เวที “ ฟื้นขวัญอันดามัน”

ศ.นพ.ประเวศ กล่าวว่า เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อระบบสังคมอย่างรุนแรง จำเป็นต้องมีวิธีการจัดการเพื่อให้เกิดการฟื้นตัวของชุมชนอย่างรวดเร็วและนำไปสู่การพัฒนาระบบสังคมขึ้นมาใหม่…การร่วมทุกข์,การจัดการเรื่องการบรรเทาทุกข์,การเร่งจัดการด้านสุขาภิบาล ,การสร้างอาชีพของคนจน….

เวที ฟื้นขวัญอันดามัน  วันที่ 17 มกราคม 2548

ณ โรงเรียนสตรีพังงา อำเภอเมือง จังหวัดพังงา

เวลา 9.00 16.00 น.

 

โดยความร่วมมือของ

  • เครือข่ายพลเมืองภาคใต้อันดามัน 6 จังหวัด
  • โครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะ ท้องถิ่นน่าอยู่จังหวัดพังงา ภูเก็ต ตรัง
  • โครงการพัฒนาชุมชนเป็นสุขภาคใต้
  • กป.อพช. ภาคใต้
  • เครือข่ายสันนิบาตเทศบาลภาคใต้
  • เครือข่ายลูกโลกสีเขียว ปตท. จำกัด (มหาชน)
  • เครือข่ายมติชนและประชาชาติธุรกิจ
  • สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ
  • มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ
  • สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน
  • สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา
  • สถาบันการเรียนรู้และพัฒนาประชาสังคม
  • องค์กรภาครัฐและประชาสังคมจังหวัดภาคใต้


        ศ. นพ. ประเวศ วะสี

สวัสดีผู้มีเกียรติทุกท่าน และขอแสดงความเคารพต่อวิญญาณของผู้ที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์ภัยพิบัติ เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547 ขอให้วิญญาณของทุกคนไปสู่สุขคติ ท่านเหล่านี้ไม่ได้ทำผิดอะไรเลย ขอให้ความตายทำให้ผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ดีขึ้น โดยเกิดปัญญา และเกิดความเมตตา กรุณาต่อกัน และเป็นสังคมที่ไม่ตั้งอยู่ในความประมาท ที่ผ่านมาเราเป็นสังคมที่ตั้งอยู่ในความประมาท ทั้งในแนวทางการพัฒนาของประเทศ ที่มุ่งไปสู่ความมัวเมาในการเสพสุข ประมาท และแนวทางการพัฒนาที่เน้นเงินนิยม วัตถุนิยม บริโภคนิยม ทำให้คนทั่วไปลุ่มหลง มัวเมา หมกมุ่นอยู่ในกามสุข เมื่อมีอะไรเกิดขึ้นก็จะไม่รู้ตัว ซึ่งจะเป็นอันตรายแก่ตัวมาก ขอให้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นคราวนี้ ที่มีผู้สูญเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ได้เป็นอนุสติให้พวกเราทุกคน ให้แก่โลกทั้งโลก ได้เห็นความสำคัญของการไม่ตั้งอยู่ในความประมาทนั้น ความตายของ

เพื่อนมนุษย์เป็นจำนวนมาก ที่เกิดขึ้นชั่วพริบตา และสื่อออกไปให้เห็นกันทั้งโลกพร้อมกันทันที ได้ทำให้เกิดปรากฏการณ์ใหม่คือ พลังน้ำใจของผู้คนที่หลั่งไหลออกมามากมาย

ถือเป็นเรื่องสำคัญ คนทุกคนมีเมล็ดพันธุ์ แห่งความดีอยู่ในหัวใจ ที่เรามักจะว่าคนนั้นมีกิเลส มีความเห็นแก่ตัว ซึ่งเป็นความจริง แต่ไม่ใช่ด้านเดียว ธรรมชาติของคนยังมีอีกด้านหนึ่ง คือ เมล็ดพันธุ์แห่งความดี ถ้าหากได้รดน้ำ พรวนดิน ให้เหมาะสม ก็จะงอกงาม เติบโตต่อไปได้ เป็นพลังแห่งความกรุณาปราณี ที่หลั่งไหลออกมา เป็นคลื่นที่ใหญ่กว่าคลื่นสึนามิ คือ คลื่นพลังน้ำใจ

 

 

ล้นเกล้ารัชกาลที่ 6 ได้มีพระราชนิพนธ์ไว้ว่า อันว่าความกรุณาปราณี จะมีใครบังคับก็หาไม่ หลั่งมาเองเหมือนฝนอันชื่นใจ จากฟากฟ้าสุราลัยสู่แดนดิน เป็นสิ่งดีสองชั้นพลันปลื้มใจ แห่งผู้ให้และผู้รับสมถวิล เป็นกำลังเพิ่มกำลังสุดพิชิต………. ให้พลังแห่งความกรุณา ปราณี มาเป็นเครื่องขับเคลื่อนโลกขณะนี้ร่วมกัน ทำอย่างไรให้พลังน้ำใจที่เกิดขึ้นไม่วูบหายไป

