เวทีเขตการค้าเสรี… “ธุรกิจท้องถิ่นในกระแสทุนนิยมโลก”

ความแตกต่างระหว่างการค้าปลีกและค้าส่งนั้น มีลักษณะมีนัยยะในการแข่งขันที่แตกต่างกัน จากแต่เดิมที่เราเข้าใจว่าโชห่วยและร้านขายของชำได้รับผลกระทบจากการเข้ามาลงทุนของห้างข้ามชาติขนาดใหญ่ แต่จากสิ่งที่วิทยากรให้ความรู้กับเรา จึงเห็นว่าจริง ๆ แล้วร้านเล็กได้เปรียบตรงที่มีทางเลือก…

ฮักแพง…แปงอุบล
www.hugpangubon.com

          เวทีเขตการค้าเสรี…เรื่องใกล้ชิดชีวิตคนอุบล จัดไปเมื่อวันอาทิตย์ที่ 28 พฤศจิกายน 2547 ห้องบุษราคัม โรงแรมเนวาด้า แกรนด์ โฮเต็ลจัดโดยโครงการชีวิตสาธารณะ-ท้องถิ่นน่าอยู่ จ.อุบลฯ หรือชื่อความเคลื่อนไหวว่า “ฮักแพง…แปงอุบล” ร่วมกับ โครงการพัฒนาเครือข่ายภาคประชาสังคมในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน จังหวัดอุบลฯ (คสม.) ครั้งนี้นับเป็นการจัดเวทีครั้งที่ 4 ในหัวข้อ “ธุรกิจท้องถิ่นในกระแสทุนนิยมโลก” มีจำนวนผู้เข้าร่วมเวทีประมาณ 60 คน โดยมีผู้ดำเนินรายการ คือ คุณสุชัย เจริญมุขยนันท และวิทยากรอีก 3 ท่าน ดังนี้

คุณมลิวัลย์ ไชยสงคราม
รองประธานบริษัทยงสงวนกรุ๊ปจำกัด เป็นตัวแทนผู้ประกอบการซุปเปอร์สโตร์จังหวัดอุบลราชธานี  คุณชาตรี เดชะวลีกุล ผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัด หงษ์ทอง ซีแอนด์ไอ ตัวแทนผู้ประกอบการร้านค้าขนาดย่อมในท้องถิ่น ร้านสะดวกซื้อ และ ดร.กฤษฎา พัชราวนิช อาจารย์จากคณะบริหารศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
          จากการพูดคุยกันในวันนั้นทำให้เราทราบถึงความแตกต่างระหว่างการค้าปลีกและค้าส่งนั้น มีลักษณะมีนัยยะในการแข่งขันที่แตกต่างกัน จากแต่เดิมที่เราเข้าใจว่าโชห่วยและร้านขายของชำได้รับผลกระทบจากการเข้ามาลงทุนของห้างข้ามชาติขนาดใหญ่ แต่จากสิ่งที่วิทยากรให้ความรู้กับเรา จึงเห็นว่าจริง ๆ แล้วร้านเล็กได้เปรียบตรงที่มีทางเลือกในการจัดซื้อสินค้าราคาถูกเข้าร้านมากกว่าเดิม
ในการจะพิจารณาผลกระทบต่างๆจากกระแสทุนนิยมโลกในปัจจุบัน จึงต้องมีการแยกแยะและแบ่งระดับการพิจารณา เพราะผลกระทบและการแข่งขันมีความต่างกันมาก

