เรียนรู้ ลม ฝน ฟ้า อากาศ

ในอดีตที่ผ่านมามนุษย์ให้ความสนใจกับเรื่องการพยากรณ์อากาศน้อย   ปล่อยให้ฤดูกาลในแต่ละช่วงพัดผ่านไปดังเช่นปกติ  ร้อน  หนาว  ฝน เช่นเดิม  อย่างนี้จนเราเคยชิน

            เมื่อวันผ่านไป  หน้าร้อนกลับร้อนมาก  หน้าหนาวกลับไม่หนาวอย่างที่รอคอย  ส่วนหน้าฝน  ฝนก็ไม่ตกตามฤดูกาล  มีฝนตกน้อยครั้ง  แต่พอตกกลับตกเป็นเวลานานติดต่อกันหลายวัน  จนบางพื้นที่ดินอุ้มน้ำไม่ไหว  จึงทำให้เกิดน้ำไหลหลากดินโคลนถล่ม  ยิ่งไปกว่านั้นเรากลับหลงลืม  ละเลยธรรมชาติที่อยู่โดยรอบไปอย่างสิ้นเชิง  กลับหาทางเอาชนะธรรมชาติในทุกวิถีทางเพื่อตอบสนองความต้องการของตนให้มากที่สุด  และการบริโภคธรรมชาติอย่างไร้ความพอดีจึงสร้างความเสียหายให้แก่ทรัพยากรธรรมชาติได้อย่างรวดเร็ว  จนในที่สุด  ธรรมชาติที่อยู่กับเรามาชั่วชีวิตก็กลับมาสร้างความหายนะให้กับมนุษย์จนเรามิอาจที่จะตั้งตัวได้ทัน

            เมื่อไม่นานมานี้ จากสถานการณ์อุทกภัยท่วมภาคใต้กินพื้นที่ 10 จังหวัด  ต่อมาไม่นานนัก  น้ำก็ได้ท่วมภาคเหนือ  ไล่ลงมาถึงพื้นที่ภาคกลาง  และเข้าเขตเมืองหลวงของประเทศในที่สุด  ระหว่างนั้น  พฤติกรรมของหลาย ๆ คนเริ่มเปลี่ยนไป  หันมาสนใจและติดตามการเคลื่อนไหวของธรรมชาติ  โดยการสังเกตการณ์เปลี่ยนไป  สังเกตโดยหลักภูมิปัญญาของพ่อแก่แม่เฒ่า หรือการพยากรณ์อากาศจากนักวิชาการต่าง ๆ กันมากขึ้น

การพยากรณ์อากาศเป็นการคาดเดาเตือนภัยล่วงหน้าก่อนเกิดภัยพิบัติต่าง ๆ แล้ว  ยังมีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์   ทั้งในด้านการเกษตรที่จำเป็นจะต้องรู้ว่า ช่วงไหนดินฟ้าอากาศเป็นอย่างไร  เพื่อจะได้ปลูกพืช  เลี้ยงสัตว์ให้เหมาะสมกับสภาวะธรรมชาติ  หรือชาวประมงต้องรู้ว่าช่วงเวลาไหนควรออกเรือหาปลา หรือแม้แต่การไปเที่ยวในที่ต่าง  ๆ   ถ้าดูการพยากรณ์อากาศก่อนไป ก็จะไม่ทำให้เสียความรู้สึก  ฉะนั้นมารู้วิธีการดูการพยากรณ์อากาศให้ถึงแก่นดีกว่า

1.     คำศัพท์ของอุตุนิยมวิทยา

            เคยบ้างไหม   เวลาดูข่าวช่วงการพยากรณ์อากาศ  แล้วรู้สึก งง ๆ  ต้องแปลไทยเป็นไทย เช่น “มีฝนตกเป็นแห่งๆ” แล้ว “แห่ง ๆ”  มันคืออะไร  ตกแค่ไหน “อากาศเย็นค่อนไปทางหนาว”  เอาละสิ  เย็น นั่นจะเย็นแค่ไหน  แล้วหนาวละหนาวสักแค่ไหน  หรือคำที่ฮิตติดปากอย่าง “ทะเลมีคลื่นเล็กน้อยถึงปานกลาง”  เป็นต้น

