เวทีเสวนาเรื่อง เขตเศรษฐกิจชายแดนแม่สอด เรื่องที่เราต้องเรียนรู้หรือเพียงแต่…รับรู้

วันที่ 19 ตุลาคม 2547 ที่ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก คณะรัฐมนตรีสัญจรนำโดยนายกทักษิณ ชินวัตร ได้อนุมัติให้ยกระดับ 3 อำเภอชายแดนของจังหวัดตากคือ อ.แม่สอด อ.พบพระ และ อ.แม่ระมาด เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ

เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2547 ที่ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก คณะรัฐมนตรีสัญจรนำโดยนายกทักษิณ ชินวัตร ได้อนุมัติให้ยกระดับ 3 อำเภอชายแดนของจังหวัดตากคือ อ.แม่สอด อ.พบพระ และ อ.แม่ระมาด เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งมติดังกล่าวมีความสำคัญและมีผลอย่างยิ่งต่อการเปลี่ยนแปลง การพัฒนาด้านเศรษฐกิจ การเมืองและวิถีชีวิตของผู้คนท้องถิ่นใน 3 อำเภอชายแดน จึงเป็นเหตุให้

วันที่ 28 พฤศจิกายน 2547 เครือข่ายประชาคมตากร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฎกำแพงเพชร ศูนย์อุดมศึกษาแม่สอด จัดเวทีเสวนาเรื่อง เขตเศรษฐกิจชายแดนแม่สอด “เรื่องที่เราต้องเรียนรู้หรือเพียงแต่…รับรู้” ที่ มหาวิทยาลัยราชภัฎกำแพงเพชร ศูนย์อุดมศึกษาแม่สอด เพื่อให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาตระหนัก มีความรู้ความเข้าใจและสามารถปรับตัวได้ทันกับการเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนของ 3 อำเภอ และเพื่อให้วิทยาลัยชุมชนตากและวิทยาลัยการอาชีพแม่สอดมีบทบาท มีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมประชาสัมพันธุ์เผยแพร่ความรู้สู่สังคมท้องถิ่น โดยมีวิทยากร 4 ท่านคือ

1. ดร.วารินทร์ วงศ์หาญเชาว์ บ.อินเตอร์เนชั่น คอนซัลแทนซี่เนทเวอร์ท จำกัด

2. คุณปณิธิ ตั้งผาเจริญ ที่ปรึกษาหอการค้าจังหวัดตาก

3. คุณสุชาติ วีระวัฒนา ประธานหอการค้าจังหวัดตาก

4. คุณเชิดศักดิ์ ชูศรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดตาก

ดำเนินรายการโดย คุณศุภมาตร เกษม

 

ดร.วารินทร์ วงศ์หาญเชาว์
บ.อินเตอร์เนชั่น คอนซัลแทนซี่เนทเวอร์ท จำกัด
ได้กล่าวถึงการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจชายแดนแม่สอดว่าเป็นเรื่องแนวทางการพัฒนาาความร่วมมือระหว่างประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้านและประชาคมโลก เขตเศรษฐกิจชายแดนแม่สอดจึงเป็นจุดเชื่อมต่อที่สำคัญระหว่างเศรษฐกิจไทยกับเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะกับพม่า
เขตเศรษฐกิจชายแดนแม่สอดจะนำการพัฒนาด้านต่างๆ มาสู้แม่สอด ดังนี้

1. ด้านอุตสาหกรรม

2. ด้านการค้าและการท่องเที่ยว

3. ด้านการเกษตรและอุตสาหกรรมแปรรูปต่อเนื่อง

4. ด้านการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว

การพัฒนาครั้งนี้เพื่อเชื่อมโยงธุรกิจบริหาร การค้า ธุรกรรม เงินตรา การขนส่ง เชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยว และเป็นตลาดกลางสินค้าร่วม โดยมีเมืองชายแดนเรียกว่า “เมืองคู่แฝด” ที่มีศักยภาพ อย่างแม่สอด-เมียวดี

 

คุณสุชาติ วีระวัฒนา ประธานหอการค้าจังหวัดตาก ได้กล่าวถึงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจชายแดนและผลที่จะตามมาว่า ถ้ามุมมองด้านเศรษฐกิจแล้วการลงมาของโครงการฯ มีแต่ทางบวกคำว่าลบคงไม่มี มิฉะนั้นคงไม่ประกาศให้เป็นเขตเศรษฐกิจชายแดน แต่เมื่อสิ่งนี้เข้ามาจะส่งผลต่อวิถีชีวิตของคนแม่สอด มองอีก 10 ปีข้างหน้าคนแม่สอดจะมีวิถีชีวิตคล้ายกับคนเมืองที่เจริญแล้ว ถามว่าคนแม่สอดได้เตรียมความพร้อมหรือยังกับการเปลื่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ของวิถีชีวิต