นอกจากนั้นแล้วยังมีรายละเอียดที่น่าสนใจอื่นๆที่ได้รับจากวิทยากรทั้งสามท่าน


ท่านแรก คุณมลิวัลย์ กล่าวถึงกระแสของการค้าเสรีในส่วนของ Modern tradeในปี 2540 ห้างสยามแม็คโคร เข้ามา ช่วงปลายปี 39 – 40 เป็นช่วงฟองสบู่แตกด้วย และในปี 44 มีบิ๊กซี และ โลตัส เข้ามาพร้อมกัน 2 ห้างใหญ่ ทำให้ยงสงวนต้องมีการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ในการทำธุรกิจ ยงสงวนเป็นธุรกิจเก่าแก่ก่อร่างสร้างตัวมาตั้งแต่รุ่นคุณพ่อเป็นเวลา 55 ปีที่อยู่ในอุบลฯ ได้เปลี่ยนแปลงและพัฒนามาโดยตลอด แต่ครั้งนั้นเป็นครั้งที่หนักมากเพราะเป็นครั้งแรกที่ห้างขนาดใหญ่เข้ามาทำการค้าในจังหวัดอุบลฯ ยงสงวนสามารถฟันฝ่าภาวการณ์ช่วงนั้นมาได้ เพราะมีกลุ่มธุรกิจท้องถิ่นที่เป็นฐานลูกค้าอยู่ ต้องอาศัยพื้นที่ใหม่ คือ การเป็นศูนย์กระจายสินค้า


ปัจจุบันมีสาขาถึง 9 สาขา เมื่อห้างใหญ่ๆเข้ามามีผลต่อการเติบโตของยงสงวน คือผลกำไรเหลือน้อยมาก เหลือเพียง 1 เปอร์เซ็นต์ของผลกำไรปัจจุบัน จากเคยได้ 3-4 เปอร์เซ็นต์เหลือ 1 เปอร์เซ็นต์ ตัวเลขโตขึ้นจริงแต่กำไรไม่ได้โตขึ้นตาม เพราะเมื่อเราขยายศูนย์กระจายสินค้าเพิ่มมากขึ้น เราซื้อของมากขึ้น เราก็โตมากขึ้น โตจากการที่เราต้องลงทุนต้องซื้อจาก supplier โต จากยอดขายก็นับว่าโตเพราะว่าขายถูกแต่ผลกำไรลดน้อยลง

ลักษณะของการค้าส่งกับการค้าปลีกต้องแยกกันอย่างชัดเจน ขายส่งเราจะต้องต่อรองเป็น ต้องจัดซื้อให้ถูกตั้งแต่แรกถึงจะมี volume ให้เขา ทำอย่างไรจึงจะมี volume สูงได้ ทำอย่างไรจึงจะขายได้ ก็ต้องเอาราคามาฟาดฟัน การบริการการจัดส่งเป็นค่าใช้จ่ายที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ต้องแข่งกับ Modern trade และยี่ปั๊ว ซาปั๊วด้วยกัน ก็ต้องปรับกลยุทธ์เช่นเดียวกัน

 

และในส่วนของยงสงวนร่วมกับหน่วยงานสำนักพัฒนาธุกิจ กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ในการพัฒนาช่วยเสริมธุรกิจให้กับร้านค้าขนาดเล็ก เพื่อปรับกลยุทธ์ให้สามารถแข่งขันกับเซเว่นอีเล่ฟเว่นหรือร้านค้าปลีกข้ามชาติได้ ตอนแรกทำเรื่องของ “ค้าปลีกเข้มแข็ง” แต่ไม่ประสบความสำเร็จ จึงเปลี่ยนเป็นการเข้ามาพัฒนาธุรกิจ ยงสงวนเข้าไปมีส่วนร่วม มีหลายร้านค้าที่ประสบความสำเร็จแต่ไม่ใช่เรื่องง่าย หน่วยงานที่ว่านี้ จะไม่เข้าไปช่วยร้านค้าที่สามารถไปได้ด้วยตัวเองได้แล้ว แต่จะช่วยเหลือแก่ร้านค้าแถวชานเมือง มีอาแปะอาม่าดูแลร้านกันเอง

