ระหว่างวันที่ 19-31 มีนาคม 2549 ดิฉันได้มีโอกาสเดินทางไปร่วมสัมมนาเรื่อง “Freedom of the Press and Freedom of Information” ณ เมือง Gumersbach ประเทศเยอรมนี โดยกาสนับสนุนจาก มูลนิธิ Friedrich Naumann ร่วมกับตัวแทนจาก 24 ประเทศในภูมิภาคต่างๆ โดยมีเป้าหมายสำคัญคือ การเรียนรู้ ประสบการณ์ร่วมกันในประเด็นความสำคัญของเสรีภาพ ของสื่อมวลชนและเสรีภาพของข่าวสาร
เสรีภาพสื่อ เสรีภาพของข่าวสาร |
โดย โสภิต หวังวิวัฒนา ผู้อำนวยการบริหาร สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย |
ระหว่างวันที่ 19-31 มีนาคม 2549 ดิฉันได้มีโอกาสเดินทางไปร่วมสัมมนาเรื่อง “Freedom of the Press and Freedom of Information” ณ เมือง Gumersbach ประเทศเยอรมนี โดยกาสนับสนุนจาก มูลนิธิ Friedrich Naumann ร่วมกับตัวแทนจาก 24 ประเทศในภูมิภาคต่างๆ โดยมีเป้าหมายสำคัญคือ การเรียนรู้ ประสบการณ์ร่วมกันในประเด็นความสำคัญของเสรีภาพ ของสื่อมวลชนและเสรีภาพของข่าวสาร
|
การสัมมนาน่าสนใจและเป็นประโยชน์มาก จึงได้เรียบเรียงเนื้อหาโดยสรุป มาเล่าสู่กันฟังค่ะตัวแทนจาก 24 ชาติ ในกลุ่มประเทศแถบเอเชีย ละตินอเมริกา และรัสเซีย ที่แตกต่างกันทั้ง เชื้อชาติ ศาสนา ภาษา และวัฒนธรรม มีโอกาสมารู้จัก แลกเปลี่ยน และใช้ชีวิตร่วมกันที่เมือง Gumersbach ประเทศเยอรมนี ในการสัมมนาเรื่อง เสรีภาพของข่าวสารและเสรีภาพของสื่อมวลชน ผู้เข้าร่วมเสวนาแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ คือ สื่อมวลชน ทั้งวิทยุ โทรทัศน์และหนังสือพิมพ์ กลุ่มที่2 คือ นักการเมือง และกลุ่มสุดท้าย เป็นคนทำงานองค์กรเอกชนที่เกี่ยวข้องกับงานส่งเสริมเสรีภาพ และด้านสิทธิมนุษยชน
โดยแบ่งตามกลุ่มที่ใช้ภาษาได้เป็น 3 กลุ่มเช่นกันคือ กลุ่มใช้ภาษาอังกฤษ ภาษารัสเซีย และละติน ซึ่งจะมีล่าม ละติน 2 คน และล่ามรัสเซีย 2 คน เพื่อสื่อสารกับกลุ่มที่ใช้ภาษาอังกฤษ (เป็นภาษากลาง) ประเด็นสำคัญที่สุดของการเรียนรู้ร่วมกันคือ ทำความเข้าใจ เกี่ยวกับคำว่า “ เสรีภาพ” โดยผ่านวิธีการ การแลกเปลี่ยนความเห็น การสัมมนากลุ่ม กับวิทยากรที่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาอย่างหลากหลาย นอกจากนี้ก็เป็นการ รู้จัก และเข้าใจ “ เยอรมัน” และ“ สื่อมวลชนในเยอรมัน” รวมทั้งรู้จักการใช้ประโยชน์ จาก “สื่อ” เพื่อนำเสนอข่าวสาร และเป็นช่องทางให้แสดงออก และนำเสนอความเห็นในประเด็นต่างๆ ด้วย จากการนำเสนอรายงานสรุปสถานการณ์เกี่ยวกับสื่อมวลชนของแต่ละประเทศ พบว่าประเด็นที่เป็นปัญหา ร่วมกันของทุกประเทศคือ สื่อมวลชน ยังไม่มีเสรีภาพอย่างแท้จริง และโครงสร้างระบอบการปกครอง มีผลอย่างมากต่อเสรีภาพ ในการทำงานของสื่อ โดยประเทศที่ปกครองแบบคอมมิวนิสต์หรือสังคมนิยม ซึ่งอำนาจทางการทหารและการเมือง เข้าครอบงำเช่น รัสเซีย มอนโดว่า ปากีสถาน บอสเนียเฮอเซโกวีนา และปาเลสไตน์ เป็นต้น สื่อทุกแขนงจะถูกควบคุมโดยรัฐบาล และถูกใช้เป็น เครื่องมือหรือกลไกในการประชาสัมพันธ์ผลงานของรัฐบาล หรือพรรคการเมือง โดยเฉพาะช่วงก่อนการเลือกตั้งมากกว่า การทำหน้าที่เพื่อประโยชน์ของส่วนรวม ขณะเดียวกัน สื่อมวลชนในประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย ก็ใช่ว่าจะมีเสรีภาพได้ดังหวังเช่นในอุดมคติ เนื่องจาก ยังมี ปัจจัยอื่นที่มีอิทธิพลส่งผลต่อการทำงานเช่นกัน นั่นคือ เงื่อนไขทางเศรษฐกิจ และอำนาจทุน รูปแบบการแทรกแซงและการกดดัน มีทั้งใช้อำนาจทางการเมือง อิทธิพล และอำนาจเงิน ทำให้สื่อเอกชนที่ต้องทำธุรกิจ มีรายได้จากการขายโฆษณาหรือยอดขายสิ่งพิมพ์ ต้องเลือก “ความอยู่รอด” มากกว่า “การทำหน้าที่เพื่อเสรีภาพ” ส่งผลให้เกิดภาวะ “การควบคุมตัวเอง” (self censorship) สูงมาก เช่น ประเทศไทย ฟิลิปปินส์ อาร์เจนดินา อียิปต์ อินเดีย เป็นต้น จนทำให้เส้นแบ่งระหว่างการโฆษณาชวนเชื่อ กับการทำหน้าทีสื่อมวลชนบางเต็มที จนบางครั้งแทบจะมองไม่เห็นหรือถูกลืมเลือนไป ในเมื่อสื่อกระแสหลักไม่อาจเป็นที่พึ่งและเป็นความหวังของคนได้อีก เทคโนโลยีและสื่อใหม่ๆ เช่น อินเตอร์เนต จึงกลายเป็นสื่อที่ผู้เข้าร่วมสัมมนามองเห็นว่าน่าจะเป็นทางออกที่ดีกว่าสำหรับการแสดงความเห็นและมีเสรีภาพในการแสดงความเห็น โดยมีตัวอย่างจากหลายประเทศ ที่ใช้อินเตอร์เนต เพื่อส่งและรับข่าวสารจากโลกภายนอกเมื่อสื่อภายในประเทศถูกปิดกั้น ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า “โทรทัศน์” เป็นสื่อที่มีอำนาจและมีอิทธิพลสูงมาก เมื่อยามส่งข้อมูลไปสู่คนดู นอกเหนือจาก การทำหน้าที่ให้ข่าวสารแล้ว ในอีกด้านหนึ่ง สื่อโทรทัศน์ก็กลายเป็น ผู้ร้ายทั้งตั้งใจและไม่ได้ตั้งใจ โดยเฉพาะการนำ เสนอข่าวความรุนแรง สงคราม ความโหดร้ายจากเหตุการณ์ต่างๆ จะสังเกตได้ว่าข่าวร้ายแบบนี้ มักถูกนำเสนอ เป็นเรื่องเด่นหรือขึ้น หน้าหนึ่งบ่อยๆ หลายครั้งสื่อก็กลายเป็นผู้ตอกย้ำความสูญเสียของเหยื่อความรุนแรง ดังกล่าวโดยการเสนอซ้ำครั้งแล้วครั้งเล่า การสัมมนาครั้งนี้ ได้มีช่วงอภิปรายและแลกเปลี่ยนมุมมองทั้งด้านบวกและลบของโทรทัศน์ เพื่อให้มีความเข้าใจธรรมชาติของสื่อชนิดนี้ อีกทั้งได้มีกิจกรรมฝึกปฏิบัติให้ผู้เข้าร่วมสัมมนา ได้ทดลองรายงานข้อมูลผ่านกล้องโทรทัศน์และฝึกการสัมภาษณ์ เพื่อให้เข้าใจวิธีการตั้งคำถาม การค้นหาข้อมูลและเข้าใจความสำคัญของการสื่อสาร ซึ่งเป็นหัวใจของการได้แสดงออกถึงสิทธิ และเสรีภาพของบุคคลได้มากขึ้นด้วย นอกจากนี้ คณะผู้จัด ได้นำผู้เข้าร่วมสัมมนาไปเยี่ยมชมและแลกเปลี่ยนความเห็นกับผู้บริหารสื่อแขนงต่างๆได้แก่ สถานีโทรทัศน์ Deutsche Welle ในกรุงบอนน์ สถานีโทรทัศน์ท้องถิ่น Mitteldeutscher Rundfunk : MDR กับ หนังสือพิมพ์ท้องถิ่น Magdeburger Volksstimmeในเมือง Magdeburg และ สถานีวิทยุโทรทัศน์ท้องถิ่นNDR ในเมือง Hannover พร้อมกับฟังการบรรยายเกี่ยวกับการควบคุมกันเองและสภาการหนังสือพิมพ์ของสื่อเยอรมัน (Deutscher Presserat) โดย Ms.Corinna BLUMEL, chairpersons of the German Association of Journalists ประจำสำนักงานในเมือง Cologne เนื้อหาสำคัญเป็นการรู้จักสภาพโดยรวมของสื่อมวลชน และองค์กรวิชาชีพที่กำกับดูแลสื่อในเยอรมัน เนื่องจากระบอบการปกครองของเยอรมนี เป็นสหพันสาธารณรัฐประกอบด้วย 16 รัฐ แต่ละรัฐจะมีรัฐบาล รัฐสภาและรัฐธรรมนูญของตนเอง ดังนั้นจึงมีความเป็นอิสระและเป็นตัวของตัวเองค่อนข้างมาก สื่อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ วิทยุและโทรทัศน์ จึงมีการกระจายแพร่หลายอยู่ทุกรัฐ และสื่อระดับท้องถิ่นก็ได้รับความนิยมกว้างขวาง สื่อมวลชน มีทั้งที่เป็นของรัฐ และเอกชน ข้อสังเกตสำคัญคือ แม้ว่าจะเป็นสื่อของรัฐ แต่ก็มิได้หมายความว่า รัฐบาลจะสามารถเข้ามาแทรกแซง ควบคุมหรือสั่งการเพื่อให้เป็นประโยชน์แก่พวก พ้องตนได้อย่างประเทศ เสรีนิยมอีกหลายๆ ประเทศ เพราะคน เยอรมันมีจิตสำนึกเรื่องอุดมการณ์วิชาชีพสื่อค่อนข้างสูงและเข้มข้นอีกทั้งเชื่อมั่นในเรื่องเสรีภาพในการทำ หน้าที่สื่อเพื่อประโยชน์สาธารณะ เชื่อมั่นกับระบอบประชาธิปไตย ดังนั้นหากมีความพยายามจะแทรกแซง กองบรรณาธิการก็จะเป็นด่านหน้าในการรับมือกับสถานการณ์ สำหรับการควบคุมโดยรัฐนั้น จะเป็นในรูปแบบของการตรวจสอบการทำงานว่ามีประสิทธิภาพเพียงใด มากกว่าการสั่งการหรือชี้นำเนื้อหา (Ms. Marlis FERTMANN ,CEO Television ,Deputy Director General of NDR T.V.station 28/03/06) Ms. Marlis ยังตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับมุมมองเรื่องข่าวของคนเยอรมันว่าให้ความสำคัญกับประเด็นที่เป็นประโยชน์สาธารณะมากกว่าเรื่องส่วนตัว พร้อมกับยกตัวอย่างว่า นักข่าวจะไม่เลือกเสนอว่านักการเมืองคนใดคนหนึ่งเป็นเกย์ เพราะเป็นเรื่องรสนิยมส่วนตัว และคนทั่วไปก็รู้กันอยู่แล้ว แต่ถ้าจะเลือกเสนอเรื่องของนักการเมืองคนนั้นหากมีประเด็นเกี่ยวพันกับคอรัปชั่น เป็นต้น แต่ใช่ว่าสื่อในเยอรมันจะไม่มีปัญหา เนื่องจากเทคโนโลยีใหม่เช่น อินเตอร์เนต ได้แพร่หลายอย่างรวดเร็ว ทำให้คนรุ่นใหม่ อ่านหนังสือพิมพ์น้อยลงหันไปรับสื่อไอทีและสื่อกระจายเสียงเช่นวิทยุโทรทัศน์มากขึ้น นอกจากนี้ หนังสือพิมพ์ขนาดเล็กในท้องถิ่นก็มีจุดอ่อนเพราะมีจำนวนคนอ่านเฉพาะกลุ่มในพื้นที่ไม่มากนัก บางเมืองมีหนังสือพิมพ์เพียงฉบับเดียว คนอ่านจึงไม่มีตัวเลือกอื่นมาเปรียบเทียบ ไม่มีการแข่งขัน จึงไม่รู้ความแตกต่าง จึงเป็นความท้าทายของสื่อสิ่งพิมพ์ที่ต้องปรับตัวขนานใหญ่ เช่นเดียวกับสื่อวิทยุโทรทัศน์ ระบบในเยอรมันจะเก็บค่าธรรมเนียมจากจำนวนเครื่องที่คนเยอรมันเป็นเจ้าของ ไม่ว่าจะใช้งานหรือไม่ก็ตาม ใครมีมากก็ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมมาก (Ms.Corinna BLUMEL, chairpersons of the German Association of Journalists, Cologne Section ,22/03/06) นอกจากนี้ สื่อวิทยุโทรทัศน์ในเยอรมัน จะเน้นเนื้อหาส่วนใหญ่เพื่อคนในท้องถิ่นนั้นๆ ที่สื่อตั้งอยู่ จึงมีความใกล้ชิดกับผู้ชม ผู้ฟัง และสำหรับสื่อโทรทัศน์ที่เป็นสื่อของรัฐซึ่งเป็นสื่อเพื่อบริการสาธารณะแล้วจะมีเป้าหมายสำคัญคือ การให้ข้อมูลข่าวสารและให้การศึกษา ดังนั้น จึงไม่ค่อยให้น้ำหนักกับรายการในเชิงบันเทิง มากเหมือนกับสื่อเอกชน นี่เองจึงอาจกลายเป็นจุดอ่อนสำหรับสถานีโทรทัศน์ของรัฐที่รายการต่างๆ ไม่หวือหวาหรือมีสีสันอย่างรายการบันเทิงอื่นๆโดยทั่วไป คณะผู้เข้าสัมมนา ยังได้มีโอกาสร่วมสังเกตการณ์ การเลือกตั้งระดับรัฐ ที่ Saxony-Anhalt ซึ่งเป็นหนึ่งใน3 รัฐที่มีการเลือกตั้งในวันอาทิตย์ที่ 26 มี.ค. 49 ได้ร่วมลุ้นคะแนนการเลือกตั้ง และแม้ว่าพรรค FDP ซึ่งเป็นกลุ่มเสรีนิยมจะไม่ได้รับชัยชนะ แต่ก็ได้รับคะแนนสนับสนุนจากชาวเยอรมันมากขึ้นกว่าเดิม สถานที่อีกแห่งหนึ่งที่เราไปเยือนและยิ่งตอกย้ำให้เห็นว่าอิสรภาพและเสรีภาพของมนุษย์สำคัญเหนือสิ่งอื่นใด คือการไปเยือนพิพิธภัณฑ์ที่เมือง Helmstedt เพื่อเรียนรู้ประวัติศาสตร์ก่อนการรวมชาติเยอรมันตะวันตก