“ลุงโต” ลุงโตกล่าวว่า “ก่อนหน้านี้มีการจัดเวที ชาวบ้านเป็นผู้เสนอ และหาแนวทางแก้ปัญหา และได้ข้อตกลงร่วมกันว่า อยากให้มีการฟื้นฟูประเพณีแห่ช้างเผือกขึ้น…
|
|||
|
|||
การถ่ายทำสารคดีครั้งนี้ เป็นช่วงที่ 2 ของลำพูน เมื่อวันที่ 12 – 14 มิ.ย.ที่ผ่านมา หลังจากที่ได้ติดตามและรายงานให้ทราบกันมาแล้วในช่วงที่ 1 เมื่อวันที่ 1 – 3 มิ.ย. ในพิธีแห่ช้างครั้งนี้เป็นช่วงต้นน้ำ ซึ่งเป็นช่วงทัายของพิธี การแห่ในช่วงนี้จะอยู่ในพื้นที่ อ.ทุ่งหัวช้าง
เมื่อวันที่ 12 มิ.ย. เราเริ่มแห่ช้างจากวัดดอนแก้ว ต.บ้านปวง ไปที่วัดบ้านแม่ปันเดง ต.ทุ่งหัวช้าง จากนั้นพระสงฆ์จึงทำพิธีรับช้าง และแห่ไปเรื่อยจนถึงวัดห้วยห้าง ตลอดเส้นทางที่แห่ช้างมีชาวบ้านมาร่วมบางตา ต่างจากช่วงเริ่มต้นที่ปลายน้ำ อ.บ้านโฮ่ง ในช่วงเย็นได้สัมภาษณ์ นายตระการชัย ธรรมานุวงศ์ คณะทำงานโครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะ – ท้องถิ่นน่าอยู่ จ.ลำพูน หรือชื่อที่ทุกคนรู้จักกันในนาม “ลุงโต” ลุงโตกล่าวว่า “ก่อนหน้านี้มีการจัดเวที ชาวบ้านเป็นผู้เสนอ และหาแนวทางแก้ปัญหา และได้ข้อตกลงร่วมกันว่า อยากให้มีการฟื้นฟูประเพณีแห่ช้างเผือกขึ้น มีองค์กรพัฒนาเอกชนหลายแห่งเข้ามาสนับสนุน เช่น โครงการชีวิตสาธารณะฯ สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม เครือข่ายฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมลุ่มน้ำลี้ ฯลฯ การแห่ช้างเผือกเป็นการใช้วัฒนธรรมมาดึงความศรัทธาให้คนเข้ามาร่วมแก้ปัญหาในชุมชนท้องถิ่นร่วมกัน การแห่ช้างเผือกเป็นเรื่องของวัฒนธรรมที่แฝงไปด้วยความดี ใชัคุณธรรมความสามัคคีให้คนเข้ามาคิด กระตุ้นให้เกิดจิตสำนึกให้ชาวบ้านเห็นความสำคัญในการอนุรักษ์ ฟื้นฟูรักษาป่า รักษาแม่น้ำ มาถึงวันนี้ผมเห็นพลังของชาวบ้านเยอะมาก อยู่ที่ว่าต่อไปเราจะเอาพลังนั้นมาเคลื่อนไหวให้ชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็งและพึ่งตนเองได้อย่างไร”
เช้าวันที่ 13 มิ.ย. เริ่มแห่ช้างจากวัดห้วยห้างไปวัดศรีดงเย็น ต.