MENU

แนวทางการวิจัยอย่างง่ายๆ สำหรับนักวิจัยไทบ้าน

…โฉมหน้าที่แท้จริงของงานวิจัยไทบ้านก็คือ “อาวุธทางปัญญา” อีกรูปแบบหนึ่งของชาวบ้านและชุมชนท้องถิ่นที่สามารถนำมาใช้เสริมเขี้ยวเล็บทางข้อมูล ค้นหาแนวทางแก้ปัญหา หรือใช้ต่อรองอำนาจและต่อสู้ทางการเมืองในเวทีสาธารณะต่างๆ ได้อย่างมั่นคงและมีศักดิ์ศรี …

พัฒนา กิติอาษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี

 
 


มิติทางวิชาการและการเมืองของการเปลี่ยนแปลงบทบาทจาก “ผู้ถูกกระทำ” มาเป็น
ผู้กระทำ”ในกระบวนการวิจัยของชาวบ้าน

 

โฉมหน้าที่แท้จริงของงานวิจัยไทบ้านก็คือ “อาวุธทางปัญญา” อีกรูปแบบหนึ่งของชาวบ้านและชุมชนท้องถิ่นที่สามารถนำมาใช้เสริมเขี้ยวเล็บทางข้อมูล ค้นหาแนวทางแก้ปัญหา หรือใช้ต่อรองอำนาจและต่อสู้ทางการเมืองในเวทีสาธารณะต่างๆ ได้อย่างมั่นคงและมีศักดิ์ศรี …
ผู้มีอำนาจตัดสินใจนโยบายสาธารณะ มีความสำคัญอย่างมากในการกำหนดความชอบธรรมของสิ่งที่เรียกว่า “ความรู้” หรือ
ความจริง” เกณฑ์การตัดสินสูงสุดว่าอะไรจริงหรือไม่จริง อะไรถูกหรืออะไรผิด นโยบายสาธารณะควรจะเดินไปในทิศทางใด มักจะเป็นเรื่องของอำนาจมากกว่าอย่างอื่น นักวิจัยต้องตระหนักเสมอว่า อำนาจต่างหากที่มีพลังสูงสุดในการกำหนดว่าอะไรควรจะถูกปิดป้ายว่าเป็นความรู้ความจริง…

 


แนวทางการวิจัยอย่างง่ายๆ สำหรับนักวิจัยไทบ้าน

ประสาวิจัย ไผกะเฮ็ดได้”
พัฒนา กิติอาษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี

ผมเข้ามาเป็นสมาชิกชุมชนวิชาการในแวดวงมหาวิทยาลัยบ้านเราได้ไม่นาน แต่ความเปลี่ยนแปลงอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นกับแวดวงการวิจัยด้านสังคมศาสตร์ที่ผมรู้สึกได้ก็คือ ในทศวรรษที่ 2540 นี้ มีกระแสสังคมโดยเฉพาะนักวิจารณ์สังคม นักวิชาการบางกลุ่ม นักพัฒนาสังกัดองค์กรพัฒนาเอกชน สื่อมวลชน รวมทั้งชาวบ้านกลุ่มต่างๆ ได้เรียกร้องให้มีการตรวจสอบงานวิจัย บทบาทของนักวิจัย และความไม่ชอบมาพากลระหว่างตัวนักวิจัยกับแหล่งทุนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

พูดง่ายๆ ก็คือ สังคมเริ่มสงสัยมากขึ้นว่า ทำไมนักวิชาการทำงานวิจัยออกมาทีไร ผลที่ได้มักจะเข้าข้างแหล่งทุนและหน่วยงานของรัฐแทบทุกครั้ง ชาวบ้านร้านตลาดทั้งหลายตกเป็นฝ่ายถูกกระทำและถูกเอารัดเอาเปรียบเสมอ

ความจริง เสียงเรียกร้องให้มีการตรวจสอบมิติทางการเมืองในการผลิตองค์ความรู้ทางวิชาการผ่านกิจกรรม [หรือบางคนอาจเรียกมันว่า “วิสาหกิจ” ก็ได้] ที่เรียกว่า “การวิจัย” นั้น ไม่ใช่ของใหม่แต่อย่างใด เสียงเรียกร้องเหล่านี้มีมานานหลายปีแล้ว แต่สิ่งที่ผมคิดว่าเป็นมิติใหม่ที่มาพร้อมกับเสียงเรียกร้องดังกล่าวก็คือ การผลักดันของแหล่งทุนบางหน่วยงาน โดยความร่วมมือของนักวิชาการบางกลุ่มและนักพัฒนาเอกชนบางหน่วยงานให้เกิดการเปลี่ยนแปลงบทบาทของชาวบ้านร้านตลาดทั่วไป จากเดิมที่เคยเป็นเพียงผู้ให้ข้อมูลหรือผู้ถูกวิจัยให้กลายมาเป็นนักวิจัยเสียเอง ผมคิดว่ามิติการเปลี่ยนแปลงลักษณะนี้เป็นเรื่องค่อนข้างใหม่และมีนัยสำคัญต่อวงวิชาการของบ้านเราเป็นอย่างยิ่ง

