เพิ่มบทบาทผู้หญิงแก้ปัญหาผู้หญิง

 

คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดชายแดนใต้

เพิ่มบทบาทผู้หญิงแก้ปัญหาผู้หญิง

เลขา  เกลี้ยงเกลา

“อิสลามให้เกียรติกันและกัน และเคารพสิทธิเสรีภาพของทุกคนโดยไม่เลือกปฏิบัติ โดยเฉพาะให้เกียรติกับผู้หญิงเป็นอย่างมาก”

          เป็นคำกล่าวของ นายแวดือราแม มะมิงจิ ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี ในการสานเสวนา เครือข่ายสตรีชายแดนใต้กับคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดชายแดนใต้ ถึงการให้เกียรติต่อทุกคนของอิสลาม เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2557 ณ ห้องประชุมเล็ก สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี จัดโดย เครือข่ายสตรีชายแดนใต้เพื่อสันติภาพสนับสนุนโดย ได้รับการสนับสนุนจาก กองทุนเสริมสร้างสันติภาพ (Peace-building Partnership Facility : PPF) โครงการสนับสนุนชุมชนท้องถิ่นเพื่อฟื้นฟูชายแดนภาคใต้ (ช.ช.ต.)

 

 

           ประเด็นสำคัญในการสานเสวนามี 5 ประเด็น คือครอบครัวเยาวชนชาย/หญิงผู้ได้รับผลกระทบชาวพุทธ และบทบาทสตรีต่อคณะกรรมการอิสลาม/ความร่วมมือต่อคณะกรรมการอิสลาม

สำหรับประเด็นครอบครัว  นางกามีละห์  อับดุลดานิงจากเครือข่ายชุมชนศรัทธา กล่าวถึงการหย่าร้างในสังคมมุสลิมที่เกิดขึ้นมากในปัจจุบัน ส่งผลกระทบต่อผู้หญิงที่ต้องรับภาระเรื่องการหารายได้ เลี้ยงลูก  บางครอบครัวลูกขาดความอบอุ่น ขาดการศึกษา  เสนอทางออกคือ ควรจัดการอบรมเรื่องครอบครัวมีสุข ส่วนครอบครัวที่ผู้หญิงทำงานนอกบ้าน  ส่งผลกระทบคือ ไม่มีเวลาให้ครอบครัว จึงต้องมีการพูดคุยและแบ่งเวลาแก่ครอบครัว

ประเด็นเยาวชนชาย/หญิง นางสูวารียะห์ แปเฮาะฮีเลจากต.บาโงยซิแน อ.ยะหา จ.ยะลา บอกว่าปัญหาใหญ่ของเยาวชนคือยาเสพติด เสนอทางออก  คือให้คณะกรรมการอิสลามเรียกประชุมผู้ปกครองให้ความรู้เรื่องยาเสพติด และบรรยายเรื่องโทษของยาเสพติดผ่านคุตบะห์ในวันศุกร์ ส่วนปัญหาท้องก่อนแต่ง  เกิดปัญหาความไม่พร้อมด้านเศรษฐกิจ การวางแผนชีวิต ต้องออกจากสถาบันการศึกษาก่อนวัยอันควร  ขาดความรู้ในเรื่องการเลี้ยงดูบุตร  การทำแท้งและทิ้งลูก ซึ่งสิ่งเหล่านี้ผิดหลักศาสนา ทางออกคือผู้นำชุมชนจัดอบรมเรื่องการวางแผนก่อนแต่งงาน (กรูซุส) คณะกรรมการอิสลามฯต้องออกกฎระเบียบตรวจสอบหอพัก/บ้านเช่าที่เด็กอยู่ร่วมกันเข้มงวด ส่วนการแต่งกายที่ผิดหลักศาสนา เกิดการยั่วยุทางอารมณ์ ทางออก คือคณะกรรมการอิสลามฯ ควรณรงค์การประชาสัมพันธ์ผ่านป้ายประกาศไวนิล,เสียงตามสายเรื่องการแต่งกายที่ถูกต้องตามหลักการศาสนา

