หากสิทธิเสรีภาพของสื่อคือหลักประกันของสังคมประชาธิปไตย ภาวะสูญญากาศที่เกิดขึ้นกว่า 8 ปี ในการปฏิรูปสื่อของไทย อาจนับเป็นช่วงเวลาของความสูญเสียทั้งในเรื่องประโยชน์ที่สังคมไทยควรได้รับ…..
หากสิทธิเสรีภาพของสื่อคือหลักประกันของสังคมประชาธิปไตยภาวะสูญญากาศที่เกิดขึ้นกว่า8ปี ในการปฏิรูปสื่อของไทย อาจนับเป็นช่วงเวลาของความสูญเสียทั้งในเรื่องประโยชน์ที่สังคมไทยควรได้รับจากทรัพยากรคลื่นที่ถูกจัดวางให้เป็นของสาธารณะภายหลังรัฐธรรมนูญ 2540 รวมถึงการเข้ามาหยิบใช้ทรัพยากรดังกล่าวของภาคประชาชน ภาวะที่ค้างคาของกระบวนการสรรหาบุคคลที่จะเข้ามาบริหารจัดการคลื่น โดยเฉพาะคณะกรรมการกิจการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์แห่งชาติ(กสช) และพรบ.ประกอบกิจการในเรื่องดังกล่าวก็ยังไม่แล้วเสร็จ ซึ่งที่ผ่านมามีทั้งความไม่โปร่งใสในกระบวนการสรรหาและความยืดเยื้อในการจัดทำร่างพรบ.แต่สิ่งที่ข้อเขียนนี้จะชี้ชวนพิเคราะห์คือข้อสังเกตว่าภายใต้ภาวะการณ์ที่ค้างคานี้ก่อให้เกิดสิ่งใดบ้าง ประการแรกสถานการณ์ในเรื่องสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชน ซึ่งมีการจัดทำรายงานสรุปประสบการณ์โดยองค์กรวิชาชีพด้านสื่อมวลชนเอง โดยมีเนื้อหาว่าในยุครัฐบาลปัจจุบันที่เป็นตัว แทนกลุ่มทุนขนาดใหญ่ สื่อมวลชนถูกแทรกแซงแบบทับซ้อนและเบ็ดเสร็จ อาทิการใช้กลไกรัฐในการตรวจสอบสื่อทั้งด้านข้อมูลข่าวสารและการทำธุรกรรมการเงิน อีกทั้งยังมีการควบคุมด้วยกลไกทางธุรกิจและการโฆษณา จนชี้ให้เห็นชัดเจนว่าทุนในร่างรัฐกลายเป็นผู้กำหนดวาระทางสังคมซึ่งจะกล่าวในประเด็นต่อไป |
||
เช่นหากหนังสือพิมพ์ฉบับใดพยายามจะใช้สิทธิเสรีภาพนำเสนอข่าวสารในลักษณะวิพากษ์วิจารณ์หรือที่เรียกว่า “ทำลายบรรยากาศการลงทุน” รายได้หลักที่มาจากการอุปถัมป์ทั้งจากว่านเครือบริษัทยักษ์ใหญ่หรือหน่วยงานรัฐวิสาหกิจจะลดน้อยถอยลง ซึ่งผู้ประกอบการธุรกิจสื่อคงไม่ยินดีเป็นแน่ เพราะที่สื่อสิ่งพิมพ์ประเภทนี้ยืนอยู่ได้ก็เนื่องจากค่าโฆษณา การแทรกแซงสื่อที่เห็นได้ชัดเจนอีกด้าน คือการเข้าซื้อหุ้นกิจการหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งโดยเครือข่ายรัฐมนตรีบางท่านและถือหุ้นอยู่เป็นอันดับสาม ซึ่งแน่นอนว่ามีผลกระทบกับการตัดสินใจในระดับนโยบายของสำนักสื่อแห่งนี้ นอกจากนี้ยังหยั่งรากถึงการแทรกแซงฝ่ายบริหารใช้อำนาจควบคุมกองบรรณาธิการ เช่นกรณีการปลดบรรณาธิการข่าวบางกอกโพสต์ หรือการทำให้ข้อเขียนของคุณประสงค์ สุ่นสิริ คอลัมนิสต์ขาประจำหายไปจากหนังสือพิมพ์แนวหน้า และเลยเถิดไปถึงการกดดันพันธมิตรหรือผู้อุปถัมภ์หนังสือพิมพ์ที่เน้นการวิพากษ์วิจารณ์อย่างไทยโพสต์ ให้ต้องวิ่งหาโรงพิมพ์ก่อนการเลือกตั้งที่จะมาถึง ส่วนสถานการณ์สื่อในระดับท้องถิ่นก็ไม่ต่างกันมากนัก เพราะมีการแทรกแซงโดยกลุ่มอิทธิพลทางการเมืองและธุรกิจท้องถิ่น ด้วยวิธีการเดียวกันกับการครอบงำสื่อในระดับประเทศ นอกจากนี้รายงานฉบับดังกล่าวยังระบุถึงความไร้ประสิทธิภาพของพรบ.