จังหวัดเลย ท้องถิ่นที่ใครหลายคนชอบแซวว่าไปไม่ถึงสักที แต่ถ้าใครได้มีโอกาสไปเยือนก็มักจะกลับมาพร้อมกับความประทับใจในธรรมชาติ ขุนเขา และความงดงามของประเพณีท้องถิ่นเมืองเลย แต่เบื้องหลังธรรมชาติและวัฒนธรรมอันงดงาม…
โครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะ – ท้องถิ่นน่าอยู่ จ.เลย |
||||||||||||
|
||||||||||||
ขณะที่ผืนป่าอีกจำนวนมากกำลังถูกแปรสภาพกลายเป็นพื้นที่เพาะปลูกพืชเชิงเดี่ยวและพืชพาณิชย์ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อความอุดมสมบูรณ์ของดินและน้ำตามมา สิ่งที่น่าตกใจไปกว่านั้นทั้งหมด คือ พื้นที่เกือบทั้งหมดที่กล่าวมาอยู่ภายใต้ประกาศเขตป่าอนุรักษ์หรือพื้นที่ที่มีความสำคัญเชิงระบบนิเวศ ธรรมชาติที่เคยเป็นทรัพย์อันมีค่าของคนเมืองเลยและคนไทยทั้งประเทศจึงกำลังถูกปล้น แย่งชิง แย่งใช้ และถูกแย่งเป็นเจ้าของจนเข้าสู่ภาวะอ่อนแอและแทบหมดแรงลงไปทุกที “เชื่อไหมว่าปี 45 เกือบทะเลาะกัน คือคนที่ลุ่มไปโทษคนบนเขาว่าตัดไม้ทำลายป่า จริงๆ เขาไม่ได้ตัดหรอก มีนายทุนไปตัดเมื่อ 30 ปีก่อน นายทุนก็ตายไปแล้ว เขาทำอะไรไม่ได้ ตอนนี้เขาไม่รู้จะทำอะไร เขาก็เลยต้องปลูกข้าวโพด ปีที่แล้วราคาดี ปีนี้ก็ปลูกหนักกว่าเก่าอีก เราก็เลยบอกว่าอย่าทะเลาะกันเลย มาเรียนรู้ว่าต้องทำยังไงดีกว่า” น.พ.ภักดี สืบนุการณ์ ผอ. โรงพยาบาลพระยุพราชด่านซ้าย นี่คือ ข้อเท็จจริงจากพื้นที่เมื่อฐานทรัพยากรที่ทุกคนต่างใช้สอยและพึ่งพิงร่วมกันกลายเป็นประเด็นความขัดแย้งของคนบ้านเดียวกัน ไม่แตกต่างจากปัญหาความขัดแย้งระหว่างภาครัฐกับประชาชนที่มักกลายเป็นคู่กรณีกันเสมอบนเส้นทางที่ว่าด้วยเรื่องทรัพยากร อย่างไรก็ตาม ในบางพื้นที่ก็มีความพยายามที่จะแก้ไขปัญหาอย่างละมุนละม่อมที่สุด เช่น การสร้างแนวกันชนระหว่างพื้นที่ป่าอนุรักษ์กับป่าใช้สอยของชาวบ้านซึ่งนับเป็นทางออกที่ยอมรับร่วมกันได้ของทั้งฝ่ายที่ต้องการอนุรักษ์ป่าและชาวบ้านที่ยังต้องพึ่งพิงอาศัยและใช้ประโยชน์จากป่า ประสบการณ์หลายครั้งที่ผ่านมาจึงควรแก่การตีค่าให้เป็นบทเรียนเล่มใหญ่ที่ว่าด้วยเรื่องการจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่ขาดการมีส่วนร่วม ขาดการสื่อสารพูดคุย เมื่อไม่สร้างความชัดเจนหรือความถูกต้องร่วมกัน ย่อมไม่เข้าใจและนำมาสู่ความไม่พอใจซึ่งกันและกันในที่สุด กลายเป็นปัญหาเล็กที่ขยายใหญ่จนซับซ้อนและยากต่อการเยียวยา ความหวังที่คนเมืองเลยจะร่วมกันสร้างสังคมอันงดงามจึงยิ่งถอยห่างออกไปไกลทุกที |
||||||||||||
