เราต้องไปสู่ภพภูมิใหม่ แปรวิกฤติเป็นโอกาส

 

หลังจากงานเขียนมหาสยามยุทธ ภาวินี อินเทพ ผู้สื่อข่าวเนชั่นสุดสัปดาห์ ตามติด สัมภาณ์ ศ.นพ.ประเวศ วะสี ร่วมค้นหาทางออก แปรวิกฤติการณ์ทางการเมืองเป็นโอกาส เปลี่ยนสังคมไทยสู่ภพภูมิใหม่เป็นสังคมแห่งอารยะ ผ่านระบบการศึกษา

ถึงแม้ว่า สถานการณ์ทางการเมืองวันนี้ จะขยายใหญ่โตจนหลายคนคิดว่า ไม่สามารถพูดจากันได้หรือก้าวผ่านจุดของการสานเสวนาไปแล้วก็ตาม แต่ราษฏรอาวุโส อย่าง หมอประเวศ ยังเชื่อว่า วิกฤติครั้งนี้ คือ โอกาสที่สร้างสังคมใหม่ ผ่านการเรียนรู้ใหม่ ผ่านจิตสำนึกใหม่ จิตสำนึกที่กว้างใหญ่ มองคนทุกคนที่แตกต่างหลากหลายกันได้และไม่จำเป็นต้องขัดแย้ง
ทีมสื่อสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา ขอนำบทสัมภาษณ์ของคุณภาวินี ขึ้นบนพื้นที่ความรู้ในงานพัฒนาผ่านเวปไซต์แห่งนี้เพื่อเป็นประโยชน์สาธารณะ
เพื่อสังคมแห่งการเรียนรู้ร่วมกัน

 

 

@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@

“เราต้องไปสู่ภพภูมิใหม่ แปรวิกฤติเป็นโอกาส”