            ฝน จะตกครอบคลุมพื้นที่มากน้อยแค่ไหนนั้น  จะมีศัพท์ตามเกณฑ์กระจายของพื้นที่ ดังนี้

                        บางแห่ง หรือบางพื้นที่       :           ไม่เกิน 20ของพื้นที่

                        เป็นแห่ง ๆ                       :           เกิน 20% แต่ไม่เกิน 40% ของพื้นที่

                        กระจาย                          :           เกิน 40% แต่ไม่เกิน 60% ของพื้นที่

                        เกือบทั่วไป                      :           เกิน 60% แต่ไม่เกิน 80% ของพื้นที่

                        ทั่วไป                             :           เกิน 80% ของพื้นที่

            ส่วน “ฝนฟ้าคะนอง” หมายถึง ฝนที่ตกลงมาเป็นครั้งคราว หรือ เป็นระยะ ประเดี๋ยวก็ค่อย  แถมมักมีฟ้าแลบหรือฟ้าคะนองร่วมด้วย

            คลื่น  สำหรับชาวประมง หรือผู้ที่จะไปเที่ยวทะเล  ศัพท์ตามเกณฑ์ลักษณะทะเล ดังนี้

                        ทะเลเรียบ                       :           คลื่นสูงไม่เกิน 0.5 เมตร

                        ทะเลมีคลื่นเล็กน้อย          :           คลื่นสูงเกินกว่า 0.5 เมตร ถึง 1.25 เมตร

                        ทะเลมีคลื่นปานกลาง         :           คลื่นสูงเกินกว่า 1.25 เมตร ถึง 2.5 เมตร

                        ทะเลมีคลื่นจัด                  :           คลื่นสูงเกินกว่า 2.5 เมตร ถึง 4 เมตร

                        ทะเลมีคลื่นจัดมาก            :           คลื่นสูงเกินกว่า 4 เมตร ถึง 6 เมตร

                        ทะเลมีคลื่นใหญ่               :           คลื่นสูงเกินกว่า 6 เมตร ถึง 9 เมตร

                        ทะเลมีคลื่นใหญ่มาก         :           คลื่นสูงเกินกว่า 9 เมตร ถึง 14 เมตร

                        ทะเลเป็นบ้า                     :           คลื่นสูงเกินกว่า 14 เมตร ขึ้นไป

            ในทางปฏิบัติ เราอาจจะได้ยินทางวิทยุ  โทรทัศน์ และหนังสือพิมพ์บอกว่า ทะเลมีคลื่นสูงกี่เมตรไปเลย  เช่น ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร เป็นต้น

            อากาศหนาว   มักจะใช้อุณหภูมิต่ำสุดประจำวัน และใช้เฉพาะฤดูหนาว  ดังนี้

                        อากาศเย็น                      :           อุณหภูมิตั้งแต่ 18 – 22.9  องศาเซลเซียส

                        อากาศค่อนข้างหนาว         :           อุณหภูมิตั้งแต่ 16 – 17.9 องศาเซลเซียส

                        อากาศหนาว                    :           อุณหภูมิตั้งแต่ 8 -15.9 องศาเซลเซียส

                        อากาศหนาวจัด                :           อุณหภูมิตั้งแต่ 7.9 องศาเซลเซียส  ลงไป

2.     การสังเกตธรรมชาติจากภูมิปัญญาชาวบ้าน

ในแต่ละฤดูกาลมักมีการผันแปรที่ไม่แน่นอนอยู่เสมอ  ซึ่งคนในสมัยก่อนมักคอยสังเกตการณ์เปลี่ยนแปลงของฤดูกาลที่ไม่แน่นอนแบบนี้  และจดจำนำมาปรับใช้ให้ตนหรือชุมชนคงอยู่ได้อย่างถ้อยทีถ้อยอาศัย