กับตะวันออกเป็นประเทศเดียวกัน กำแพงรั้วลวดหนามที่ติดระบบไฟสัญญาณเตือนเมื่อมีสิ่งมีชีวิตกระทบ และหอคอยสูงตระหง่านที่มีทหารยืนยามเฝ้าตลอด 24 ชั่วโมงได้กีดกันให้คนเยอรมันแบ่งออกเป็นสองฝ่าย พ่อแม่พี่น้อง ครอบครัวต้องแยกจากกันโดยไม่เต็มใจ ไม่ว่าอากาศจะหนาวเหน็บสักเพียงใด ทหารเหล่านั้นก็พร้อมจะฆ่าทุกคนที่พยายามหลบหนีข้ามเขตแดนจาก ฝั่งตะวันออกซึ่งปกครองแบบสังคมนิยม มายังฝั่งตะวันตกที่เป็นเสรีนิยม ไม่นับรวมทหารที่ขี่มอเตอร์ไซค์ ลาดตระเวนตลอดแนวชายแดนรวมไปถึงสุนัขลาดตระเวนที่แสนดุร้าย ในภายหลัง ทหารเยอรมันตะวันออกก็ได้พัฒนาเครื่องมืออินฟาเรด เพื่อดักจับคลื่นความร้อนจากตัวคนที่ลักลอบเข้ามา ในรถยนต์ และสร้างมาตรการที่รัดกุมมากขึ้น เช่น โยกย้ายทหารประจำการในจุดต่างๆ บ่อยครั้ง และสลับกลุ่มกันมิให้เกิดความสนิทสนมอันอาจนำไปสู่การคบคิดกันหนี หรือห้ามทหารขี่มอเตอร์ไซค์ ลาดตระเวนคนเดียว ต้องมีทหารไปด้วยกัน 2 คน ทำให้การหลบหนีเป็นไปได้ยากขึ้น แต่สิ่งเหล่านี้ ไม่ได้ทำให้ชาวเยอรมันตะวันออก ยี่หระหรือหวาดหวั่น ยังคงลักลอบหลบหนีข้ามแดนมาเป็นระยะๆด้วยวิธีการสารพัดรูปแบบ ทั้งเดินข้ามแดนผ่านรั้วลวดหนาม ไปจนกระทั่งหลบซ่อนมาในท้ายรถยนต์ข้ามด่านตรวจคนเข้าเมือง ซึ่งแม้จะรู้ว่าเสี่ยงตาย หรืออาจไม่มีชีวิตรอดกลับไปแต่ทุกคนก็พร้อมยอมเสี่ยง เพียงแค่เพื่อความหวังว่าจะมีชีวิตที่ดีขึ้น เพื่ออิสรภาพที่รออยู่ข้างหน้า แต่ปรากฏว่ายอดตัวเลขของผู้เสียชีวิตกลับทวีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จาก สิบเป็นร้อย เป็นพัน และมีอีกนับไม่ถ้วนที่ไม่ปรากฏข้อมูล อย่างเป็นทางการ จวบจนกระทั่งกำแพงเบอร์ลินถูกทำลายและการรวมชาติเป็นผลสำเร็จ ภาพของคนหนุ่มสาวที่ถูกจับได้ ถูกถ่ายรูปเป็นหลักฐานและติดไว้บนบอร์ด พร้อมตัวอย่างรถยนต์ที่ยึดได้เป็นเครื่องเตือนความจำ เป็นหลักฐานที่แสดงถึงความโหดร้ายที่เกิดขึ้นในอดีต แนวรั้วลวดหนามกับป้อมปราการเหล่านี้ จึงกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเพื่อให้คนรุ่นหลังได้มาเรียนรู้ประวัติศาสตร์ต่อไป และนี่อาจเป็นเหตุผลสำคัญ อีกประการหนึ่งที่ทำให้คนเยอรมันรักหวงแหนอุดมการณ์ความเป็นประชาธิปไตย และยึดมั่นในอิสระ เสรีภาพของตนมากที่สุด เพราะกว่าจะได้มาต้องแลกด้วยเลือดเนื้อ ชีวิตและคราบน้ำตาของบรรพบุรุษ ของตนจำนวนนับไม่ถ้วน ที่มา : http://www.thaibja.org |
Be the first to comment on "เสรีภาพสื่อ เสรีภาพของข่าวสาร"