้ เมื่อถึงตู้เสบียงผมพบนกกระดาษที่ร้อยด้วยเส้นด้ายห้อยแกว่งอยู่ไปมา…

ภาพของเยาวชนจากปัตตานี ยะลา นราธิวาสและสงขลาย้อนมาอีกครั้ง ความรู้สึกและเรื่องราวของเด็กและเยาวชนภายใต้สถานการณ์ที่เรียกว่าไฟใต้  ซึ่งผลกระทบที่ตามมาไม่ได้เลือก เพศ วัย กระทั่งศาสนา ถ้อยคำและเรื่องราวต่างๆ กำลังถูกถ่ายทอดออกมา…

วันนี้วันที่ 27 ธันวาคม 2547 ครบ 358 วัน นับจากประกาศกฎอัยการศึกในจังหวัดปัตตานี ยะลาและนราธิวาส   3 สัปดาห์แล้วสำหรับการโปรยนกกระดาษในภาคใต้โดยรัฐบาล และหลายวันแล้วกับผลสรุปกรณีความรุนแรงที่ตากใบโดยวุฒิสภาและคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

-2-

          ระหว่างสองสามวันที่ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน เรามีโอกาสตั้งวงแลกเปลี่ยนกันอย่างเป็นเรื่องเป็นราวรวมถึงการพูดคุยนอกรอบ อย่างที่อยากจะรับรู้และซึมซับทุกกระบวนความรู้สึกนึกคิดที่พรั่งพรูออกมา

          ความไว้ใจปลดปล่อยความรู้สึกของการีม มุสลิมวัยยี่สิบ ผ่านริมฝีปาก รู้สึกอึดอัด ไม่รู้จะระบายให้ใครฟัง ไม่กล้าพูดเลย เพราะทุกครั้งที่พูดไปก็จะมีคนตาม แล้วเรื่องราวที่เกิดขึ้นในพื้นที่ก็ถูกบอกเล่าจากเด็กหนุ่ม ว่าการพูดคุยที่มัสยิดในวันศุกร์ครั้งหนึ่งผู้ช่วยโต๊ะครูซึ่งวัยไม่ต่างจากเขามากนัก เปิดคำถามกับผู้มามัสยิดว่า เราจะอยู่อย่างไรในสถานการณ์เช่นนี้ หลังจากนั้นในช่วงค่ำก็มีรถมารายล้อมบ้านเพื่อจะจับตัวผู้ช่วยโต๊ะครูคนนั้น  แต่โชคดีที่คนในหมู่บ้านรู้ข่าวและเข้ามาช่วยไว้ทัน นั่นอาจเป็นเหตุการณ์เล็กๆที่ไม่เป็นข่าวทางหน้าหนังสือพิมพ์แต่ก็ทำให้คนในหมู่บ้านและเยาวชนทุกคนรู้ดีว่าอะไรบ้างที่ไม่ควรเอ่ยถึง แม้มันจะเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตพวกเขาก็ตาม
 

          กาเซมวัยสิบเก้ามุสลิมอีกคนหนึ่งจากจังหวัดชายแดนเล่าเสริมว่า ทั้งเขาและเพื่อนวัยเดียวกัน เป็นชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน(ชรบ.) จึงถูกเกณฑ์ไปเฝ้าเวรยามตามจุดตรวจต่างๆ ซึ่งมีทหารอยู่ด้วยเฉพาะในช่วงหัวค่ำ ขณะที่เฝ้ายามอยู่นั้นเคยมีคนขับมอเตอร์ไซค์มาจุดประทัดโยนใส่ตอนกลางดึก เหมือนมีนัยบางอย่าง หลังจากนั้นก็เกิดขึ้นในจุดอื่นๆ ทำให้หลายคนรำพึงออกมาว่า เราออกมาอยู่อย่างนี้ ไม่รู้จะตายวันไหน          

 

 

          ผมไม่แน่ใจว่ากาเซมกับเพื่อนของเขาจะรู้สึกถึงสิ่งใดมากกว่ากัน ระหว่างการถูกข่มขู่กับการเสมือนไร้ความสามารถในการปกป้องชีวิตตนเอง

 

             หลายถ้อยคำที่สะท้อนออกมาทำให้ผมรู้สึกว่าไฟที่ระอุอยู่ในพื้นที่นี้ นอกจากจะทำให้ทุกคนต้องคำนึงถึงความปลอดภัยในชีวิตมากขึ้นแล้ว เยาวชนเองยังต้องอึดอัดกับคำถามที่ได้รับอยู่เสมอเมื่อเดินทางไปในจังหวัดอื่นๆของประเทศ ก็มักถูกถามว่า มุสลิมทำจริงหรือไม่ บ้างก็ว่า รอดมาได้อย่างไร ซึ่งหลายคำถามก็เกินกว่าความเข้าใจของเยาวชน  กระทั่งทำให้เยาวชนที่มาจากปัตตานี นราธิวาสและยะลารู้สึกตรงกัน เมื่ออารี หนึ่งในเยาวชนจากพื้นที่กล่าวว่าเยาวชนใน 3 จังหวัดตกเป็นจำเลยเยาวชนทั้งประเทศ ขณะนี้ความรู้สึกถูกเพ่งเล็งจับผิดถูกตรึงไว้ในใจของเยาวชนที่ตกอยู่ท่ามกลางสถานการณ์

 

 

3

          เมื่อเกิดเหตุการณ์ 3 จังหวัดภาคใต้ตั้งแต่ต้นปีนี้ ทั้งเหตุการณ์ปล้นปืน กรือเซะ ถึงตากใบ ผู้คนอีก 73 จังหวัดต่างรับรู้ข่าวคราวผ่านสื่อมวลชนซึ่งเป็นผู้กำหนดประเด็นวาระและคัดเลือกนำเสนอความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้น

