“ผมว่าคนแม่กลองเป็นคนที่มีคุณภาพ มีความสามารถ มีสติปัญญา แล้วก็เป็นคนที่อยู่ในถิ่นนี้อย่างสืบเนื่อง เป็นเรื่องดีที่เวลาเรามาถิ่นนี้ เราไม่ได้เห็นแค่สวน แต่เราเห็นคนแม่กลอง ที่เขายังรักษาวัฒนธรรมความเป็นอยู่เอาไว้ เวลาเรานั่งรถข้ามสะพานแม่กลอง เราจะเห็นว่ามันไม่เหมือนกับกรุงเทพฯ ในตอนนี้ ไม่มีตึกระฟ้า เมืองแม่กลองเติบโตแผ่กว้างขึ้นจริง แต่ยังเป็นอาคารบ้านเรือนเล็กๆ แล้วก็แวดล้อมไปด้วยธรรมชาติที่สวยงาม” รศ.ศรีศักร วัลลิโภดม นักมานุษยวิทยาอาวุโส ยืนยันเช่นนี้
ท่ามกลางกระแสการพัฒนาเมือง เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างเอาจริงเอาจังของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ไม่ว่าชาวไทยหรือชาวต่างชาติ ต่างพากันมาเที่ยวที่เมืองแม่กลอง ทั้งนั่งเรือชมหิ่งห้อยยามราตรี หรือหาของกินที่ตลาดน้ำอัมพวา พักอาศัยในโฮมสเตย์ที่ได้กลิ่นอายชาวสวน ราคาไม่แพง และอยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ ตามข้อความโฆษณา นักท่องเที่ยวจึงแห่มาเยือนเมืองแม่กลองมาก
แต่ในสายตาของ สุรจิต ชิรเวทย์ ประธานหอการค้าจังหวัดสมุทรสงคราม กลับให้ความเห็นว่า จังหวัดสมุทรสงครามอยู่ใกล้กรุงเทพฯ มากเกินไป โลกาภิวัตน์จู่โจมง่ายมากทั้งผลประโยชน์ และเงินทอง การจัดการให้เมืองเป็นระเบียบเรียบร้อยจะทำลำบาก ในความเห็นของเขาการพัฒนาจำเป็นต้องคำนึงถึงทุกมิติ ไม่ใช่เน้นด้านธุรกิจเพียงประการเดียว เพราะชุมชนมีรากเหง้า มีความเชื่อมโยงกับอดีต
“แม่กลองเป็นชุมชนที่เงียบมา 20 กว่าปี จู่ๆ เปิดกว้างรับการท่องเที่ยว ที่จอดรถหรือสาธารณูปโภคก็ไม่พร้อม เราไม่มีที่ว่างเยอะ เพราะเป็นเมืองสวน แก่นของการท่องเที่ยวก็คือท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และเป็นตัวเสริมที่สอดคล้องกับอาชีพของเราเท่านั้นเอง ไม่ใช่ทำให้อาชีพหลักสะดุด แต่ค่อยๆ พัฒนาและทำให้มันกลมกลืน”
ส่วนวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวแม่กลองนั้น ประธานหอการค้าจังหวัดฯ เสริมว่าหมู่บ้านที่ติดสวน ติดทะเลจะไม่ชินกับการรวมหมู่ อาชีพทำสวนนั้นมีช่วงการทำมาหากินปีหนึ่งไม่น้อยกว่า 9 เดือน เพราะฉะนั้นคนแม่กลองจะเก่งในเรื่องการหากิน การถนอมอาหาร หากเป็นชาวประมงจะทำงานไปตามน้ำขึ้น น้ำลง แล้วแต่ธรรมชาติ ยามว่างก็ซ่อมแห ซ่อมอวน เตรียมเครื่องมือหาปลา
หากเป็นชาวสวน ถ้าทำตาลต้องออกจากบ้านตั้งแต่ตี 5 กว่าจะขึ้นตาลเสร็จ 11 โมง ส่วนคนเป็นเมียต้องทำหน้าที่เคี่ยวตาลแทน ช่วงนั้นสามีกับลูกที่ไปขึ้นตาลมาจะไปพัก พอบ่าย 3-4 โมงเย็นถึงขึ้นอีกรอบ เสร็จ 2 ทุ่มก็ได้เวลานอน ฉะนั้นคนกลุ่มนี้ไม่ค่อยได้พบปะสังสรรค์ เพราะใช้เวลาหมดไปในการทำงาน จึงเป็นคนมัธยัสถ์ สมถะ เข้มแข็งอดทน พูดน้อย แต่ยิ้มเก่ง
“ปัญหาความคิดทางนามธรรมไม่มีใครอยากทำ ทำแต่ของที่เห็นเป็นชิ้นเป็นอัน งานความคิดที่เสริมด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนมันเป็นงานนามธรรมเกินไป ต้องให้เขาดูแลตัวเขาเอง ให้เขาคิดสะท้อนความต้องการขึ้นมา พูดง่ายๆ ต้องใช้ปัญญาให้มาก เงินมันช่วยได้นิดหน่อยเท่านั้นเอง” สุรจิตกล่าวทิ้งท้ายถึงทิศทางการพัฒนาเมืองแม่กลอง
