โหวตเชิงยุทธศาสตร์ โหวตเพื่อสังคมเข้มแข็ง และเพื่อเปรียบเทียบนโยบายของพรรคการเมืองโดยใช้ทิศทางว่าด้วย “เศรษฐกิจพอเพียง สังคมเข้มแข็งและสันติภาพ…..
พลเดช ปิ่นประทีป เครือข่ายการเมืองของพลเมือง |
|
เจตนารมณ์สำคัญหนึ่งของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 มุ่งส่งเสริมการเมืองของพลเมือง เพื่อให้ประชาชนมีบทบาทโดยตรงในการกำหนดอนาคตของตนเอง ในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ และในกระบวนการมีส่วนร่วมกำหนดนโยบายสาธารณะ
แต่ทุกรัฐบาลที่ผ่านมามักขาดความตั้งใจที่ผลักดันนโยบายเพื่อส่งเสริมการเมืองของพลเมือง หรือการพัฒนาระบบประชาธิปไตยทางตรง
4 ปีของรัฐบาลปัจจุบัน จะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม อำนาจตัดสินใจบริหารราชการแผ่นดิน และการแก้ปัญหาของประเทศได้ถูกทำให้รวมศูนย์อยู่ที่กลไกรัฐบาล และนายกรัฐมนตรีฝ่ายเดียว กลไกระบบตรวจสอบถูกบั่นทอน และแทรกแซง จนลดความสำคัญลงมาก |
|
ปัญหาทางสังคม ซึ่งมีธรรมชาติและปัจจัยสลับซับซ้อน ที่แก้โดยวิถีของอำนาจ และนิสัยใจเร็วใจร้อนของผู้นำได้นำไปสู่การละเมิดสิทธิของประชาชนอย่างรุนแรง ทั้งในเรื่องการแก้ปัญหายาเสพติด การชุมนุมเรียกร้องของประชาชนตามสิทธิอันพึงมี และกรณีความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในขณะเดียวกัน นอกจากไม่ส่งเสริมบทบาทการมีส่วนร่วมของประชาชนที่เป็นพลเมืองแล้ว ยังลิดรอนและปิดกั้นบทบาทขององค์กรภาคประชาชน ปรากฏการณ์ และข้อเท็จจริงเหล่านี้สะท้อนความล้าหลังของประชาธิปไตยแบบเลือกผู้แทน ช่วงนี้การโหมโรงของพรรคการเมือง เพื่อแย่งชิงที่นั่ง และพื้นที่ในการเลือกตั้งปี 2548 มีความดุเดือดมากกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา เพราะเป็นครั้งแรกที่ทุกพรรคการเมืองต่างเสนอนโยบายที่มีจุดเด่นในการเสนอตัวเป็นตัวแทนประชาชนเข้าบริหารประเทศ สถานการณ์ที่เป็นจำนวนที่นั่ง ส.ส.ของพรรคการเมืองที่เป็นรัฐบาลในปัจจุบัน แม้เริ่มต้นจากคะแนนต่ำกว่า 250 เสียง จึงต้องตั้งรัฐบาลผสม แต่ในที่สุดก็มีการยุบพรรคการเมืองอื่นเข้ามาโดยอาศัยความได้เปรียบในการเป็นรัฐบาล โดยเริ่มจากพรรคเสรีธรรม พรรคความหวังใหม่ และพรรคชาติพัฒนา ทำให้รัฐบาลมีคะแนนเสียงรวม 330 เสียง จาก 500 ที่นั่ง จึงมีความพร้อมที่จะเป็นรัฐบาลพรรคเดียว โดยที่ฝ่ายค้านหมดโอกาสจะอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี
ถ้าพิจารณาในส่วน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทยรักไทยมี ส.ส.ในระบบบัญชี 63 ที่นั่ง (เป็นไทยรักไทยเดิม 48 ที่นั่ง ความหวังใหม่ 8 ที่นั่ง และชาติพัฒนา 7 ที่นั่ง) กับพรรคชาติไทยอีก 6 ที่นั่ง ส่วนฝ่ายค้านของพรรคประชาธิปัตย์มีเพียง 31 ที่นั่ง รัฐบาลปัจจุบันจึงมีความเข้มแข็งจนยากที่จะมีใครมาดุลคานได้ ทั้งจากภายใน ได้แก่ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล และจากภายนอกคือ ฝ่ายค้าน องค์กรอิสระ และพลังนอกรัฐสภา ที่โหวตเชิงยุทธศาสตร์ โหวตเพื่อสังคมเข้มแข็ง และเพื่อเปรียบเทียบนโยบายของพรรค
การเมืองโดยใช้ทิศทางว่าด้วย “เศรษฐกิจพอเพียง สังคมเข้มแข็งและสันติภาพ” เป็นกรอบพิจารณา ตลอดจนความน่าเชื่อถือของบุคคลแกนนำและผู้นำของพรรคที่รักษาคำมั่นสัญญา ว่าจะทำจริงตามที่ประกาศไว้