ศ.นพ. ประเวศ วะสี

โดย ภาวินี อินเทพ เนชั่นสุดสัปดาห์

โครงการระพีเสวนาที่เน้นการศึกษาใหม่นี้ถือว่ามาถูกเวลา

ที่จริงมันน่าจะเกิดขึ้นมานานแล้ว เราไปเสียเวลาการปฏิรูปการศึกษามานานแต่ไม่ได้ปฏิรูปการเรียนรู้ จะว่าไปแล้ว มันก็ช้า เวลาล่วงไปตั้งร้อยกว่าปีที่เรามีการศีกษาแบบตัดรากวัฒนธรรมแล้วความเสียหายมันเกิดขึ้นเหลือคณานับ คนไม่ได้มองตรงนี้
เรื่องวัฒนธรรมนี้ หมายความว่า เป็นวิถีชีวิตร่วมของกลุ่มชนที่สอดคล้องกับสิ่งแวดล้อม มันรวมอยู่ในนั้น ทั้งความเชื่อ คุณค่าอาชีพที่ชำนาญและสิ่งแวดล้อมก็อยู่ในวัฒนธรรม การดูแลรักษาสุขภาพก็เป็นวัฒนธรรม การจัดการใช้ทรัพยากร ป่าไม้ทั้งหลายเหล่านั้นก็เป็นวัฒนธรรม เพราะฉะนั้น ตัววัฒนธรรมหรือวิถีร่วมกันนี้ มันทำให้เกิดการอยู่ร่วมกันอย่างสมดุล ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์และระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม เพราะฉะนั้น มนุษย์ที่อยู่ในร่มวัฒนธรรม มันจึงมีความมั่นคงเป็นพันๆ ปี แต่พอมาตอนหลังสมัยใหม่วัฒนธรรมถูกกระแทกแตกไป ด้วยอำนาจ 3 อย่าง
หนึ่ง อำนาจรัฐ ที่ไม่สนใจผู้คนว่ามีวิถีชีวิตอย่างไร ใช้กฏหมายต่างๆ เหมือนที่เกิดเรื่องในสามจังหวัดชายแดนใต้
สอง อำนาจเงิน ก็ไม่สนใจชีวิตเหมือนกัน เหมือนศูนย์การค้าขนาดใหญ่ไปตั้งก็ทำให้ชุมชนที่เคยมีรายได้เล็กรายได้น้อยตามวิถีถูกทำลายหมด
สาม อำนาจระบอบการศึกษาที่คนไม่ค่อยคำนึงถึงตรงนี้เท่าใดนักเพราะมันเหมือนอยู่นอกวัฒนธรรม อย่างที่เราเป็น สมมติ แพทย์ไปชนบทไม่ได้เพราะแพทย์เรียนนอกวัฒนธรรม เราผลิตแพทย์มาเยอะก็อยู่ชนบทไม่ได้ นอกจาก บางคนที่เขาชอบ เขาจึงสามารถพัฒนาตัวเองเข้ากับวัฒนธรรมชาวบ้านได้ เขาก็มีความสุข อยู่ได้นาน แต่ส่วนใหญ่อยู่ไม่ได้นานเพราะการศึกษามันอยู่นอกวัฒนธรรมมาแต่ต้น
การที่มีการทดลองที่โรงเรียนรุ่งอรุณจึงเป็นการปฏิรูปการเรียนรู้ที่คำนึงถึงเรื่องราวมากมาย การเอาชีวิตกับการเรียนรู้มาอยู่กับวัฒนธรรม สิ่งแวดล้อมต่างๆ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญ เป็นการเรียนรู้ที่ดี เป็นเรื่องที่ประเสริฐที่สุดของมนุษย์ มนุษย์มีเซลล์สมองสามารถเรียนรู้อะไรก็ได้ ให้บรรลุอะไรก็ได้ทั้งนั้น ถ้ามีกระบวนการเรียนรู้ที่ดี เพราะฉะนั้น กระบวนการเรียนรู้ที่ดีจึงเป็นสิ่งที่ดีที่สุดแต่เราสนใจน้อย
ฉะนั้น มันควรจะต้องมีการเรียนรู้ใหม่หรือ NEW LEARNING หรือว่า นวัตกรรมการเรียนรู้ (Innovative Learning) เป็นเรื่องสำคัญเพราะการเรียนรู้ที่ดีช่วยให้คนมีความสุข ทำงานเป็น คิดเป็น อยู่ร่วมกันเป็น
งานในเครือข่ายนี้ จึงเป็นการทดลอง การเรียนรู้ใหม่ โดยมุ่งที่ความเป็นมนุษย์ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ศักยภาพต่างๆ เข้ามา ไม่ใช่เอาวิชาเป็นตัวตั้งแต่ก็ไม่ได้ทิ้งวิชา ยังถือเป็นตัวประกอบการเรียนรู้ส่วนหนึ่ง
การศึกษาไม่ถูกทางก่อให้เกิดผลกระทบมากมาย แล้วสถานการณ์บ้านเมืองขณะนี้ถือเป็นหนึ่งในความพิกลพิการที่ว่านั้นด้วยหรือไม่
เป็นด้วยนะ มันส่งอาการไปหลายอย่างมากมาย นั่นคือ ส่งไปสู่การอยู่ร่วมกันไม่เป็น ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์และระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ
เป้าหมายการศึกษาที่แท้จริงเป็นอย่างไร
