เบื้องหลังการถ่ายทำ จ.เชียงราย

แนวคิดสำคัญของเชียงรายคือ  สร้างสุขภาวะ กาย จิตใจ สังคม  เชื่อมโยงวิถีชีวิตเข้ากับวิถีวัฒนธรรม ใช้วัฒนธรรมด้านอาหาร การแสดง หัตถกรรม ปลุกจิตสำนึกสาธารณะ  โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างความตระหนักในคุณค่าแห่งวัฒนธรรม…

 
 

 

เบื้องหลังการถ่ายทำ จ.เชียงราย

สันสกฤต  มุนีโมไนย   รายงาน

 

เบื้องหลังการถ่ายทำสารคดีครั้งนี้เป็นคิวของ จ.เชียงราย  ซึ่งถ่ายทำเมื่อวันที่ 27-30 พฤษภาคม 2548 นำเสนอในประเด็นวัฒนธรรม  โดยแนวคิดสำคัญและเป้าหมายของเชียงรายคือ  เพื่อสร้างสุขภาวะ กาย จิตใจ สังคม  เชื่อมโยงวิถีชีวิตเข้ากับวิถีวัฒนธรรม ใช้วัฒนธรรมด้านอาหาร การแสดง หัตถกรรม ปลุกจิตสำนึกสาธารณะ  โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างความตระหนักในคุณค่าแห่งวัฒนธรรมที่จำเป็นต้องมีการถ่ายทอดความรู้เพื่อสร้างรายได้ ทั้งยังเป็นการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองและส่วนรวม

สาระสำคัญในรายการคือ งานข่วงสรีแก้ว วันที่ 28 พ.ค. 48 เป็นกิจกรรมสาธารณะที่สะท้อนภาพงาน HPL เชียงราย

มีการถ่ายทำเพิ่มเติมตามโซนเชิงพื้นที่ ซึ่งแบ่งการทำงานออกเป็น

          โซน 1   เขตเทศบาลเมือง อ.เมือง อ.เวียงชัย อ.เวียงเชียงรุ้ง เนื้อหางาน  คือ ศิลปะการฟ้อนรำ

          โซน 2   อ.แม่ลาว อ.พาน อ.แม่สรวย อ.เวียงปากเป้า อ.ป่าแดด เนื้อหางาน  คือ ศิลปหัตถกรรม เช่น เครื่องปั้นดินเผา เครื่องเล่นโบราณ

          โซน 3   อ.แม่จัน  อ.แม่สาย กิ่งอ.ดอยหลวง อ.เชียงแสน อ.แม่ฟ้าหลวง เนื้อหางาน  คือ ตุง โคม

          โซน 4  อ.เทิง  อ.พระยาเม็งราย  อ.ขุนตาล  อ.เชียงของ  อ.เวียงแก่น เนื้อหางาน  คือ  อาหาร พืชผักพื้นบ้าน และสิ่งทอ

          ในวันแรก วันที่ 27 พ.ค. เป็นการถ่ายภาพบรรยากาศการเตรียมงานและพูดคุยทำความเข้าใจนัดหมายกับผู้ประสานโครงการฯ ในการจัดเตรียมสถานที่ในการถ่ายทำ  ช่วงเย็นเป็นการสัมภาษณ์ ผศ.ดร.สมบูรณ์  อริยา ประธานโครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธาณะ-ท้องถิ่นน่าอยู่ จ.เชียงราย  เกี่ยวกับงานข่วงสรีแก้วและการดำเนินงานโครงการฯ

เริ่มต้นวันที่ 28 พ.ค. เป็นการเปิดศูนย์ส่งเสริมวัฒนธรรมสู่งานอาชีพ ณ บ้านน้ำลัด   (ข่วงสรีแก้ว) เพื่อเป็นศูนย์แสดงศิลปวัฒนธรรมและเป็นสถานศึกษานอกระบบ ปฏิบัติหน้าที่ในการสืบค้น ฟื้นฟู พัฒนา จัดหลักสูตร กิจกรรมฝึกอบรมด้านวัฒนธรรม ภูมิปัญญา บริการประชาชนในจังหวัดเชียงราย สู่การมีอาชีพและการสร้างรายได้   ในวันนี้เราได้เก็บบรรยากาศในงานที่จัดแบ่งเป็นห้อง อาทิ ห้องสิ่งทอ ห้องเครื่องปั้นดินเผา ห้องเครื่องเล่นโบราณ ห้องศิลปะการฟ้อนรำ ห้องตีดาบ ห้องอาหารเพื่อสุขภาพ สมุนไพร พืชผักปลอดสารพิษ และห้องตุงโคม