ในบทความนี้ ผมจะไม่พูดถึงมิติทางวิชาการและการเมืองของการเปลี่ยนแปลงบทบาทจาก “ผู้ถูกกระทำ” มาเป็น “ผู้กระทำ” ในกระบวนการวิจัยของชาวบ้านหรือคนธรรมดาสามัญทั่วไป แต่ผมจะทดลองนำเสนอ “แนวทางการวิจัยอย่างง่ายๆ สำหรับนักวิจัยไทบ้าน” ผมเชื่อว่า การผลักดันหรือฝึกหัดให้ชาวบ้านเป็นนักวิจัยมีความเป็นไปได้ แต่งานวิจัยของไทบ้านนั้นต้องไม่ใชงานวิจัยตามจารีตของนักวิชาการอย่างเต็มรูปแบบ เพราะชาวบ้านไม่ใช่นักวิชาการ ชาวบ้านไม่สามารถทำงานแทนนักวิชาการได้ แต่ชาวบ้านสามารถทำงานวิจัยที่ให้มุมมอง ข้อค้นพบ และข้อสรุปที่สามารถนำมาเทียบเคียงกับงานทางวิชาการได้อย่างแน่นอน ผมคิดว่า ชาวบ้านควรจะต้องเริ่มทำงานวิจัยในรูปแบบที่เหมาะสมและสอดคล้องกับเงื่อนไข ปัญหา และความต้องการของตนเอง ชาวบ้านควรจะต้องเรียนรู้และฝึกหัดเป็นนักวิจัยในแบบที่ผมเรียกในที่นี้ว่านักวิจัยไทบ้าน”

แนวทางการวิจัยสำหรับนักวิจัยไทบ้านอย่างหนึ่งที่ผมนำเสนอในบทความนี้ น่าจะเป็นการพบกันครึ่งทางระหว่างระเบียบวิธีวิจัยที่เคร่งครัดของนักวิชาการกับวิธีการเล่าเรื่องแบบต่างๆ” ที่มีอยู่ในแบบแผนชีวิตประจำวันและวัฒนธรรมของชาวบ้าน ใช้จุดแข็งของรูปแบบการเก็บข้อมูล คิดวิเคราะห์ และนำเสนอข้อมูลที่มีอยู่ในวัฒนธรรมพื้นบ้านเป็นหลักสำคัญ เพียงแต่ว่านักวิจัยไทบ้านอาจจะต้องปรับจากรูปแบบการเล่าเรื่องแบบมุขปาฐะให้เป็นการเล่าเรื่องผ่านงานเขียนอย่างเป็นระบบ มีขั้นตอน และให้ภาพที่น่าเชื่อถือและชัดเจนยิ่งขึ้น ทั้งนี้เพราะนักวิจัยไทบ้านไม่ได้ผลิตงานวิจัยของตนสำหรับผู้อ่านที่เป็นชาวบ้านด้วยกันเองเป็นหลัก แต่ผลิตงานวิจัยเพื่อผู้อ่านที่เป็นคนมีการศึกษาและอำนาจนอกชุมชนของตน

โฉมหน้าที่แท้จริงของงานวิจัยไทบ้านก็คือ “อาวุธทางปัญญา” อีกรูปแบบหนึ่งของชาวบ้านและชุมชนท้องถิ่นที่สามารถนำมาใช้เสริมเขี้ยวเล็บทางข้อมูล ค้นหาแนวทางแก้ปัญหา หรือใช้ต่อรองอำนาจและต่อสู้ทางการเมืองในเวทีสาธารณะต่างๆ ได้อย่างมั่นคงและมีศักดิ์ศรี

แนวทางการวิจัยง่ายๆ สำหรับนักวิจัยไทบ้านประกอบด้วยองค์ประกอบต่างๆ ต่อไปนี้
(1) หลักคิด
(2) วิธีคิด
(3) ขั้นตอนและวิธีการ และ
(4) ข้อเสนอแนะที่สำคัญ
ผมจะกล่าวถึงรายละเอียดขององค์ประกอบต่างๆ ดังต่อไปนี้

1. หลักคิดสำหรับนักวิจัยไทบ้าน ผมคิดว่าหลักคิดต่อไปนี้น่าจะมีความสำคัญอย่างมากสำหรับนักวิจัยทุกคน ไม่ว่าจะเป็นนักวิจัยไทบ้านหรือนักวิจัยไทเมือง หลักคิดทำหน้าที่เป็นกรอบแนวคิดในระดับปรัชญาที่ช่วยให้นักวิจัยได้มองเห็นและเข้าใจว่า สถานภาพในระดับนามธรรมของงานวิจัยที่แต่ละคนทำอยู่นั้นมีความหมายว่าอย่างไรบ้าง นักวิจัยไทบ้านควรจะตระหนักว่า