การศึกษาต้องนำไปสู่ปัญญา ต้องไปให้ถึงปัญญา ปัญญากับความรู้นั้นจะต่างกัน Knowledge กับ Wisdom
ตอนนี้การศึกษาเป็นแบบเอาความรู้เป็นตัวตั้ง ปัญญา หมายถึง รู้ทั้งหมด ความรู้ คือ รู้เรื่องนั้นเรื่องนี้เฉพาะวิชานั้นวิชานี้ แต่ปัญญา หมายถึง รู้ทั้งหมดและรู้ทั้งหมดนี้ หมายถึง รู้ตัวเองด้วยแต่การศึกษาปัจจุบันไม่มีเลยที่จะศึกษาแล้วรู้ตัวเอง ถ้าเรารู้ทั้งหมดและรู้ตัวเองด้วย ทำให้เราสามารถจัดลำดับความสัมพันธ์ระหว่างตัวเรากับคนอื่นและตัวเรากับสิ่งอื่นได้ถูกต้องแล้วความสัมพันธ์ที่ถูกต้อง คือ จริยธรรม
การศึกษาแบบเก่านั้นจะไม่มีจริยธรรม ถ้ามีปัญญาจะมีจริยธรรมไปในตัวด้วย คือ รู้ทั้งหมดและรู้ตัวเองด้วย แต่แบบเดิม คือ เป็นความรู้ที่ท่องอย่างเดียว ท่องจบแล้วทำไม่เป็นเพราะไม่ได้เรียนรู้ด้วยการลงมือทำ มีแต่ท่องอย่างเดียว อะไรดีๆ ที่ควรจะเกิดในก็ไม่เกิด การเรียนด้วยการท่องเป็นความพิการอย่างหนึ่ง มันไม่เหมือนชีวิตจริง เราเกิดมา เราก็ต้องเรียนรู้ที่จะนั่งเดิน ทำอะไรต่างๆ ล้วนเป็นการเรียนรู้จากการปฏิบัติ
ในวิถีชีวิต เราก็ต้องเรียนรู้จากคน ทั้งเรื่องความสำคัญ ความรับผิดชอบ ซึ่งความรู้มี 2 ประเภทใหญ่ คือ ความรู้ในหนังสือกับความรู้ในตัวคนที่มากับความหมาย มันต่างกัน ความรู้ในหนังสือมาจากการวิจัย การเรียบเรียงหรืออาจจะแปลมาจากที่อื่นเพราะฉะนั้นพื้นฐานมันอาจจะเรียกได้ว่าเป็นวิทยาศาสตร์เกิดจากการคิดค้น การวิจัย ส่วนความรู้ในตัวคนเกิดจากความรู้ที่มาจากประสบการณ์ชีวิตได้มาจากการทำงาน
ยกตัวอย่างเช่น คนขายก๋วยเตี๋ยวมีความรู้ในการทำก๋วยเตี๋ยวมาก ไปปลุกตอนเที่ยงคืนให้สอนทำก๋วยเตี๋ยวเขาทำได้เพราะเขาทำมากับมือ แต่ถ้าปลุกครูตอนเที่ยงคืนให้มาสอน สอนไม่ได้เพราะความรู้ไม่แน่น ยังไม่ได้เตรียมการสอน ขอตั้งตัวก่อน เอาหนังสือมาเปิดมาดูก่อนจะทำอะไร
ตรงนี้จะบอกได้ว่า ครูที่ดีที่สุดของเราก็คือ แม่ โดยไม่ต้องคำนึงถึงการศึกษาของแม่หรอกว่าแม่เคยเข้าโรงเรียนหรือจบมหาวิทยาลัยหรือเปล่า ทุกคนจะสอนลูกดีๆ ทั้งนั้นเพราะแม่มีความรู้อยู่ในตัว จากประสบการณ์ชีวิต จากการทำงาน แต่ว่า ระบบการศึกษาของเราไม่ได้ให้คุณค่ากับความรู้ในตัวคน ไปให้คุณค่ากับความรู้ในตำรา ซึ่งมีน้อยคนเท่านั้นที่จะเก่งเรื่องความรู้ในตำรา
ถ้าเราทำแบบนี้ก็เท่ากับคนน้อยคนที่จะมีเกียรติแล้วมองว่าคนส่วนใหญ่ไม่มีเกียรติเหมือนคนขายก๋วยเตี๋ยว ช่างผสมปูน คนขายของชำ ช่างเสริมสวย มีเกียรติไหมในสังคมไทย จริงๆ เขามีความรู้ที่มีประโยชน์ เขามีรายได้แต่เขาไม่มีเกียรติ
มาถึงจุดสำคัญของการอยู่ร่วมกันของคนเรา เราต้องเคารพคุณค่าศักดิ์ศรี คุณค่าของความเป็นคนของคนทุกคนอย่างเท่าเทียมกันเพราะเขาเกิดมาเป็นคนเหมือนกัน เขาจะเป็นอะไรก็แล้วแต่ เด็ก ผู้หญิง คนแก่ คนจน เป็นคนในเมือง นอกเมือง ฯลฯ เขาก็เป็นคน เขาก็ต้องมีศักดิ์ศรีความเป็นคนของเขา
แล้วเรื่องความเป็นธรรมสำคัญมาก สำคัญกับมนุษย์เหลือเกินเพราะมนุษย์ยอมได้ทุกอย่าง ทั้งลำบากก็ยอมได้ ถ้ามีความเป็นธรรม แม้กระทั่งยอมตายยังยอมเลย ถ้ามีความเป็นธรรมเพราะฉะนั้น ความเป็นธรรม คือ การอยู่ร่วมกันอย่างยุติธรรม อย่างนี้ ถึงอยู่ด้วยกันได้ เราต้องดูตรงนี้ซึ่งสังคมไทยขาดแล้วการศึกษาเราไม่ได้ช่วยเลยกลับซ้ำเติมตรงนี้มากขึ้น
ถ้ามีปัญญาก็สามารถเชื่อมโยงสิ่งต่างๆ เข้าด้วยกันได้
