แผนเงียบเซาเทิร์นซีบอร์ด กับการแปลงโฉมภาคใต้ (จบ)

ประเด็นสำคัญที่ผมจะขอกล่าวถึงแผนเซาเทิร์นซีบอร์ด ไม่ได้เป็นเหตุผลในด้านมลพิษเท่านั้น แต่สิ่งที่อยากจะพูดถึงคือ ทิศทางการพัฒนาประเทศแบบนี้ ผมไม่เชื่อว่าในบ้านเราปัจจุบันจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่เป็นปัญหาใหญ่ของประเทศซึ่งเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างได้

เรื่องโดย : ทิพย์อักษร มันปาติ สำนักข่าวประชาธรรม
29 มีนาคม 2550



บรรจง นะแส

บรรจง นะแส : คำตอบของสังคมที่สงบสุขไม่ได้วัดที่จีดีพี

หากแผนเซาเทิร์นซีบอร์ดถูกรื้อฟื้นขึ้นมาดำเนินการสำเร็จ หลายคนทำนายว่าอาจทำให้ภาคใต้กลายเป็นมาบตาพุด 2

ประเด็นสำคัญที่ผมจะขอกล่าวถึงแผนเซาเทิร์นซีบอร์ด ไม่ได้เป็นเหตุผลในด้านมลพิษเท่านั้น แต่สิ่งที่อยากจะพูดถึงคือ ทิศทางการพัฒนาประเทศแบบนี้ ผมไม่เชื่อว่าในบ้านเราปัจจุบันจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่เป็นปัญหาใหญ่ของประเทศซึ่งเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างได้ เช่น ปัญหาปัจจัยการผลิตของคนส่วนใหญ่ กล่าวคือ การใช้เครื่องมือการพัฒนาอย่างหนึ่ง เช่น อุตสาหกรรมต่างๆ นิคมอุตสาหกรรม แลนบริดจ์ เขตเศรษฐกิจพิเศษ หรืออะไรก็แล้วแต่ มันไม่สามารถแก้ปัญหารากเหง้าของความยากจนของประชาชนอะไรได้เลย เพราะว่าวันนี้สังคมเรา มันไม่มีเครื่องมือในการควบคุม ตรวจสอบเป้าหมายที่เป็นทิศทางของการพัฒนาได้ มันยังตกอยู่มือของคนจำนวนน้อยที่เห็นประโยชน์ส่วนตัวเป็นหลัก

 

เพราะฉะนั้น ปรากฎการณ์ที่เราเจอทั้งหลาย เช่น มาบตาพุด นิคมอุตสาหกรรม เหมืองแม่เมาะ โรงงานเล็กๆ น้อย ที่อยู่รายรอบทะเลสาบสงขลา ท่าเรือน้ำลึก สิ่งเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อคนส่วนใหญ่มากกว่า แต่ผลประโยชน์กลับตกไปอย่าในมือคนส่วนน้อย ฉะนั้น วันนี้ผมจึงไม่เห็นด้วยที่จะนำพาประเทศไปในทิศทางนั้นในขณะที่สังคมยังไม่พร้อมที่จะไปในทิศทางนั้น ยกตัวอย่างเปรียบเทียบว่า แค่โรงงานเลี้ยงหมูฟาร์มเดียวก็สามารถทำให้แม่น้ำทั้งสายหรือคนจำนวนเป็นพันคนเจ๊งได้ แล้วจะมีประโยชน์อะไรหากไม่มีกลไกที่จะควบคุมให้ฟาร์มหมูทำให้แม่น้ำสะอาด ก็ยิ่งไปกันใหญ่นี่คือประเด็นแรก

ประเด็นต่อมา ถ้าเราวางเป้าว่า ทิศทางในอนาคตของสังคมต้องเป็นสังคมเชิงเกษตรกรรม และอุตสาหกรรมมีความสมดุลกัน ขณะนี้อุตสาหกรรมเริ่มตกต่ำแล้วล่ะเพราะมันไม่สามารถไปตอบสนองกับสิ่งที่คนส่วนใหญ่ต้องการได้ เพราะสิ่งที่คนส่วนใหญ่ต้องการคืออาหารที่ดี ราคาถูก สิ่งแวดล้อมที่ดี อากาศที่บริสุทธิ์ มีน้ำดื่มกินโดยไม่ต้องใส่ขวดมาเร่ขาย ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นต้นทุนที่สังคมเรามีอยู่แล้ว แต่หากเราพัฒนาอุตสาหกรรมโดยที่เราไม่มีความพร้อมในการควบคุมมันก็จะยิ่งทำลายต้นทุนที่มีอยู่เดิม ความทุกข์ยากจะยิ่งเพิ่มขึ้นแทนที่จะแก้ปัญหา