1.1 งานวิจัยคือการค้นหาความจริง นักวิจัยไทบ้านกำลังลงมือค้นหาความจริงทางสังคม โดยการรวบรวมข้อเท็จจริงหรือข้อมูลในรูปแบบต่างๆ เพื่อนำมาใช้ในการวิเคราะห์และสังเคราะห์เพื่อหาคำตอบต่อประเด็นปัญหาต่างๆ ที่เราอยากรู้อยากเห็น ในแง่นี้ งานวิจัยจะแตกต่างจากงานเขียนหรือวรรณกรรมประเภทอื่นอย่างมาก เราต้องการใช้ข้อเท็จจริงหรือข้อมูลที่เป็นความจริงเป็นฐานสำหรับการคิดวิเคราะห์หรือตีความเพื่อหาคำตอบ อันเป็นที่มาของความรู้ที่เป็นระบบและได้รับการพิสูจน์ยืนยันแล้ว

1.2 งานวิจัยวางอยู่บนฐานคิดที่ว่าความรู้คืออำนาจ ใครมีข้อมูลหรือความรู้อยู่ในมือก็มีค่าเท่ากับว่ามีอำนาจอยู่ในกำมือด้วย เพราะความรู้เป็นที่มาของทุกสิ่งทุกอย่างในสังคมโลกสมัยใหม่ ความรู้สำคัญกว่าทรัพยากรธรรมชาติ ความรู้สำคัญกว่าวัตถุอื่นใด ความรู้เป็นฐานของความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนาที่เข้มแข็งและยั่งยืนทั้งปวง หนทางหลักในการพัฒนาหรือสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ ขึ้นมาแข่งขันกันก็คือ กิจกรรมทางปัญญาที่เรียกว่า “การวิจัย”

1.3 งานวิจัยปฏิเสธไม่ได้ว่าอำนาจคือความรู้ ในทิศทางที่ตรงกันข้ามกับข้อ 1.2 อำนาจจากแหล่งต่างๆ โดยเฉพาะอำนาจของแหล่งทุน ผู้มีอำนาจตัดสินใจนโยบายสาธารณะ ฯลฯ มีความสำคัญอย่างมากในการกำหนดความชอบธรรมของสิ่งที่เรียกว่า “ความรู้” หรือความจริง” เกณฑ์การตัดสินสูงสุดว่าอะไรจริงหรือไม่จริง อะไรถูกหรืออะไรผิด นโยบายสาธารณะควรจะเดินไปในทิศทางใด มักจะเป็นเรื่องของอำนาจมากกว่าอย่างอื่น นักวิจัยต้องตระหนักเสมอว่า อำนาจต่างหากที่มีพลังสูงสุดในการกำหนดว่าอะไรควรจะถูกปิดป้ายว่าเป็นความรู้ความจริง หรือเป็นสิ่งอื่น

1.4 การนำเสนอความจริงจากมุมมองหรือจุดยืนเฉพาะของนักวิจัย แม้เราจะยอมรับว่า การวิจัยคือการค้นหาความจริงหรือความรู้ แต่เราต้องยอมรับด้วยว่า ความจริงหรือความรู้ดังกล่าวนั้น ไม่ใช้ความจริงในระดับความจริงแท้หรือสัจธรรม การวิจัยให้เราได้เฉพาะความจริงหรือความรู้ชุดหนึ่งที่เป็นจริงเฉพาะภายใต้เงื่อนไข บริบท และมุมมองของตัวผู้วิจัยเป็นสำคัญ ดังนั้น การที่เราจะเชื่อหรือไม่เชื่อ ยอมรับหรือไม่ยอมรับงานวิจัยแต่ละชิ้น เราจำเป็นต้องตรวจสอบที่มาที่ไป กระบวนการและวิธีการผลิตความรู้หรือความจริงแต่ละชุดให้รอบคอบและรัดกุม

