พลเดช ปิ่นประทีป / เขียนให้โพสต์ทูเดย์ พุธที่ ๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๖
จะด้วยปัจจัยสาเหตุอันใดก็ตาม การเร่งรีบและรวบรวดผ่านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับสุดซอยของพลพรรคคุณทักษิณในสภาผู้แทนราษฎร ได้สร้างปรากฏการณ์ความขัดแย้งทางสังคมและการเมืองครั้งใหม่ ที่กำลังจะมีปฏิกิริยาลูกโซ่และเคลื่อนตัวไปตามเหตุปัจจัยฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยไม่มีใครคาดเดาได้ว่าจะยืดเยื้อเรื้อรังกันไปอีกกี่ปีและจะไปยุติลงที่จุดใด
โชคดีที่สังคมไทยยุคนี้มีนักคิดนักเขียน นักปฏิบัติ และนักวิชาการอยู่หลายสำนักคิด ที่ออกมามีบทบาทชี้แนะชี้นำผู้คนอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางกระแสสถานการณ์ที่ร้อนแรงขึ้นทุกวัน คงคาดหวังได้ว่าจะมีบทวิเคราะห์และการเสนอทางออกดีๆ ให้สังคมได้เลือกพิจารณากันอย่างต่อเนื่องนะครับ
ไม่ว่าจะเป็นทฤษฎีสถานการณ์ปฏิวัติกระแสสูง ที่เสนอการเปลี่ยนผ่านประเทศด้วยรูปแบบรัฐบาลเฉพาะกาลและกระบวนการทำให้อำนาจเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง หรือ ทฤษฎีชนชั้นกลางใหม่ในชนบทหัวเมืองที่เป็นฐานให้กับกลุ่มทุนใหม่ ที่คุณเสกสรรค์ ประเสริฐกุล ได้อธิบายในวาระ ๔๐ ปี ๑๔ ตุลา หรือ ทฤษฎีขี้ขำ และปัญหาธรรมาภิบาลของรัฐบาลทักษิณและวงศาคณาญาติ ที่คุณธีรยุทธ บุญมี ได้เสนอไว้ในโอกาสเดียวกัน แต่คนละเวที หรือแม้แต่ความเห็นที่ว่าการปฏิวัติมวลชนอาจเป็นเรื่องล้าหลังไปเสียแล้ว เพราะในที่สุดก็แก้ปัญหาที่ซับซ้อนของสังคมไม่ได้ ต้องใช้ขบวนการปฏิรูป การเรียนรู้และการจัดการตนเองในทุกระดับตามที่ นพ.ประเวศ วะสี เสนอ
โดยส่วนตัว ผมเกาะติดทำงานอยู่ที่ฐานล่างคือชุมชนท้องถิ่นมาโดยตลอด รู้แต่เพียงว่าการต่อสู้แย่งชิงอำนาจ ผลประโยชน์และเอาแพ้เอาชนะกันที่โครงสร้างส่วนบน เป็นเรื่องเกินกำลังที่ชาวบ้านอย่างเราจะไปคิด กำหนดก็ไม่ได้และดูท่าจะหลีกเลี่ยงไม่ได้เสียแล้ว
แต่เราก็พบว่ามวลชนรากหญ้าที่ถูกกระแสความขัดแย้งลากจูงเข้ามาเป็นกำลังต่อสู้กันในแต่ละสมรภูมินั้น เกือบทั้งหมดเป็นเรื่องระดับปัจเจก ในขณะที่ชุมชนและองค์กรชุมชนในระดับรวมหมู่ยังอยู่ในสถานะที่เป็นกลางและอยู่นอกพื้นที่การต่อสู้แย่งชิงของนักการเมือง
ดังนั้นสิ่งที่เราพอจะทำได้อย่างหนึ่ง คือการเร่งเสริมชุมชนท้องถิ่นที่ฐานล่างของประเทศให้แข็งแรง ให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงและในขณะเดียวกันต้องช่วยปกป้องไม่ให้ต้องเสียหายไปกับการต่อสู้ของกลุ่มพลังอำนาจฝ่ายต่างๆ จากข้างบน
ปัจจุบันเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปแล้วว่าชุมชนท้องถิ่นมีความสำคัญในฐานะที่เป็นฐานรากของสังคม ฐานรากของตึกที่แข็งแรงเท่านั้นจึงจะสามารถรองรับโครงสร้างอาคารที่สูงใหญ่ได้ การพัฒนาประเทศที่เน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจและมุ่งบริหารจัดการอำนาจอยู่ที่โครงสร้างส่วนบนในช่วง ๕๐ ปีที่ผ่านมา นอกจากละเลยชุมชนท้องถิ่นแล้ว ยังบ่อนเซาะฐานรากเหล่านี้จนลุกลามกลายเป็นวิกฤติการณ์ของสังคมใหญ่ทั้งโครงสร้างอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ กล่าวคือเกิดวิกฤติทั้งทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง สิ่งแวดล้อม สุขภาพและศีลธรรมอย่างเกี่ยวเนื่องกันไป