          โจทย์ใหญ่ คือ ทำอย่างไรให้พลังน้ำใจที่เกิดขึ้น เป็นพลังขับเคลื่อนการพัฒนา คลื่นความทุกข์ของมนุษย์  ที่มีอยู่ทุกวันนี้ทั่วโลกนั้นใหญ่กว่าคลื่น สึนามิ มาก แต่เราไม่รับรู้ จึงมีโจทย์ว่าทำอย่างไรเราจะรับรู้ได้ ทำอย่างไรเราจะรวมตัว ร่วมคิด ร่วมทำ ในทุกพื้นที่ ในทุกองค์กร

 

ศ.นพ.ประเวศ กล่าวต่อว่า เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อระบบสังคมอย่างรุนแรง จึงจำเป็นต้องมีวิธีการจัดการเพื่อให้เกิดการฟื้นตัวของชุมชนอย่างรวดเร็วและนำไปสู่การพัฒนาระบบสังคมขึ้นมาใหม่ โดยมีองค์ประกอบดังนี้

 

1. การร่วมทุกข์ เกิดการร่วมทุกข์ระหว่างผู้คนในสังคมขึ้นทำให้ความทุกข์ของแต่ละคนเบาลง เช่นผู้ประสบภัยได้มีคนเข้ามารับรู้ความทุกข์ ก็รู้สึกทุกข์น้อยลง ผู้ที่เข้าไปรับทราบความทุกข์พอได้เห็นผู้ที่ทุกข์มากกว่าก็ส่งผลให้ความทุกข์ที่มีในตนลดลง


2. การจัดการเรื่องการบรรเทาทุกข์และการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือกันภายในชุมชนเพื่อก่อให้เกิดกระบวนการดังกล่าวขึ้น ผู้คนในชุมชนจะต้องเกิดการรวมตัวกันเพื่อบริหารจัดการสิ่งบรรเทาทุกข์ที่เข้ามาสู่ชุมชนรวมทั้งแก้ไขปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้น เช่น ชุมชนที่ได้รับความช่วยเหลือมาในรูปของเงินบริจาคก็อาจจะตั้งเป็นกองทุนขึ้นเพื่อให้สามารถบริหารและช่วยเหลือได้ในระยะยาว


3. การเร่งจัดการด้านสุขาภิบาล เนื่องจากการเกิดเหตุภัยทางธรรมชาติมักจะก่อให้เกิดปัญหาโรคระบาดในระยะต่อมา ซึ่งจุดนี้ในชุมชนเองจำเป็นต้องเร่งจัดการดูแลเรื่องดังกล่าวให้มีประสิทธิภาพเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาโรคระบาดที่จะเป็นปัญหาระยะยาวในอนาคต


4. การสร้างอาชีพของคนจน หลังจากเกิดเหตุการณ์คลื่นสึนามิขึ้น ทำให้ประชาชนจำนวนมากต้องสูญเสียอาชีพของตนเองไป ซึ่งจำเป็นต้องสำรวจว่ามีประชาชนจำนวนเท่าไหร่ที่ต้องสูญเสียอาชีพ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ที่หากินแบบวันต่อวัน สิ่งที่ต้องเร่งทำก็คือการสร้างอาชีพให้แก่กลุ่มคนในพื้นที่ เช่น การจัดสรรที่ดินให้แก่ประชาชนประกอบสัมมาชีพ ที่ไม่เบียดเบียนตนเอง ผู้อื่น และธรรมชาติ อาจจะใช้รูปแบบของการเช่าระยะยาวแล้วตั้งข้อบังคับให้เขาปลูกต้นไม้ไว้ในพื้นที่เพื่อสร้างความสมดุลทางธรรมชาติ


5. การเปลี่ยนสังคมไปสู่สังคมแห่งเศรษฐกิจพอเพียง เนื่องจากปัจจุบันสังคมไทยได้พัฒนาในแนวทาง เงินนิยม วัตถุนิยม บริโภคนิยม ก่อให้เกิดช่องว่างทางเศรษฐกิจขนาดใหญ่และความไม่เป็นธรรมทางสังคม ทำให้สังคมมองข้ามจุดแข็งของประเทศอันได้แก่ทรัพยากรทางธรรมชาติ ความสามารถในการผลิตอาหาร แต่ไปมองเห็นความสำคัญของเงินแทน จึงทำให้คนที่ควรจะรวยกลับจนขณะที่คนที่ควรจะจนกลับรวยซึ่งเรื่องนี้จำเป็นต้องนำแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงเข้ามาใช้และให้ความสำคัญของจุดแข็งของประเทศมากกว่าความสำคัญด้านการเงิน

