คนกลุ่มหนึ่งพยายามรวมตัวกันเป็น “พลเมืองที่ตื่นตัว” ซึ่งไม่ใช่การรวมตัวเพื่อปะทะ ประท้วง ร้องขอ แต่ลงมือกระทำ ร่วมคิด ร่วมปฏิบัติ สร้างการมีส่วนร่วม และการกำหนดอนาคตตนเอง ด้วยมุ่งหวังสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่
การพัฒนาท้องถิ่น ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมของสมาชิกชุมชน เป็นสิ่งที่มีมาในระยะหนึ่ง ก่อนที่จะมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ซึ่งกล่าวได้ว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่เน้นความสำคัญของศักดิ์ศรี สิทธิ เสรีภาพ และการมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาประเทศในทุกๆด้าน
กล่าวได้ว่า ชุมชนจำนวนไม่น้อยมีกระบวนการเรียนรู้และบทเรียนจากการทำงานแบบมีส่วนร่วม เกิดผู้นำธรรมชาติ การสร้างเสริมพลังปัญญาและวัฒนธรรมชุมชน ในการร่วมกำหนด “ประเด็นสาธารณะ” และกระบวนการจัดการ
โครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะ- ท้องถิ่นน่าอยู่ เป็นโครงการที่เน้นการสร้างจิตสำนึกสาธารณะ เพื่อร่วมพัฒนาท้องถิ่น ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมโดยมีการสื่อสารและการเรียนรู้รูปแบบต่างๆเป็นกลไกสำคัญ
ตลอดระยะเวลาร่วม 2 ปี หรือ 2 ใน 3 ของระยะเวลาโครงการ ภาคี 35 จังหวัด ได้ทำงานเพื่อค้นหาประเด็นสาธารณะ และหนทางเพื่อสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ เกิดโครงการและการดำเนินการที่เป็นรูปธรรมมากมาย |
||||||
ผู้ดำเนินรายการคือ นายก่อเขต จันทเลิศลักษณ์ จากเนชั่น แชนแนล และ อาจารย์ขวัญสรวง อติโพธิ จากสถาบันการเรียนรู้และพัฒนาประชาสังคม
คุณวิลาวัณย์ เอื้อวงศ์กูล จังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดอุบลฯ ทำงานเรื่องการพัฒนาชีวิตสาธารณะและประชาสังคมที่เข้มแข็ง เพื่อสร้างสรรค์ท้องถิ่นที่น่าอยู่และยั่งยืน โดยใช้ชื่อ “ฮักแพง…แปงอุบล” ในการเคลื่อนงานผ่านประเด็นที่เป็นรูปธรรม 7 ประเด็นคือ
1)ท่องธารธรรม สืบค้นอัตชีวประวัติพระเถระผู้ใหญ่ที่คนอุบลให้ความเคารพศรัทธา พร้อมกับพัฒนากลุ่มเยาวชนในท้องถิ่นเพื่อเป็นยุวมัคคุเทศก์ต้อนรับแขกผู้มาเยือน และการนำหลักธรรมคำสอนมาใช้ในชีวิตประจำวัน 2) บรรพชนคนการเมืองและเสรีไทย นำเรื่องราวชีวิตนายนายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ อดีตนักการเมือง สส.สมัยแรกของเมืองอุบล และเคยเป็นแกนนำเสรีไทยสายอีสานตอนล่างซึ่งมีบทบาททาการเมืองทั้งระดับท้องถิ่นถึงระดับชาติผ่านสื่อละครหุ่น “คณะละครหุ่นฮักแพง” เพื่อเป็นแบบอย่างแก่นักการเมืองและเยาวชนรุ่นปัจจุบัน 3)ฮูปเก่า…เว้าอุบล คือการสืบค้นประวัติศาสตร์เมืองอุบลราชธานีเพื่อให้คนรู้ราก รู้จักตัวเอง ผ่านการบันทึกโดยประชาชนคนอุบล ผ่านกิจกรรมการแลกเปลี่ยนพูดคุย ผ่านภาพเก่าและผู้รู้ซึ่งเป็นเจ้าของภาพและผู้เกี่ยวข้องทั้งหลาย เพื่อให้ประวัติศาสตร์เมืองอุบลได้ถูกเติมเต็มอย่างครบถ้วนและมีชีวิตชีวามากที่สุด 4) ฮักแพง…ครูเพลงเมืองดอกบัว 5) พลิกฟื้นคุณภาพชีวิตเมืองเก่า 6) ศาลาแซ่บ และ 7) ประเทศฮิม ของ(ริมโขง)