สองคน ร้านที่ยังไม่ได้ปรับปรุง ไม่มีการจัด shelf ชั้น ส่วนร้านค้าอย่างหงษ์ทองเป็นร้านที่ช่วยตัวเองได้แล้วก็จะไม่เข้าไปช่วยเหลือ
วิทยากรท่านที่ 2 คุณชาตรี ให้ความเห็นเกี่ยวกับผลกระทบทั้งหมดขึ้นโดยเปรียบเทียบแต่ละส่วนของธุรกิจว่า ธุรกิจของเราอยู่ส่วนไหน ส่วนหัว หรือส่วนกลาง หรือส่วนหาง หลังจากเปิดการค้าเสรี มีห้างใหญ่ข้ามชาติไม่ว่าจะเป็นคาร์ฟู แม็คโคร บิ๊กซี หรือโลตัส กลุ่มแรกที่จะโดนคือส่วนกลางไม่ว่าจะเป็น เซ็นทรัลหรือเดอะมอลล์จะโดนก่อน เพราะทุกอย่างที่เริ่ม เขาเริ่มที่ส่วนกลางก่อนแล้วค่อย ๆ ไปที่จังหวัดใหญ่แล้วจึงออกมายังภูมิภาค เมื่อออกมาภูมิภาคส่วนที่โดนก่อนคือผู้ค้าส่งรายใหญ่ แต่เรา (หงษ์ทอง) อยู่ในส่วนของร้านค้าปลีก ขายให้กับผู้บริโภค

โดยตรงจะไม่โดน ประโยชน์ครั้งแรกจะตกกับเรา ทางเลือกเราเยอะขึ้น แต่สิ่งที่ตามมาคือ หลังจากแม็คโครมา ก็จะมีร้านค้าปลีกตามมาด้วยในตอนนั้น โลตัสมา บิ๊กซีมา ยังไม่รวมเซเว่นอีเลฟเว่น ที่เข้ามาก่อนแต่เนิ่นๆแล้ว

ในส่วนของห้างหงษ์ทองเป็นค้าปลีกคอนวีเนียนสโตร์ ส่วนที่ชนกับเราโดยตรงคือ เซเว่นอีเลฟเว่น หลังจากโลตัสและบิ๊กซีมาแล้ว หงษ์ทองไม่ได้รับผลกระทบ เพราะ concept ของร้านมินิมาร์ท จะทำตัวเป็นร้านสะดวกซื้อประจำหมู่บ้านหรือประจำชุมชน เพราะฉะนั้นรัศมีการตลาดก็จะครอบคลุมบริเวณชุมชนที่ร้านตั้งอยู่ กำลังซื้อส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันกลุ่มลูกค้าร้านสะดวกซื้อส่วนใหญ่มีรายได้น้อย ใช้รถประจำทางหรือจักรยานยนต์ ส่วนคนที่มีรถยนต์ถือเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่จะอยู่ระดับกลางขึ้นมา ซึ่งจะเข้าร้านสะดวกซื้อต่อเมื่อจำเป็นเท่านั้น เพราะฉะนั้นจึงไม่ใช่กลุ่มลูกค้าแต่แรกของร้านสะดวกซื้อทั้งหมด

สถานการณ์ปัจจุบันของธุรกิจท้องถิ่นในอุบลฯ คิดว่าอยู่ในช่วงการประคองตัวให้ไปได้ และค่อนข้างจะถอยหลัง ถ้าเทียบจาก GDP ของประเทศไทย ที่ประกาศว่าจะโตปีละ 8 เปอร์เซ็นต์ แล้วปรับเป้าลงเหลือ 6 เปอร์เซ็นต์ เรามาดูว่าตัวเลขรวมจะดีหรือไม่ดีให้ดูเทียบกับ GDP ปีนี้ GDP ประเทศไทยโตขึ้น 6 เปอร์เซ็นต์ ถ้าตัวเลขเราโตไม่ถึง 6 เปอร์เซ็นต์ ถือว่าเราตามประเทศไม่ทัน การที่เราไม่โตคือเราตามไม่ทัน แต่ถ้าเราติดลบก็ถือว่าเราถอยหลัง เมื่อเทียบปี 45-46 หงษ์ทองอยู่ในระดับที่ประคองตัวGDP ของประเทศไทย โดยภาครัฐมีการปรับตัวหลายครั้ง ครั้งสุดท้ายอยู่ที่ 6 เปอร์เซ็นต์ แต่ตัวเลขของ ADB (ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย) เพียง 3 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น มาปีนี้เทียบกับปีที่แล้วตัวเลขประมาณการ ซึ่งตอนนี้เราเหลือเวลาทำตัวเลขเดือนหน้าอีกเดือนหนึ่ง มองว่าเราจะโตอยู่ที่ 3.5-3.8 เปอร์เซ็นต์