สิ่งที่จะตามมากับการพัฒนาครั้งนี้ในด้านเศรษฐกิจการค้าชายแดนจะช่วยทำให้มูลค่าการส่งออกมีแนวโน้มสูงขึ้น ที่ดินในแม่สอดมีมูลค่าสูงขึ้น แต่คนที่มีกำลังและเข้ามากว้านซื้อก็คือนายทุนที่หวังผลกำไรทางธุรกิจ กรรมสิทธิ์ในที่ดินเดิมที่เคยเป็นของคนแม่สอดต่อไปจะกลายเป็นของนายทุน สุดท้ายคนแม่สอดจะไม่มีที่ดินเหลือเป็นของตัวเอง อีกเรื่องคือ เรื่องของแรงงานพม่า ปัจจุบันมีตัวเลขที่ขึ้นทะเบียนไว้ ในจังหวัดตากจำนวน 120,000 คน ซึ่งมีจำนวนมากเมื่อเทียบกับคนแม่สอด และเมื่อโรงงานอุตสาหกรรมมาตั้งที่แม่สอดประชากรในพม่าจะไหลเข้าแม่สอดจำนวนมาก ทำให้รู้สึกเป็นห่วงความมั่นคงของอนาคตลูกหลานแม่สอด เราจะมีวิธีป้องกันยังไงให้แรงงานต่างด้าวอยู่ในกรอบ ในระเบียบของพวกเรา

คุณปณิธิ ตั้งผาเจริญ ประธานหอการค้าจังหวัดตาก กล่าวว่าเศรษฐกิจชายแดนมันเกิดขึ้นแล้วที่เมืองจีนคือ เมืองเซินเจิ่น เมื่อ 20 ปีผ่านไปเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงพลิกหน้าพลิกหลังจากเมืองชนบทกลายเป็นเมือง ความใหญ่โตขยายออกไป 300 กิโลเมตรจากตัวเมืองเรียกว่าเป็นการเจริญเติบโตขนาดใหญ่และได้รับแรงกระแทกแรง การเปลี่ยนแปลงเช่นนี้จะเกิดขึ้นที่ อ.แม่สอด อ.พบพระและอ.แม่ระมาด สิ่งที่จะตามมาคือ คนจะเข้าออกเยอะ จากจีน สิงคโปร์ อินเดีย พม่า เพราะเป็นแหล่งซื้อขาย เป็นเส้นทางผ่านไปเที่ยวพม่า ไปย่างกุ้ง พุกาม วันหนึ่งรถทัวร์จากจีนจะวิ่งมาถึงแม่สอด และที่ทางจะมีคนเข้ามาซื้อขายกันเยอะ หากคนพื้นที่ขายที่ไปแล้วซื้อใหม่ก็จะเกิดปรากฏการณ์ คนจีนไปไล่คนไทย คนไทยไล่คนยาง(กะเหรี่ยง) คนยางไปไล่เสือ ป่าก็จะถูกทำลายไปเรื่อยๆ

คุณปณิธิ ได้เปรียบสิ่งที่จะเข้ามาว่าเป็นเสมือนรถไฟขบวนพิเศษ

ซึ่งรถด่วนเที่ยวแรกๆ มักจะไปยาก ซื้อตั๋วก็แพง ฉะนั้นการเรียนรู้และการรักษาสภาพให้อยู่อย่างมีศักดิ์ศรีในฐานะที่เป็นพื้นที่ยังไง จึงเป็นคำถามที่ต้องช่วยกันตอบ พร้อมกับยกตัวอย่างจากประสบการณ์ที่ได้ไปสัมผัสเมืองเซินเจิ่นว่า อุตสาหกรรมและการท่องเที่ยวที่นั่นบูมมาก มีคนเข้าออกเป็นหมื่นเป็นแสนคน แต่ชุมชนดั้งเดิมของเขาก็มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นและสามารถเกาะเกี่ยวกับเศรษฐกิจนั้นได้อย่างงดงาม ลูกหลานของคนในพื้นที่แทนที่จะเป็นลูกจ้างในโรงงานกลับไปรับงานมาทำที่บ้าน พ่อแม่อยู่บ้านช่วยกันทำพอผลิตเสร็จก็ส่งต่อโรงงานเป็นสินค้ากึ่งสำเร็จบ้าง สำเร็จรูปบ้างต่างๆ บางรายเก่งถึงขนาดสามารถเชื่อมต่อกับตลาดกับโรงงานได้เอง โรงงานอุตสาหกรรมที่นั่นจะสร้างที่อยู่ให้คนงานเพื่อป้องกันการเกิดปัญหาสลัม และคนที่จะเข้ามาค้าขายในเมืองต้องผ่านการขออนุญาติก่อนเพราะที่มีกฎหมายเฉพาะแยกออกมาจากเมืองจีน

การพัฒนาการท่องเที่ยว อุตสาหกรรมการค้าต่างๆ เป็นส่วนหนึ่งของการก่อเกิดอาชีพมหาศาล ในอีก 5 ปีข้างหน้าเมืองแม่สอดจะโตขึ้น อยากเห็นคนที่รับเงินเดือนหมื่นบาท สองหมื่นบาทเป็นคนในพื้นที่ ฝากให้คนที่เข้าร่วมเวทีซึ่งเป็นคนแม่สอดได้ช่วยกันนึกคิดว่าอะไรที่อยากได้ อะไรที่ไม่อยากได้ช่วยสะท้อนออกมา ฝากให้คิดให้ยาวเพราะเป็นห่วงอนาคตของลูกหลาน