1.5 งานวิจัยเป็นกิจกรรมทางปัญญาพื้นฐานของมนุษย์ ผมเชื่ออย่างหนักแน่นว่า มนุษย์ทุกคนไม่ว่าจะเป็นชาวบ้านธรรมดาสามัญ นักวิชาการ หรือนักวิทยาศาสตร์ต่างก็มีกิจกรรมทางปัญญาที่เป็นรากฐานของการวิจัยได้ทั้งสิ้น กิจกรรมทางปัญญาในที่นี้คือ การลงมือหาคำตอบด้วยวิธีการต่างๆ ต่อคำถามหรือประเด็นปัญหาที่แต่ละคนอยากรู้ อยากเห็น หรือต้องการแสวงหาแนวทางในการแก้ไข ถ้าพิจารณาอย่างใกล้ชิดแล้ว การวิจัยเป็นเพียงกิจกรรมทางปัญญาชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันและเป็นกิจกรรมทางปัญญาที่แต่ละคนคุ้นเคย ขอเพียงให้เราตระหนักว่า ถ้าเราต้องการจะทำวิจัยให้เต็มรูปแบบ โปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้ด้วยหลักเกณฑ์ของศาสตร์แขนงต่างๆ เราจำเป็นต้องได้รับการฝึกอบรมเพิ่มเติมและต้องทำวิจัยอย่างมืออาชีพ

ถึงกระนั้นก็ตาม เมื่อย้อนกลับไปพิจารณาต้นกำเนิดของวิธีการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่แท้จริงแล้ว ผมคิดว่า กิจกรรมทางปัญญาชนิดนี้ไม่ได้แปลกแยกไปจากชีวิตของมนุษย์ทุกคนแต่อย่างใด มันมีอยู่แล้วในชีวิตประจำวัน ถ้าเราสนใจจะเรียนรู้เพื่อเป็นนักวิจัย เราควรจะเริ่มต้นจากทักษะพื้นฐานเหล่านั้น ผมจึงกล้าพูดได้ว่า ขอเพียงให้เราเอาจริงเอาจังและพร้อมที่จะเรียนรู้กิจกรรมทางปัญญาชนิดนี้อย่างเป็นระบบ ฝึกฝน ทุ่มเท และสั่งสมประสบการณ์ให้มากพอ สักวันหนึ่งเราก็สามารถพูดได้อย่างเต็มปากว่า “โอ๊ยประสาวิจัย ไผเฮ็ดกะได้

2. วิธีคิดสำหรับนักวิจัยไทบ้าน ผมจะนำเสนอวิธีคิดบางประการที่อาจจะช่วยจัดระบบความคิดของนักวิจัยไทบ้าน วิธีคิดเหล่านี้อาจมีส่วนช่วยในการยกระดับกิจกรรมทางปัญญาในชีวิตประจำวันให้เป็นงานวิจัยชุมชนที่เป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น

2.1 นักวิจัยไทบ้านต้องคิดพิจารณาความสัมพันธ์เชิงภาพรวมให้ได้ เราต้องมองภาพใหญ่ให้ออก ตีประเด็นให้ได้ว่า ภาพเต็มที่สุดของระบบหรือประเด็นปัญหาที่เราหยิบยกขึ้นมาศึกษาวิจัยนั้นเกี่ยวข้องกับอะไรบ้าง นักวิจัยจำนวนมากมักจะยึดติดกับปัญหาหรือประเด็นย่อยเฉพาะของตนมากจนเกินไป เราต้องมองความสัมพันธ์ในระดับกว้างให้ออก เพราะภาพเล็กๆ ที่เราต้องการคำตอบนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นหรือดำรงอยู่ด้วยตัวของมันเอง

2.2 นักวิจัยไทบ้านต้องคิดพิจารณาให้เห็นความสัมพันธ์เชิงระบบ ต้องมองให้ออกว่าระบบภายในชุมชน ระบบนิเวศน์ ระบบหมู่บ้าน ระบบท้องถิ่น ระบบภูมิภาค ระบบประเทศ และระบบโลกเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันอย่างไร ความคิดเชิงระบบช่วยให้เราเข้าใจกระบวนการทำงานอย่างประสานสอดคล้อง รวมทั้งมองเห็นเข้าใจความโยงใยหรือที่มาที่ไปของแต่ละปัญหาอย่างชัดเจน

2.3 นักวิจัยไทบ้านต้องคิดพิจารณาความสัมพันธ์เชิงประวัติศาสตร์ อดีตเป็นที่มาของปัจจุบัน อดีตกำหนดปัจจุบันและชี้ทางสำหรับอนาคต ทุกประเด็นปัญหาจะต้องมีการลำดับเหตุการณ์ก่อนหลัง จุดเริ่มต้น พัฒนาการ และสภาพปัจจุบัน ถ้านักวิจัยเริ่มคิดพิจารณาไล่เลียงการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ตามลำดับเวลา รวมทั้งมองเห็นการคลี่คลายของสถานการณ์ต่างๆ ตามลำดับเวลา นักวิจัยก็จะสามารถเข้าใจสถานการณ์หรือปรากฏการณ์ต่างๆ ที่ตัวเองศึกษาอย่างลุ่มลึกและชัดเจน