คิดว่าในช่วง 3-4 ปีนี้ Lotus ห้องแถวคงยังไม่มา ในขณะนี้จึงอยู่ที่ว่าเราจะบุกหรือตั้งรับ การจะบุกนั้น คือ เราต้องเร่งปรับปรุงลักษณะงานเรา เมื่อรู้ว่าอีก 3-4 ปีข้างหน้าจะมีอะไรเกิดขึ้น เราก็ต้องดูแล้วว่าเราจะทำอย่างไรกับธุรกิจของเรา

ถ้าสเกลค้าปลีก ก็จะต้องปรับตัวในค้าปลีกด้วยกัน เอากลยุทธ์ง่ายๆมาใช้คือราคาเป็นหลัก เหมือนกับห้างใหญ่ทั้งหมดที่ไล่กันลงมา “กลยุทธ์ราคา” เป็นตัวสำคัญ คิดอะไรไม่ออกก็ขายถูกไว้ก่อน ขาดทุนก็ยอมขาย การบริการคือสิ่งที่ตามมา คือถ้าราคาถูกเท่ากัน เราก็ขอบริการให้ดีขึ้นกว่าเขา ก็ต้องกระตุ้นพนักงานของเรา ในส่วนของคนค้าปลีก-ค้าส่ง ทุกคนที่ทำการค้า หัวใจคือ “บริหารอย่างไรให้ได้ต้นทุนต่ำที่สุด” การทำให้ต้นทุนต่ำสุดคือต้องติดต่อกับหลาย ๆ แหล่งที่ไหนถูกก็เอาตรงนั้น ก็จะทำให้เราสามารถขายถูกลงได้

ที่ผ่านมาโลตัส แม็คโคร เซเว่นอีเลฟเว่น เข้ามา เขาได้แย่งส่วนแบ่งการตลาดเราหรือไม่นั้น มันเป็นสิ่งที่เรามองไม่เห็นแต่เราโดนแย่ง เพราะว่าสมมติว่าไม่มีเขา เราควรจะโตกว่านี้ 20-30 เปอร์เซ็นต์ ตัวเลขรวมอาจจะดูไม่ลดลงแต่เป็นการเติบโตที่น้อยลง

ปัญหาของการค้าปลีก คอนวีเนียนสโตร์ มีผลกระทบไม่มาก ไม่ได้กระทบเราโดยตรงเป็นภาพที่ชัดเจน อยู่ส่วนหางมาก ฟังจากทางยี่ปั๊วเขาโดนผลกระทบมาก เพราะเขาอยู่ส่วนหัว ไหนจะต้องมาเอาใจหางอีก เราอยู่ส่วนหางเราก็คอยดูว่าหัวเขาจะทำอะไรบ้าง เขาจะฟาดฟันกันขนาดไหน เขาจะหาของถูกมากันขนาดไหน เรามีหน้าที่ก็คือ แค่มองว่าในส่วนของการจัดการการขาย เมื่อเราได้สินค้ามาถูกแล้ว เพราะฉะนั้นการที่เราอยู่ส่วนหางคือข้อดีของเรา แต่ข้อเสียคือสเกลมันเล็ก ตัวเลขขายต่อวันเราก็เล็กแต่ค่าใช้จ่ายเราก็ไม่ได้สูง