เมื่อรู้ว่าไม่พร้อมแล้วจะหยุดโครงการอย่างไร เพราะรัฐบาลก็พยายามที่จะหาเหตุผลมาอ้างให้โครงการสำเร็จขึ้นได้ทุกที

ผมว่ามันเป็นวัฒนธรรมของเราที่ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง สำนึกของผู้คนเรื่องการโกงชาติ คนที่ทำลายสิ่งแวดล้อมยังไม่เปลี่ยนแปลงเพราะขาดความเชื่อมั่นในกลไกรัฐที่จะช่วยเขาได้ เช่น มีบางโรงงานบางที่อยากจะทำดี แต่โรงงานส่วนใหญ่ไม่ทำ ก็ทำให้โรงงานที่อยากจะทำดีมีต้นทุนที่แพงกว่า เขาก็ไม่อยากทำ ซึ่งถ้าทิศทางการพัฒนาในวันนี้ยังเป็นแบบนี้ผลพงที่ตามมามันจะเป็นผลเสียมากกว่าผลดี

นอกเหนือจากภาคการท่องเที่ยวจะได้รับผลกระทบแล้ว ภาคส่วนอื่นๆ ย่อมได้รับผลกระทบด้วย การแก้ปัญหาด้วยกฎหมายเป็นเพียงปัจจัยเดียว ไม่ใช่คำตอบของการแก้ไขปัญหาทั้งหมด แต่สำนึกของผู้คน หลักสูตรการศึกษาที่ปลูกฝังเรื่องสิ่งแวดล้อมมาตั้งแต่ยังเล็กนับเป็นปัจจัยสำคัญด้วย

แต่ในเบื้องต้น เมื่อเราไม่พร้อมก็ควรจะหยุดโครงการที่จะมีความเสี่ยงเอาไว้ก่อน กล่าวคือ เมื่อเราตั้งเป้าเอาไว้ว่าจะนำพาประเทศสู่เศรษฐกิจพอเพียง แล้วถามว่าการทำแลนบริดจ์ และนิคมอุตสาหกรรมมีความสอดคล้องกับทิศทางเศรษฐกิจพอเพียงหรือเปล่า ถ้าไม่สอดคล้องก็ต้องหยุดเอาไว้ก่อน แล้วมาดูว่าเศรษฐกิจพอเพียงที่คิดว่าเป็นเป้าหมายที่เราเชื่อว่ามันจะทำให้คนส่วนใหญ่มีปัจจัยสี่อยู่ได้ แก้ปัญหาความยากจนได้ เราก็ต้องพูดเรื่องนี้เป็นหลัก ทรัพยากรที่จะต้องแลก งบประมาณแผ่นดินจำนวนเป็นหมื่นเป็นแสนล้านบาทที่จะนำมาทำโครงการแลนบริดจ์ สร้างท่าเรือน้ำลึก ที่จะกระทบกับชาวประมง เราก็ต้องหยุดตรงนั้นเอาไว้ก่อน เพื่อที่จะบอกว่าสิ่งที่เราคิดกับสิ่งที่เราทำไปด้วยกันได้หรือไม่ ไม่อย่างนั้นแล้วคำว่าเศรษฐกิจพอเพียงก็จะกลายเป็นเพียงวาทกรรม เครื่องมือ หรือยาหอม เอาไว้กล่อมชาวบ้าน แต่ในทางปฏิบัติรัฐกลับทำอีกด้านหนึ่ง ซึ่งผมคิดว่าการคิดแบบนี้ไม่เป็นผลดีกับการบริหารประเทศ เพราะเป็นการพูดอย่างทำอย่าง

คิดว่าเศรษฐกิจพอเพียงไปได้กับอุตสาหกรรมและการค้าระหว่างประเทศ ตามที่รัฐบาลพยายามอธิบายไว้หรือไม่