3. ขั้นตอนและวิธีการวิจัยไทบ้าน ผมพยายามประยุกต์เอาขั้นตอนและวิธีการทำงานวิจัยตามแบบมาตรฐานทางวิชาการของศาสตร์แขนงต่างๆ มาใช้กับการทำงานวิจัยของนักวิจัยไทบ้าน แน่นอนว่า ถ้าพิจารณาตามขั้นตอนทั้งหมดแล้วจะเห็นได้ว่า มันมีความยุ่งยากและซับซ้อนพอสมควรสำหรับชาวบ้านทั่วๆ ไป แต่ผมคิดว่า ถ้านักวิจัยไทบ้านมีนักวิจัยพี่เลี้ยงหรือผู้ช่วยวิจัยที่สามารถทำงานร่วมกันเป็นทีมและเรียนรู้ในการปรับขั้นตอนที่ซับซ้อนและยุ่งยากแบบนักวิชาการให้สอดคล้องกับความต้องการของตนเองได้ ผมคิดว่า งานวิจัยของนักวิจัยไทบ้านก็น่าจะมีทางเป็นไปได้และบรรลุเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิผลและประสิทธิภาพได้เช่นกัน

ขั้นตอนและวิธีการหลักของการทำวิจัยไทบ้านควรประกอบด้วย
3.1 การค้นหาและกำหนดหัวข้อการวิจัย ขั้นนี้ดูเหมือนว่าไม่น่าจะเป็นปัญหาสำหรับนักวิจัยไทบ้าน เพราะทุกคนน่าจะรู้ดี เข้าใจ และประจักษ์ด้วยประสบการณ์ตรงของตนเองว่า เราสนใจจะทำวิจัยเรื่องอะไร ทำไมจึงต้องทำวิจัย ทำแล้วเราควรจะได้อะไรบ้างที่เป็นประโยชน์ต่อกระบวนการเรียนรู้หรือทำงานของตนเองและชุมชน การประชุมพูดคุยกันในกลุ่มของคนที่จะร่วมทีมทำวิจัยด้วยกัน รวมทั้งคำปรึกษาแนะนำจากนักวิจัยพี่เลี้ยง นักพัฒนาเอกชน หรือความช่วยเหลือของนักวิชาการที่มีประสบการณ์ก็น่าจะช่วยแก้ไขปัญหาตรงนี้ไปได้ สำคัญอยู่ที่ว่า ทำอย่างไรเราจึงจะได้หัวข้อการวิจัยที่ชัดเจนและสอดคล้องกับความต้องการของชุมชน

3.2 การตั้งโจทย์วิจัย ขั้นนี้เป็นการกำหนดว่า เราอยากรู้เรื่องอะไร ภายใต้เงื่อนไขอะไร มีขอบเขตของหน่วยระบบ หรือเวลาสถานที่มากน้อยเพียงใด และทำไม การตั้งโจทย์วิจัยเป็นการตั้งคำถามเพื่อนำทางเราไปสู่กระบวนการเก็บข้อมูลและคิดวิเคราะห์หาคำตอบต่อไป งานวิจัยที่ดีควรมีโจทย์ใหญ่ที่ชัดเจนเพียง 2-3 ข้อก็พอแล้ว โจทย์ที่ว่านี้มักจะมีคำว่าอะไร อย่างไร หรือทำไมอยู่ในตัว นักวิจัยต้องเขียนอธิบายที่มาของโจทย์หรือคำถามการวิจัยในรูปของสภาพความเป็นมาของปัญหา หรือหลักการและเหตุผลให้ได้ว่า ทำไมเราจึงตั้งคำถามลักษณะนี้ เรื่องที่เราเลือกมาทำวิจัยนั้นสำคัญมากน้อยแค่ไหน อย่างไร

3.3 การเตรียมข้อมูลเอกสารที่เกี่ยวข้อง เครื่องไม้เครื่องมือ และการเตรียมตัวด้านอื่นๆ ก่อนลงมือทำงานในชุมชนแม้ว่าชุมชนนั้นจะเป็นชุมชนบ้านเกิดที่ตัวเองคุ้นเคยมาตลอดชีวิตหรือไม่ก็ตาม นักวิจัยไทบ้านอาจจะต้องเตรียมตัวหลายอย่าง เช่น ค้นหาข้อมูลมือสองต่างๆ เท่าที่จะหาได้ เตรียมเครื่องไม้เครื่องมือที่จำเป็น เช่น แบบสอบถาม แบบสัมภาษณ์ กล้องถ่ายรูป อุปกรณ์ต่างๆ รวมทั้งจะต้องประชุมเพื่อนร่วมงาน นัดหมาย และจัดการด้านธุรการต่างๆ ให้พร้อม

