เวที Networking ภาคอีสาน
จบลงไปแล้วกับเวทีเพิ่มศักยภาพหลักสูตร 3 การสร้างเครือข่ายที่มีพลัง (Networking ) โดยอาจารย์ชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์ ซึ่งตระเวนไปอบรม ให้กับเหล่าขุนพลชีวิตสาธารณะทั้งสี่ภาค จึงขอนำเสนอแง่คิดมุมมองของคำว่า “เครือข่าย” จากประสบการณ์ ผู้เข้ารับการอบรม ภาคอีสาน
รายงานโดย วิลาวัณย์ เอื้อวงศ์กูล
ุจบลงไปแล้วกับเวทีเพิ่มศักยภาพหลักสูตร 3 การสร้างเครือข่ายที่มีพลัง ( Networking ) โดยอาจารย์ชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์ ซึ่งตระเวนไปอบรมให้กับเหล่าขุนพลชีวิตสาธารณะทั้งสี่ภาค เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นที่ได้ทั้งก่อนและหลังการเข้าอบรม จึงขอนำเสนอแง่คิดมุมมองของคำว่า “เครือข่าย” จากประสบการณ์ผู้เข้ารับการอบรมภาคอีสานว่า สิ่งที่เคยคิดเหมือนหรือแตกต่างไปจากที่ท่านทั้งหลายเหล่านี้เคยเข้าใจมาก่อนหรือไม่อย่างไร และอะไรคือสิ่งที่น่าจะนำไปปรับใช้เพื่อความเป็น “ชีวิตสาธารณะ” อย่างแท้จริงในจังหวัดของท่านต่อไป
สมศักดิ์ วิเศษ จังหวัดนครราชสีมา
“มองจริง ๆ คำว่า เครือข่าย มันเป็นวิถีธรรมชาติที่เริ่มต้นที่ครอบครัว ขยายจากครอบครัวหนึ่งไปยังครอบครัวอื่น เหมือนสังคมครอบครัวใหญ่ แต่ต่างกันตรงที่ ไม่ได้เริ่มต้นจากครอบครัวเดียวแต่เริ่มจากหลายครอบครัว ส่วนลึกก็คือ มันอาชีพเดียวกัน ทำกิจกรรมร่วมกันแล้วไปเชื่อมอาชีพอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกัน วิถีที่เป็นตามธรรมชาติน่าจะเหนียวแน่นมั่นคงกว่า ไม่ได้พูดถึงแค่ประโยชน์ที่เอื้อต่อกันแต่พูดไปถึงสายเลือด จิตวิญญาณ เป็นเรื่องประโยชน์ที่สัมพันธ์กัน ซึ่งถ้าไปด้วยกันได้ก็จะดี แต่ถ้าไม่ก็ไปไม่รอด… อย่างครอบครัวหนึ่งพอมีคนเจ็บคนตายทำไมมีคนมาช่วยกันได้ขนาดนั้น มันเป็นพลังเป็นวิถีธรรมชาติ แต่ทุกวันนี้มันจำแลงไปหมด …เพราะฉะนั้นการจะไปปรับใช้ต้องปรับอัตตาให้ได้ ถ้าปรับอัตตาได้เรื่องอื่นก็จะเล็กไปเลย”
อรรถพร สุนทรพงศ์ จังหวัดร้อยเอ็ด
“ก่อนหน้านี้เป็นการทำของใครของมัน ไม่ประสานกัน จบใครจบมัน แต่อบรมไปแล้วมองว่าเป็นเรื่องที่เราต้องประสานงานกัน พูดคุยกันได้ แลกเปลี่ยนร่วมกันได้ โดยต้องเผยแพร่ข่าวสารให้เครือข่ายรู้ ให้เข้ามาพูดคุยกันให้มากขึ้น ต้องทำให้เป็นรูปธรรม ให้เขาเข้าใจว่าเราควรร่วมกันในรูปแบบไหน ไม่ใช่ทำแต่เราแต่เชื่อมเครือข่ายไม่ได้ เวลามีปัญหาขึ้นก็สามารถรู้ถึงกันเป็นจังหวัดได้ เมื่อเป็นจังหวัดก็สามารถเชื่อมกับจังหวัดอื่นได้อีก”