ทุกวันนี้มีหน่วยงานและองค์กรภาคส่วนต่างๆ ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาสังคมและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หันมาให้ความสำคัญกับการสนับสนุนการพัฒนาในระดับชุมชนกันเป็นจำนวนมาก จากการตรวจสอบเบื้องต้นของคณะอนุกรรมการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ร่วมแห่งชาติว่าด้วยระบบสุขภาวะชุมชน พบว่ามีจำนวนไม่น้อยกว่า ๔๖ หน่วยงาน แต่น่าเสียดายที่ต่างมีภารกิจที่ต้องดำเนินงานตามเป้าหมายและ KPI ของตน จึงบูรณาการกันไม่ได้เสียที
ชุมชนเข้มแข็ง ชุมชนสุขภาวะ ชุมชนจัดการตนเองหรือชุมชนเป็นสุข (ที่มีการใช้คำต่างกันไปตามองค์กรภาคี) หมายความว่า ชุมชนที่มีศักยภาพในการเรียนรู้ ปรับตัวและสามารถจัดการปัญหาได้ด้วยตนเอง ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง สิ่งแวดล้อม สุขภาพและคุณธรรมจริยธรรม จนบรรลุซึ่งความเข้มแข็ง พึ่งตนเองได้และมีความสุข สันติภาพหรือสุขภาวะในด้านต่างๆ
จากการสัมภาษณ์ผู้ทรงคุณวุฒิ ๒๐ ท่าน ศึกษาทบทวนวรรณกรรมว่าด้วยแผนและยุทธศาสตร์การสนับสนุนชุมชนของหน่วยงานภาคี ๒๐ องค์กร สำรวจระบบฐานข้อมูลและคลังองค์ความรู้และเทคโนโลยีของ ๑๐ หน่วยงาน รวมทั้งการประชุมระดมความคิดผู้เกี่ยวข้องหลายครั้ง คณะอนุกรรมการฯสามารถสรุปได้ว่า เครื่องมือที่จำเป็นในการบูรณาการและรวมพลังภาคีสนับสนุนชุมชนไม่ให้กระจัดกระจาย ดุจการรวมแสงเลเซอร์ ควรมีอย่างน้อย ๗ ชิ้นประกอบเข้าด้วยกันเป็นชุด
ในเวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ ๖ ที่จะมีขึ้นในระหว่างวันที่ ๑๘-๒๐ ธันวาคมนี้ ๔๖ องค์กรภาคีและเครือข่ายสมัชชาสุขภาพ ๒๓๔ เครือข่าย จึงพิจารณารับรองหลักการของยุทธศาสตร์รวมแสงเลเซอร์สนับสนุนชุมชนและประกาศเจตนารมณ์ในการทำงานร่วมกัน ประกอบด้วย ๑.เป้าหมายร่วม (Purpose) ๒. หลักการทำงานร่วม (Principle) ๓.ความรู้สึกเป็นเจ้าของร่วมกัน (Ownership) ๔. แผนขับเคลื่อนภารกิจเชิงยุทธศาสตร์ร่วมกัน (Plan) ๕. คลังข้อมูลและองค์ความรู้ที่จำเป็นร่วมกัน (Database) ๖. คลังเครื่องมือและเทคโนโลยีร่วมกัน (Tools) ๗. กลไกการจัดการร่วมกัน (Organization)
เป้าหมายร่วมคือองค์กรชุมชน ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของชุมชนเข้มแข็งและผลลัพธ์ผลผลิตรูปธรรมที่ทุกหน่วยงานต่างมีร่วมกัน กล่าวคือ หน่วยงานภาคีมักจะเริ่มต้นจากขั้นตอนการเข้าไปส่งเสริมสนับสนุนให้ชุมชนมีการรวมตัวร่วมคิดร่วมทำกันเป็นกลุ่ม มีการจัดตั้งและจัดการอย่างเป็นระบบ มีการพัฒนาศักยภาพในการเรียนรู้และจัดการตนเองได้เข้มแข็งขึ้นเรื่อยๆตามลำดับ
องค์กรชุมชน หมายความว่า รูปแบบการจัดตั้งและจัดการตนเองอย่างมีโครงสร้างและเป็นระบบของชุมชน ซึ่งอาจมีความแตกต่างหลากหลายกันไปตามวัตถุประสงค์ ความสนใจและการปฏิสัมพันธ์ตอบสนองกับองค์กรภายนอก ทั้งในด้านชนิด ประเภท ขนาดและคุณสมบัติขององค์กร
ในเบื้องต้น จากฐานข้อมูล ๑๐ องค์กรภาคีในปี ๒๕๕๖ พบว่ามีองค์กรชุมชนประเภทต่างๆ รวม ๒๑๔,๘๐๓ องค์กร และมีการประเมินระดับความเข้มแข็งในเชิงคุณภาพแล้วรวม ๑๐๖,๗๘๐ องค์กร ซึ่งในจำนวนนี้ พบระดับที่เข้มแข็งประมาณร้อยละ ๓๐ (เปรียบเทียบกับงานวิจัยที่เคยทำเมื่อปี ๒๕๔๒ สำรวจองค์กรชุมชน ๔๐,๐๐๐ องค์กร พบเข้มแข็งร้อยละ ๑๓ เท่านั้น)
ดังนั้น องค์กรภาคีจึงได้กำหนดเป้าหมายร่วมกันว่า ภายใน ๑๐ ปีข้างหน้า จะผนึกกำลังกันทำงานอย่างจริงจังเพื่อให้องค์กรชุมชนในเครือข่ายมีความเข้มแข็งในเชิงคุณภาพอย่างน้อยร้อยละ ๖๐ ครับ
Be the first to comment on "เร่งเสริมฐานล่าง เผชิญการเขย่าข้างบน"