ตะเคียนปม ถ่ายภาพบรรยากาศงานและนิทรรศการกลุ่มเยาวชนรักน้ำลี้ ชมรมนักสืบสายน้ำ ในช่วงบ่ายมีเวทีเสวนาเรื่องการแห่ช้างเผือก ปัญหาทรัพยากรลุ่มน้ำ หลังจากนั้นเราจึงไปถ่ายภาพแม่น้ำลี้ที่วัดศรีดงเย็นซึ่งมีน้ำค่อนข้างน้อยเหมือนหลายจุดที่เคยผ่านมา หลังจากเดินสำรวจและเก็บภาพแม่น้ำลี้อยู่ไม่นาน ก็เจอชาวบ้านคนหนึ่งคือ ลุงแสงเมือง ทาวี อายุ 54 ปี ชาวนาบ้านศรีดงเย็น ลุงแสงเมือง กล่าวว่า “ลุงทำนามาตั้งแต่เด็ก ได้เห็นได้ใช้แม่น้ำลี้ในการทำนาตลอดมา แต่มาในช่วงหลังต้องใช้น้ำบาดาลมาช่วยเพราะน้ำลี้มีน้อย ไม่เพียงพอ ตอนเด็กๆเคยเห็นพิธีแห่ช้างเผือกหลายครั้ง เมื่อแห่ช้างฝนก็ตกทุกครั้ง ถ้าถามว่า เชื่อไหมว่าการแห่ช้างทำให้ฝนตก ลุงเขื่อ แต่ถามว่า เชื่อว่าแม่น้ำลี้จะกลับมาอุดมสมบูรณ์เหมือนแต่ก่อนหรือไม่ ลุงก็ไม่แน่ใจ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ทุกคนต้องช่วยกัน ลำพังแค่ชาวบ้านอย่างเดียวคงไม่พอ ต้องมีภาครัฐมาช่วยด้วยจึงมีทางสำเร็จ”
|
|||
|
|||
วันที่ 14 มิ.ย. วันนี้เป็นวันสุดท้ายของพิธีแห่ช้างเผือก เราเดินทางไปเก็บภาพการแห่ช้างจากวัดศรีดงเย็นไปที่วัดหนองหลัก บรรยากาศที่วัดหนองหลักคึกคักเต็มไปด้วยชาวบ้านหลายร้อยคนที่มาร่วมงานทั้งต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ ต่างจากสองวันที่ผ่านมา จากนั้นชาวบ้านนำข้าวเหนียวและแคบหมูใส่ในขันข้าวที่สานด้วยไม้ไผ่ แล้วนำไปวางตามห้วย แม่น้ำลำคลองสายต่างๆ เพื่อขอขมาแม่น้ำ ขอน้ำขอฝนให้ตกต้องตามฤดูกาล หลังจากทำพิธีต่างๆเสร็จสิ้นแล้ว ช่วงบ่ายจึงแห่ช้างไปที่ดอยสบเทิม(ต้นน้ำลี้) ซึ่งเป็นจุดสุดท้ายของพิธี ระหว่างทางไปดอยสบเทิม มีความยากลำบากพอสมควรเนื่องจากฝนและสภาพถนนดินทำให้กว่าจะไปถึงก็ใช้เวลานาน เมื่อถึงดอยสบเทิม ผมเห็นภาพแม่น้ำลี้ที่ต่างไปจากเดิม น้ำลี้ที่นี่ยังคงความอุดมสมบูรณ์ต่างจากจุดอื่นๆที่ผ่านมา ต่อมาเมื่อพระสงฆ์ทำพิธี เจริญพระพุทธมนต์ ปล่อยปลา และจุดบั้งไฟ จึงเสร็จพิธีการแห่ช้างเผือก พิธีแห่ช้างเผือกในปีนี้จบลงแล้วแต่สิ่งที่ยังไม่จบและดำเนินต่อไป คือการแก้ปัญหาน้ำและการเคลื่อนไหวของชาวบ้านจะเป็นไปในทิศทางใด ลำพังแค่การสืบสานพิธีแห่ช้างเผือกให้คงอยู่ต่อไปทุกปีคงไม่อาจช่วยให้แม่น้ำลี้กลับมาอุดมสมบูรณ์ได้ หากแต่อยู่ที่จิตสำนึกและการร่วมมือกันในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู ทรัพยากรทั้งป่าไม้ แม่น้ำ อย่างจริงจังของทุกฝ่ายทั้งชาวบ้าน ภาครัฐ องค์กรต่างๆที่เกี่ยวข้อง ถ้าเป็นเช่นนี้ได้ เชื่อว่าแม่น้ำลี้จะฟื้นคืนชีพกลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง
|
Be the first to comment on "เบื้องหลังการถ่ายทำลำพูน ภาค2"