ซึ่งในแต่ละพื้นถิ่น  การสังเกตธรรมชาติเพื่อการดำรงอยู่ก็จะแตกต่างกันไปยกตัวอย่างกลุ่มคนภาคเกษตรกรรมในอดีตก็มักจะบอกลูกหลานให้รู้จักการสังเกตพฤติกรรมสัตว์ตามท้องบ้าน  เพื่อเชื่อมโยงสู่การพยากรณ์คาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

            เกษตรกรมักใช้วิธีการสังเกตการทำรังของจอมปลวก  ถ้าเมื่อไหร่ที่ปลวกทำรังรอบโคนต้น  และสูงจากพื้นดินมากก็แสดงว่าปีนี้ฝนจะตกชุก  หรือการสังเกตตัวด้วงโก๊ (ตัวหนอนของแมงอีนูน)  ว่าถ้าตัวมันมีสีดำตั้งแต่หัวจรดหางก็แสดงว่าปีนี้ฟ้าฝน  น้ำท่า จะอุดมสมบูรณ์ดี

นอกจากการสังเกตสัตว์ที่อยู่รอบ ๆ ตัวแล้ว การสังเกตผลไม้บางชนิดก็สามารถบอกสภาพอากาศที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ เช่น ถ้าปีใดมะม่วงป่าผลดก ปีนั้นฝนแล้ง  แต่การสังเกตผลของมะม่วงนั้นต้องเป็นต้นไม้ที่ไม่ได้มีการบำรุงรักษาเท่านั้น

บางทีการมองดูท้องฟ้าก็สามารถคาดการณ์สภาพอากาศที่จะเกิดขึ้นได้เช่น  คนสมัยก่อนมักจะเชื่อกันว่า ถ้าวันไหนท้องฟ้าเป็นสีแดง  วันนั้นจะมีพายุหนักให้เตรียมตัวรับมือ

ในความเชื่อของคนเชื้อสายเขมร จะใช้วิธีการดูตะกวดป่า  ถ้าตะกวดป่าที่เกิดมามีหางสีดำและยาวแสดงว่าปีนั้นฝนดีแต่ถ้าตะกวดป่าในปีนั้นมีหางสีขาว  แสดงว่าปีนั้นน้ำจะแล้ง  บางครั้งก็สังเกตก้อนเมฆในตอนเช้า  ถ้ามีลักษณะเหมือนภูเขา  แสดงว่า 1-2 วันนี้จะมีฝนตกหนัก

นอกจากนั้นในความเชื่อของชาวไทยพวนยังมีประเพณี “กำฟ้า”  ซึ่งเป็นประเพณีการแสดงความเคารพและบูชาฟ้าที่จะทำกันในวันขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3 ของทุกปีเท่านั้น  ซึ่งในความเชื่อของชาวไทยพวนนี้ ก็จะใช้การสังเกตเสียงแห่งธรรมชาติ  นั่นก็คือการฟังเสียงฟ้าร้องครั้งแรกในวันทำพิธีกำฟ้า  ซึ่งถ้าวันนั้นร้องทางทิศใต้  ก็จะทำนายว่า ฝนปีนี้จะแล้ง  แต่ถ้าฟ้าร้องทางทิศเหนือ หรือทิศตะวันออกเฉียงเหนือก็จะทำนายว่า ชาวบ้านทำนาได้ผลผลิตดี  น้ำท่าอุดมสมบูรณ์

3.     การตรวจสอบ ดิน ฟ้า อากาศด้วยตนเอง

ในอดีตที่ผ่านมา  มนุษย์ชนรุ่นก่อน ไม่มีเครื่องมือวัดหรือเตือนภัยธรรมชาติ  อาศัยเพียงการพึ่งพาวิถีของธรรมชาติ สังเกตสิ่งรอบตัว  ไม่ว่าจะเป็นสัตว์หรือสภาพท้องฟ้า

สำหรับลักษณะของเมฆที่เกิดขึ้นอยู่ทุกวัน  ก็ยังสามารถบอกและคาดการณ์ถึงสภาพอากาศที่จะเกิดขึ้นได้ในอนาคต  ยกตัวอย่างเช่น