โดยรวมแล้วถามว่าอยู่ได้ไหม ระดับคนที่จบปริญญาตรีมา มีเงินทุนห้าแสนถึงล้านแล้วคุณไม่ไปทำงานกินเงินเดือน คุณเปิดร้านเล็ก ๆ ที่ตรงนี้แล้วทำตัวเป็นร้านค้าประจำชุมชนตรงนั้นแค่นั้นก็พอ หมู่บ้านใหญ่ ๆ คุณอยู่แค่หน้าปากซอย รายได้คุณก็พอเลี้ยงครอบครัวคุณเองได้แล้ว

ต่อคำถามว่าอยากจะใหญ่โตเหมือนยงสงวนไหม คุณชาตรีตอบว่าคนเราถ้าจะใหญ่หรือไม่ใหญ่มันอยู่ที่สถานการณ์ อยู่ที่เสือที่เราขึ้นไปบนหลังเสือตัวนั้น หงษ์ทองประกาศที่ตรงนี้เลยว่าไม่ขึ้นหลังเสือ

  จากนั้นเป็นแง่คิดมุมมองและการปรับกลยุทธ์เพื่อความอยู่รอดในกระแสการแข่งขันทางการค้าในปัจจุบัน ซึ่งใช้หลักการทางวิชาการ โดย ดร.กฤษฎา ได้ให้คำแนะนำว่า ถ้าเราอยากรู้ว่าเทสโก้หรือแม็คโครเป็นอย่างไร แนะนำให้ลองไปดู financial statement ของแม็คโคร เนื่องจากว่าเขาเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เข้า website ไปดูได้ เขาจะมีข้อมูลการเงินของเขาย้อนหลัง 5 ปีเลย ถ้าเราวิเคราะห์งบฯการเงินออก เราก็จะรู้ว่ากลยุทธ์เขาเป็นอย่างไร ซึ่งกลยุทธ์ของเขาก็คือ Gross profit margins ในธุรกิจขายส่งของเขาทั่วโลกเลย Gross คือ กำไรเบื้องต้นก็ค่อนข้างจะลดลงแน่นอน แม็คโครเอง เขาก็มีขาดทุน ยอดขายเขาเติบโตติดลบ 5 เปอร์เซ็นต์

ดังนั้นไม่ใช่ว่าต่างชาติที่เราเห็น เขาจะโตอย่างเดียวเขาก็ติดลบมาสองสามปีแล้วเหมือนกัน ลำดับที่สองเป็นธรรมชาติของการค้า การแข่งขันมันก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เป็นเรื่องปกติ ในเมื่อเราเลือกที่จะอยู่ในระบบทุนนิยมกันแล้ว ผมก็บอกว่าอีก 10 ปีข้างหน้า มันก็แข่งขันมากขึ้น มันเป็นธรรมชาติของการแข่งขัน

แล้วเราจะทำอย่างไรเพื่อปรับตัวให้อยู่รอดได้ อันดับแรกคือเราต้องทราบว่าคู่แข่งของเราเป็นใคร เราก็ต้องสามารถรู้ข้อมูลได้ว่าเขาเป็นอย่างไร อันนี้คืออันแรก เรื่องรู้เขารู้เรา อันดับที่ 2 เรื่องของการแข่งขันว่าเราจะทำอย่างไร ขอแบ่งระดับการแข่งขันออกเป็น 2 ระดับ คือ ค้าปลีกและค้าส่ง เพราะกลยุทธ์ของทั้งสองอันนี้มันไม่เหมือนกัน แล้วจากนั้นก็พิจารณามุมมองของเราว่าจะอยู่ที่ระดับไหน ระดับประเทศหรือระดับจังหวัด เพราะกลยุทธ์มันก็แตกต่างกันอีก