ขณะที่ชาวบ้านภูค้อภูกระแต อำเภอภูกระดึง ใช้วิทยุชุมชนคนรักษ์ป่าเป็นเครื่องมือสำคัญในการขยายแนวร่วมเพื่อดูแลป่าชุมชนของตนเอง นอกจากนี้ สิ่งที่ไม่อาจเห็นผลได้ในทันทีจากการทำงานผ่านสื่อวิทยุชุมชน ก็คือ การสร้างจิตสำนึกในการหวงแหนทรัพยากรของท้องถิ่นผ่านพื้นที่สาธารณะเหล่านี้ ด้วยความหวังว่าในวันหนึ่งคนท้องถิ่นเลยจะลุกขึ้นมาจัดการทรัพยากรของท้องถิ่นตนเองด้วยความคิดและเสียงของตัวเอง |
||||||||||||
หนทางที่จะช่วยชุบชีวิตแม่น้ำเลยให้กลับคืนมาอีกครั้งจึงเป็นที่มาของงาน ธรรมธารา…ต่อชะตาแม่น้ำเลย ในพื้นที่ 4 อำเภอ ตั้งแต่ต้นน้ำบนเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง อำเภอภูหลวง ไหลขึ้นไปทางทิศเหนือที่อำเภอวังสะพุง ผ่านอำเภอเมือง และไหลไปออกแม่น้ำโขงที่อำเภอเชียงคาน ตลอดเส้นทางจะมีพิธีกรรมที่แตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับชุมชนท้องถิ่นนั้นๆ จะจัดเตรียมขึ้น เช่น พิธีบายศรีสู่ขวัญแม่น้ำ พิธีขอขมาแม่น้ำ ขบวนแห่ขันหมากเบ็ง ขบวนรณรงค์ร่วมอนุรักษ์แม่น้ำเลย รวมไปถึงกิจกรรมในช่วงกลางคืนที่มีรูปแบบหลากหลายตามแต่วัฒนธรรมหรือการแสดงพื้นถิ่นของแต่ละชุมชน ซึ่งไม่เพียงเชื่อมสัมพันธ์ของคนท้องถิ่นไทเลยเท่านั้น แต่ยังเป็นพื้นที่สำหรับการพูดคุยเสวนาและชมวีดิทัศน์เกี่ยวกับลำน้ำเลยที่เปลี่ยนไป ตลอดจนการเรียนรู้วัฒนธรรมที่แตกต่างของคนลุ่มน้ำเดียวกัน ทั้งจากการฟังปาฐกถาธรรม การละเล่นพื้นบ้าน และการแสดงดนตรี เป็นต้น ปรากฎการณ์ที่พอจะอธิบายพลังที่ยังคงมีอยู่ในท้องถิ่นเมืองเลยให้ออกมาร่วมกันรับรู้ รับฟัง เรื่องราวคุณค่าตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันของทรัพยากรธรรมชาติเช่นแม่น้ำเลย น่าจะพอวัดได้จากทั้งจำนวนและความมุ่งมั่นเป็นหนึ่งเดียวของผู้เข้าร่วมงานที่มาจากทั้งภายในและภายนอกชุมชน โดยเฉพาะเมื่อถึงพิธีกรรมการต่อชะตาให้แม่น้ำเลยที่แม้ความสงบนิ่งจะเข้ามาเยือนแต่ก็เต็มไปด้วยมนต์ขลังและความหมาย ด้วยความหวังของทุกคนที่จะเห็นแม่น้ำเลยยังคงเป็นแหล่งน้ำกินน้ำใช้ที่มีชีวิตอยู่คู่เมืองเลยต่อไป ความร่วมไม้ร่วมมือจากผู้ร่วมงานที่หลากหลายตั้งแต่ระดับชุมชนหมู่บ้านไปถึงระดับจังหวัด ตั้งแต่พระสงฆ์ ชาวบ้าน ครู นักเรียน ผู้นำท้องถิ่น ไปจนถึงนักการเมืองท้องถิ่น ไม่ว่าจะลงแรง ลงใจ หรือลงขัน ต่างก็เป็นผู้ได้ประโยชน์จากแม่น้ำร่วมกัน ทุกคนจึงออกมาร่วมพิธีกรรมสำคัญนี้โดยมิได้มีการร้องขอ แม้จะบอกไม่ได้ว่าสภาพแม่น้ำเลยจะกลับคืนมาดีดังเดิมหรือไม่ในเร็ววันนี้ แต่สิ่งที่ได้เกิดขึ้นตลอดเวลา 11 วันของการเดินทางไปกับสายน้ำเลยแห่งนี้ น่าจะสะท้อนถึงการหันมาเอาธุระกับสิ่งที่เป็นชะตากรรมร่วมเดียวกันของท้องถิ่นบนวิถีวัฒนธรรมของคนไทเลย