น่าเสียดายที่ตอนนี้คนรู้แบบแยกส่วน รู้ในลักษณะนี้เวลาจะทำอะไรก็ติดขัดไปหมดเพราะเรื่องความเป็นจริงมันเชื่อมโยงกันหมด
ถ้ามองจากระบบการศึกษามายังสถานการณ์บ้านเมืองเวลานี้ชัดๆ แล้วอธิบายได้อย่างไรบ้าง ถึงผลกระทบของการศึกษาไม่ถูกทาง
ประชาธิปไตยก็ไม่เกิดทั้งๆ ที่พยายามมา 75-76 ปี เพราะว่า เราไปมองประชาธิปไตยแต่กลไก มีเลือกตั้ง ตั้งสภา ตั้งรัฐบาล เท่านั้น แท้จริงประชาธิปไตยเป็นเรื่องของประชาชนต้องมีจิตสำนึกทางการเมือง มีจิตสาธารณะเรื่องส่วนรวมแล้วก็มีส่วนร่วมในการพัฒนาในกิจไตยหรือสาธารณะ เรื่องการพัฒนา เรื่องการตัดสินใจทางนโยบาย เรื่องต่างๆ ที่นี้ถ้ามีตรงนั้น เรียกว่า วิถีชีวิตเป็นประชาธิปไตยหรือวัฒนธรรมประชาธิปไตย
เพราะประชาธิปไตย คือ วิถีชีวิต หมายถึง การมีจิตสำนึกประชาธิปไตยซึ่งรวมถึงการเคารพคนอื่นแล้วก็มีจิตสาธารณะคำนึงถึงส่วนร่วมที่จริงระบบการศึกษา รวมไปถึงการมีส่วนร่วม ไม่คำนึงเฉพาะส่วนตัว อันนี้เราก็ไม่ได้ทำ ในระบบการศึกษา รวมไปถึงการมีส่วนร่วมที่จริงระบบการศึกษามันใหญ่โตมากแต่ไม่ได้ทำตรงนี้เลย มีแต่ท่องความรู้ ถ้ามีวัฒนธรรมประชาธิปไตย ถึงไม่มีรัฐธรรมนูญ องค์การการเมืองก็เป็นไปได้ อย่างอังกฤษก็ไม่มีรัฐธรรมนูญเป็นลายลักษณ์อักษรเลยแต่เขามีวิถีมีวัฒนธรรมประชาธิปไตยเพราะฉะนั้นองค์กรทางการเมืองเขาก็มีการติดตาม เช่น สภารัฐบาลต่างๆ ทีนี้ของเราไม่ได้สนใจเรื่องวัฒนธรรมประชาธิปไตย สนใจแต่กลไกทางการเมืองเพราะฉะนั้น ประชาธิปไตยจึงไม่เกิดตรงนี้
ระบบการศึกษามันสำคัญ ทั้งระบบเลย มันใหญ่โตมาก มหาวิทยาลัยต่างๆ ก็แล้วแต่ ตรงนี้มันทำให้เรื่องการศึกษาเรื่องประชาธิปไตยมันก็มีผลมากแต่ไม่ได้ทำ
กระบวนการไกล่เกลี่ยในวิถีวัฒนธรรมประชาธิปไตยเป็นอย่างไร
ทุกคนต้องสามารถอยู่ร่วมกันได้ด้วยสันติแต่ถ้ามีความขัดแย้งเกิดขึ้น มันก็ต้องมีกระบวนการคลายความขัดแย้งออกด้วย สันติวิธี อันนี้อยู่ในวิถีชีวิตของการอยู่ร่วมกัน ในชีวิตชุมชนแต่โบราณมันจะมีเรื่องของคนทะเลาะกันขัดแย้งกันเป็นเรื่องธรรมดาแต่ก็มีผู้ใหญ่ ครูที่คอยช่วยต่างๆ แต่ตอนหลังชุมชนนั้นแตกเอาคนมาเป็นคนแต่ละบุคคล ถ้ามีอะไรฟ้องตำรวจแล้วเข้ากระบวนการทางกฏหมายไป ซึ่งมันก็ไม่ได้ช่วยไกล่เกลี่ยอะไรเลย เช่น เราทะเลาะกับใครแล้วศาลตัดสินว่าเราแพ้ เราก็ไม่ยอมแพ้หรอกจริงๆ เพราะมันไม่ได้หายไปด้วยการตัดสิน
เพราะฉะนั้นในการศึกษา ถ้าเป็นแบบการศึกษากับชีวิตอยู่ด้วยกัน เมื่องชีวิตมีความขัดแย้งหรือการอยู่ร่วมกันมีความขัดแย้งก็ต้องมีความสามารถในการไกล่เกลี่ยความขัดแย้งด้วยสันติวิธี
แต่เนื่องจากการศึกษาไม่ได้สอนตรงนี้เลย เราก็เลยลำบาก ผมเรียกว่า มันเป็นระบบการศึกษาอยู่นอกสังคม มันไม่ได้อยู่ในสังคม เพราะฉะนั้นจึงไม่รู้ร้อนรู้หนาวกับสังคม ไม่ร่วมทุกข์ร่วมสุข ไม่ร่วมแก้ไขปัญหาเพราะท่องอย่างเดียว ไม่ใช่ชีวิตจริงเหมือนร่างกายเรา ร้อนเจ็บตรงไหนไม่เราก็รู้ ถ้าเราเจ็บเกินเราก็แก้ไข หลบมันยังไงหรือตรวจหาโรคอะไรไปแต่เนื่องจากมันอยู่นอกสังคมมันก็จะไม่เจ็บร้อนก็ไม่ได้แก้ไขอะไรแล้วไม่ได้เป็นประโยชน์ กลับเป็นโทษเสียอีกเพราะฉะนั้นการศึกษาต้องเป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่จะรู้ร้อนรู้หนาว ร่วมทุกข์ร่วมสุข ร่วมแก้ปัญหา
มองการใช้ สันติวิธีอหิงสา ได้ว่าอย่างไร