มันยังไม่ถึงจุดนั้น เพราะเศรษฐกิจพอเพียงกับการค้ายังเป็นผลประโยชน์ของคนส่วนน้อยอยู่ แต่ถ้าเศรษฐกิจพอเพียงในทัศนะของผมคือ คนส่วนใหญ่ซึ่งผมเชื่อว่ามีเกิน 50 ล้านคนในประเทศไทยมีชีวิตอยู่อย่างไร บางคนไม่มีที่ดินทำกินแม้แต่ไร่เดียว ในขณะที่นักการเมืองมีที่ดินเป็นหมื่นๆ ไร่ แต่ปัจจัยทางการผลิตของเศรษฐกิจพอเพียงคือที่ดิน แต่วันนี้ไม่มีซักอย่าง แล้วเราจะไปพูดถึงเรื่องอื่นได้ยังไง เมื่อเรื่องนี้ยังไม่ได้พูดเลย เราจะไปพูดเรื่องการค้าขายที่มีเพียงกลุ่มคนไม่กี่คนที่ได้ประโยชน์ แต่คนที่เดือดร้อนอีกกว่า 50 ล้านคน ที่ไม่มีปัจจัยการผลิต เพราะเศรษฐกิจพอเพียงต้องพูดถึงปัจจัยสี่มาก่อน มีข้าวกิน มีอาหาร มีผัก มีสัตว์เลี้ยง แต่ที่คนส่วนใหญ่บางคนต้องไปบุกรุกถางป่าเพราะว่าปัจจัยการผลิต เช่น ที่นา ที่ดิน ส่วนใหญ่ถูกครอบครองอย่างไร้ขีดจำกัดโดยเปิดเงื่อนไขให้ใครมีที่ดินเท่าไหร่ก็ได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกับเส้นทางเศรษฐกิจพอเพียง เพราะฉะนั้นวันนี้สิ่งที่เราจะต้องหันกลับมาคิดคือ เราเห็นด้วยหรือไม่ว่าสังคมนี้ต้องมีการจำกัดการถือครองที่ดิน ต้องกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม เกษตรกร ชาวไร่ ชาวนา ก็ควรจะมีที่นาของตนเอง พื้นที่ทำนาแถบภาคกลาง เช่น พระนครศรีอยุธยา ชาวนาเป็นเพียงลูกจ้างทำนา แล้วอย่างนี้ความยั่งยืนจะมีได้อย่างไร แต่ตอนนี้ปัญหาหลักของคนส่วนใหญ่ถูกพูดถึงน้อย

คิดว่าอนาคตภาคใต้จะเป็นอย่างไร หากมีการพัฒนาอุตสาหกรรมตามแผนเซาเทิร์นซีบอร์ด

คนจำนวนหนึ่งจำนวนน้อยได้ผลประโยชน์อยู่แล้ว แต่คนส่วนใหญ่จะไม่ได้ประโยชน์ ชาวประมงพื้นบ้าน 2 ฝั่ง ทั้งอ่าวไทยและอันดามัน ย่อมต้องเปลี่ยนอาชีพเดิมที่เคยพึ่งพิงฐานทรัพยากรเป็นกรรมกรที่ท่าเรือ ถามว่า ถ้าให้เขาเลือกระหว่างชีวิตกรรมกรกับวิถีชีวิตที่อยู่อาศัยหากินกับสัตว์น้ำ เขาคงเลือกอยากเป็นชาวประมงมากกว่า แต่เพราะเขาไม่มีทางเลือกเพราะเราไปกระทำกับเขา ซึ่งสิทธิตรงนั้นในวันนี้ เราไม่เข้มแข็งพอที่จะบอกว่าคุณไม่มีสิทธิที่จะไปทำลายอาชีพคนอื่น อย่างไรก็ตาม การส่งออก การขนส่งน้ำมัน จะทำให้ จีดีพี เพิ่มแน่นอน แต่คำตอบของสังคมที่สงบสุขในวันนี้ไม่ได้วัดที่ จีดีพี เพียงอย่างเดียว ต้องวัดกันที่ความสุขของผู้คนที่อยู่กับศาสนา วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อมที่ดีด้วย แต่เรายังพูดกันน้อยไปหน่อย

ประชาชนจะเข้าไปมีส่วนร่วมในแนวทางการพัฒนาประเทศได้อย่างไร?

วันนี้ไม่ต้องพูดถึงการมีส่วนร่วมหรอก ยิ่งอยู่ใน พ.ร.บ.การปฏิวัติ จะให้มีส่วนร่วมได้ที่ไหน เมื่อมีคนจำนวนหนึ่งเข้ามายึดอำนาจ แล้วรัฐธรรมนูญที่เขียนมา ขนาดบอกว่าให้มีส่วนร่วมก็ยังมีความขัดแย้งกัน เพราะไม่ได้มีส่วนร่วมจริงในทางปฏิบัติ แต่เป็นการมีส่วนร่วมในทางเทคนิคเท่านั้น

อยากเห็นทิศทางการพัฒนาในภาพรวมทั้งประเทศเป็นไปอย่างไร?