ความเปลี่ยนแปลงหนึ่งที่เกิดขึ้นและน่าจะเป็นนิมิตหมายที่ดีของการประสานประโยชน์กับองค์กรส่วนท้องถิ่นซึ่งจะเข้ามามีบทบาทในการจัดการทรัพยากรท้องถิ่นในอนาคต เมื่อองค์การบริหารส่วนจังหวัดเลยเห็นดีด้วยกับการเคลื่อนไหวงานธรรมธาราต่อชะตาแม่น้ำเลย จึงพิจารณาบรรจุไว้ในแผนงาน 3 ปี และสนับสนุนงบประมาณเพื่อการนี้อย่างจริงจัง นอกจากนี้ คณะทำงานยังได้รับการยอมรับให้ไปทำหน้าที่เป็นวิทยากรอบรมจัดสัมมนาให้กับองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) หลายแห่งอีกด้วย |
||||||||||||
N ปัญหา อุปสรรค และการฝ่าฟัน
ปัญหาเรื่องการจัดการทรัพยากรธรรมชาติโดยมากเกิดขึ้นจากนโยบายของรัฐบาล ซึ่งมักใช้วิธีการหยิบยื่น เอามาให้ หรือบางครั้งเป็นการยัดเยียด ซึ่งความชินชาที่ได้รับจะยิ่งทำให้ชุมชนอ่อนแอ รอแต่การช่วยเหลือ อย่างไรก็ดี จากโอกาสที่ได้ร่วมงานกันทำให้แต่ละฝ่ายได้เรียนรู้วิธีคิด วิธีการทำงานที่แตกต่างออกไป ซึ่งจะช่วยปรับยุทธวิธีการทำงานของกันและกันได้ในอนาคต สำหรับการจัดงานธรรมธาราต่อชะตาแม่น้ำเลย แม้ความสำเร็จหนึ่งที่ได้ระบุไว้ภายหลังการจัดงานแล้วเสร็จ คือ การที่มีภาคส่วนต่างๆ ในท้องถิ่นเมืองเลยออกมาร่วมกันอย่างหลากหลายและมากมายอาทิ จังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อบจ. อบต. เทศบาล) ผู้นำท้องถิ่น สถานศึกษา โรงพยาบาล สถานีตำรวจ เครือข่ายเด็กและเยาวชน องค์กรพัฒนาเอกชน และประชาสังคม แต่ภายใต้วัฒนธรรมการทำงานที่ต่างกัน ย่อมทำให้ภาคประชาสังคมซึ่งเป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนต้องยอมรับในความแตกต่างที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะระบบการทำงานแบบแนวดิ่งซึ่งมักไม่เกิดขึ้นในการทำงานของภาคประชาสังคม อย่างไรก็ดี การเรียนรู้ในข้อเด่นข้อด้อยของหน่วยงานองค์กรต่างๆ ได้ช่วยปรับวิธีการทำงานและคลี่คลายสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ในระดับหนึ่ง การทำงานกับคนหมู่มากที่อาจคุ้นชินกับวิธีคิดแบบชุดโครงการที่มีงบประมาณเป็นตัวนำ ยังนำมาซึ่งการตั้งคำถามหรือข้อคลางแคลงใจเกี่ยวกับเรื่องงบประมาณหรือผลประโยชน์ที่เกิดขึ้น คณะทำงานจึงจำเป็นต้องสร้างความชัดเจน โปร่งใส ให้เกิดขึ้นในการทำงานด้วยการชี้แจงข้อมูลเกี่ยวกับงบประมาณให้ทุกคนรับทราบหรือซักถามข้อสงสัย เช่น มีงบประมาณเท่าไร ชุมชนจะต้องช่วยอีกเท่าไร จะหาได้จากที่ไหน อย่างไร ซึ่งไม่เพียงสร้างความเข้าใจให้ถูกต้องร่วมกัน แต่จะเป็นการสร้างความเป็นธรรมาภิบาลให้เกิดขึ้นในองค์กรและการทำงานอีกด้วย นอกจากนี้ ด้วยจุดยืนและเจตจำนงของคณะทำงานที่มุ่งใช้กุศโลบายทางวัฒนธรรมและศาสนาเพื่อรักษาทรัพยากรของท้องถิ่นเอาไว้ คณะทำงานควรเข้มงวดเรื่องการดื่มเครื่องดองของเมา เพราะทำลายบรรยากาศของงานบุญที่ทุกคนควรตั้งมั่นในศีลธรรมไปด้วยกัน N ข้อค้นพบและบทเรียน 1. พลังชุมชนชาวบ้านเป็นพลังที่บริสุทธ์ เข้มแข็ง และมีความพร้อมที่จะลุกขึ้นมา แต่มักถูกซ่อนอยู่ในสังคม เพราะการไม่มีโอกาสหรือพื้นที่เพื่อพลังบริสุทธิ์ได้แสดงออกอย่างชัดเจนและเพียงพอ 2. การผลักดันให้ ‘ความรู้สึกร่วม’ ของคนในท้องถิ่นกลายเป็นชะตากรรมร่วมที่ต้องฝ่าฟันไปด้วยกัน นั่นคือการมีสำนึกในการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่นตนเอง โดยใช้มิติทางศาสนา วัฒนธรรม และความเชื่อเป็นเครื่องยึดเหนี่ยว ซึ่งถือเป็นรูปแบบใหม่ของการทำงานที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในท้องถิ่น 3. การจัดงานธรรมธารา…ต่อชะตาแม่น้ำเลยได้สร้างโอกาสของการร่วมกันทำงานระหว่างภาครัฐและภาคประชาชน ซึ่งนำไปสู่การเรียนรู้วิธีการทำงานและวัฒนธรรมในการทำงานที่แตกต่างของกันและกันแม้แต่ในหมู่ภาคประชาชนเองก็ตาม ทำให้เห็นจุดแข็งจุดอ่อนของหน่วยงานต่างๆ ซึ่งจำเป็นต้องให้เกียรติ ยอมรับ และปรับหาวิธีการหรือรูปแบบที่เหมาะสมโดยไม่ให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องรู้สึกเสียประโยชน์ (win-win situation) แต่ต่างเห็นประโยชน์ร่วมที่จะเกิดขึ้นไปพร้อมกัน 4. เมื่อใดที่ทุกภาคส่วนในสังคมได้ร่วมกันสร้างสำนึกรับผิดชอบต่อท้องถิ่นและจิตสำนึกที่เป็นสาธารณะแล้ว ประโยชน์แก่ท้องถิ่นก็จะเกิดขึ้นเสมอ |
||||||||||||
FACT SHEET เอกสารข้อมูล |
||||||||||||
เอกสารข้อมูลประกอบ : ห้องย่อยที่ 3 การจัดการทรัพยากรเพื่อท้องถิ่นน่าอยู่ | ||||||||||||
เวทีสัมมนาวิชาการประชาสังคม “ทำการเมืองภาคพลเมืองในท้องถิ่นไทย : ความท้าทายแห่งยุคสมัย” วันที่ 19 พฤศจิกายน 2549 ที่ โรงแรม ปริ๊นพาเลซ กทม | ||||||||||||
สนับสนุนข้อมูลโดย
โครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะ – ท้องถิ่นน่าอยู่ จ.เลย ประชาสังคมจังหวัดเลย เลขที่ 3 ซอย 10 ถ.พิพัฒน์มงคล ต.กุดป่อง อ.เมือง จ.เลย 42000 โทรศัพท์ 0-4283-2659 จัดทำโดย โครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะ – ท้องถิ่นน่าอยู่ มูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา เลขที่ 693 ถ.บำรุงเมือง เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ 10100 โทรศัพท์ 0-2621-7810-2 โทรสาร 0-2621-8042-3 www.ldinet.org สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) |
Be the first to comment on "เมื่อคนเลยมาร้อยใจ ร่วมรักษ์เมืองเลย"