เขาก็ทำไม่เป็นจะทำเป็นอย่างไรเพราะที่ผ่านมาท่องแต่หนังสือ พอเกิดความขัดแย้งก็จะไม่เข้าใจว่าเกิดจากอะไร ไม่เข้าใจแม้แต่จิตใจของตัวเองว่าตัวเองคิดอย่างไร รู้สึกยังไง ทำไมถึงได้ขัดแย้งก็ไม่เข้าใจ
เมื่อผมย้อนกลับไปกว่า 10 ปีที่แล้ว ผมเคยทำนายเอาไว้แล้วครั้งหนึ่งว่า ประเทศไทยหนีการนองเลือดไม่พ้นซึ่งการพูดครั้งนั้น ผมพูดโดยดูจากระบบการศึกษาว่า การศึกษาของเราไม่ได้ช่วยให้เราเข้าใจปัญหาหรืออะไรเลยแล้วถ้าไม่เข้าใจเราแก้ปัญหาไม่ได้ พอแก้ไม่ได้ ปัญหาก็จะสะสม ความขัดแย้งก็ไปถึงจุดวิกฤติที่เกิดความรุนแรงขึ้นได้ อันนี้พูดมาตั้งนานแล้ว
สันติวิธีอหิงสาที่แท้คืออะไร
มันต้องมาจาก จิตใจ ก่อนว่าเราเข้าใจความแตกต่างของคน คนที่คิดต่างกันก็ไม่ได้เป็นศัตรูกันยังเป็นเพื่อนมนุษย์เหมือนกัน ฉะนั้น ต้องไปสู่การศึกษาใหม่ สังคมใหม่ จิตใจใหม่ การเรียนรู้ใหม่ ดังที่ ผมชอบใช้คำนี้อยู่เรื่อยว่า เราต้องไปสู่ภพภูมิใหม่แล้ว
เราอยู่ในภพภูมิเก่าๆ ที่เรียกว่า realm ไม่ได้แล้ว มันต้องไปสู่ภพภูมิใหม่ที่มันสูงขึ้นเพราะภพภูมิเดิมนี้นำไปสู่วิกฤติและความขัดแย้ง เราต้องมีจิตสำนึกใหม่เป็น New Consciousness เพราะจิตสำนึกเราเก่าและแคบ เห็นแก่ตัว เห็นแก่พรรคพวกไม่ได้นึกถึงความเป็นธรรม ความยุติธรรม ในขณะที่สังคมมันโตขึ้น คนมาอยู่ร่วมกัน คิดกันมากขึ้น แต่จิตสำนึกเรายังเป็นจิตสำนึกเล็กๆ อยู่ มันก็ไปไม่ได้ เราต้องมีจิตสำนึกใหญ่ จิตสำนึกใหม่ที่เป็นจิตสำนึกใหญ่เห็นคนทั้งหมดเป็นพี่น้อง เป็นเพื่อนมนุษย์กันแล้วก็มีความแตกต่างกันเป็นธรรมดา
ด้านสังคมก็ต้องเป็นสังคมพหุ ไม่ใช่เอกนิยม ไปนิยมอย่างเดียวเพราะธรรมชาติของคนเราไม่เหมือนกัน มันต้องมีความแตกต่างกัน ต้องเห็นความงามของความหลากหลาย ไม่ใช่อยากเห็นเหมือนกัน เรื่องเห็นเหมือนกันนี้ ขนาดสามีภรรยายังทะเลาะกันเลย ฉะนั้น ต้องเห็นคุณค่าของความหลากหลาย ถือว่า ความหลากหลายเป็นธรรมชาติแต่ว่าเราเรียนแล้ว เราไม่ได้เข้าถึงธรรมชาติ อะไรที่ต่างจากเรา เราก็เกลียดมัน
จริงๆ ความหลากหลายเป็นความงามเหมือนดอกไม้ที่มีหลายชนิดหลายสี ถ้ามีชนิดเดียวมันก็คงน่าเกลียด เพราะฉะนั้น การเรียนรู้ก็ต้องไปให้ถึงความหลากหลายแต่ก็ไม่มี เหตุที่ไม่มีเป็นเพราะเรามาจากสังคมอำนาจนิยม นิยมอำนาจสั่งการ ฉะนั้น เมื่อถึงจุดหนึ่งเมื่อมันไปไม่ไหว มันต้องการสิ่งที่เรียกว่า จิตสำนึกใหม่ การเรียนรู้ใหม่ สังคมใหม่ เรียกว่า สังคมอารยะ ประชาธิปไตย
ณ ตอนนี้ได้เวลาสู่ภพภูมิใหม่แล้ว
ที่มันขัดแย้งกันแล้วไม่มีทางออก ไม่มีทางไป มันถึงจะคิดถึงการไปสู่ภพภูมิใหม่แต่ถ้ามันมีทางออกง่ายๆ มันก็จะใช้เวลาไปอีกแต่ว่าไม่ใช่ทางออกที่แท้จริง สิ่งต่างๆ มันหมักหมมมานานมันก็เกิดวิกฤติขึ้นซึ่งก็ยังดีนะ คนไทยเป็นคน จริงๆ เป็นคนที่เจริญ ไปดูอย่างเหตุการณ์ในอเมริกาที่ยิงประธานธิบดีของตัวเองตายไปกี่คน สงครามกลางเมืองตายไปตั้ง 6 แสนคน
แต่ของไทยเรา พอถึงจุดหนึ่งก็จะบอกว่าสังคมไม่ต้องการความรุนแรง อย่างโน้นอย่างนี้แล้วก็เรียกร้องให้มีใครออกมายุติความรุนแรงเพราะฉะนั้นการที่จะไปฆ่าแกงกันเป็นหมื่นเป็นแสน คนไทยทำไม่ได้หรอก
ถึงที่สุดก็พยายามจะประนีประนอม สังเกตเมื่อวันที่พันธมิตรยกคนไปยึดสนามบินแต่ก็ไม่ปะทะอะไรกัน นี่คือ การประนีประนอมเป็นลักษณะของคนไทย
ไปดูเถิดถึงเวลาก็จะมีคำพูดที่ว่า อย่าให้สูญเสียเลย อย่างนี้ยอมไปก่อน จริงๆ คนไทยเป็นคนที่ดีนะ อย่าไปมองว่าชั่วร้าย(หัวเราะ)