เมฆก้อนปุกปุย  มีลักษณะคล้ายรูปกะหล่ำ ก่อตัวในแนวตั้งเกิดขึ้นจากอากาศไม่มีเสถียรภาพ ฐานเมฆเป็นสีเทา  เนื่องจากมีความหนามากพอที่จะบดบังแสง  จนทำให้เกิดเงา มักเกิดขึ้นในช่วงอากาศดี  ท้องฟ้าเป็นสีฟ้าเข้ม

เมฆก่อตัวในแนวตั้ง  พัฒนามาจากเมฆก้อน  มีขนาดใหญ่มากปกคลุมพื้นที่ครอบคลุมทั้งจังหวัด ทำให้เกิดพายุฝนฟ้าคะนอง  หากกระแสลมชั้นบนพัดแรง  ก็จะทำให้ยอดเมฆรูปกะหล่ำกลายเป็นรูปทั่งตีเหล็ก

เมฆก้อนลอยติดกันเป็นแพ  ไม่มีรูปทรงที่ชัดเจนมีช่องระหว่างก้อนเพียงเล็กน้อย  มักเกิดขึ้นเวลาที่อากาศไม่ดี และมีสีเทา  เนื่องจากลอยตัวอยู่ในเงาเมฆชั้นบน

เมฆแผ่นสีเทา  เกิดขึ้นเวลาที่อากาศมีเสถียรภาพทำให้เกิดฝนพรำๆ ฝนผ่าน  หรือฝนตกแดดออก  ไม่มีพายุฝนฟ้าคะนอง  ฟ้าร้องฟ้าผ่ามักปรากฏให้เห็นสายฝนตกลงมาจากฐานเมฆ

สำหรับปริมาณเมฆในท้องฟ้านั้น  นักอุตุนิยมวิทยาให้สมมติว่า พื้นที่เต็มบนท้องฟ้าเท่ากับ 10 ส่วน  ดังนั้นเกณฑ์ปริมาณเมฆแค่ไหนเรียกว่าอย่างไรดังนี้

            ท้องฟ้าแจ่มใส     :           ไม่มีเมฆ หรือมีน้อยกว่า 1 ส่วน

            ท้องฟ้าโปร่ง        :           มีเมฆ 1 ส่วนถึง 3 ส่วน

            เมฆบางส่วน        :           มีเมฆเกินกว่า 3 ส่วนถึง 5 ส่วน

            เมฆเป็นส่วนมาก   :           มีเมฆเกินกว่า 5 ส่วนถึง 8 ส่วน

            เมฆมาก             :           มีเมฆเกินกว่า 8 ส่วนถึง 9 ส่วน

            เมฆเต็มท้องฟ้า    :           มีเมฆเกินกว่า 9 ส่วนถึง 10 ส่วน

สีของท้องฟ้าเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติอย่างหนึ่งที่ชาวประมงใช้คาดการณ์สภาพอากาศและปรากฏการณ์ธรรมชาติที่จะเกิดขึ้น  ทั้งนี้เนื่องจากสีของท้องฟ้ามีความเกี่ยวพันกับความชื้นและความกดอากาศ  เช่น ถ้าท้องฟ้ามีสีแดงส้มในช่วงตอนเช้าหรือช่วงพระอาทิตย์ขึ้น เป็นสัญญาณเตือนว่าจะมีพายุและลมแรง  หรือพายุฝนฟ้าคะนอง  ในเวลาอย่างนั้นท้องฟ้าจะมีเมฆชั้นต่ำมาก และมีความกดอากาศต่ำ  ซึ่งเมฆชั้นต่ำจะมีไอน้ำมากเกาะอย่างหนาแน่น  ทำให้เกิดความชื้นสูงเมื่อพระอาทิตย์ส่องแสงกระทบละอองไอน้ำเหล่านี้มาสู่ตาเรา   ละอองน้ำจะหักเหแสงสีแดงสู่ระบบการมองเห็นของเรา  ท้องฟ้าก็กลายเป็นสีแดงส้ม แต่ถ้าท้องฟ้าสีแดงเวลากลางคืนหรือช่วงพระอาทิตย์ตกแสดงว่า ความกดอากาศสูงวันรุ่งขึ้นอากาศจะดีและปลอดภัยในการออกเรือ