นางรอฮานี  มะลีจากต.กระเสาะ อ.มายอ จ.ปัตตานี บอกถึงปัญหาเด็กกำพร้าที่แม่ต้องดูแลด้วยรายได้น้อยมาก ไม่มีทุนการศึกษา ให้มีการตั้งกองทุนแม่หม้าย สำหรับเด็กที่ขาดความอบอุ่นจากพ่อแม่ หันไปพึ่งยาเสพติด การเรียนตกต่ำ เสนอทางออก คืออยากให้ดูแลทั่วถึง โดยมอบหมายให้อีหม่ามของชุมชนเยี่ยมเยียนทุกๆ เดือนหรืออย่างน้อยปีละ 3 ครั้ง

ประเด็นเรื่องชาวพุทธ นางสุวรรณมณี นิมมานรัตน์ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ม.2 ตำบลดอนรัก อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี สอบถามเรื่องการร่วมกิจกรรมวันพ่อของมุสลิมว่ามีข้อจำกัดอะไรบ้าง และเสนอแนะให้คณะกรรมการอิสลามได้อธิบายเรื่องการอยู่ร่วมกันระหว่างชาวพุทธและมลายูมุสลิม เพราะไม่อยากให้เกิดความหวาดระแวงต่อกัน

ในประเด็นบทบาทสตรีต่อคณะกรรมการอิสลาม นางสาวสุริณี เปาะนิ จากสถานีวิทยุมีเดียสลาตัน บอกถึงผลกระทบว่า ขาดการเชื่อมโยงระหว่างผู้นำสตรีกับผู้นำทางศาสนาในด้านข้อมูลและในการปฏิบัติงานในชุมชน ทางออก คือสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างผู้นำสตรีกับผู้นำศาสนาเพื่อแก้ไขปัญหาร่วมกัน

นายแวดือราแม มะมิงจิ หรือ บาบอแม ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี โต๊ะอิหม่ามต้องรู้หน้าที่ ดูแลพฤติกรรมเยาวชนในชุมชน นำเอาหลักฮุก่มปากัตมาใช้ ทางสำนักงานฯ รับจัดการปัญหานี้ภายใน 3 ปี ซึ่งมีการจัดอบรมเยาวชนชายหญิงก่อนการแต่งงานอยู่แล้ว แต่ลดปริมาณลงเหลือครั้งละ 250 คนเพื่อให้มีคุณภาพที่ดี

“ทางคณะกรรมการอิสลามฯ ได้จัดการอบรมก่อนแต่งงานแก่เยาวชนและผู้ที่กำลังจะแต่งงานมาหลายปี แต่เนื่องจากสถานที่และเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอ งบประมาณที่มีจำกัดทำให้ต้องเพิ่มวันอบรมเป็น 2 วันและจำนวนผู้เข้าอบรมเหลือครั้งละ 250 คน เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศมาเลเซียที่ต้องเข้าอบรมถึง 15 วัน ทางออก คือ ประชุมระหว่างผู้นำในชุมชนว่าต้องมีการนำหลักฮูก่มปากัตมาใช้ในชุมชนหากใครจะแต่งงานต้องผ่านการอบรมก่อนแต่งและได้รับใบประกาศ หากไม่มีต้องมีเงินประกัน3,000 บาท จึงจะจัดงานแต่งได้ด้านปัญหาเด็กกำพร้า  ทางพลโทอดุลย์ แสงสิงห์แก้ว รมต.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ให้ช่วยไปดูแลผู้สูงอายุ สิ่งแรกที่สำนักงานฯ ทำตอนนี้ คือ จัดโครงการไปทำอุมเราะห์แก่ผู้สูงอายุที่อายุ 60 ปีขึ้นไปที่ผ่านการคัดเลือกจำนวน 45 คนในเดือนเมษายนปีหน้า”