3.4 การลงมือกอบกำข้อมูล วิธีการเก็บข้อมูลในชุมชนมีหลายวิธี นักวิจัยไทบ้านต้องเลือกวิธีที่ตัวเองถนัดและเป็นวิธีที่ช่วยให้เราได้ข้อมูลที่เราต้องการมากที่สุด เช่น สัมภาษณ์ สังเกต ลงมือทดลองปฏิบัติจริง สอบถาม แจงนับตัวอย่าง จดบันทึก ฯลฯ วิธีการเก็บข้อมูลควรจะต้องได้รับการพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบในระหว่างการวางแผน นักวิจัยไทบ้านควรจะใช้ประโยชน์จากประสบการณ์ชีวิต พื้นฐานความรู้ความเชี่ยวชาญ และความเข้าใจความคุ้นเคยที่ตนเองมีต่อชุมชนให้เกิดประโยชน์สูงสุด

3.5 การวิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูลเพื่อหาคำตอบที่ต้องการ ขั้นนี้เป็นการลงมือหาคำตอบจากข้อมูลต่างๆ ที่เราได้มาเพื่อตอบคำถามและวัตถุประสงค์การวิจัยอย่างเป็นระบบ การวิเคราะห์ข้อมูลอาจจะต้องเริ่มต้นจากการค้นหาคำหลักหรือความคิดหลัก การแยกแยะ การจัดกลุ่มหรือจัดหมวดหมู่ข้อมูล รวมทั้งการเชื่อมโยงหาความสำพันธ์ของคำหลักหรือแก่นความคิดหลักในประเด็นย่อยต่างๆ ที่เราได้เรียนรู้จากข้อมูล ขั้นนี้จำเป็นต้องใช้เทคนิคและเครื่องมือช่วยต่างๆ ในการจัดระบบและนำเสนอข้อมูลประกอบ เช่น แผนที่ แผนผัง แผนภูมิ แผนภาพ ตาราง ปฏิทิน การนำเสนอแบบเรื่องเล่า นิทาน ฯลฯ การคิดวิเคราะห์เพื่อหาคำตอบสำหรับโจทย์หรือคำถามการวิจัยควรจะกระทำตลอดทุกขั้นตอนของการวิจัย เช่น ในระหว่างการเก็บข้อมูลภาคสนาม การอ่านทบทวนเอกสารที่เกี่ยวข้อง การประชุมคณะนักวิจัย หรือการจดบันทึกสนามของนักวิจัยแต่ละคน

3.6 การเขียนรายงาน ขั้นนี้เป็นขั้นตอนสุดท้ายในกระบวนการวิจัยทั่วไป แต่ไม่ใช่การวิจัยไทบ้าน นักวิจัยไทบ้านจำเป็นต้องทำงานร่วมกัน ช่วยกันทดลองเขียนโครงร่างของรายงาน แบ่งงานกันทำเพื่อเขียนรายงานส่วนต่างๆ แล้วช่วยกันทดลองเขียนนำเสนอต้นฉบับออกมา นักวิจัยทุกคนควรมีโอกาสอ่านและตรวจแก้ขัดเกลาความคิดและภาษาของกันและกัน ในการเขียนรายงานทุกครั้ง นักวิจัยไทบ้านจำเป็นต้องวางโครงร่างของตัวรายงานทั้งเล่มให้ชัดเจน วางโครงเรื่องของแต่ละบทแต่ละส่วนให้ละเอียด บทไหนเราจะนำเสนอว่าอะไร จะใช้ข้อมูลส่วนใดสนับสนุนหรือโต้แย้ง ทั้งนี้จะเป็นการช่วยให้เราได้มองเห็นภาพรวม มองเห็นจุดแข็ง จุดอ่อน หรือจัดวางน้ำหนักความคิดวิเคราะห์และการใช้ข้อมูลเพื่อสนับสนุนได้อย่างสมเหตุสมผลและมีน้ำหนัก รายงานวิจัยทั่วไปจะเป็นการเขียนด้วยความเรียงเชิงอธิบาย พรรณนา หรือบรรยาย เพื่อช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจเหตุผล ที่มาที่ไป กระบวนการ และสถานการณ์ในหัวข้อหรือประเด็นต่างๆ ที่นักวิจัยได้ศึกษาค้นคว้าและวิเคราะห์มาอย่างเป็นระบบ

3.7 การใช้ประโยชน์จากงานวิจัย งานวิจัยไทบ้านไม่ควรจะเป็นไปเพื่อตอบสนองประโยชน์ต่อหน่วยงานภายนอกเพียงอย่างเดียว แต่ควรเป็นไปเพื่อสร้างสรรค์หรือนำมาประยุกต์ใช้ได้กับการแก้ปัญหา หรือการสร้างความเข้มแข็งด้านต่างๆ ของชุมชนเอง เราอาจจะเน้นรูปแบบของงานวิจัยที่สามารถใช้สื่อสารกับคนข้างนอกชุมชนก็จริง แต่การนำเสนอผลการวิจัยและการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยในทางปฏิบัตินั้น ชุมชนควรจะได้รับประโยชน์สูงสุดเป็นอันดับแรก โดยเฉพาะงานวิจัยที่เน้นการพัฒนาชุมชน การจัดการทรัพยากรชุมชน หรือการวิจัยเชิงปฏิบัติการในชุมชนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับกรณีปัญหาต่างๆ