พิรุณ บานเย็น จังหวัดสุรินทร์
“ที่ผ่านมาคนพยายามมองให้เป็นเครือข่ายสร้างสรรค์ พอทำเสร็จก็ถอย ไม่มีคำว่ายั่งยืน ไม่มีจริงหรอก เป็นแค่จัดตั้งขึ้นมา ถ้าทำแล้วมีอะไรหล่อเลี้ยงก็อยู่ได้ อย่างแอมเวย์มันมีข้อแลกเปลี่ยน แต่เครือข่ายที่มาจากจิตวิญญาณมันอยู่ไม่ได้… จุดอ่อนคือไม่มีพลังให้เขาคิดออกมาแล้วทำขึ้นมา ต้องเรียนรู้อีกเยอะ ที่เคยทำมามันก็ไม่เห็นว่าสำเร็จ… ถ้าบอกว่าเป็น “พื้นที่” เรียนรู้ร่วมได้ แต่ถ้าบอกว่า ”เครือข่าย” ต้องเรียนรู้กันใหม่ ต้องเติมพลังให้มันด้วย ถ้าไม่มีอะไรหล่อเลี้ยงก็อยู่ได้ไม่นาน ถ้าบอกจิตสำนึก จิตวิญญาณก็มีอยู่ในตัวคน แต่พอพูดถึงปากท้อง พูดถึงครอบครัวขึ้นมา ทุกคนอยู่ภายใต้การกำกับตรงนี้ ถ้าจะให้พึ่งตนเองได้จริงมันมีไหม… เพราะฉะนั้นจุดคานงัดของงานเครือข่ายต้องมองที่ “คน” คือเรืองสำคัญ ผมเองก็รับจากรุ่นอาวุโส ผมรุ่นกลาง มีรุ่นหลังอีก มีรุ่นทายาท ผู้ที่มาสืบสานอุดมการณ์ต่อได้ต้องสร้างกันใหม่ คนที่อยู่ต้องทำ วางฐานให้เขาอยู่ได้ ไม่ใช่แค่รุ่นเราอยู่ได้แล้วลูกหลานอยู่ไม่ได้ นั่นคือ บ้านแตกสาแหรกขาด”
เนตรดาว เถาถวิล จังหวัดอุบลราชธานี
“ลักษณะของความเป็นข่ายมันมีรูปแบบที่หลากหลาย ทั้งที่เมื่อก่อนเรานึกว่าเป็นอะไรที่เหมือนกันไปหมด แต่ตอนนี้เราเริ่มรู้ว่ามันมีประเภทหรือรูปแบบที่แตกต่างกัน อาจจะเป็นข่ายที่มีจุดอ่อนจุดแข็งในตัวมันซึ่งเราต้องหาวิธีที่ไปใช้ให้ถูกจึงจะเกิดความสัมพันธ์นั้น… แต่การอบรมยังไม่ตอบสนองให้เรารู้ว่าการวิเคราะห์ความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ที่อยู่ในข่ายและระหว่างข่ายว่ามันมีผลอย่างไรกับงานของเรา เช่น ความสัมพันธ์ที่ตั้งอยู่บนความสัมพันธ์ส่วนตัว แบบระบบอุปถัมภ์มันมีข้อดีข้ออ่อนอย่างไร หรือความสัมพันธ์ที่อยู่บนอุดมการณ์ร่วมกันแต่ไม่ได้อยู่บนพื้นฐานความสัมพันธ์ส่วนตัวจะเป็นอย่างไร เรายังไม่ได้วิเคราะห์กันตรงนี้ ซึ่งในการทำงานจริงเราจะพบอะไรลักษณะนี้เต็มไปหมด มีความซับซ้อนมากกว่านี้ แต่การอบรมนี้จะเป็นประโยชน์หรือไม่ ข้อสำคัญอยู่ที่ว่าเราจะเอาไปใช้หรือเปล่ามากกว่า”
นำใจ อุทรักษ์ จังหวัดกาฬสินธุ์
“แต่ก่อนคิดว่าเป็นกลุ่มองค์กรแต่มาอบรมแล้วไม่ใช่ เพราะมันต้องมีการขับเคลื่อนอย่างมีชีวิตจริงจึงจะเป็นเครือข่าย ส่วนการจะนำไปปรับใช้นั้นเราน่าจะมองถึงศักยภาพแกนนำ หรือผู้นำเครือข่ายให้กลับมาเรียนรู้ร่วมกันให้ชัดเจนก่อนค่อยขับเคลื่อน… ประเด็นที่จะเคลื่อนงานต้องโฟกัสจริง ๆ ให้เกิดผลสัมฤทธิ์จริง อย่างที่กาฬสินธิ์เรามองความน่าอยู่ตรงที่ทำยังไง คนถึงจะมีสวัสดิการชุมชน มีความเป็นอยู่ที่ดี ถ้าข่ายต่าง ๆ มาเรียนรู้และปรับเข้ากับสวัสดิการชุมชนจริง ๆ น่าจะเป็นประโยชน์และมีพลังมากสำหรับกาฬสินธุ์”