ทั้ง 7 ประเด็นใช้เรื่องภูมิปัญญาและวัฒนธรรม ในการขับเคลื่อนงาน ซึ่งทำให้เข้าถึงคนได้ง่ายและช่วยให้คนอุบลฯ รู้จักตัวเอง เห็นคุณค่า ความงามของภูมิปัญญาและวัฒนธรรม
คุณภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ จังหวัดลำปาง คนลำปางยังขาดความเข้าใจเกี่ยวกับภูมิหลัง รากเหง้าของตัวเอง และพื้นที่สาธารณะ ลำปางจึงเคลื่อนงานชีวิตสาธารณะโดยผ่านประเด็น ศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยการสืบค้นประวัติจากภาพเก่า รวบรวมข้อมูลภูมิปัญญาท้องถิ่น จัดเวทีแลกเปลี่ยน งานที่เห็นเป็นรูปธรรมคือ 1) หอศิลปวัฒนธรรมนครลำปาง เกิดจากการพัฒนาศาลากลางเก่าให้เป็นพื้นที่สาธารณะ เพื่อให้คนลำปางได้เข้ามาใช้จัดกิจกรรมต่างๆ และ 2) ลานสาธารณะพระธาตุหลวง ที่เกาะคา
การทำงานที่ผ่านมาได้ฟังเสียงสะท้อนจากสื่อ ภาครัฐ และประชาชน ทำให้เกิดการเรียนรู้ว่า ถ้าเราทำไปเพราะเราอยากทำเอาใจตัวเอง ความคิดตัวเองฝ่ายเดียวไม่ได้ ต้องฟังเสียงคนอื่นด้วยว่าเขาต้องการอะไร
คุณสุรจิต ชิรเวทย์ จังหวัดสมุทรสงคราม (แม่กลอง) แม่กลองเป็นเมืองแห่งน้ำ มีทั้งน้ำเค็ม น้ำกร่อย น้ำจืด วิถีชีวิตคนแม่กลองจึงผูกพันอยู่กับน้ำ แต่ปัจจุบันเปลี่ยนแปลงจากอดีตไปมาก หลังการพัฒนามาเยือน แม่กลองวันนี้มีปัญหาคุณภาพน้ำแม่กลองเสื่อมโทรม เนื่องจากการตั้งโรงงานอุตสาหกรรม คนรุ่นใหม่ไม่เห็นคุณค่าของภูมิปัญญา ฯลฯ
ที่แม่กลองจึงเน้นฟื้นฟูภูมิปัญญาชาวบ้านและสร้างพื้นที่สาธารณะ เช่น เรื่องการทำมาหากินที่สอดคล้องกับระบบน้ำของคนรุ่นเก่า การสืบค้นประวัติแม่กลองผ่านภาพเก่า เป็นต้น โดยรวบรวมความรู้เป็นเอกสาร จัดนิทรรศการ จัดเวทีเสวนาแลกเปลี่ยน และการเผยแพร่ข้อมูล เพื่อให้คนแม่กลองรู้จักรากเหง้าตัวเองและมีพื้นที่สาธารณะ
อ.บงกช ณ สงขลา จังหวัดปัตตานี จังหวัดปัตตานีเน้นงานประสานความเข้าใจในสิ่งที่คนไม่เข้าใจกัน เช่น วัฒนธรรมองค์กร การทำงาน วิถีการดำเนินชีวิต ศาสนา ที่แตกต่าง บนพื้นฐานความคิดที่ว่า ทุกบ้านทุกเมืองย่อมต้องการความสงบสุข โดยผ่านเรื่องราวดังนี้ 1)ใช้สุเหล่าเป็นศูนย์กลางชุมชน 2)ตั้งกองทุนสะกะ เพื่อช่วยเหลือคนด้อยโอกาส 3)มีสภาที่ปรึกษาประจำหมู่บ้าน และ 4) เน้นการศึกษาแบบบูรณาการ เพื่อพัฒนาชีวิตสู่โลกหน้า เมื่อก่อนสุเหล่า วัด โบสถ์เคยเป็นสถานที่ใช้ศึกษาและรวมศูนย์ชุมชน แต่ปัจจุบันนี้หายไป |
