เมื่อวันที่ 28 – 30 มีนาคม 2548 ทีมสนับสนุนส่วนกลาง ร่วมกับทีมงานในโครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะ – ท้องถิ่นน่าอยู่ภาคเหนือ จัดเวทีประชาสังคมภาคเหนือ ครั้งที่ 2…เพื่อให้พื้นที่ภาคเหนือได้พูดคุยแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เล่าถึงเรื่องราวและประเด็นการทำงานเชิงความรู้ของแต่ละจังหวัด …
|
เมื่อวันที่ 28 – 30 มีนาคม 2548 ทีมสนับสนุนส่วนกลาง ร่วมกับทีมงานในโครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะ – ท้องถิ่นน่าอยู่ภาคเหนือ จัดเวทีประชาสังคมภาคเหนือ ครั้งที่ 2 ณ วังธารรีสอร์ท จ.เชียงใหม่ มีผู้เข้าร่วมประมาณ 20 คน การจัดเวทีครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อให้พื้นที่ภาคเหนือในชุดโครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะ – ท้องถิ่นน่าอยู่ ได้แก่ ตาก แม่ฮ่องสอน พะเยา ลำพูน ลำปาง เชียงรายเพชรบูรณ์ พิษณุโลก มาพูดคุยแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เล่าถึงเรื่องราวและประเด็นการทำงานเชิงความรู้ของแต่ละจังหวัด สรุปสาระสำคัญของแต่ละจังหวัดดังนี้
นางเพลินใจ เลิศลักขณวงศ์ จากประชาคมจังหวัดตาก กล่าวว่า ตาก เป็นเมืองที่มีความหลากหลาย ทั้งเศรษฐกิจ วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม ลักษณะของเมือง ฝั่งตะวันออกวิถีชีวิตของผู้คนเรียบง่ายอาชีพเกษตรกรรม เลี้ยงสัตว์ เป็นเมืองศูนย์ราชการ มีแหล่งหินแกรนิตและมีเขื่อนภูมิพล เป็นสัญลักษณ์ ฝั่งตะวันตกสะท้อนภาพของการดิ้นรนต่อสู้การค้าชายแดนมายาวนานกว่าร้อยปี มีวิถีชีวิตและวัฒนธรรมกลุ่มชนต่างๆที่หลากหลาย มีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ การค้าอัญมณี และตลาดริมเมยเป็นสัญลักษณ์มีปัญหายาเสพติด แรงงานต่างด้าว การลักลอบเข้าเมือง การทำลายป่าที่สูงเพื่อทำเกษตรเคมีและพี่น้อง คนไทยพลัดถิ่นที่ยังไม่ได้รับสัญชาติไทย ด้านสิ่งแวดล้อม ปัญหาเรื่องสารแคดเมียมพื้นที่ตำบลพระธาตุผาแดง แม่กุ แม่ตาว การบริโภคข้าวที่มีสารแคดเมียม น้ำขุ่นที่เกิดจากการทำแร่ทำให้สารแคดเมียมไหลมาตามเหมืองฝาย ลงนาข้าว ปัญหาการจัดการทรัพยากร การบุกรุกพื้นที่ป่า เปิดหน้าดินเพื่อทำการเกษตรเคมีและปลูกพืชเชิงเดี่ยว การสร้างผนังคอนกรีตกั้นลำห้วย การตัดต้นไม้ใหญ่ริมห้วย ทำผนังคอนกรีตและออกแบบให้มีทางเดินริมห้วย เมื่อน้ำท่วมก็ไม่อาจต้านทานกระแสน้ำ และทะเลซุงได้
ด้านเศรษฐกิจ เขตเศรษฐกิจชายแดนไทย-พม่า ที่จังหวัดตากและอำเภอแม่สอด
เขตเศรษฐกิจที่ไม่พึงประสงค์
-มองผลกำไรขาดทุนเฉพาะทางเศรษฐกิจเป็นหลัก และเป็นรายได้เฉพาะกลุ่ม เขตเศรษฐกิจที่พึงประสงค์ -คำนึงถึงความเป็นมนุษย์ ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม นำไปสู่การสร้างเมืองน่าอยู่ -พลเมืองมีความเป็นเจ้าของร่วมและมีการออกแบบการกำหนดภาพอนาคตของเมือง ว่าอยากอยู่อย่างไรใน 5 10 20 ปีข้างหน้า ที่มาและทิศทางการทำงานของประชาคมตาก