นอกจากนี้บางพื้นที่ได้สังเกตลักษณะต่าง ๆ บนท้องฟ้าเพื่อคาดการณ์ได้ เช่น ถ้าคืนไหนพระจันทร์มีวงแหวนรอบๆ สามารถคาดการณ์ได้ว่าฝนจะตกอีก 3 วันข้างหน้า  หรือการสังเกตการณ์ขึ้นของรุ้งในทิศตะวันออกในช่วงเวลาพระอาทิตย์ตกดินเป็นสัญญาณว่าวันรุ่งขึ้นท้องฟ้าจะแจ่มใส  หากมีรุ้งขึ้นในตอนเช้าเป็นสัญญาณเตือนว่าจะมีพายุ เป็นต้น

4.     การเตือนภัยจากสัตว์พยากรณ์

สัญชาตญาณสัตว์มีความพิเศษที่สามารถล่วงรู้เหตุการณ์บางอย่างได้ล่วงหน้า ไม่ว่าจะเป็นการเกิดน้ำท่วม น้ำป่า พายุฝน  ซึ่งคนสมัยก่อนได้อาศัยการสังเกตพฤติกรรมของสัตว์เหล่านี้ ในการพยากรณ์เหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นล่วงหน้า  ความถูกต้องแม่นยำนั้นมีมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ หรืออาจจะถึง 60-70 เปอร์เซ็นต์  ซึ่งสัตว์ที่สามารถบอกให้เรารู้สึกการพยากรณ์อากาศนั้นมีหลายชนิด  ยกตัวอย่างเช่น

ช่วงค่ำมีนก  แมลงปอออกมาบิน  แสดงว่าฝนจะตกโดยปกตินั้นช่วงค่ำซึ่งเป็นช่วงที่ดวงอาทิตย์ตกดินไปแล้ว อากาศเริ่มเย็น แมลงปอจะไม่บินออกหากิน เพราะถ้าอากาศเย็นแมลงปอจะบินไม่ขึ้น  แต่ในช่วงก่อนฝนจะตกอากาศจะร้อนอบอ้าว  เพราะเกิดความกดอากาศต่ำ ซึ่งอากาศร้อนอบอ้าว เพราะเกิดความกดอากาศต่ำ ซึ่งอากาศร้อนอ้าวนั้นจะไปกระตุ้นให้แมลงปอบิน  ส่วนนกจะบินออกมาเป็นจำนวนมากนั้น  ก็เพราะมีแมลงให้กินมาก  ดังนั้นจึงสังเกตเห็นว่าจะมีนกและแมลงปอบินออกมาเป็นจำนวนมากในช่วงที่ฝนจะตก

หิ่งห้อยบินในระดับสูงขึ้น  แสดงว่าฝนกำลังจะตก  ซึ่งหิ่งห้อยสามารถบินได้เพราะว่ามีอากาศพยุงตัว  เมื่อหิ่งห้อยบินปีกจะหมุนเป็นเลขแปด  อากาศที่ลอยขึ้นจะช่วยยกตัวขึ้น  ปกติหิ่งห้อยบินในระดับต่ำซึ่งเราสามารถมองเห็นได้ในระดับสายตา  แต่เมื่อฝนใกล้จะตก  ความกดอากาศต่ำอากาศจะลอยขึ้น เพราะฉะนั้นแมลงจะบินขึ้นสูงตามอากาศที่ลอยขึ้นจากพื้นดิน

