เวทีแลกเปลี่ยนข้อมูลนโยบายสาธารณะ: “ ทำอย่างไร ? ปีนี้และปีต่อๆไปกุ้ง-ปลาจะไม่ลอยหัว”

การจัดการลุ่มน้ำเพื่อชุบชีวิตแม่น้ำปราจีนบุรี – บางปะกง หลังจากประสบภาวะวิกฤตมาเป็นเวลาเกือบสิบปีมาแล้ว ปัญหาที่มีการถกเถียงกันอยู่ตลอดเวลาว่าการจัดการที่ดีที่สุดและเกิดประโยชน์สูงสุดควรเป็นอย่างไร   ประสบการณ์การแก้ไขปัญหาด้วยโครงการใหญ่ๆที่ได้ดำเนินงานไปแล้วในลุ่มน้ำนี้ส่งผลกระทบถึงระบบนิเวศน์และวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปของผู้คน….

www.prachinhealthylife.com

27 ธันวาคม 2547 ณ ลานริมแม่น้ำปราจีนบุรี

วัดบางแตน ตำบลบางแตน อำเภอบ้านสร้าง จังหวัดปราจีนบุรี

เวทีแลกเปลี่ยนข้อมูลนโยบายสาธารณะ

สนับสนุนการพัฒนาลุ่มน้ำปราจีนบุรี บางปะกงและโตนเลสาป อย่างยั่งยืน

เรื่อง ของการจัดการลุ่มน้ำเพื่อชุบชีวิตแม่น้ำปราจีนบุรี – บางปะกง กลับคืนหลังจากประสบภาวะวิกฤตมาเป็นเวลาเกือบสิบปีมาแล้วปัญหาที่มีการถกเถียงกันอยู่ตลอดเวลาว่าการจัดการที่ดีที่สุดและเกิดประโยชน์สูงสุดควรเป็นอย่างไร ประสบการณ์การแก้ไขปัญหาด้วยโครงการใหญ่ๆที่ได้ดำเนินงานไปแล้วในลุ่มน้ำนี้ส่งผลกระทบถึงระบบนิเวศน์และวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปของผู้คนในพื้นที่แหล่งนี้มากมาย กลไกการจัดการที่มีลักษณะการทำงานแบบยืดหยุ่น มุ่งการเรียนรู้เพื่อเกิดการขับเคลื่อนสังคมให้มองปัญหาร่วมกันอย่างบูรณาการยังเห็นได้ไม่ชัดเจน อีกทั้งขาดการแลกเปลี่ยนข้อมูลและยกระดับการทำงานที่ใช้การมีส่วนร่วมในการสนับสนุนการพัฒนาเขตลุ่มน้ำนี้ อย่างจริงจังจากข้อมูลงานวิจัยโครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะและท้องถิ่นน่าอยู่ สนับสนุนโดยสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนาและสสส. ทำให้เกิดการรวมตัวกันของกลุ่มองค์กรจากสาขาอาชีพต่างๆตั้งแต่ภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรม พาณิชยกรรม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กลุ่มกิจกรรมเพื่อสังคม สถาบันการศึกษา องค์กรสงฆ์ จัดเวทีแลกเปลี่ยนข้อมูลนโยบายสาธารณะขึ้น

เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ.2547 โดยใช้ประเด็น “ ทำอย่างไร ? ปีนี้และปีต่อๆไปกุ้ง-ปลาจะไม่ลอยหัว” เป็นประเด็นพูดคุยกัน ที่ลานริมแม่น้ำ วัดบางแตน ตำบลบางแตน อำเภอบ้านสร้าง จังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งปรากฎการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเป็นเวลาต่อเนื่องมาหลายปีแล้ว วิกฤตดังกล่าวเกิดขึ้นรุนแรงทุกปีในช่วงฤดูแล้ง โดยคณะอนุกรรมการบริหารจัดการลุ่มน้ำบางปะกง ปราจีนบุรีและโตนเลสาป ศูนย์พัฒนากิจกรรมภาคพลเมืองปราจีนบุรี ( DOF )กลุ่มอนุรักษ์แม่น้ำปราจีนบุรี เครือข่ายประชาชนคนปราจีนบุรี กลุ่มรักษ์เขาใหญ่ ชมรมธุรกิจท่องเที่ยวปราจีนบุรี กลุ่มประมงพื้นบ้าน และมูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรได้ร่วมกันผลักดันให้ตลอดลำน้ำที่เชื่อมต่อกันเป็นลุ่มน้ำขนาดใหญ่ดังกล่าวที่มีพื้นที่ติดต่อกันรวมทั้งสิ้น 4 จังหวัดได้แก่ ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา และนครนายก เกิดการรับรู้ แลกเปลี่ยนข้อมูล เพื่อร่วมกำหนดทิศทางการทำงานและยกระดับการทำงานเพื่อการพัฒนาฟื้นฟูและแก้ปัญหาลุ่มน้ำนี้ร่วมกันของทุกภาคส่วน