ประเทศไทยไม่ใช่เป็นประเทศที่ยากจน แต่ไปติดสมมุติ ทำให้คนที่ควรจะรวยกลับจน คนที่ควรจะจนกลับรวย สมมุตินั้นคือ เรื่อง  เงิน เราไปยึดติดกับจำนวนเงิน ถามว่าใครรวยที่สุด ชาวนา รวยที่สุด เพราะมีข้าวกิน มีไข่กิน มีไข่กิน ส่วนคนที่มีเงินในธนาคาร 100 ล้าน ตัวเลขในธนาคาร มันกินไม่ได้


อยากชวนจินตนาการใหม่ ซึ่งเราสามารถทำได้คือ
สังคมศานติสุข ดูตัวอย่างประเทศที่เป็นสังคมศานติสุข เช่น เดนมาร์ก เนเธอร์แลนด์ สวิสเซอร์แลนด์ ลองดูประเทศสวิสเซอร์แลนด์มีอะไรบ้าง

·         มีธรรมชาติที่สวยงาม เช่น ทะเลสาบ ป่า ต้นไม้ ซึ่งเมืองไทยก็มี

·         มีคนหลายเชื้อชาติอยู่ร่วมกัน ถึงแม้จะพูดคนละภาษาแต่ก็สามารถอยู่ร่วมกัน

·         ใช้เศรษฐกิจพอเพียง สามารถผลิตอาหารเลี้ยงคนสวิสได้ทุกคน เมื่อมีความพอเพียงแล้วจะเกิดความสงบ

มีสันติภาพ ไม่มีสงคราม องค์กรระหว่างประเทศต่างไปตั้งสำนักงานกันที่นั่น ไปประชุมที่นั่น

 

ทั้งหมดนี้ประเทศไทยก็มี แต่เราจะสามารถเพิ่มพูนขึ้นได้อย่างไร

1)     ช่วยกันรักษาธรรมชาติของเราให้สวยงาม เพิ่มพูนขึ้น อย่างพังงาก็สวยไม่แพ้สวิสเซอร์แลนด์

2)     เรามีคนหลากหลายเชื้อชาติอยู่รวมกัน ทั้งไทย จีน ลาว พม่า มอญ มุสลิม ถ้าเราเข้าใจและรักษาการอยู่ร่วมกันของคนหลายเชื้อชาติ แต่ถ้าที่ไหนมีความขัดแย้งกันก็พัฒนาไม่ได้ อย่าก่อให้เกิดความเกลียดชังในเชื้อชาติ

3)     เศรษฐกิจพอเพียง เราต้องจัดการให้ทุกคนมีกิน ไม่ใช่ต้องไปเป็นโสเภณีแสนๆ คนถึงจะมีกิน ต้องไปให้เสี่ยเปิดบริสุทธิ์ ถึงจะมีข้าวกิน เราไม่ได้ยากจน แต่ขาดความเป็นธรรมของสังคม

4)     สันติภาพ ประเทศไทยได้ชื่อว่าเป็นที่ที่ทุกศาสนาอยู่ได้ด้วยกันอย่างสันติ พระเจ้าแผ่นดินเป็นองค์อุปถัมภ์ทุกศาสนา


เราทำได้ทั้ง
4 ข้อ บวกพลังน้ำใจ มีศาสนาทุกศาสนา ซึ่งเป็นภูมิปัญญาสูงสุดที่จะพัฒนาจิตใจของเราให้ดียิ่งขึ้น

 

เราจะทำให้ประเทศของเราเป็นยิ่งกว่าสวิสเซอร์แลนด์ เราจะมีทั้ง 4 ข้อ เราจะมีเศรษฐกิจพอเพียง เราจะมีสันติภาพ เราจะดำรงความมีน้ำใจของเราไว้ เราจะส่งเสริมการปฏิบัติศาสนาของคนทุกคนให้จิตใจสูงยิ่งๆ ขึ้น เมื่อทำได้เช่นนี้แล้ว ใครๆ ก็อยากมาเที่ยว ความมีน้ำใจของไทย กระจายไปทั่วโลก จับใจผู้คนเป็นการประชาสัมพันธ์ที่ดีกว่าอะไรอย่างอื่นทั้งสิ้น ขณะนี้ มีนายกรัฐมนตรีของ 3 ประเทศ มาที่ภูเก็ต และพังงา เพื่อมาขอบใจคนไทย เพราะคนไทยมีน้ำใจ เป็นการโฆษณาประเทศ โดยไม่ต้องเสียเงินเลย เรามีภูมิประเทศสวยงาม มีสันติภาพ มีน้ำใจ คนอยากมาเที่ยว


เศรษฐกิจของเราต้องอยู่บนพื้นฐานของความงาม ความดี ไม่ใช่ความโลภ ผมอยากฝากประเทศไทยไว้กับท่านทั้งหลาย ช่วยกันคิด ช่วยกันจินตนาการ สร้างสังคม เอาพลังน้ำใจมาไหลกลบความขัดแย้งระหว่างคนในชาติ ช่วยกันสร้างสังคมเราให้ดีกว่าเดิม

อ่านรายละเอียดเพิ่ม

Be the first to comment on "เวที “ ฟื้นขวัญอันดามัน”"

Leave a comment

Your email address will not be published.