อันดับแรกเรื่องค้าปลีกที่คุณชาตรีพูดถึงหงษ์ทอง ค้าปลีกสามารถทำได้สองแบบคือ เป็นคอนวีเนียนสโตร์หรือซุปเปอร์มาร์เก็ต คนที่จะตั้งร้านต้องรู้ว่าเราจะเป็นอะไร เพราะว่าจะส่งผลถึงตัวสินค้าและ margins ที่เราจะได้จากสินค้านั้น เช่น ถ้าเราเป็นคอนวีเนียนสโตร์ เป็นมินิมาร์ท อย่างเซเว่นอีเลฟเว่น คุณก็ต้องขายของกินของขบเคี้ยวทั้งหมด ต้องสต็อกสินค้าเกิน 70 เปอร์เซ็นต์ นั่นคือประเภทหรือ category ของสินค้าก็จะแตกต่างกันไป สินค้าประเภทนี้จะเน่าเสียง่าย เพราะฉะนั้นเรื่อง logistics ของสินค้าของคุณก็ต้องแตกต่างกันไป ถ้าคุณคิดจะเป็นคอนวีเนียนสโตร์ แล้วถ้าคุณจะเป็นซุปเปอร์มาเก็ตควรจะเป็นอย่างไร ของกินคุณก็จะลดลงมาแล้วไม่เกิน 50 เปอร์เซ็นต์ คุณจะมีของใช้เพิ่มมากขึ้น คอนวีเนียนจะมีของเน่าเสียง่าย ของหมุนเวียนเร็ว margins มันจะสูง ค่าความเสี่ยงจากการทำธุรกิจกับ margins มันมาด้วยกัน การทำ retails ขายของกิน ต้องมีอื่น ๆ เช่น ตู้แช่หรือตู้เย็น หรือว่าตู้อาหารไมโครเวฟ ซึ่งสิ่งต่างๆเหล่านี้มีต้นทุนค่าไฟฟ้า ค่าใช้จ่ายตรงนี้ของเราก็จะตามมา และต่อไปคือ ซุปเปอร์มาเก็ต เราจะต้องสต็อกของกินและของขบเคี้ยว พวกของกินประเภทสดซื้อแล้วกินได้เลยอาจจะลดลงมา ทั้งหมดรวมแล้วไม่ถึง 50 เปอร์เซ็นต์ แต่เพิ่มพวกของใช้เข้ามา ขนาดก็จะไม่เกินห้องแถว 2 ห้อง การค้าสมัยใหม่เราจะไม่เน้นการทำสาขาขนาดใหญ่ จะเน้นที่ efficiency ที่เราเรียกว่ายอดขายของต่อ shelf ต่อพื้นที่ เพิ่มระบบสารสนเทศข้อมูลหรือระบบการคิดเงินต่าง ๆ เข้ามาด้วย

สถานการณ์การค้าปัจจุบันเป็นเรื่องปกติของการค้าบางกลุ่มเจริญบางกลุ่มก็ไม่ได้ ต้องปรับตัว เขาไม่ได้มาทำให้เราตายไปหรอก เพียงแต่มันเปิด segment ใหม่แล้ว segment ที่เปิดใหม่มันใหญ่ขึ้น segment เก่ามันค่อยๆเล็กลงๆ ไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นเราต้องหมุนตามไปด้วย ในธุรกิจแต่ละธุรกิจเราต้องปรับตัวเราจึงจะอยู่ได้ เราต้องปรับไปเรื่อยๆ ต่อสถานการณ์ในท้องถิ่นนี้เราอยู่ได้ แต่จะอยู่ระดับไหนนั้นตัวนักธุรกิจเองต้องเป็นคนคิดแล้วว่าต้องการที่จะอยู่ในระดับไหน อันนี้ขึ้นอยู่กับผู้ประกอบธุรกิจว่าเราจะเลือกระดับภูมิภาคหรือระดับจังหวัด หรือทั้งสองแบบ ถ้าเลือกระดับจังหวัด แบบเศรษฐกิจพอเพียงอย่างที่ในหลวงท่านบอก อันนี้เราก็จะมีความสุขมากกว่า