มีผู้เข้าร่วมเวทีจากหลายภาคส่วนด้วยกันคือ คณะอนุกรรมการบริหารจัดการลุ่มน้ำบางปะกง ปราจีนบุรีและโตนเลสาป กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมมลพิษ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงานทรัพยากรน้ำภาค 6 ชลประทานจังหวัด ผังเมืองจังหวัด การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ สภาอุตสาหกรรม สส. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นักวิชาการ ประชาคม เครือข่ายภาคีพัฒนา สื่อมวลชน นักเรียนและนักศึกษา รวมทั้งสิ้นกว่า 300 คน

กระบวนการในเวทีได้แบ่งออกเป็น 3 ช่วง คือ

ช่วงแรก เป็นช่วงของการกล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมเวทีโดย นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนางบังอร วิลาวัลย์ และ รองผู้ว่าราชการจังหวัดฯ สุพล ศรีพันธ์ เป็นประธานการพูดคุยในเวทีฯและได้กล่าวถึงความสำคัญของลุ่มน้ำปราจีนบุรีต่อการพัฒนาจังหวัด

ช่วงที่สอง คือการนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์การรับรู้และปัญหาที่เกิดขึ้นในลุ่มน้ำปราจีนบุรี

บางปะกง และนครนายก โดย คุณวิชัย มุกดาหาญ ผู้แทนเครือข่ายรักษ์แม่น้ำปราจีนบุรี คุณศักดา ทองประสิทธิ์ ผู้แทนคณะอนุกรรมการบริหารจัดการลุ่มน้ำฯ และคุณสมบูรณ์ ต่อมตู้ ผู้แทนเครือข่าย อาสาสมัครพิกษ์สิ่งแวดล้อมจังหวัดนครนายก (เอกสารแนบท้าย)

ค้นหาสิ่งที่ขาดหายและเสนอแนะเติมเต็มแก่กัน

ช่วงที่สาม ต่อจากการนำเสนอข้อมูลคือการระดมและรวบรวมความคิดของผู้เข้าร่วมโดยใช้ Card techniqu

ในสองประเด็นที่เกี่ยวข้องดังนี้

1. สิ่งที่เป็นความกังวลใจและความห่วงใยที่มีต่อลุ่มน้ำ

2. ข้อเสนอแนะของท่านที่มีต่อลุ่มน้ำ

ทุกกลุ่มมีความสนใจร่วมกันคิด และแลกเปลี่ยน ออกมาได้อย่างน่าสนใจ ดังนี้

1. ด้านการบริหารจัดการระบบ

– การอนุมัติโครงการพัฒนาต่างๆ ในการก่อตั้ง ให้มีการจำกัดเขตZoning

โรงงานอุตสาหกรรมและต้องมีการทำประชาพิจารณ์ในระดับท้องถิ่นและระดับจังหวัด

– จัดให้มีระบบเฝ้าระวังด้วยระบบอาสาสมัครที่เป็นเครือข่ายร่วมพัฒนา สื่อสารเผยแพร่

ข้อมูลอย่างทั่วถึงและรวดเร็ว

2. พลิกฟื้นวิถีชุมชนท้องถิ่น

– อนุรักษ์บ้านริมน้ำ และประเพณีท้องถิ่นลุ่มน้ำ

– รณรงค์เกษตรธรรมชาติ ให้เป็นแผนงานโครงการระดับจังหวัดใช้ระบบนิเวศน์เป็นตัว

กำกับทิศทางการพัฒนา น้ำ-มนุษย์-พืช-สัตว์-ป่าไม้-ดิน

3. จัดกิจกรรมรณรงค์

– กิจกรรมเชิงอนุรักษ์พัฒนาให้เป็นหลักสูตรท้องถิ่นในโรงเรียน / เครือข่ายพระสงฆ์

ประกาศเขตอภัยทาน ( วังปลา)

– ปลูกจิตสำนึกหยุดทิ้งขยะ จัดระบบบำบัด รณรงค์ใช้ธรรมชาติบำบัด เช่น EM

– กำจัดวัชพืช ดูแลฟื้นฟูพันธุ์ปลา ดูการประมง

4. เวทีร่วมมือ

– เปิดเวทีความคิดกำหนดทิศทาง / หาข้อมูลการใช้ประโยชน์ร่วม

ผู้ประกอบการ-ชุมชน-ท้องถิ่น

– สนับสนุนกองทุนสนับสนุนการวิจัยท้องถิ่น/ภูมิปัญญา/นิเวศน์วัฒนธรรม

– ทบทวนบทบาท/หน้าที่

 

ช่วงที่สี่ ข้อเสนอเชิงนโยบายจากผู้แทนภาคประชาชนที่จะดำเนินการ

1. จะจัดให้การเรียนรู้ร่วมกันในเรื่องการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและสิ่งแวดล้อม โดยเสริมสร้างขีดความสามารถของแต่ละกลุ่มให้มีการรวมกันเป็นเครือข่ายทุกพื้นที่ลุ่มน้ำ เป็นสภาของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากหลายภาคส่วนและจัดให้มีการจัดทำแผนการจัดการทรัพยากรน้ำและสิ่งแวดล้อมอย่างมีส่วนร่วมของประชาชน โดยจะต้องมีการจัดเวทีชาวบ้าน ท้องถิ่นระดับรากหญ้า การประสานงานและสื่อสารภายในของชุมชนอย่างทั่วถึง

2. จัดทำข้อมูลฐานทรัพยากรสิ่งแวดล้อม แผนที่ระบบนิเวศน์ลุ่มน้ำ อย่างมีส่วนร่วมโดยภาคประชาชน ควรสนับสนุนกองทุนสำหรับให้มีการศึกษาวิจัยในระยะยาวอย่างต่อเนื่อง เพราะการเสริมสร้างศักยภาพท้องถิ่นและชุมชนให้เข้มแข็งและมีประสิทธิภาพการปฏิบัติที่เกิดขึ้น ต้องอาศัยการใช้ข้อมูลร่วมกันและการประโยชน์จากข้อมูลเหล่านั้น

3.จัดระบบเฝ้าระวังและดูแลรักษาคุณภาพของน้ำโดยอาสาสมัครหมอน้ำให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ ตลอดลำน้ำ และจะประสานแจ้งข่าวสารข้อมูลกับภาครัฐ

4. เริ่มลดมลพิษที่ปล่อยลงทางน้ำ ทั้งทางภาคเกษตรและอุตสาหกรรม โดย ภาคเกษตรปรับเปลี่ยนวิถีการผลิตลดสารเคมี หันมาใช้ปุ๋ยชีวภาพ มุ่งการทำเกษตรอินทรีย์ ภาคอุตสาหกรรมขอความร่วมมือในการบำบัดน้ำเสียก่อนปล่อยสู่แม่น้ำ หรือหาเทคโนโลยีใหม่ในการนำน้ำกลับมาใช้ใหม่อย่างมีคุณค่า

5. จัดตั้งศูนย์กลางฝึกอบรมสำหรับชุมชนในการสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์แหล่งน้ำให้สามารถใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนได้ การฟื้นฟูแหล่งต้นน้ำเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นและลดปริมาณน้ำหลาก

6. จัดรณรงค์ในกลุ่มเครือข่ายพระสงฆ์และโรงเรียนทุกโรงเรียนตลอดลำน้ำในการหันกลับมาดูแลรักษาลุ่มน้ำร่วมกัน และจัดให้มีหลักสูตรการเรียนการสอนเกี่ยวกับประเด็นด้านน้ำและสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ชั้นเริ่มเรียน