สำหรับปัญหาที่มีในทุกชุมชนและเป็นศัตรูของทุกศาสนาคือยาเสพติด บาบอแมบอกว่าทุกคนต้องมีรับผิดชอบ อิหม่ามต้องมีบทบาท รู้หน้าที่ ดูแลพฤติกรรมเยาวชนในชุมชน เป็นความรับผิดชอบของคณะกรรมการฯ ไปพูดคุยกับนายอำเภอและหน่วยเฉพาะกิจ(ฉก.) ส่วนเรื่องการร่วมวัฒนธรรมระหว่างชาวไทยพุทธ-มุสลิม อิสลามมีกรอบหากเป็นเรื่องของความเชื่อและพิธีกรรมซึ่งมุสลิมไม่สามารถเข้าร่วมได้ สำหรับการจัดงานวันพ่อ ซึ่งทางสำนักจุฬาราชมนตรีประกาศไว้ถือว่าจัดได้ในแนวทางของอิสลาม  สำหรับข้าราชการไทยมุสลิมที่ไม่สามารถร่วมงานวันพ่อนั้น ทางสำนักงานคณะกรรมการฯ มีการจัดในวันที่ 4 ธันวาคมของทุกปีตามรูปแบบของอิสลาม ส่วนเรื่องงานทางสังคม เช่น งานแต่งงาน มุสลิมสามารถเข้าร่วมได้ และเรื่องนิคมอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล รัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณ 22 ล้านบาทเพื่อปรับปรุงถนนหนทาง

นอกจากนี้ บาบอแมได้กล่าวว่า ขณะนี้กำลังมีการก่อสร้างสำนักงานฯ แห่งใหม่ที่ ต.ทุ่งนเรนทร์ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ซึ่งจะจัดห้องที่เหมาะสมให้ผู้หญิงได้เข้าไปทำงานในด้านแก้ปัญหาของผู้หญิง คาดว่าในปีหน้าคงสร้างเสร็จ

บางความเห็นของผู้เข้าร่วมสานเสวนาเช่น

อารีนา เบ็นตีมูฮำหมัด จากสมาคมสตรีมุสลิม 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า เมื่อเกิดปัญหาในชุมชนไม่สามารถช่วยเหลือมุสลิมะฮฺได้ในทันที จึงเสนอให้คณะกรรมการอิสลามฯ แต่งตั้งคณะกรรมการในชุมชนเพื่อให้คำปรึกษาและช่วยเหลือได้ทันที

นายสะมะแอ บาแย คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี ฝ่ายไกล่เกลี่ย บอกว่า สตรีเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันเพื่อให้การเปลี่ยนแปลงสังคมและเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีเรื่อยมา ส่วนปัญหาในสังคมคณะกรรมการฯ ทราบดีอยู่แล้ว เมื่อมีแกนนำสตรีเข้ามาสานเสวนาทำให้ตระหนักถึงปัญหาทุกวันนี้มากขึ้น

“เรามองเยาวชนว่ามีแต่สร้างปัญหา แต่ไม่ดูพ่อแม่ว่าเป็นอย่างไร  วันนี้เราต้องปฏิรูปตัวเอง ปฏิรูปครอบครัว ปฏิรูปสังคม จึงจะสามารถแก้ไขเรื่องต่างๆ ได้”

 

 

คำอธิบาย

 

ฮุก่มปากัต – กฏเกณฑ์ของหมู่บ้าน

มุสลิมะฮฺ – ผู้หญิงมุสลิม

บาบอ – คำเรียกขานในเชิงให้เกียรติและยกย่องผู้รู้ในชายแดนใต้ มีความหมายว่า “คุณพ่อ” หรือ “พ่อครู”

อิหม่าม – ผู้นำทางศาสนาอิสลามในชุมชนมุสลิม

Be the first to comment on "เพิ่มบทบาทผู้หญิงแก้ปัญหาผู้หญิง"

Leave a comment

Your email address will not be published.