แต่คำตอบก็ยังไม่มีอยู่ดี
ที่จริงมันดีนะ ดี คือ ไม่มีทางออกในสภาวะเดิมตั่มนต้องเปลี่ยนไปสู่สภาวะใหม่ต้องยกระดับขึ้นไปเพราะฉะนั้นวิกฤติมันเป็นโอกาสสู่สิ่งใหม่ที่ดี
เหมือนญี่ปุ่นเยอรมันแพ้สงครามคนตายเป็นล้านๆ คน สมัยแพ้เป็นวิกฤติมากแต่ก็เป็นโอกาส หลังจากสงครามโดยรวดเร็วเพราะสามารถทิ้งของเก่าๆ ที่ตามปกติทิ้งไม่ได้แล้วไปเริ่มต้นใหม่
ทางออกตอนนี้ไม่มีอย่างอื่น นอกจากไม่สู่ภพภูมิใหม่หรือ
ไปสู่อารยะประชาธิปไตย ไปสู่จิตสำนึกใหม่ที่เป็นสำนึกประชาธิปไตยมีวิถีชีวิตที่เป็นประชาธิปไตย ต้องมีส่วนร่วมทางการเมืองแต่ก่อนจะมีการกีดกันไม่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองว่าการเมืองเป็นของคนชั้นหนึ่งเท่านั้น เดิมเป็นของคนชั้นสูง ต่อมาเป็นของนักการเมืองไม่กี่คน 3-4 พันคน ประชาชนแค่ไปหย่อนบัตรเท่านั้น
ต่อไปนี้ รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้แล้วว่า มาตรา 87 ระบุว่า รัฐ ซึ่งคำว่ารัฐนี้ไม่ได้หมายถึงรัฐบาลแต่หมายถึง กลไกของรัฐทั้งหมดเลย ต้องสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนา การตรวจสอบ อำนาจรัฐทุกระดับ ในการตัดสินใจทางนโยบาย นี่คือ ประชาธิปไตยเพราะฉะนั้น เราต้องไปสู่ประชาธิปไตย จริงๆ มันไม่มีทางออกอื่น แบบเดิมไม่ใช่ประชาธิปไตยเป็นเผด็จการ
แล้วตัวรัฐต้องกระจายอำนาจไปให้หมดไปสู่ชุมชน ท้องถิ่น บุคคล เอ็นจีโอ ต่างๆ แต่ตอนนี้อำนาจรัฐมันรวมศูนย์ เป็นอำนาจเผด็จการอยู่ เวลาเลือกตั้งก็มีเพียงแย่งชิงเท่านั้น ไม่ได้เป็นประชาธิปไตย อำนาจรัฐปกครองไปหมดทั้งประเทศ อันนี้ ต้องกระจายแล้วชุมชนท้องถิ่นจะต้องมีสิทธิชุมชนตัดการได้ด้วยตนเอง
มองว่าบทบาทของคนเสื้อเหลือง-เสื้อแดง ไปถึงจุดนั้นหรือยัง
นั้นเป็นการต่อสู้แล้วต่อสู้ไปแล้วก็ไม่รู้จะแพ้ชนะหรือเสมออะไรก็แล้วแต่มันก็ไม่มีทางออก นอกจาก ไปสู่สิ่งที่มันเป็นประชาธิปไตยจริงๆ
อย่างที่ว่า คนไทยทุกคนต้องเป็นพลเมืองชั้นหนึ่ง ต้องจิตสำนึกประชาธิปไตย ต้องมีส่วนร่วมจริงๆ เรื่องในบ้านเมืองจึงจะไปสู่จุดลงตัวอย่างแท้จริง
มีวิธีการไปสู่จุดนั้นอย่างเป็นขั้นเป็นตอนหรือเปล่าว่าต้องทำอย่างไร
ผมเขียนเอาไว้โดยละเอียดแล้ว ยาวเลยว่าต้องทำอย่างไรบ้าง สรุปคือ มันไม่ได้มีทางออกกันง่ายๆ หรอก มันก็จะติดโน่นติดนี้ นอกจากมันวิกฤติจริงๆ จนไม่มีทางไปคนถึงจะมาสนใจ คนไทยไม่สนเรื่องการอ่านการคิดอะไรมากนัก เสร็จแล้วพอหาทางออกไม่ได้เพราะสิ่งต่างๆ มันซับซ้อน ความซับซ้อนเหล่านี้ ถ้าไม่อ่านจะไม่เข้าใจแล้วคนไทยเป็นคนไม่อ่านด้วยจึงไม่เข้าใจความซับซ้อนเพราะสังคมจริงๆ มันซับซ้อน เมื่อไม่เข้าใจความซับซ้อนก็ไม่มีทางออก นอกจาก วิกฤติสุดขีด ไม่มีทางไปมันบังคัย มนถึงจะเปลี่ยนนิสัยได้
เรื่องภพภูมิใหม่นี้คำอธิบายอย่างไรบ้างคะ
ในที่สุดสังคมไทยก็จะไปสู่ภพภูมิใหม่เพราะทางเก่าไม่มีทางออกแล้ว ภพภูมินี้มันก็เหมือนลูกไก่ที่อยู่ในไข่แล้วมันโตขึ้นเรื่อยๆ จากเดิมเปลือกไข่ก็คุ้มครอง พอโตเต็มที่ก็สามารถจิกไข่ออกมาโตในภพภูมินอกไข่ได้ แต่ถ้าอยู่ต่อไป มันจะตายเองเพราะเปลือกไข่รัดมัน มันต้องไปสู่ภพภูมิใหม่เพราะตัวมันโตขึ้น
เหมือนกันกับเด็กในท้องแม่ มดลูกแม่ก็ช่วยประคับประคองไว้ในสิ่งแวดล้อมที่ดีที่สุด คือ มดลูกของแม่ พอเด็กโตขึ้นเต็มที่ต้องคลอดไปสู่ภพภูมิใหม่ ตอนนั้นจะวิกฤติมาก แม่เจ็บท้องเพื่อจะเปลี่ยนภพภูมิ การเปลี่ยภพภูมิมันเจ็บปวด เหมือนการคลอดของใหม่ออกมา เขาเรียก birth pain ถ้าเราเข้าใจก็อย่าให้มันเสียหายมากแล้วก็เดี๋ยวมีของใหม่เกิดขึ้น