        

 
 

 

          ในวันที่ 29 พ.ค. เป็นการลงพื้นที่ถ่ายภาพใน อ.เวียงชัย เรื่องการฟ้อนดาบ ฟ้อนเจิง  มีเด็ก เยาวชนมาเรียนประมาณ 20 คน ช่วงเย็นหลังเลิกเรียนและทุกเสาร์-อาทิตย์ 

โดย อ.มานิตย์ หนานนุ่ม ครูสอนฟ้อนดาบ,ฟ้อนเจิง กล่าวว่า สาเหตุที่มาสอนเด็ก เพราะอยากให้วัฒนธรรมคงอยู่ต่อไป ไม่อยากเห็นสิ่งดีงามที่สืบทอดกันมาในอดีตต้องมาหายไป อีกอย่างคือทำให้เด็กรักท้องถิ่น รักวัฒนธรรม รู้จักใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์

ในช่วงบ่ายเราเดินทางไปถ่ายที่วัดดงชัย อ.เวียงเชียงรุ้ง เป็นที่สอนเด็กๆฟ้อนรำ ฟ้อนสาวไหม และสัมภาษณ์ คุณพรทิพย์  สิทธิขันแก้ว ครูสอนฟ้อนรำ และลูกสาวครูพรทิพย์ คือคุณกิริยาภรณ์  สิทธิขันแก้ว ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ ที่สืบทอดการฟ้อนรำให้แก่เยาวชนคนรุ่นหลังต่อไป  โดยคุณกิริยาภรณ์   กล่าวว่า   อยากสืบทอดการฟ้อนรำซึ่งเป็นสิ่งที่สืบทอดกันมา ให้เด็กรุ่นหลังได้เห็นคุณค่า อยากให้เขาเห็นคุณค่าและซึมซับด้วยตัวเขาเอง ไม่ใช่เราไปพูดให้เขาเชื่อ    

          เริ่มวันที่ 30 พ.ค. ช่วงเช้าเราไปที่ บ้านร่องปลายนา ต.บัวสลี อ.แม่ลาว เพื่อถ่ายเรื่องการทำเครื่องปั้นดินเผา โดยแม่บุญโยน  สุภาชนะ ประธานกลุ่มเครื่องปั้นดินเผาบ้านร่องปลายนา กล่าวว่า    ในอดีตบ้านร่องปลายนามีหลายบ้านที่ทำเครื่องปั้นดินเผา ต่อมาจึงมารวมกลุ่มกันทำร่วมกัน  ตอนนี้มีสมาชิกในกลุ่มประมาณ 20 คน แล้วก็สอนให้เด็กๆ มีเด็กมาเรียนสิบกว่าคน  อยากอนุรักษ์ให้ละอ่อน(เด็ก)สืบทอดต่อไป  อยากถ่ายทอดให้เขาได้เรียนรู้ว่า ปู่ ย่า ตายาย ทำอะไร  ตอนนี้โครงการชีวิตสาธารณะ จะเข้ามาช่วยเหลือ คอยประสาน สนับสนุนงบ ซื้อเตา ซื้อเครื่องมือไว้สอนเด็กๆ ตอนนี้ถ้ามีงานวัฒนธรรมที่ไหนก็จะไปเข้าร่วมทุกที่ ไม่เคยรู้สึกเหนื่อยเพราะใจมันรัก

          งานเครื่องปั้นดินเผาที่เห็นที่นี่จะแปลกไปจากที่อื่น เพราะทุกชิ้นเป็นงานปั้นด้วยมือ 100เปอเซ็นต์ ไม่มีเครื่องขึ้นรูปเหมือนที่อื่น ได้เห็นแม่บุญโยนและคนอื่นๆในกลุ่มปั้นแล้วรู้สึกได้ถึงความตั้งใจ ละเอียดอ่อนในทุกขั้นตอน            