ข้อมูลข่าวสารที่ทำให้สื่อมวลชนไม่ได้รับความคุ้มครอง เข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้ยากลำบากเนื่องจากทิศทางของข้อมูลยังรวมศูนย์อยู่ที่ภาครัฐ |
||
ประการที่สอง การแปรรูป ขยายกิจการ การแก้ไขสัญญาและการสัมปทานนอกกฏหมายเกิดขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และสะท้อนถึงการฉกชิงผลประโยชน์ของสาธารณะในขณะที่ยังไม่มีองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ ผลท้ายสุดคณะกรรมการกิจการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์แห่งชาติ(กสช.)ที่จะเกิดขึ้นอาจต้องเข้ามาบริหารเพียง“ก้างปลา”ที่เหลืออยู่ ตัวอย่างเช่น การปรับสัดส่วนผังรายการของสถานีโทรทัศน์ช่องไอทีวีจากเดิมเนื้อหาร้อยละ 70และบันเทิงร้อยละ 30 มาเป็นเป็นร้อยละ 50 เท่ากัน โดยที่คู่สัญญาคือสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี(สปน.)ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ ไม่มีการทักท้วงใดๆเพื่อเป็นการปกป้องผลประโยชน์ของสาธารณะและประชาชน กระทั่งองค์กรที่ติดตามการปฏิรูปสื่อออกมาตั้งคำถามให้สังคมฉุกคิดว่า สปน.ได้รับคำสั่งตรงให้เอื้อประโยชน์ในการปรับผังรายการครั้งนี้โดยผ่านรองนายกรัฐมนตรีท่านหนึ่งหรือไม่ |
||
|
||
หรือกรณีการแปรรูปองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย(อสมท.) หรือสถานีโทรทัศน์ช่อง 9 จากการเป็นสื่อของรัฐไปเป็นองค์การมหาชน ซึ่งขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 40 ในเรื่องห้ามแปรรูปกิจการในขณะที่ยังไม่มีกสช. และการแปรรูปอสมท.ครั้งนี้เป็นการนำสื่อของรัฐเข้าไปสู่กลไกตลาดโดยเอกชนมีอำนาจเหนือรัฐและสาธารณะ ซึ่งจะมีผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพและประโยชน์ขั้นพื้นฐานของประชาชน ทั้งนี้การแปรรูปเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์เท่ากับเป็นการเปิดช่องให้มีการควบรวมกิจการแบบผูกขาดโดยกลุ่มทุนรายใหญ่ทั้งในและนอกประเทศ ท้ายสุดการดำเนินการของอสมท.ที่ผ่านมาเริ่มต้นจากเงินอุดหนุนของรัฐการแปรรูปจึงเท่ากับว่าเป็นการนำภาษีของประชาชนไปเป็นต้นทุนสร้างผลกำไรที่จะไม่กลับคืนสู่สังคม ซึ่งการนำอสมท.เข้าตลาดหลักทรัพย์จะไม่สามารถเรียกหุ้นคืนมาได้แม้ว่าจะมีกสช.ก็ตาม |
||