ตอนนี้คือช่วง birth pain ไหม
ใช่ ผมพยายามอธิบาย เขียนไปเรื่อยแต่คนก็ไม่ค่อยสนใจ
จริงๆ สังคมไทยเติบโตมาตั้งเท่าไรแต่ยังอยู่ในภพภูมิเดิม มันก็วิกฤติ เหมือนเด็กคลอดไม่ได้ ทีนี้ การคลอด เรามองว่ามันเป็น birth pain ที่นำไปสู่สิ่งใหม่ สอง มันมีเลือดออก แม่คลอดลูกทุกคนมีเลือดออก
ยังไงก็ต้องเกิดใช่ไหม
สถานการณ์บังคับไง ว่าถ้ามันวิกฤติจนไม่มีทางออก คนก็จะมาถามมาคุยว่าทำยังไงดี เป็นเพราะอะไร ไม่เช่นนั้น คนไทยก็จะเพลินๆ ไปเรื่อยๆ
ถึงบอกว่า วิกฤติ คือ โอกาส ถ้าไม่วิกฤติก็ไม่คิดกันมาก มันก็ไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้น วิกฤติจึงเป็นโอกาสที่จะเกิดสิ่งใหม่ที่ดีเหมือนแม่เจ็บท้องนั่นแหละ แต่คนก็ไม่เข้าใจคนถึงเป็นทุกข์มาก ผมมองว่า ธรรมชาติมันต้องเป็นอย่างนี้ ที่อื่นยิ่งกว่าเราอีก เสียหายเยอะแยะ เวียดนามตายเป็นล้านๆ คน เขมรอีก เราไม่เกิดหรอกแบบนั้น
จริงอยู่ที่เข้าใจว่าเป็นธรรมชาติของสังคมแต่ยังไงเราก็ต้องเตรียมรับมือมันไว้บ้างอาจารย์มีวิธีการแนะนำอย่างไร
อย่างที่บอกว่า สังคมไทยเรียนรู่น้อยเป็นชาติที่ไม่ค่อยเรียนรู้ นอกจาก วิกฤติจนไม่มีทางออกนั่นแหละ อย่างเช่นตอนนี้ คนสนใจกันเยอะแล้ว สังเกตจากคำถามต่างๆ ทำยังไงกันดี เป็นเพราะอะไร เยอะมาก ไม่เช่นนั้น ตามปกติก็จะเฮฮาไปเรื่อย
ถ้าสมมติ มหาวิทยาลัยมีการเรียนรู้จากสิ่งแวดล้อมมันจะไม่เกิด อย่างปักษ์ใต้ถ้ามีระบบการศึกษาใหม่ที่ไม่ใช่การท่อง แต่ถ้าไปดูชีวิตเขาเป็นยังไง มันจะไม่เกิดระบบการศึกษา เราไปอยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ปัญหาที่นั้น เห็นด้วยที่ว่า ย้ายที่ท่องหนังสือเท่านั้นแหละ
เพราะฉะนั้น การศึกษาต้องปฏิรูปครั้งใหญ่ ไม่ใช่แค่ปฏิรูปการเมือง สังคม การศึกษา เศรษฐกิจก็ดี ที่มันวิกฤติ เราจะได้คิดใหม่ ที่ผ่านมาก็เพลินๆ ไม่กับเขา ไปเป็นเศรษฐกิจที่ไม่ใช่เศรษฐกิจจริง เป็นมายาคติเรื่องเงินแล้วไปตีมันจนโป่งแล้วก็แตก ตอนนี้เป็นโอกาสแล้ว ทั้งหมดนี้จะต้องไปสู่จิตสำนึกใหม่ สังคมใหม่ ที่ผมเรียกว่า ภพภูมิใหม่
แต่จากประวัติศาสตร์ การเปลี่ยนแปลงของโลกมันมีการจราจลเสมอ อาจารย์มองตรงนี้ อย่างไรคะ
แต่ละประเทศไปเหมือนกัน อย่าง มหาตะมะ คานธี อินเดียถูกอังกฤษครองทั้งจักรภพ ถ้าไปต่อสู้ด้วยอาวุธก็ไม่ชนะหรอก มหาตมะ คานธี จึงต่อสู้ด้วยสันติวิธีอหิงสาและเป็นต้นแบบของการต่อสู้ด้วยการไม่ใช้อาวุธเลย กระทั่งทำให้อำนาจอันมหึมาของอังกฤษต้องถอนไป ต่อมามันเป็นรูปแบบที่ไปที่อื่น อย่าง มาร์ติน ลูเธอร์ คิง ซึ่งเคยต่อสู้เรียกร้องสิทธิเสมอภาคของชาวผิวดำ กว่าจะถึงตอนนี้ที่คนผิวดำสามารถเป็นประธานาธิบดีได้ เมื่อก่อนก็ต้องผ่านสงครามการเมือง คนจายไป 6 แสน มาร์ติน ลูเธอร์ คิง ถูกฆ่าตาย แต่อันนี้ก็ก้าวหน้าไป มาร์ติน ลูเธอร์ คิง ก็ใช้สันติวิธีแบบคานธี รวมถึง เนลสัน เมนเดลล่า ที่เซาท์แอฟริกาก็ต่อสู้กับคนผิวขาวที่มายึดครองก็ถูกเขาไล่ฆ่าไปจำคุกอยู่ 27 ปี ออกมาก็ยังอหิงสาว่าอย่าไปโกรธคนขาวเลยซึ่งประเทศเขาติดขัดอยู่ร้อยกว่าปีแต่ว่าที่อื่นก็ต่างกันไปตามสภาพ อย่างโฮจิมินท์และเหมาเจ๋อตุงก็จับอาวุธสู้ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขสภาวะต่างๆ
