เวทีนโยบายสาธารณะเพื่อสังคมสมานฉันท์และสันติสุข (8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน)

คุณพิภพ ธงไชย กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ กอส…การจะเข้าใจ จะแก้ไขปัญหา 3 จังหวัดชายแดนใต้เราต้องมองคน 3 จังหวัดซึ่งส่วนใหญ่เป็นมุสลิม มลายู อย่างใจกว้าง ต้องมองอย่างเข้าใจ และเคารพในความแตกต่าง ทั้งในเรื่องประวัติศาสตร์ ภาษา ศาสนา..

เวทีนโยบายสาธารณะเพื่อสังคมสมานฉันท์และสันติสุข (8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน)


เพื่อสร้างความเข้าใจของสังคมต่อสถานการณ์ปัญหาที่แท้จริงของวิกฤติไฟใต้

วันที่ 8 ธันวาคม 2548 ที่โรงแรมลำปางเวียงทอง จังหวัดลำปาง สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนาร่วมกับเครือข่ายประชาสังคมภาคเหนือตอนบนและพันธมิตร โดยการสนับสนุนของ มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติและสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกันจัด เวทีนโยบายสาธารณะเพื่อสังคมสมานฉันท์และสันติสุข (8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน) เพื่อสร้างความเข้าใจของสังคมต่อสถานการณ์ปัญหาที่แท้จริงของวิกฤติไฟใต้ และร่วมกันหาทางออกต่อการแก้ไขวิกฤตไฟใต้ และเรียนรู้บทเรียนจากวิกฤติปัญหา 3 จังหวัดชายแดนใต้ สู่การคิดค้นแนวทางการแก้ไขปัญหา/ความขัดแย้งในท้องถิ่นภาคเหนือ
พลเอกศิริชี้ 3 ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนใต้ ไม่ใช่เหตุจากความแตกต่างทางศาสนา วัฒนธรรมเพราะสังคมไทยไม่เคยขัดแย้งด้วยเหตุของความแตกต่าง

 

พล. อ. ดร. ศิริ ทิวะพันธ์ สมาชิกวุฒิสภา ประธานการประชุมได้ปาฐถถานำในเรื่อง สังคมไทยสันติสุขบนความหลากหลาย ว่า สังคมไทยเป็นสังคมที่ดี สามารถหล่อหลอมให้คนทุกเชื้อชาติให้อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขได้มาตลอด เพราะธรรมชาติของคนไทยและสังคมไทย นั้นมีแต่ความเมตตา ความรัก ความจริงใจ รักความเป็นธรรม ธรรม ความแตกต่างทางศาสนา ประเพณีและวัฒนธรรม จึงไม่เคยเป็นเหตุของความขัดแย้งในสังคมไทยมาก่อนประวัติศาสตร์ไทยตั้งแต่อดีต จนถึงปัจจุบัน ความขัดแย้งตั้งแต่อดีตมา มาจากการขาดความสามัคคีของคนในชาติมากกว่า
กรณี 3 จังหวัดชายแดนใต้จึงไม่ใช่เรื่องของความขัดแย้งจากความแตกต่างทางศาสนา วัฒนธรรม และคนส่วนใหญ่ของ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ไม่คิดจะไปรวมกับชาติอื่นอย่างที่มีความพยายามจะให้สังคมเข้าใจอย่างนั้น
พิภพ ธงไชย บอก ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนใต้กระทบลักษณะสังคมไทย ถ้าคนไทยไม่ร่วมแก้

 

คุณพิภพ ธงไชย กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ กอส. และสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ชี้ว่า หากติดตามข่าวภาคใต้ เราจะพบแต่ภาพความรุนแรงที่เกิดขึ้น ซึ่งอาจทำให้เข้าใจเรื่องราวของคน 3 จังหวัดที่ไม่ตรงกับความจริง การจะเข้าใจ จะแก้ไขปัญหา 3 จังหวัดชายแดนใต้ เราต้องมองคน 3 จังหวัดซึ่งส่วนใหญ่เป็นมุสลิม มลายู อย่างใจกว้าง ต้องมองอย่างเข้าใจ และเคารพในความแตกต่าง ทั้งในเรื่องประวัติศาสตร์ ภาษา ศาสนา วัฒนธรรม ของ 3 จังหวัด ไม่ใช่มองอย่างเหมารวม มองอย่างสงสัย เพราะเหตุของความแตกต่าง