หรือในกรณีของสถานีโทรทัศน์ช่อง 11 ที่ขยายกิจการออกเป็นช่อง 11/1และ 11/2 ตามมติคณะรัฐมนตรีและการตีความเข้าข้างภาคธุรกิจโดยหน่วยงานภาครัฐเอง ว่าไม่ขัดต่อกฎหมายการจัดสรรคลื่นความถี่มาตรา 80 เนื่องจากไม่ได้จัดสรรคลื่นความถี่หรือออกใบอนุญาต เพียงแต่เปิดให้เอกชนมาร่วมผลิตรายการ ซึ่งจากรูปการณ์แล้วการแบ่งรายได้จากการโฆษณา(7/3นาที)ระหว่างช่อง11กับเอกชนก็คือการขยายกิจการเพิ่มเติม ซึ่งเข้าข่ายเป็นการกระทำผิดกฎหมายแน่นอน รายสุดท้ายที่มีปัญหาคือสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง5 ที่มีการผ่องถ่ายทรัพย์สินทั้งจากในส่วนของสถานีและกองทัพบกให้กับพวกพ้อง ซึ่งรวมถึงการทำสัญญาโอนสิทธิเวลาการออกอากาศของสถานีไปให้แก่บริษัทอาร์ทีเอผูกขาดนานถึง 30 ปี ส่งผลให้ททบ.5 ที่เคยมีกำไรปีละ 400 ล้านบาท ต้องขาดทุนปีละกว่า 100 ล้านบาท |
||
ประการสุดท้าย เมื่อรัฐและทุนกุมสื่อได้จึงเป็นผู้กำหนดวาระทางสังคม ซึ่งก่อให้เกิดข่าวสารบางอย่างที่มาจากรัฐและทุนโดยตรง เช่นกรณีไข้หวัดนกในช่วงแรกเมื่อเริ่มเกิดการแพร่เชื้อของไข้หวัดนก รัฐบาลก็แก้ไขปัญหาด้วยการจัดมหกรรมกินไก่เพื่อแสดงว่าไก่กินได้และปลอดภัย ทั้งที่ประเด็นหลักคือความปลอดภัยของกลุ่มบุคคลที่มีความเสี่ยงกับการติดเชื้อ เช่นเด็กที่ยังมีร่างกายอ่อนแอ หรือผู้เกี่ยวข้องเช่นพ่อค้าแม่ค้า แต่การกระทำดังกล่าวของรัฐกลับเป็นประโยชน์โดยตรงต่อเสถียรภาพของธุรกิจการส่งออกไก่ ที่มีรายได้ปีละ 4,000-5,000 ล้านบาทซึ่งเป็นของบริษัทเอกชนไม่ถึง 10 ราย หรือกรณีของการทำข้อตกลงเขตการค้าเสรี(FTA)ระหว่างไทยกับจีน ที่ดูเสมือนไทยเองได้รับประโยชน์ร่วม แต่เท็จจริงแล้วผลกระทบที่กำลังเกิดขึ้นกับเกษตรกรรายย่อยในประเทศไทยหลายแสนราย คือไม่สามารถแข่งขันในด้านราคากับสินค้าที่มาจากจีนได้ เนื่องจากสินค้าจำพวก เครื่องเทศและผลไม้ของจีนมีต้นทุนที่ต่ำกว่า และสิ่งที่ตามมาคือการระเบิดเกาะแก่งในลุ่มน้ำโขงเพื่อให้เรือบรรทุกขนาดใหญ่ของจีนล่องมาตามน้ำได้ ซึ่งผลกระทบเหล่านี้กลับไม่เป็นวาระทางสังคมผ่านสื่อมวลชนเพื่อให้ทุกฝ่ายรับรู้และเข้ามาร่วมแก้ไข |
||
หากถามว่าจากการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของสื่อ และการเข้าแทรกแซงควบคุมธุรกิจสื่อของรัฐและทุน วาระของสังคมที่มาจากประชาชนอยู่ตรงส่วนใดของประชาธิปไตย คงต้องตอบด้วยข้อสรุปของ นายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ สว.อุบลราชธานีว่า “ขณะนี้สิทธิเสรีภาพที่เป็นวาระของประชาชนถูกครอบงำและยึดกุมโดยระบบความเป็นเจ้าของของเผด็จการในธุรกิจสื่อสารการตลาด วาระของประชาชนจะไม่เกิดและจะถูกทำลายกระทั่งระบบคุณธรรม ศีลธรรมของสังคมไทยเอง”
|
||
สุเทพ วิไลเลิศ * อ้างอิงข้อมูลจากเวที “การสื่อสารวาระประชาชน : ทางเลือกทางรอด” การประชุมจากสลาตันสู่ดาวเหนือ 1 ต.ค. 2547 ณ โรงแรมรีเจนท์ชะอำ เพชรบุรี |
Be the first to comment on "เสรีภาพกับความเป็นเจ้าของสื่อ"