 

          เยาวชนจึงพูดคุยถึงสื่อมวลชนกับการนำเสนอที่ผ่านมาว่า สื่อมวลชนทั้งโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์และวิทยุนำเสนอเหตุการณ์อย่างบิดเบือน หลายข่าวไม่ตรงกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้น เพราะเยาวชนในพื้นที่รู้ดีว่าสิ่งที่ถูกนำเสนอหลายเรื่องไม่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ แต่สื่อมวลชนกลับนำไปเผยแพร่ให้เป็นส่วนหนึ่งของสถานการณ์ดังกล่าว กระทั่งทำให้เยาวชนที่พูดคุยด้วยรู้สึกว่าสื่อมวลชนขายข่าวโดยไม่สนใจว่าจะเกิดอะไรตามมา และถือว่าเป็นการซ้ำเติมสถานการณ์ที่กำลังมีปัญหาอยู่ ดังเสียงสะท้อนของนิรุธ ว่า สื่อต้องการเพียงขายข่าว ไม่ได้ต้องการให้คนทั้งประเทศมองเห็นว่าจริงๆแล้วเหตุการณ์ใน 3 จังหวัดคืออะไร 

          แต่อย่างไรก็ตาม  เยาวชนรู้ดีว่าสื่อมวลชนมีอิทธิพลต่อการรับรู้เรื่องราวต่างๆ จึงยังมีความคาดหวังว่าสื่อมวลชนจะนำเสนอความเป็นจริง  และมีส่วนช่วยให้สถานการณ์คลี่คลายไปในทางทีดีได้ ดังคำพูดที่สะท้อนของเยาวชนว่า อยากให้ผู้ใหญ่ที่เป็นสื่อมวลชนมีความน่าเชื่อถือและกล้านำเสนอข้อเท็จจริง

 

-4-

          ทุกครั้งเมื่อเกิดเหตุการณ์ลอบวางระเบิดหรือมีสถานการณ์รุนแรงเกิดขึ้นใน 3-4 จังหวัดภาคใต้ การปิดโรงเรียนหรือสถานศึกษาต่างๆ นับเป็นมาตรการหนึ่งในการรักษาความปลอดภัยให้กับเด็กและเยาวชนรวมถึงครูอาจารย์ในพื้นที่ ครั้งนี้ก็เช่นกัน

          นิรุธและเพื่อนๆรู้ดีว่าที่ต้องปิดเรียนเพราะเหตุใด แต่ก็ยังรู้สึกว่า แล้วเขาจะเรียนให้ทันเยาวชนที่อยู่ในจังหวัดอื่นๆที่ปกติสุขได้อย่างไร ในขณะที่ในภาคเรียนนี้ได้เรียนเพียง 13 สัปดาห์จากทั้งหมด 20 สัปดาห์ ความหวังในการสอบแข่งขันคัดเลือกที่จะเรียนต่อในระดับชั้นที่สูงขึ้นไปจึงลดน้อยลงทุกที

 

         

          เรื่องเดียวกันนี้กาเซม และการีม มีมุมมองว่า เยาวชนมุสลิมก็รู้สึกกดดันไม่ต่างกัน และมีมาก่อนหน้านี้ เพราะที่ผ่านมาการเรียนในโรงเรียนปอเนาะหรือโรงเรียนสอนศาสนาของมุสลิมนั้น ทำให้เยาวชนมุสลิมศึกษาต่อในประเทศไทยไม่ได้ เนื่องจากไม่มีการเทียบวุฒิการศึกษาจากโรงเรียนปอเนาะให้ ทั้งที่ประเทศมาเลเซียยังให้การยอมรับเยาวชนที่เรียนจากปอเนาะใน 3 จังหวัดภาคใต้สามารถเทียบชั้นการศึกษาและไปเรียนต่อในประเทศมาเลเซียได้

          ปัญหาเรื่องการศึกษาจากปากคำของเด็กเยาวชนไทยทั้งพุทธและมุสลิมที่กล่าวมานั้น ยืนยันชัดเจนว่า นอกเหนือจากการปิดโรงเรียนเมื่อเกิดเหตุการณ์รุนแรง ซึ่งทำให้เด็กเยาวชนได้รับผลกระทบโดยตรงแล้วนั้น การจัดการเรื่องการศึกษาให้กับเด็กเยาวชนในโรงเรียนมุสลิมก็ยังเป็นปัญหาค้างคาตลอดมา

-5-

          เรื่องราวของไฟใต้ที่ถูกถ่ายทอดออกมาจากเยาวชนในพื้นที่ ข้อเท็จจริงอาจไม่พรั่งพร้อมชัดเจนรอบด้าน  ทว่าความจริงตรงหน้าที่เด็กและเยาวชนคนหนึ่งรับรู้และจดจำ อย่างไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้  จะก่อผลกระทบกระเทือนอย่างไรในวันต่อไป ผู้คนที่คำนึงถึงแต่ความแตกต่างทางเชื้อชาติ ศาสนาและวัฒนธรรม…อาจไม่มีวันเข้าใจ

………………………………………..

 

 

* หมายเหตุ  ข้อมูลทั้งหมดมาจากเยาวชนที่มีตัวตนจริง แต่ชื่อที่ปรากฏเป็นนามสมมติทั้งสิ้นเพื่อป้องกันผลกระทบต่อเยาวชนที่   ให้คำสัมภาษณ์

 

Be the first to comment on "เด็ก นกกระดาษ และความจริงที่ภาคใต้"

Leave a comment

Your email address will not be published.