4. สรุปและข้อเสนอแนะสำหรับนักวิจัยไทบ้าน ผมเกริ่นนำตั้งแต่ต้นบทความแล้วว่า รูปแบบงานวิจัยไทบ้านควรจะเป็นอะไรที่อยู่ตรงกลางระหว่าง ความเคร่งครัดและซับซ้อนของงานวิจัยทางวิชาการอย่างเต็มรูปแบบกับความง่ายสะดวกและให้ผลในทางปฏิบัติจริงตามความต้องการของไทบ้าน งานวิจัยไทบ้านควรจะอยู่ตรงกลางระหว่าง วรรณกรรมทางวิชาการที่สื่อด้วยภาษาเขียนเต็มไปด้วยศัพท์เทคนิคกับวรรณกรรมมุขปาฐะหรือภาษาปากในชีวิตประขำวัน

งานวิจัยไทบ้านเป็นการดึงอำนาจในการ “พูด” หรือ “นำเสนอ” ความจริงคืนกลับสู่ชุมชน เป็นการเสริมสร้างพลังอำนาจในการต่อรองด้วยวิธีการทางปัญญา และเป็นการตอกย้ำศักยภาพในการเรียนรู้เพื่อที่จะแก้ปัญหาหรือสร้างความเข้มแข็งทางภูมิรู้และภูมิปัญญาของชาวบ้านเองได้อย่างสร้างสรรค์

อย่างไรก็ตาม งานวิจัยไทบ้านหรือการเล่นบทนักวิจัยของไทบ้านไม่ใช่เรื่องที่ชาวบ้านในชุมชนจะสามารถเรียนรู้และนำไปใช้ได้เองในชั่วเวลาข้ามคืน คำถามสำคัญก็คือว่า ขณะนี้ยังไม่มีใครรู้อย่างชัดเจนว่า วิจัยไทบ้านคืออะไร รูปแบบที่เหมาะหรือมีประสิทธิภาพมากที่สุดควรจะเป็นอย่างไร กระบวนการหรือระเบียบวิธีวิจัยได้รับการยอมรับจากสาธารณชนหรือชุมชนวิชาการหรือยัง ที่สำคัญ ขณะนี้มีนักวิชาการบ้านเราไม่กี่คน นักพัฒนาเอกชนไม่กี่กลุ่ม และแหล่งทุนไม่กี่สถาบันเท่านั้นที่เห็นด้วย หรือสนับสนุนการพัฒนาวิธีการวิจัยที่แหวกแนวหรือผิดจารีตทางวิชาการเช่นนี้ ผมคิดว่า เรามีความจำเป็นจะต้องทดลองค้นหารูปแบบ วิธีการวิจัย และวิธีการนำเสนองานวิจัยแบบไทบ้านให้เหมาะสมและชัดเจนมากยิ่งขึ้น ผมเสนอแนะเทคนิควิธีต่างๆ ซึ่งอาจจะมีส่วนช่วยผลักดันงานวิจัยลักษณะนี้ให้เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาตามสมควร ดังต่อไปนี้

4.1 การนำเสนอรายงานการวิจัยไทบ้านไม่ควรถูกจำกัดตายตัวว่าจะต้องเป็นการเขียนตามจารีตทางวิชาการเท่านั้น ควรมีการเลือกนำเสนอข้อมูลบางส่วนในลักษณะของการเว้าให้กันฟัง การตั้งวงโสเหล่ อภิปรายหรือสนทนา ผสมผสานกับการกำหนดกรอบในการนำเสนองานวิจัยนอกเหนือจากตามความเหมาะสม เช่น วิดิทัศน์ เทปบันทึกเสียง ภาพถ่าย บรรยาย การพูดผ่านสื่อมวลชนหรือเวทีต่างๆ ฯลฯ

4.2 ในกรณีที่งานวิจัยไทบ้านมีเนื้อหาหรือประเด็นการวิจัยเหมาะสม นักวิจัยไทบ้านควรจะพิจารณานำเสนองานวิจัยของตนเองในรูปแบบของการเขียนเล่าเรื่องแบบนิทานก้อม กลอนลำ หรือวิธีการเล่าเรื่องอื่นๆ ที่มีอยู่ในวัฒนธรรมท้องถิ่นแต่ละแห่ง