สังเคราะห์ ข้อเสนอและข้อคิดเห็นภาพรวมเพิ่มเติมโดย นายจำรูญ สวยดี ประธานคณะอนุกรรมการบริหารจัดการลุ่มน้ำบางปะกง ปราจีนบุรี และโตนเลสาป

1. การจัดเก็บน้ำต้นทุน ควรทำให้เกิดการจัดการอย่างบูรณาการ

2. การพัฒนาโดยการมีส่วนร่วมของประชาชน ได้แก่ การเฝ้าระวัง การบริหารจัดการ การ สร้างเครือข่ายการเรียนรู้การใช้ข้อมูลในการแก้ไขปัญหาและการใช้ประโยชน์ร่วมกันทั้งคุณภาพ /ปริมาณและระบบนิเวศน์โดยมีศูนย์ประสานงานระบบอาสาสมัครของจังหวัด

3. การจัดสรรงบประมาณ ควรสนับสนุนการทำงานเชิงวิจัยให้กับท้องถิ่นเพื่อสร้างองค์ ความรู้ให้กับพื้นที่

4. ภาครัฐควรให้ข้อมูลแก่ประชาชนและหันหน้าเข้าหากันแบบบูรณาการ

5. จัดระบบZoning และยกเรื่องการบังคับใช้กฎหมายมาใช้อย่างเคร่งครัด

 

ช่วงที่ห้า ความเหมือนที่แตกต่างจากมุมมองของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเขต 1 นายสุนทร วิลาวัลย์

คนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ การเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ควรได้มีการคิดเพิ่มขึ้น อีกทั้งเพิ่มการจัดการระบบน้ำ โครงการบำบัดน้ำเสียที่เป็นรูปธรรมควรมีการหางบประมาณร่วมกันบูรณาการร่วม การพัฒนาจังหวัดที่มีทิศทางที่สวนทางกัน ภาคอุตสาหกรรมทำให้เกิดการจ้างงาน รองรับการเพิ่มของประชากร เวทีหารือหาข้อตกลงร่วมกันควรมี และสุดท้ายควรหาข้อพิสูจน์ในการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม

ข้อคิดเรื่องระบบการจัดการน้ำของพื้นที่ลุ่มน้ำนี้เพื่อเติมให้เต็มจากรองผู้ว่าราชการจังหวัดฯสุพล ศรีพันธ์

1. ป่าต้นน้ำถูกทำลาย

2. การใช้ประโยชน์ที่ดินที่ขาดการจัดการร่วมกัน

3. ความขัดแย้ง

4. น้ำเสียจากภาคเกษตรและผู้บริโภคที่นอกเหนือจากภาคอุตสาหกรรม

5. ภาวะน้ำเค็มหนุน

6. การขาดเจ้าภาพในการบริหารจัดการ

ควรมีการค้นหาตั้งคำถามและพิสูจน์ข้อมูล/ข้อเท็จจริงที่สามารถบอกได้ว่า ความต้องการน้ำกับสิ่งที่มีอยู่เพียงพอหรือไม่จะจัดการกับมันได้อย่างไร?

จะไปต่อกันอย่างไร ? การแลกเปลี่ยนทำความเข้าใจร่วมกันจะไม่เกิดผลได้เลยหากไม่มีการทำงานต่อ ฉะนั้นเวทีจึงหาคนที่สมัครใจเสนอตัวทำงานร่วมกันต่อ และในเรื่องข้อมูลและการจัดการคงจะได้มีการติดต่อการประสานงานทุกกลุ่มต่อไป ช่วงสุดท้ายได้ร่วมกันทำพิธีสืบชะตาแม่น้ำและปล่อยปลาลงในแม่น้ำปราจีนบุรีร่วมกัน

 

Be the first to comment on "เวทีแลกเปลี่ยนข้อมูลนโยบายสาธารณะ: “ ทำอย่างไร ? ปีนี้และปีต่อๆไปกุ้ง-ปลาจะไม่ลอยหัว”"

Leave a comment

Your email address will not be published.