คุณเชิดศักดิ์ ชูศรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดตาก ได้กล่าวว่าไม่อยากให้แม่สอดเป็นเหมือนจังหวัดสมุทรสงคราม ซึ่งในอดีตเคยเป็นทุ่งนา ผู้คนตื่นเต้นดีใจมากที่รู้ว่าโรงงานจะมา แล้วได้ไปทำงานในโรงงานจึงส่งลูกหลานที่จบป.6 เข้าโรงงานไม่ส่งลูกเรียนต่อ กว่าจะคิดได้ก็สายเสียแล้ว มองว่าเรื่องของการศึกษาเป็นหัวใจสำคัญจะที่ทำให้คนรู้เท่าทัน ทั้งในระบบและนอกระบบ ตัวผู้นำท้องถิ่น อบต. กำนัน ผู้ใหญ่บ้านต้องเร่งศึกษาเพื่อเพิ่มวิสัยทัศน์ให้กว้างขึ้นในการวางแผนการพัฒนาบ้านเมือง เพราะคนที่ขึ้นมาเป็นผู้นำความรู้ความเข้าใจในสถานการณ์เศรษฐกิจ บ้านเมืองและสังคมเป็นเรื่องจำเป็น
ท่านรองผู้ว่าฯ ได้เสนอความคิดเกี่ยวกับทิศทางในการพัฒนาเพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนและประชาชนได้รับผลประโยชน์ไว้ว่า สิ่งที่อยากให้คิดถึงคือ ประชาชนได้อะไร ประเทศชาติได้อะไร แนวคิดการพัฒนาจะอาศัยราชการอย่างเดียวไม่พอ ราชการมาแล้วก็ไปแต่คนแม่สอดยังอยู่ คนแม่สอดต้องช่วยกันนำเสนอความคิด และได้กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมในเรื่องเขตเศรษฐกิจชายแดนดังนี้

1. ต้องขยายความรู้ความเข้าใจและเปิดโอกาสให้เสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องเขตเศรษฐกิจชายแดน

2. เรื่องสังคมวัฒนธรรมต้องให้คนตากเห็นคุณค่า มองว่าเป็นจุดขายทางสังคมที่ควรเก็บรักษาไว้ เป็นเสน่ห์เพราะจะเกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว เราต้องอนุรักษ์ไว้ควบคู่ไปกับการดูแลสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะป่าไม้

3.เรื่องขยะ น้ำเสีย ถ้าไม่มีการวางแผนที่ดีอนาคตจะกลายเป็นปัญหามาก ถ้าบ้านเราคิดจะขายเรื่องการท่องเที่ยวก็ไม่ควรปล่อยให้เกิดขยะและน้ำเสียเพราะจะส่งผลอย่างมากต่อปริมาณคนที่จะเข้ามาเที่ยว

และถ้าพี่น้องมีโครงการมีแผนอะไรที่เกี่ยวข้องกับเรื่องพัฒนาเศรษฐกิจชายแดนที่จะทำให้ชีวิตดีขึ้น เศรษฐกิจดีขึ้น ให้เสนอหรือประสานโดยตรงได้เลยยินดีรับพิจารณาบรรจุในแผนถ้าเป็นโครงการที่ดีและเหมาะสม

หลังจบการอภิปรายผู้ดำเนินรายการได้เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมเสวนาได้แสดงความคิดเห็น แลกเปลี่ยน ซักถาม ผู้เข้าร่วมประชุมได้แสดงความตื่นตัวและความกังวลถึงปัญหาที่จะตามมากับการพัฒนาเขตเศรษฐกิจชายแดนโดยสรุปดังนี้

1. ด้านสังคม ปัญหาคนจนเมือง สลัม โสเภณี ยาเสพติด

2. ด้านสิ่งแวดล้อม ปัญหาขยะ ทรัพยากรถูกทำลาย

3. การศึกษาเล่าเรียนอาจไม่ทันกัน สถาบันการศึกษา คนท้องถิ่น และชนกลุ่มน้อย

4. ความวิตกกังวลต่อความร่วมมือกับพม่า

5. ความขัดแย้งทางวัฒนธรรม ไม่อยากเห็นคนจีนไล่คนไทย คนไทยไล่คนยาง คนยางไปไล่เสือไล่ลิง

วิถีชีวิตคนแม่สอด


เมืองแม่สอดล้อมลอบไปด้วยภูเขา


บรรยากาศตลาดสดเมืองแม่สอด


แม่ค้าจากพม่า


ชาวไทยมุสลิม แม่สอด


สะพานมิตรภาพชายแดนไทย-พม่า

กองบรรณาธิการ : ทีมสื่อสารสาธารณะ
นพรัตน์ จิตรครบุรี : รายงาน

Be the first to comment on "เวทีเสวนาเรื่อง เขตเศรษฐกิจชายแดนแม่สอด เรื่องที่เราต้องเรียนรู้หรือเพียงแต่…รับรู้"

Leave a comment

Your email address will not be published.