คล้ายกันกับเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาในงานเสวนาทางวิชาการ เรื่อง ‘ลุ่มน้ำแม่กลอง : ประวัติศาสตร์สังคมและวัฒนธรรม ‘ ที่วัดอัมพวันเจติยาราม จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (สวช.) ร่วมกับจังหวัดสมุทรสงคราม โดยในงานนอกจากจะมีเสวนาแล้ว ยังมีเพลงดนตรีปี่พาทย์ ซึ่งบรรเลงโดยวงศิษย์หลวงประดิษฐ์ไพเราะ บรรยากาศในงานจึงเป็นไปอย่างรื่นรมย์
ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์อย่าง สุจิตต์ วงษ์เทศ กล่าวว่าระบบการศึกษาประเทศไทยไม่ค่อยให้ความสำคัญในเรื่องภูมิปัญญา และวิธีคิด
“อย่าดูถูกภูมิปัญญาท้องถิ่น แล้วไปบ้ายกย่องพวกฝรั่ง ไม่อย่างนั้นพังหมด จิตวิญญาณหายหมด ต้องทำแม่กลองให้ร่มเย็นเป็นสุข ด้วยร่มไม้เรือกสวน และเสียงดนตรี ให้มันเป็นธรรมชาติ ให้อยู่ในจิตวิญญาณ แม่กลองเขามีสิ่งนี้อยู่แล้วเพียงแต่คนแม่กลองไม่ค่อยมั่นใจตัวเอง อ่อนแอ กลัวเขาดูถูก เราต้องทำบ้านเราให้แข็งแรงก่อน แล้วแขกแวะมา ค่อยหาน้ำหาท่าให้เขากิน สร้างบรรยากาศให้รู้สึกอยู่ร่วมกันตลอดเวลา” สุจิตต์ กล่าว
ในมุมมองของ รศ.ศรีศักร ที่อภิปรายไว้บนเวทีเดียวกันว่าแม่กลองไม่จำเป็นต้องมีโบราณสถานใหญ่โตก็มีเสน่ห์ไม่แพ้จังหวัดเก่าแก่แห่งอื่น
“ผมประหลาดใจมากว่าทำไมคนแม่กลองเก็บรักษามาได้ถึงเพียงนี้ ไม่เหมือนคนกรุงเทพฯ ตอนนี้หมดแล้ว เพราะคนกรุงเทพฯ มันร้อยพ่อพันแม่ ไม่มีหัวนอนปลายตีน แต่แม่กลองนั้นมีความหลากหลายทางวัฒนธรรมสูง มีการพึ่งพากัน มีความสัมพันธ์อันดี ระหว่างสวน แม่น้ำลำคลอง ป่าชายเลน และคนอาศัย ต้องรักษาตรงนี้ไว้ ตอนนี้กำลังเห็นว่าคนแม่กลองกำลังถูกคุกคามจากการพัฒนาประเทศ ถ้าถนนตัดผ่าสวนเข้ามาอีก ก็จะไม่เหลืออะไร จิตวิญญาณถูกขายหมด การที่จะรักษาสิ่งนี้ไว้ได้ ไม่ได้อยู่ที่รัฐบาล ต้องอยู่ที่บุคคล คนแม่กลองมีสำนึกและมีความเข้าใจ มีคนรุ่นเก่าที่ถ่ายทอดความรู้ให้คนรุ่นใหม่”
กล่าวสำหรับประเด็นความหลากหลายทางวัฒนธรรมนั้น มีข้อเสนอของ ดร.อานันท์ กาญจนพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่เคยกล่าวไว้ในงานอภิปรายเรื่อง ‘คนไทยยอมรับความหลากหลายทางวัฒนธรรมจริงหรือ?’ เมื่อกลางเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาว่า ความหลากหลายทางวัฒนธรรม ไม่ใช่เพียงแค่การเข้าใจในวัฒนธรรมอื่นๆ แต่ต้องเป็นความเข้าใจที่เชื่อมโยงกับเงื่อนไขความสัมพันธ์ทางอำนาจที่อาจเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
“อยากให้มองความหลากหลายทางวัฒนธรรมให้เป็นการปฏิบัติจริง ไม่ใช่แค่จินตนาการ ต้องแปรความเข้าใจทางนามธรรมสู่การปฏิบัติจริง เพื่อเปิดพื้นที่ให้กับการแสดงความเป็นมนุษย์ของคนอื่นๆ ทำอย่างไรให้สังคมมีพื้นที่ในการปฏิสัมพันธ์ของคนต่างๆ ได้มากขึ้น ให้ชาวบ้านได้มีส่วนร่วมคิดและแสดงออกในสิ่งที่เขาเป็นและต้องการ” ดร.อานันท์ กล่าว
ถึงตอนนี้ หากลองหลับตาอีกครั้งแล้วนึกภาพว่าเวลาไปเยือนเมืองอื่นๆ เราอยากเห็นอะไรที่สามารถเรียกรอยยิ้ม และความปิติยินดีได้มากกว่าเห็นตึกรามใหญ่โตและรถราที่ขวักไขว่เหมือนในเมืองกรุง |
Be the first to comment on "เพราะรักษ์ราก ? แม่กลอง? จึงยั่งยืน"