สถานการณ์ปัจจุบันกล่าวได้ว่า ภาคประชาชนจะไม่สามารถเลือกผู้สมัครคนใดและพรรคการเมืองใดแบบง่ายๆ ตรงๆ เพื่อที่จะมอบความไว้วางใจให้เข้าไปผลักดันนโยบายในทิศทางอันพึงประสงค์ได้เลย จึงนำเสนอให้ใช้การโหวตเชิงยุทธศาสตร์เพื่อแสดงบทบาทของการเมืองของพลเมืองในสถานการณ์เลือกผู้แทนในคราวนี้
โอกาสของการเลือกตั้งที่กำลังมาถึงนี้ ในฐานะของผู้ปฏิบัติเครือข่ายการเมืองของพลเมืองขอเปิดประเด็นให้มีการพูดคุย ถกเถียงกันให้มากว่า เราจะโหวตเชิงยุทธศาสตร์กันอย่างไร
เวทีนโยบายสาธารณะเพื่อเอาชนะความยากจน เมื่อ 26 พ.ย.มีการเสนอว่า เราควรตั้งเป้าหมายของการโหวตเพื่อให้ได้มาซึ่งสภาวะที่จะเอื้อให้มากที่สุดต่อกระบวนการสังคมเข้มแข็งในอีก 4 ปีข้างหน้า เราต้องการฐานรากของสังคมที่เข้มแข็ง จากนโยบายเศรษฐกิจพอเพียงและชุมชนเข้มแข็ง ไม่ใช่นโยบายประชาสงเคราะห์ หรือประชานิยมแบบไม่รู้จบ
ท้องถิ่นเข้มแข็งจากนโยบายกระจายอำนาจ และการพัฒนาศักยภาพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ไม่ใช่การรวบอำนาจไว้ที่ส่วนกลางหรือรัฐบาล
ภาคสังคมต้องเข้มแข็งจากนโยบายสนับสนุนสื่อมวลชนให้มีอิสระและมีความสามารถ นโยบายสนับสนุนองค์กรพัฒนาเอกชน และองค์กรภาคประชาสังคมอย่างเต็มที่ ไม่ใช่นโยบายควบคุมสื่อ และกีดกันบทบาทของภาคประชาชน ต้องมีองค์กรอิสระที่เข้มแข็งจากนโยบายที่เคารพ และสนับสนุนบทบาทขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญไม่ใช่นโยบายที่แทรกแซงทั้งทางตรงและทางอ้อม
เวลาเดียวกันรัฐบาลต้องมีศักยภาพในการดูแลปัญหาเศรษฐกิจระดับมหภาค การแข่งขันกับต่างประเทศ และการเจรจาต่อรองกับโลกาภิวัตน์ ดังนั้นที่ประชุมจึงเสนอว่า เป้าหมายของการลงคะแนนครั้งนี้ควรมุ่งไปที่การมีรัฐบาลที่เข้มแข็งพอประมาณ และมีพรรคฝ่ายค้านที่มีกำลังเพียงพอเป็นสำคัญ การระดมความคิดในเวทีนโยบายสาธารณะครั้งล่าสุด กลุ่มแกนประสานเครือข่ายการเมืองของพลเมือง จาก 76 จังหวัด ช่วยกันคิดหาวิธีการที่เป็นรูปธรรมสำหรับการโหวตเชิงยุทธศาสตร์ เพื่อสังคมเข้มแข็งว่าควรเป็นอย่างไร
ที่ประชุมมีข้อสรุปเชิงยุทธวิธีว่า “เลือกคนที่รัก” จากผู้สมัครเป็นรายเขต กล่าวคือ ไม่ว่าจะชอบผู้สมัครเป็นการส่วนตัว หรือชอบพรรคที่สังกัดก็ตาม เราจะเลือกคนที่รัก และพรรคที่ชอบผ่านผู้สมัคร ส.ส.เขตตามแนวทางนี้
เราอยากเห็นรัฐบาลที่มีเสียงไม่เกิน 280 เสียง ในกรณีที่เป็นรัฐบาลพรรคเดียว หรือไม่เกิน 300 เสียง (จาก 500 เสียง) ในกรณีที่เป็นรัฐบาลผสม
ถ้าพิจารณาเฉพาะส่วน ส.ส.บัญชีรายชื่อที่ค้ำจุนรัฐบาลด้วยแล้ว ก็อยากเห็นรัฐบาลที่มี ส.ส.บัญชีรายชื่อรวมกันไม่เกิน 50 เสียง (จาก 100 เสียง) ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลพรรคเดียว หรือรัฐบาลผสม เพื่อป้องกันการเหลิงจนเกินเหตุ
“เลือกพรรคไปคาน” คือ ยุทธวิธีการโหวตเพื่อสังคมเข้มแข็งสำหรับการเลือกตั้งคราวนี้ กล่าวคือ หากเราประเมินแล้วว่าพรรคใดจะได้เป็นรัฐบาลไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลพรรคเดียว หรือรัฐบาลผสม ก็จะเลือกพรรคตรงกันข้าม เพื่อ “ไปดุล-ไปคาน” โดยมิได้มีเจตนาที่จะสนับสนุนหรือสกัดกั้นใคร โดยถือว่าผู้สมัครทุกคน ทุกพรรคการเมือง คือ เพื่อน คือ มิตร ซึ่งต่างฝ่ายต่างทำหน้าที่
“เลือกคนที่รัก เลือกพรรคไปคาน” เป็นเพียงการเปิดประเด็นให้ประชาชนได้มีการถกเถียงกัน และนำไปสู่การเรียนรู้จากปฏิบัติ คือ การเมืองของพลเมืองตามเจตนารมณ์แห่งรัฐธรรมนูญเท่านั้นเอง
|
Be the first to comment on "“เลือกคนที่รัก เลือกพรรคไปคาน” ยุทธวิธีโหวตเพื่อสังคมเข้มแข็ง"