4.3 ในกรณีที่จะต้องเขียนเสนองานวิจัยด้วยการเขียนรายงาน นักวิจัยไทบ้านควรพิจารณานำเสนอในลักษณะของการเขียนแบบเล่าเรื่องที่ใกล้เคียงกับผู้ใหญ่ถกเถียงกัน” โดยการใช้เหตุผลและหลักฐานข้อมูลประกอบ

4.4 รูปแบบ กระบวนการ วิธีการ รวมทั้งความชอบธรรมทางการเมืองและวิชาการของการวิจัยไทบ้านยังเป็นประเด็นที่เราจะต้องช่วยกันขบคิด และลงมือทำงานเพื่อช่วยกันผลักดันต่อไปในอนาคต งานใหญ่ยังรออยู่ข้างหน้าสำหรับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกคน โดยเฉพาะนักวิชาการ นักพัฒนาเอกชน เจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้อง และแหล่งทุน

กล่าวโดยสรุปแล้ว ผมเห็นว่าความลงตัวระหว่างสไตล์พื้นบ้านกับสไตล์วิชาการเป็นสิ่งที่ขึ้นอยู่กับความถนัด ทักษะเฉพาะทาง และการฝึกฝนของนักวิจัยแต่ละคน แต่งานวิจัยไทบ้านแต่ละชิ้นควรจะเป็นไปในลักษณะที่เน้นการตอบโจทย์การวิจัยอย่างละเอียด เป็นเรื่องเป็นราว เป็นระบบ มีเหตุผลที่น่าเชื่อถือ มีหลักฐานอ้างอิงและชัดเจนอยู่ในขอบเขตของการวิจัยแต่ละครั้ง มีการลำดับเรื่องราวเหตุการณ์ก่อนหลัง ระบุแหล่งที่มาของข้อมูล จัดระบบหมวดหมู่ของข้อมูล มีการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของประเด็นหรือเหตุการณ์ต่างๆ รวมทั้งหาเหตุผลมาอ้างประกอบอย่างหนักแน่น รัดกุม และชัดเจน

หลักการพื้นฐานของงานวิจัยไทบ้านควรจะเป็นเวทีสำหรับการเรียนรู้เพื่อสร้างสรรค์ปัญญาสำหรับการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น ดังนั้น งานวิจัยไทบ้านควรเป็นเวทีที่เปิดกว้างและเชื้อเชิญสำหรับการมีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์หรือนวัตกรรมใหม่ๆ ในกระบวนการวิจัย

งานวิจัยไทบ้านควรสะท้อนภาพตัวตนของนักวิจัย สะท้อนปัญหาและความต้องการ สะท้อนความสับสนวุ่นวายและการดิ้นรนหาทางออกของผู้ทำวิจัยเอง งานวิจัยไทบ้านจึงไม่ควรถูกกระทำให้เป็นรูปแบบอะไรที่น่าเบื่อ ตายตัว และผูกขาดไว้ในมือของบรรดาผู้นำชุมชน ผู้ชาย หรือกลุ่มผลประโยชน์ท้องถิ่นบางกลุ่มเท่านั้น

ผมมองเห็นการผุดบังเกิดขึ้นของการวิจัยไทบ้านในแวดวงสังคมศาสตร์บ้านเราในกลางทศวรรษที่ 2540 ว่าเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นและยินดีเป็นอย่างยิ่ง อย่างน้อยมันก็ช่วยให้ผมได้ตระหนักถึงความฉ้อฉลและพิษภัยของระเบียบวิธีวิจัยตามแบบจารีตวิชาการทั้งหลายในฐานะของเทคโนโลยีแห่งอำนาจ ซึ่งมักจะถูกนำไปใช้เพื่อทำร้ายผู้ที่ด้อยอำนาจกว่าเรื่อยมา ตราบใดที่ไทบ้านไม่มีโอกาสเข้าถึงและเป็นเจ้าของ “วิธีวิทยา” เพื่อค้นหาความรู้ความจริงและเพื่อสร้างภูมิปัญญาของตนเองด้วยตนเองตราบนั้นการพัฒนาของบ้านเราก็ยังไม่ประสบผลสำเร็จในการสร้างความเข้มแข็งหรือความมั่นคงยั่งยืนของไทบ้านและชุมชนของพวกเขาได้อย่างแท้จริง

(เอกสารประกอบการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตรการสรุปวิเคราะห์ข้อมูลและการเขียนรายงานผลการศึกษาสำหรับนักวิจัยชุมชน”
ณ ศูนย์ฝึกอบรม มูลนิธิประสานความร่วมมือพัฒนาทุ่งกุลาร้องไห้ อำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด วันที่ 11-12 สิงหาคม 2545

ที่มา : มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

http://www.geocities.com/midarticle/newpage35.html

Be the first to comment on "แนวทางการวิจัยอย่างง่ายๆ สำหรับนักวิจัยไทบ้าน"

Leave a comment

Your email address will not be published.