เจตนารมณ์สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา (LDI)

“สนับสนุนการปฏิรูปการปกครองและกระจายอำนาจ”

 

        สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา (LDI) มีภารกิจโดยตรงในการส่งเสริมและสนับสนุนชุมชนท้องถิ่นและภาคประชาสังคมให้มีความเข้มแข็ง สามารถจัดการตนเองได้และมีบทบาทในการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงประเทศไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

 

ในกระแสการปฏิรูปประเทศที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ สถาบันให้ความสำคัญต่อการปฏิรูปใน ๑๑ ระเบียบวาระสำคัญ ตามลำดับความสำคัญเร่งด่วน ได้แก่ ๑) ปฏิรูปการปกครองและกระจายอำนาจ ๒) ปฏิรูประบบตรวจสอบ ขจัดทุจริต ๓) ปฏิรูประบบตำรวจและกระบวนการยุติธรรม ๔) ปฏิรูปการเมือง ๕) ปฏิรูประบบราชการ ๖) ปฏิรูปสังคม ลดความเหลื่อมล้ำ ๗) ปฏิรูปการจัดการทรัพยากรที่ดิน ๘) ปฏิรูปการเกษตรกรรม ๙) ปฏิรูปการศึกษา ๑๐) ปฏิรูปนโยบายพลังงาน ๑๑) ปฏิรูประบบเศรษฐกิจ ป้องกันทุนผูกขาด

สำหรับการปฏิรูปการปกครองและกระจายอำนาจนั้น สถาบันมีเจตนารมณ์ที่มั่นคงในการสนับสนุนและเข้าร่วมขับเคลื่อนผลักดันในทุกวิถีทาง ใน ๖ ประการ ดังนี้

๑. ส่งเสริมและสนับสนุนพื้นที่ที่มีความพร้อมให้เป็นจังหวัดปกครองตนเอง

ในเรื่องนี้ คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) ซึ่งเป็นกลไกอิสระที่เกิดตามรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ ได้ออกแบบยกร่าง พ.ร.บ.การบริหารจังหวัดปกครองตนเอง พ.ศ….ขึ้น ทั้งนี้มุ่งหวังที่จะให้เป็นกฎหมายแม่บทสำหรับจังหวัดใดที่ประชาชนและชุมชนท้องถิ่นมีความพร้อม ให้สามารถจัดตั้งยกระดับตนเองขึ้นเป็นท้องถิ่นพิเศษขนาดใหญ่ได้ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนาจะขอร่วมผลักดันให้รัฐบาลและรัฐสภาในยุคปฏิรูปถือเป็นเรื่องสำคัญและร่วมมือกันออกกฎหมายฉบับนี้ให้สำเร็จภายใน ๒ ปี และอยากเห็นจังหวัดปกครองตนเองแห่งแรกเกิดขึ้นจริงภายใน ๕ ปี

 

๒. สร้างความเป็นธรรมในระบบงบประมาณเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม

 

 

จักสนับสนุนให้เป็นไปตามมติของคณะกรรมการปฏิรูป (คปร.) ที่เสนอให้มีระบบงบประมาณเชิงพื้นที่เพื่อแก้ความเหลื่อมล้ำ โดยการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.การงบประมาณ พ.ศ….. เพื่อจัดให้มีระบบการจัดสรรงบประมาณแบบ area-based เพิ่มเข้ามาจากเดิมที่มีแต่การจัดงบประมาณที่เอากรม (ส่วนกลาง) เป็นตัวตั้ง

 

๓. ยืนยันหลักการสัดส่วนงบประมาณส่วนใหญ่ต้องบริหารจัดการที่ระดับท้องถิ่น

 

จักผลักดันให้รัฐบาลและรัฐสภาในยุคปฏิรูป แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจ พ.ศ.๒๕๔๒/๒๕๔๙ เพื่อยืนยันในหลักการการจัดงบประมาณเพิ่มให้กับองค์กรปกครองท้องถิ่นอย่างมีเป้าหมายและมีขั้นตอน โดยเสนอให้เพิ่มเป็นสัดส่วนร้อยละ ๔๐ ภายใน ๕ ปี และร้อยละ ๗๐ ภายใน ๑๐ ปี

 

๔. ทบทวนและปรับเปลี่ยนบทบาทส่วนภูมิภาคทั้งระบบ

จักผลักดันให้ยุบเลิกราชการส่วนภูมิภาคและปรับบทบาทหน่วยราชการระดับจังหวัดให้เหลือภารกิจสามรูปแบบ คือ ๑) เป็นสำนักงานประสานนโยบายหรือสำนักงานบริหารทางวิชาการเพื่อสนับสนุนงานส่วนกลางหรือท้องถิ่น เช่น ศูนย์วิจัยข้าว ประมง ๒) เป็นสำนักงานสาขาของราชการส่วนกลาง เฉพาะในภารกิจที่รัฐบาลเป็นผู้ดำเนินการเอง เช่น การจัดเก็บภาษีรายได้และภาษีมูลค่าเพิ่ม การจัดทำหนังสือเดินทาง ๓) เป็นสำนักงานตรวจสอบและเสนอแนะการบริหารจัดการท้องถิ่น

๕. พัฒนาศักยภาพองค์กรปกครองท้องถิ่นขนาดเล็ก

จักผลักดันให้ ในอนาคตการปกครองท้องถิ่นแบ่งแค่สองระดับเท่านั้น คือ อบจ.เป็นองค์กรบริหารท้องถิ่นในระดับจังหวัด และเทศบาลเป็นองค์กรบริหารท้องถิ่นในระดับที่ต่ำกว่าจังหวัด สำหรับ อบต.ที่มีอยู่ควรยกระดับเป็นเทศบาลทั้งหมด นอกจากนั้น ต้องพัฒนารูปแบบการควบรวม อบต.และเทศบาลขนาดเล็กที่มีพื้นที่ติดต่อกันให้เป็นเทศบาลขนาดที่ใหญ่ขึ้นอย่างเหมาะสม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการพึ่งตนเองในด้านรายได้และงบประมาณดำเนินงาน

๖. จัดตั้งสภาประชาชนปฏิรูปจังหวัด

เพื่อสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาพื้นที่และพัฒนาชุมชนท้องถิ่น รวมทั้งเป็นช่องทางในการใช้ประชาธิปไตยทางตรงของพลเมือง สถาบันจักผลักดันให้มีสภาประชาชนเพื่อการปฏิรูปและดำเนินงานพัฒนาในพื้นที่ระดับจังหวัด อันจะเป็นกลไกหนุนเสริมกระบวนการในระยะยาว

๒๑ มีนาคม ๒๕๕๗

Be the first to comment on "แ"

Leave a comment

Your email address will not be published.