อ้นเล็กหรือจิ้งหรีดโปร่งอพยพออกจากรูไปอยู่ในที่สูง  แสดงว่าน้ำจะท่วม  ช่วงใกล้ฝนตกความกดอากาศจะต่ำ  นั่นคืออากาศบนพื้นดินลอยขึ้นไป  ทำให้อากาศจากบริเวณอื่นที่เย็นกว่าไหลเข้ามาแทนที่  เป็นการพัดเอาลมและฝนเข้ามา   อ้นเล็กและจิ้งหรีดโปร่งสามารถรับรู้ถึงความกดอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปได้  เนื่องจากเมื่อมีความกดอากาศต่ำ  น้ำหนักอากาศที่กดทับตัวมันน้อยลง  มันจึงรู้ได้และรู้ว่าถ้าความกดอากาศต่ำลงแสดงว่าอีกไม่นานจะต้องมีลมและฝนเกิดขึ้นในบริเวณนั้น  ดังนั้นเมื่อมีความกดอากาศต่ำลงอ้นเล็กและจิ้งหรีดโปร่งจึงเริ่มอพยพขึ้นที่สูง

ตะกวดวางไข่ในที่สูง  แสดงว่าอาจจะเกิดน้ำท่วม  ตามปกติตะกวดจะวางไข่ในจอมปลวก  ถ้าตะกวดวางไข่ที่โคนจอมปลวก แสดงว่าน้ำจะน้อย  แต่ถ้าตะกวดขุดที่ยอดจอมปลวกแล้ววางไข่ไว้ข้างบน แสดงว่าน้ำจะมาก  การที่ตะกวดรู้ว่าจะต้องวางไข่ที่ใดนั้น ตะกวดอาจจะดูจากตำแหน่งที่ปลวกอาศัยอยู่  ถ้ามีปลวกอยู่ที่โคนจอมปลวกแสดงว่าน้ำไม่ท่วม  ตะกวดก็จะวางไข่ที่โคนจอมปลวก แต่ถ้าปลวกขึ้นไปอยู่ทางด้านบนของจอมปลวก แสดงว่าจะเกิดน้ำท่วม  ตะกวดก็จะขึ้นไปวางไข่ที่ยอดจอมปลวก

            การสังเกตธรรมชาติของคนในสมัยก่อน  นอกจากจะเป็นการพยากรณ์ปรากฏการณ์ต่าง ๆ แล้ว ยังเป็นการสังเกตถึงความยิ่งใหญ่และพลังอันเร้นลับของธรรมชาติที่จะพร้อมดลบันดาลความอุดมบูรณ์และความหายนะมาสู่มนุษย์ได้ตลอดเวลาเหมือนกัน

คนสมัยก่อนจึงมักจะปลูกฝังลูกหลานผ่านพิธีกรรมความเชื่อต่าง ๆ นานา  เพื่อให้ทุกคนรักษาและเคารพธรรมชาติ  รู้จักใช้ทรัพยากรอย่างพอดี  ไม่ฉาบฉวยเอาความต้องการของตนเป็นที่ตั้ง จนในที่สุดธรรมชาติที่เคยอยู่เคียงคู่กับเรามาเป็นศัตรูกันอย่างน่าตกใจ  แต่ถ้าช่วยกันอนุรักษ์ หรือเพียงไม่ลงมือทำลายธรรมชาติ  สิ่งที่จะได้กลับมาก็คือความสุข ความอุดมสมบูรณ์ที่คงอยู่กับการดำรงชีวิตตลอดไป

 

ที่มา : ลูกโลกสีเขียว หนังสือพิมพ์เพื่อเครือข่ายคนรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  ปีที่ 6 ฉบับที่ 24 ตุลาคม – ธันวาคม 2554 หน้า 2-5

เอกสารอ้างอิง :

            กรมอุตุนิยมวิทยา (www.tmd.go.th)

            ชุมชนไทยดอทคอม (http://p-power.org)

            ดร.บัญชา  ธนบุญสมบัติ. รู้ทัน ฝนฟ้า อากาศ.กรุงเทพฯ:สำนักพิมพ์สารคดี (ในนามบริษัทวิริยะธุรกิจ จำกัด), 2553.

            สำนักพิมพ์สารคดี (http://www.nstda.or.th/nstda-knowledge/5167-living-thing-forecast)

 

Be the first to comment on "เรียนรู้ ลม ฝน ฟ้า อากาศ"

Leave a comment

Your email address will not be published.