ถ้าจะดูอหิงสา คือ แบบคานธี แต่ของเรายังไปไม่ถึง เหมือนที่บอกว่า แนวทางการต่อสู้เป็นแบบสันติอหิงสาแต่จิตใจและวาจายังไม่ถึงแบบคานธี อย่างที่ ผมเขียนไว้ในมหาสยามยุทธ นั่นละ
เหตุที่ไม่เกิดสันติวิธีอหิงสาในบ้านเราเพราะขาดการเรียนรู้ที่แท้จริงหรือว่า
เมืองไทยค่อนข้างรักสันตินะเพราะคนไทยไม่ชอบความรุนแรง พอสังคมปฏิเสธความรุนแรงก็ไม่เกิดเหตุการณ์อย่างนั้น อีกอย่างคนไทยเป็นคนที่มีจิตใจขี้สงสารมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว ต่างกับชาติอื่นๆ คนไทยมีลักษณะพิเศษตรงนี้ เป็นอย่างนี้มานานแล้วจะเก่งเรื่องหาทางออก ถ้าไปดูประวัติศาสตร์ในการหาทางออกประนีประนอมไม่ให้เสียเลือดเสียเนื้อมากมีมากมา อย่างครั้งหนึ่งสมัยญี่ปุ่นยกทัพมาบุกไทย ไทยบอกใช้วิธีต่อสู้ไม่ไหว ประนีประยอมไปหรือเรื่องคอมมิวนิสต์ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่มาก คนเข้าป่ามากมายแต่ท้ายสุดก็บอกมาร่วมกันพัฒนาเถิดก็สามารถแก้ปัญหาเรื่องคอมมิวนิสต์ได้ ต้องไปดูด้านอื่นอีก มีเยอะมาก ประวัติทำนองนี้
เช่นเดียวกับเหตุการณ์ล่าสุดในตอนนี้ด้วย
คนไทยไม่อยากเห็นความรุนแรง เหตุที่ไม่รุนแรงไปกว่านี้เพราะสังคมบอกว่าอย่ารุนแรงนะ สังคมไทยไม่ชอบความรุนแรง ไม่เช่นนั้น วันที่ไปยึดโน่นยึดนี่ ถ้าเป็นคนอเมริกาไปยึดไวท์เฮ้าส์ คงถูกยิงตายหมดแล้วแต่สำหรับคนไทย ใครมายึดก็ยึดไป อีกฝ่ายก็ถอยไป ไม่ปะทะกัน
ด้วยลักษณะนี้จะทำให้ไม่เกิดเหตุการณ์รุนแรงหรือแค่ชะลอเท่านั้น
มันก็เกิดบ้าง อย่างที่เราเห็นกระเส็นกระสาย แต่ว่าจะไม่ถึงขั้นยกมาปะทะกันรุนแรง ฆ่ากันตายเป็นเบือ อย่างนั้น คงไม่เกิด เพราะประนีประนอม คนไทยแต่ไหนแต่ไรมาแล้วก็เป็นอย่างนี้ สมัยก่อน ฝรั่งเศาเอาเรือมาจอดหน้าพระบรมมหาราชวังเลย มาขู่ ทหารไทยก็ยิง ยิงผิด เขาก็ปรับ 3 ล้านบาท สมัยนั้น เสาบดีไทยขึ้นเรือฝรั่งเศสไปเจรจา ฝรั่งเศสก็เครียด ฝ่ายไทยก็เจรจาไปมีลูกเล่น มีไวน์มาเลี้ยง ไทยจะเป็นอย่างนี้ ด้านหนึ่งเหมือนไม่จริงจังแต่ก็ลักษณะอ่อน ประนีประนอมสูง
คุณลักษณะพิเศษของคนไทยเช่นนี้จะทำให้สีเหลือง-แดง มารวมกันได้หรือไม่คะ
ไม่ต้องมารวมกันหรอก ความคิดคนไม่จำเป็นต้องตรงกัน เรื่องความคิดของคนอย่าไปคิดว่ามันต้องตรงกัน แต่ทำอย่างไรอย่าให้เกิดความรุนแรงแล้วให้เวลา
จะอยู่กันลำบากไหม เรื่องความคิดต่างขั้ว
มันต้องฝึกเพราะคนเราความคิดไม่เหมือนกันแล้วคนคิดไม่เหมือนกันไม่จำเป็นต้องเป็นศัตรูกัน เราต้องฝึกตรงนั้น
อาจารย์มองเรื่องแพ้-ชนะ ในแต่ละสถานการณ์อย่างไร
ผมว่ามันค้ำยันกันอยู่ อย่างในมหาสยามยุทธ พูดละเอียดว่า มันค้ำยันกันอยู่แล้วมีทางออกที่พอเป็นไปได้อย่างไรบ้าง
ความกลัวของมนุษย์เกิดขึ้นตลอดเวลา พอกลัวแล้วก็ทำให้แสดงออกต่างๆ นาๆ อาจารย์มีวิธีการรับมือกับความรู้สึกนี้อย่างไรบ้าง
ต้องเผชิญกับมัน อย่าให้มันหนีไปแล้วจะหายกลัวไปเอง เหมือนคนกลัวผี ถ้าเราหนีผีมันตามไปหลอกอยู่เรื่อย เหมือนพระกรรมฐาน ถ้าพระหนีไป ผีก็ตามไปหลอกอีก พระท่านก็เผชิญมา เวลาเราเผชิญกับอะไรสักพักมันจะหายกลัว
ถ้าเรากลัวก็เผชิญกับความกลัว จนถึงจุดหนึ่ง เดี๋ยวมันจะหายกลัวไปเอง.

 

Be the first to comment on "เราต้องไปสู่ภพภูมิใหม่ แปรวิกฤติเป็นโอกาส"

Leave a comment

Your email address will not be published.