นายศิระ อารินทร์ จากเชียงราย กล่าวว่า “ประเด็นปีแรกที่เชียงรายทำอยู่ คือ – ด้านการศึกษาเรื่องวิถีพุทธ – ด้านสุขภาพ เรื่องขยะรีไซเคิล – เรื่องการจัดการรถสามล้อ มีการรวมกลุ่ม จัดระเบียบ ตรวจสุขภาพ จัดคิว จัดสถานที่จอด การแต่งกายเพื่อให้เป็นเอกลักษณ์ของเชียงราย ปีที่สอง – ด้านวัฒนธรรม เรื่องศิลปะการฟ้อนรำ สิ่งทอ ตุง – ฟื้นฟูชุมชนต้นแบบ ปีที่สาม – เรื่องข่วงสรีแก้ว (ลานต้นโพธิ์แก้ว) เพื่อการเผยแพร่ศาสนา เป็นสถานที่ ที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้และปรินิพพาน” นายประยูรณ์ ศิริน้อย จากแม่ฮ่องสอน “ตอนนี้ทำงานโครงการ 3 เรื่อง (1) เรื่องทรัพยากรธรรมชาติ (2) เกษตรกรรมยั่งยืน (3) วัฒนธรรมประเพณี แต่จะเน้นหนักเรื่องการจัดการลุ่มน้ำ เช่นแม่น้ำปาย,แม่น้ำยวง,แม่ลาน้อย,แม่สะเรียง เราจะใช้สายน้ำเป็นหลักในการขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมาย ใช้วัฒนธรรมประเพณีเช่นประเพณีสืบชะตาแม่น้ำเป็นตัวขับเคลื่อนในการฟื้นฟูลำน้ำ” นายตระการชัย ธรรมานุวงศ์ จากลำพูน “เรื่องการจัดการแม่น้ำลี้ ในอดีตประมาณ พ.ศ.2507 แม่น้ำลี้กว้างถึง 30 เมตร ยาว 180 กิโลเมตร มีน้ำไหลตลอดทั้งปี แต่ในปัจจุบันมีน้ำไหลเฉพาะฤดูฝน ช่วงเดือนสิงหาคม – กุมภาพันธ์ จากนั้นแม่น้ำลี้ จะแห้งผากเพราะการตัดไม้ทำลายป่า เกษตรกรประสบปัญหาขาดแคลนน้ำในการประกอบอาชีพ การสืบทอดวัฒนธรรมเช่นการแห่ช้างเผือก สืบชะตาแม่น้ำ เป็นเรื่องที่ต้องทำควบคู่กันไปกับการจัดการแม่น้ำ” นายบุญโชติ เรือนสอน จากพะเยา “การทำงานปีที่สองมีวัตถุประสงค์คือ สร้างเครือข่ายการเรียนรู้ที่มีคุณธรรม และนำความเชื่อ ภูมิปัญญาท้องถิ่นมาใช้ในวิถีชีวิต เพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย คือ เกิดสภาประชาชนบนพื้นฐานศาสนา วัฒนธรรม ภูมิปัญญา” คุณวิไลลักษณ์ จากลำปาง “งานโครงการที่ลำปางตอนนี้ ทำเรื่องหอศิลป์ คือการฟื้นพื้นที่เก่าที่ศาลากลางเป็นหอศิลป์ เป็นที่ว่างสาธารณะที่ให้คนลำปางได้มาใช้ประโยชน์ อีกเรื่องคือ การทำปฎิทินชาติพันธุ์ เนื่องจากลำปางมีคนหลากหลายเชื้อชาติการทำปฏิทินทำให้รู้ว่า เขาอยู่กันอย่างไร มีวิถีชีวิตอย่างไร และสิ่งที่จะทำต่อไปคือ การจัดตั้งมูลนิธิชุมชน เพื่อเป็นแหล่งหาทุน ระดมทุนเพื่อพัฒนาลำปาง” นายชาติรัฐ จากพิษณุโลก ประเด็นงานที่พิษณุโลกทำอยู่มีดังนี้ ด้านวัฒนธรรม ประเพณี ด้านเยาวชน สร้างเครือข่ายเยาวชน กลุ่มเด็กรักพิดโลก จัดกิจกรรมรณรงค์วันเอดส์โลก เวทีสำรวจผังเมืองเก่า กิจกรรมสี่ร้อยปีสวรรคตสมเด็จพระนเรศวรมหาราช นายสุรพงษ์ พรมเท้า จากเพชรบูรณ์ ดำเนินการเชื่อมร้อยเครือข่ายภาคประชาสังคม ในปีที่สอง เราพยายามทำให้ภาครัฐเห็นตัวตนของภาคประชาสังคมโดยการเชื่อมต่อการทำงานกับผู้ว่าราชการ สิ่งที่จะทำต่อไปคือ จัดทำสื่อต้นแบบ ค้นหางานต้นแบบ และเรื่องผลผลิตทางการเกษตร ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต ใช้กระบวนการมีส่วนร่วม การดำเนินงานคือ การร่วมกันระดมทุนจัดทำฐานการเรียนรู้โดยการศึกษาจากชุมชนต้นแบบด้านอาชีพเกษตร เพื่อยกระดับความคิดจากกรอบเดิม จากการเข้าร่วมเวทีครั้งนี้ ทำให้ได้เห็นทิศทาง แนวทางการทำงานของคนทำงานภาคประชาสังคมในแต่ละจังหวัด และทำให้ผู้เข้าร่วมทุกคนนำประโยชน์ที่ได้ไปปรับใช้และพัฒนางานให้บรรลุตามเป้าหมายและวัตถุประสงค์ของโครงการต่อไป |
|||||||||||||||||
ทีมสื่อสารสาธารณะ 10 เม.ย. 48 |
Be the first to comment on "เวทีประชาสังคมภาคเหนือ ครั้งที่ 2"