เพราะสังคมเรามีความแตกต่าง คนเหนือก็พูดภาษาเหนือ คนพุทธก็ถือศีลห้า อ่านพระธรรมที่เป็นภาษาบาลี คนมุสลิมก็มีภาษาของตน ปฏิบัติตนตามหลักปฏิบัติในคัมภีร์อัลกุรอ่าน ที่ควรให้ความเคารพและให้ความยุติธรรมกันและกัน

การพยายามตีความ หรือทำให้สังคมเข้าใจที่ผิด โดยชี้ว่า ความแตกต่างทางศาสนา วัฒนธรรม เป็นเหตุของความขัดแย้ง อาจจะกระทบต่อลักษณะที่ดีของคนไทยและสังคมไทย ที่เป็นสังคมไทย เป็นคนไทย ที่มีความเมตตา ความรัก ความจริงใจ รักความเป็นธรรม ซึ่งเป็นหัวใจของความสัมพันธ์และการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข บนความหลากหลายของคนในสังคมไทย ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนใต้ขณะนี้ ไม่ใช่เพียงปัญหาของคน 3 จังหวัดชายแดนใต้ หรือของรัฐบาลแล้ว แต่เป็นปัญหาของคนไทยทั้งชาติ

เครือข่ายประชาสังคมภาคเหนือตอนบน เสนอ ดับไฟใต้ รัฐต้องให้ความจริงกับสาธารณะ สร้างความไว้ใจกับคนในพื้นที่
 

ในเวทีผู้เข้าร่วมได้สะท้อนรู้สึกต่อปัญหาสถานการณ์ไฟใต้ว่า สับสนกับข้อมูลที่ปรากฏผ่านสื่อ และภาครัฐ ที่แตกต่างจากที่ได้ฟังจากคนในพื้นที่ แต่รู้สึกเห็นใจคนใน 3 จังหวัดที่ต้องอยู่กับความไม่มั่นคง ไม่ปลอดภัยอยู่ทุกวัน รู้สึกถึงความสัมพันธ์ที่แตกแยกของคนในพื้นที่ และเห็นว่าการแก้ไขที่ผ่านมา เป็นการแก้ไขปัญหาที่ไม่ตรงจุด และยิ่งสร้างความรุนแรงในพื้นที่มากขึ้น สร้างความเข้าใจที่ผิดต่อสังคม โดยเฉพาะการเลือกสื่อสารข้อมูลเฉพาะด้านที่เป็นประโยชน์ต่อภาครัฐกับสาธารณะ ที่ทำให้คนในพื้นที่ก็ไม่มั่นใจต่อการแก้ไขปัญหาภาครัฐ และคนในสังคมมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนต่อคนและสถานการณ์ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนใต้

และเสนอทางออกของการดับวิกฤติไฟใต้ว่า ภาครัฐต้องเร่งแยกแยะต้นตอของปัญหาที่แก้จริง มีกลไกที่ให้ข้อมูลที่เป็นความจริงและสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องต่อสังคม อาจจะเป็น กอส. ก็ได้ ต้องลดทิฐิในการแก้ไขปัญหา รับฟังความเห็นที่แตกต่าง ใช้กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่แก้ไขปัญหา เร่งสร้างความยุติธรรม ความโปร่งใสในพื้นที่ให้ปรากฏ และเร่งฟื้นฟูความสัมพันธ์ ความผูกพันและไว้ใจกันในพื้นที่ให้เกิดขึ้นโดยเร็ว

 


หมายเหตุ:
หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ภาพ หรือบทถอดเทปฉบับเต็ม ติดต่อ คุณยุทธดนัย 0-2621-7810-2

องค์กรร่วมจัด

คณะกรรมาธิการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ วุฒิสภา/คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.)/สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม/ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล/เครือข่ายสมานฉันท์ และสันติวิธี ศูนย์สนับสนุนฟื้นฟูและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศพต.)/เครือข่ายประชาสังคมจังหวัด 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน/สาขายุทธสาสตร์การพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฎลำปาง/สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา/มูนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ/สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)

8/12/48

 

Be the first to comment on "เวทีนโยบายสาธารณะเพื่อสังคมสมานฉันท์และสันติสุข (8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน)"

Leave a comment

Your email address will not be published.