จ.อ. วีระพล เจริญธรรม จังหวัดเลย
“เคยคิดว่าคำว่า “เครือข่าย” น่าจะพูดถึงคนกลุ่มหนึ่งที่พูดถึงกิจกรรมอย่างเดียวกัน แล้วเป็นองค์กรข่ายใหญ่ ๆ มีกิจกรรมหลายกลุ่มที่ต่อเนื่องสม่ำเสมอจนเป็นวิถี แต่หลังการอบรมเห็นมุมมองของคำว่าเครือข่ายเพิ่มขึ้น แต่ไม่ได้เปลี่ยน คือ นอกจากเป็นเครือข่ายที่มีอยู่ในกิจกรรมเดียวกันแล้ว เราจะต้องมีพรรคพวกหรือเครือข่ายอื่นอยู่ในเครือข่ายเหล่านั้นด้วย เพราะเรื่องที่เราทำ มนุษย์เราไม่ได้รู้ทุกเรื่อง แต่ในทุก ๆ เรื่องมีคนรู้ ส่วนการจะนำไปปรับใช้นั้นผมมองว่า งานที่ทำเป็นแนวทางใหม่ ต้องใช้เวลานาน ขณะเดียวกันเราก็มองข้ามคนที่น่าจะให้ความสำคัญ เราพัฒนางานโดยอาศัยวางแผนทำแผนอย่างเดียว แต่ไม่มี action และ action จะเกิดได้ก็ต้องอาศัยคนเล็ก ๆ ไม่ไปเชื่อมั่นกับคนที่รู้มากแต่ไม่มี action”
คุณปราโมทย์ และจรังศรี มาติสุขสถิตย์ จังหวัดชัยภูมิ
“เดิมเราตีกรอบเรื่องเครือข่ายแคบไปนิด คือ ส่วนมากเราดูคนที่ร่วมงาน ถ้าไม่จริงจัง จริงใจก็จะไม่ค่อยสัมพันธ์กับเขาแล้วหล่ะ ก็จะไปหาคนที่จริงใจจริง ๆ พอไปหาก็หายาก แต่ธรรมชาติมันจะหลุดไปเอง เลยได้คนช้าหน่อยแต่เราก็ไม่ได้อยากได้คนเยอะ ๆ แล้วไม่ใช่… สิ่งที่ต้องมองเพิ่มใหม่ของการทำงานเครือข่าย คือ การสื่อสารระหว่างเครือข่าย สิ่งที่จะเกิดขึ้นใหม่คือ จะสื่อสารคู่ขนานออกไปด้วย ทำอะไรออกไปสาธารณชนต้องรับรู้ ใช้การสื่อสารคู่กับการปฏิบัติ เป็นหนทางหนึ่งที่จะทลายอุปสรรคได้ ส่วนคนที่ร่วมงานเดิมทีมีแต่ชื่อมาร่วม ก็น่าจะเอาคนใหม่มาร่วมทีมดีกว่าแล้วค่อยไปเจาะกับทีมในจังหวัด หรืออย่างเครือข่ายใหม่คือ เยาวชน 7 อำเภอก็น่าจะเข้ามาเสริมได้”
คุณ อัมพร จังหวัดอำนาจเจริญ
“เครือข่ายในอำนาจเจริญมีมาก ใหญ่ ๆ ก็มีหลายเครือข่าย แต่บางจุดก็ต้องปรับปรุงองค์กร บางองค์กรที่อ่อนมีจุดบอด คือ คนวิ่งตามกระแสเงิน กระแสวัตถุ เงินหมด คนก็หมด แต่สังคมชนบทก็ได้เรียนรู้สิ่งที่เกิดขึ้น คนที่ไม่ดีคนก็เริ่มไม่เอา… คนอำนาจเจริญยังหลงอำนาจก็เยอะ แต่ทิศทางจะเปลี่ยน ต้องได้วิธีแก้ ต้องยอมปรับตัวเอง เพื่อให้ความเป็นเครือข่ายเข้มแข็งด้วยเหมือนกัน”
Be the first to comment on "เวที Networking ภาคอีสาน"