||||||
อ.มนัส ธัญญเกษตร จังหวัดสุรินทร์ ใช้ยุทธศาสตร์การสร้างองค์ความรู้ท้องถิ่น เพื่อให้เกิดองค์ความรู้ การจัดการองค์ความรู้ในระดับท้องถิ่น ยุทธศาสตร์การสร้างเครือข่าย เพื่อให้เกิดพันธมิตร เครือข่ายความร่วมมือที่มีพลังในการเคลื่อนงานพัฒนาสังคมท้องถิ่น และยุทธศาสตร์การสร้างพื้นที่ทางสังคม
สิ่งที่ทำอยู่คือ เรื่องเศรษฐกิจท้องถิ่น ซึ่งใช้วิธีการวิจัยเชิงปฏิบัติการผ่าน กิจกรรม “ตลาดนัดสีเขียว” เพื่อทำให้เกิดการเรียนรู้ นำไปสู่ความเข้มแข็ง จนกระทั้งชุมชนสามารถพึ่งตนเองได้
ตลาดนัดสีเขียว เกิดขึ้นมาได้เพราะการถอดบทเรียน เห็นปัญหาตรงนั้น ตรงนี้ ร่วมกันของทีมทำงานและชาวบ้าน บทเรียนทำให้เกิดการคิด เรียนรู้ว่าเราควรจะมี ทำอะไรบ้าง ตลาดนัดสีเขียวจึงเกิดขึ้น ที่ตลาดจะมีการขายผักปลอดสารพิษ นวดแผนโบราณ การแสดงศิลปวัฒนธรรม การประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อวิทยุ ฯลฯ
ในเรื่องของปัญหาที่เกิดขึ้นมีวิธีการจัดการ โดยการเอาปัญหานั้นมากองแล้วมาคิด ทำ ร่วมกัน ส่งผลให้เกิดเครือข่ายเพิ่มขึ้น ปัญหาก็จะไม่เป็นปัญหากลับกลายเป็นผลดี
คุณบรรพต ก่อเกียรติเจริญ จังหวัดตาก เรื่องเขตเศรษฐกิจชายแดนพิเศษ อำเภอแม่สอด ที่ผ่านมามีแต่จะผลักดันให้มันเกิด โดยที่ประชาชนส่วนใหญ่ในแม่สอด ขาดการรับรู้ข้อมูล ขาดความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องนี้
ประชาคมแม่สอดจึงรับอาสาเชื่อมโยงทุกภาคส่วนอย่าง สภาอุตสาหกรรม หอการค้าจังหวัดตาก ราชการท้องถิ่น สถานศึกษา สื่อท้องถิ่น และหน่วยงานรัฐ โดยการรวบรวมความรู้ ความเข้าใจ ศึกษาข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ด้วยการจัดทำเอกสาร วีซีดี และจัดเวทีแลกเปลี่ยน เพื่อเผยแพร่ กระจายข้อมูล และสร้างความเข้าใจร่วม ซึ่งเป็นการมุ่งสู่ การร่วมกำหนดอนาคตตนเองของคนแม่สอด
คุณสมพงษ์ ยูงทอง จังหวัดนครสวรรค์ งานที่นครสวรรค์คือ การรวบรวมความรู้เรื่อง ปากน้ำโพธิ์ ด้านวิถีชีวิต ภูมปัญญา วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ เพื่อให้รู้จักตัวตนของตัวเอง โดยใช้เครื่องมือสำคัญ คือ วิทยุชุมชน ซึ่งนำเสนอเรื่องการประชุมสำคัญๆ ความรู้เรื่องปากน้ำโพธิ์ ฯลฯ
นี้คือตัวอย่างของคนกลุ่มหนึ่งที่พยายามรวมตัวกันเป็น “พลเมืองที่ตื่นตัว” ซึ่งไม่ใช่การรวมตัวเพื่อปะทะ ประท้วง ร้องขอ แต่ลงมือกระทำ ร่วมคิด ร่วมปฏิบัติ สร้างการมีส่วนร่วม และการกำหนดอนาคตตนเอง ด้วยมุ่งหวังสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ |
||||||
|
||||||
ทีมสื่อสารสาธารณะ 17 ก.พ. 48 |
Be the first to comment on "เวทีบ้านเมืองเรื่องของเรา ตอน ท้องถิ่นไทย กับการร่วมกำหนดอนาคตตนเอง"