ในทางกลยุทธ์ retails อย่างทางหงษ์ทอง อันนี้เราจะต้องทำเป็น community mall ตอนนี้สิ่งที่เราทำอยู่เราทำใหญ่ๆเป็น shopping mall แล้วทำเป็น one stop shopping ดึงคนจากไกลๆมาที่ของเรา อีกวิธีหนึ่งคือเราเข้าไปหาเขา เช่น ในกรุงเทพฯหรือเมืองใหญ่ๆจะเห็นได้ว่ามันเกิดขึ้นแล้ว ตามหัวถนนอะไรต่างๆห้องแถวประมาณ 4-10 ห้อง เรามารวมกันแล้วเราแบ่งประเภททำอะไรได้ มีมินิมาร์ทอันหนึ่ง อาจจะมีร้านหนังสือบ้าง ที่มันส่งเสริมกัน หลากหลายกันหรือร้านซักอบรีด คนมาถึง stop ที่นี่เสร็จก็กลับเลย นี่เป็นทางออกในการแก้ไขปัญหานี้


อุบลฯเราทางผู้ประกอบการจะต้องไปดูว่าตรงไหนเป็นแหล่งชุมชน อันนี้เป็นทางเลือกซึ่งเสนอในทางวิชาการ ถามว่ากำไรมันเยอะไหม กำไรมันคงไม่ได้เยอะมากเกิดขึ้นก็ด้วยการขยายสาขา community mall เป็นการแก้ไขปัญหาการค้าปลีกในอนาคตได้

ในเรื่องอื่นๆ จะขอแนะนำในเรื่องของการบริหารจัดการ ว่าทำอย่างไรจึงจะบริหารจัดการให้ดีขึ้น อันแรกที่อยากแนะนำคือ diverse business อย่างหลายๆคนก็มีธุรกิจหลายๆกลุ่ม อะไรต่างๆตรงนี้เราต้องเลือกแล้ว มันเป็นจุดทางเลือกในธุรกิจสมัยใหม่ ว่าเราจะเอาอะไร สำหรับ 10-20 ปีก่อนมันคงจะพอในการก้าวไปอยู่ในธุรกิจหลายๆอัน ยุคในอนาคตมันเปลี่ยนไป

การที่เราอยู่ในหลายๆธุรกิจในที่สุดแล้วเราก็จะเป็นเหมือนเป็ด คือไม่ดีสักธุรกิจ แล้วมันจะดึงกันล่มหมด นั่นก็คือ diverse non core business อันไหนที่ไม่ใช่ธุรกิจเรา เราก็เอามันทิ้งไป อันดับที่สองก็คือความแตกต่างในตลาด market differentiations ความแตกต่างในทั้งสินค้าและบริการ ตอนนี้ที่เราแข่งขันกันทั้งสินค้าอุปโภคและบริโภค เราแข่งกันตัดราคา เพราะผู้บริโภคไม่ต้องใช้ความรู้ในการเลือกซื้อสินค้า ซื้อเทสโก้ ซื้อยงสงวน แม็คโคร มันเหมือนกันหมด ทำอย่างไร เราในฐานะที่เป็น local เราสามารถจะออก brand ต่างๆได้ไหม และการใช้ระบบสารสนเทศทางข้อมูลและการบริหารจัดการ cost reduction ทำโปรแกรมแบบ real time จะช่วยได้มาก
ในเวทีนี้คณะผู้จัดไม่ได้หวังว่าจะต้องมีข้อสรุปที่ชี้ชัดลงไป แต่หวังว่าจะเป็นการเปิดมุมมองและให้ความรู้แก่สาธารณชนคนทั่ว ๆ ไปเพื่อปรับตัวให้ได้ท่ามกลางกระแสทุนนิยมโลกปัจจุบัน และหวังว่าจะเป็นการจุดประกายพลเมืองอุบลฯผู้ตื่นตัวให้ลุกขึ้นมาร่วมมือกัน ร่วมกันคิดร่วมกันทำ ร่วมแก้ไขสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะว่ามันเป็นเรื่องที่ใกล้ชิดชีวิตคนอุบลฯจริง ๆ

Be the first to comment on "เวทีเขตการค้าเสรี… “ธุรกิจท้องถิ่นในกระแสทุนนิยมโลก”"

Leave a comment

Your email address will not be published.