ในช่วงบ่ายเราเดินทางไปที่ อ.แม่สรวย ถ่ายภาพกลุ่มคนเฒ่าคนแก่ เป็นการรวมตัวกันของคนหนุ่มสาวและคนเฒ่าคนแก่ที่นำเอาศักยภาพและความสามารถที่แตกต่างกันไป มาถ่ายทอดเรื่องราวในอดีตผ่านของเล่นพื้นบ้านแต่ละชิ้น  เป็นการถ่ายทอดภูมิปัญญาพื้นบ้านให้คนทุกวัยในท้องถิ่นได้เข้าใจถึงลักษณะของสังคมในอดีต  โดย พ่ออุ้ยชื่น  อุ่นเรือน สมาชิกกลุ่มคนเฒ่าคนแก่ กล่าวว่า  ในอดีตเคยดูพ่อทำของเล่น และจำวิธีการทำได้ ต่อมาเมื่อมีการรวมกลุ่มกันทำ ก็สอนให้เด็กๆ ได้หัดทำ มีเด็กหลายคนสนใจและตั้งใจมาเรียนทำของเล่น  ของเล่นที่เราทำจะมีส่วนดีคือ ราคาไม่แพงเหมือนพวกของเล่นพลาสติก ของเล่นไม้นี้หาวัสดุอุปกรณ์ได้ง่าย เด็กทุกคนสามารถมาเรียนแล้วก็มีของเล่นโดยที่ไม่ต้องไปซื้อของเล่นราคาแพง

หลังจากเสร็จสิ้นการถ่ายทำกลุ่มคนเฒ่าคนแก่แล้ว เราเดินทางต่อไปที่บ้านเชียงเคี่ยนเรื่องอาหาร/พืชผักพื้นบ้าน ซึ่งเป็นที่สุดท้ายของการถ่ายทำที่ จ.เชียงราย  คราวนี้เราบุกมาที่บ้าน หมออินโพธิ์  หน่อแหวน ผู้รู้ด้านอาหารพื้นบ้าน ที่กำลังสอนชาวบ้านทำอาหาร  โดยหมออินโพธิ์ กล่าวว่า การที่จะมีสุขภาพกายและใจที่ดีได้ ต้องรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ มีสารอาหารครบถ้วนตามหลักโภชนาการ ปัจจุบันคน รับประทานอาหารผิดหลักหรือรับประทานพวกฟาสต์ฟู้ดมากเกินไป เสี่ยงต่อการเกิดโรคหลายอย่าง ด้วยความที่ต้องการให้ชาวบ้านมีสุขภาพที่ดี หมออินโพธิ์จึงสอนทำอาหารโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย เพื่อเป็นการสร้างอาชีพให้แก่ชาวบ้านที่คิดจะเปิดร้านอาหาร อีกทั้งยังเป็นการอนุรักษ์พืชผักสมุนไพรที่ปลูกเองโดยปราศจากสารพิษ ให้ชาวบ้านเห็นคุณค่าและอนุรักษ์ไว้ให้คงอยู่ต่อไป   

          จากการถ่ายทำสารคดีครั้งนี้สิ่งที่เห็นได้และน่าประทับใจมาก คือการเห็นเด็กๆที่มาปั่นฝ้าย ทอผ้า ฟ้อนรำ ฟ้อนเจิงในงานนี้  มาด้วยใจ เห็นดวงตาเป็นประกาย แววตามีความสุขที่ได้ทำ ไม่มีอาการเบื่อหน่ายแต่อย่างใด ทำให้มีความหวังว่า สิ่งที่คนเฒ่าคนแก่ตั้งใจไว้อยากให้คนรุ่นหลังได้สืบทอดวัฒนธรรมประเพณีต่อไปมีแนวโน้มที่จะเป็นจริงได้  ครั้งนี้ขอจบเพียงเท่านี้พบกันใหม่กับตอนต่อไป เรื่องประเพณีแห่ช้างเผือก ที่ จ.ลำพูน

Be the first to comment on "เบื้องหลังการถ่ายทำ จ.เชียงราย"

Leave a comment

Your email address will not be published.