ประเทศที่จะยั่งยืนได้ คนส่วนใหญ่ต้องลืมตาอ้าปากได้ ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนจะต้องลดลง ปัจจัยการผลิตต้องอยู่ในมือคนส่วนใหญ่ ถ้าหากว่าทำตรงนี้สำเร็จ เราจะไปข้างหน้าได้ แต่ถ้าตราบใดที่เรามีแต่ จีดีพี สูงมีคนรวยเพียง 10% แต่คนส่วนใหญ่ยังยากจนอยู่ ปัญหาความยากจน โจร ความเสื่อมโทรมทางสังคมก็ยังมีอยู่ ฉะนั้นการที่คุณจะพัฒนาประเทศไปแบบนี้ ก็ลองถามตัวเองดูแล้วกันว่าผลประโยชน์ที่ได้จากการพัฒนาประเทศนั้นตกอยู่กับใคร ถ้าหากว่ามีเพียงคนส่วนน้อยที่ได้ประโยชน์ก็ต้องทบทวน แต่ถ้าคนส่วนน้อยมีอำนาจก็คงไม่ทบทวน แต่จะเดินหน้า แต่ถ้าคนส่วนใหญ่ตื่นรู้ขึ้นมาเขาก็ย่อมลุกขึ้นสู้

“แน่นอนว่า การพัฒนาที่มุ่งแต่เศรษฐกิจเป็นหลักได้สร้างความขัดแย้งมาตลอด เมื่อฝ่ายรัฐมีอำนาจมากก็ใช้วิธีกดขี่ข่มเหงเอา และสักวันหนึ่งคนส่วนใหญ่ก็คงลุกขึ้นมาสู้ แต่คนรวยเขาก็ไม่แคร์ หนีไปอยู่เมืองนอกก็ได้ ส่วนคนที่อยู่ในพื้นที่ก็รับชะตากรรมไป เหลือแต่คนที่คิดว่าเมื่อมันไม่ถูกต้องก็ต้องมาช่วยกันคิดว่าเราจะทำอย่างไร แต่ตราบใดที่รัฐไม่ได้อยู่ฝ่ายชาวบ้านเราก็ต้องช่วยตัวเอง ซึ่งหลายที่ก็ลุกขึ้นมาสู้เป็นจุดๆ อยู่ตลอดเวลา เช่น โรงไฟฟ้าแยกก๊าซ อ.จะนะ สงขลา ประชาชนไม่ได้อยู่เฉยๆ” 

มีข้อเสนออย่างไรที่จะทำให้ประชาชนตื่นรู้ปัญหาทิศทางการพัฒนาประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตคนส่วนใหญ่?

ผมสนใจประเด็นสื่อ แต่ก็ยังหวังได้ไม่มาก เพราะสามารถเป็นสิ่งที่ให้ศึกษานอกระบบให้กับประชาชนได้ เพราะคนจำนวนมากได้รับการศึกษาถึงชั้น ป.6 แล้วก็ไม่ได้ศึกษาต่อ ฉะนั้นสิ่งที่เขาเสพคือสื่อสาธารณะ แต่ถามว่าวันนี้ ทีวี หนังสือพิมพ์ เป็นของใคร ถ้าสื่อเสรีจริงโดยไม่มีทุนสื่อมาผูกขาด ก็จะทำให้การศึกษานอกระบบของประชาชนเป็นไปได้ง่ายขึ้น จะทำให้ประชาชนโตขึ้น แต่ที่ผ่านมีคนดูรายการละครน้ำเน่า ฟุ้งเฟ้อ เหมือนถูกมอมเมาด้วยยาเสพย์ติด แต่เรื่องปากท้องของตัวเองไม่รู้จะแก้ยังไง แล้วสติปัญญาของประชาชนจะเกิดขึ้นได้อย่างไร

ท่าทีของรัฐบาลที่ออกมาแง้มความในว่าจะรื้อแผนพัฒนาอุตสาหกรรมภาคใต้ “เซาเทิร์นซีบอร์ด” ขึ้นมาทบทวน พิจารณาศึกษาความเหมาะสม และความเป็นไปได้ เพื่อรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมในอนาคตนั้น แม้โครงการจะยังไม่เกิดขึ้นในรัฐบาลชุดนี้ แต่ประชาชนก็ไม่ควรวางใจ จะทำอย่างไรให้คนส่วนใหญ่เข้าไปมีส่วนร่วมกำหนดทิศทางการพัฒนาด้วย เพราะไม่รู้กี่ครั้งแล้วที่โครงการยักษ์เกิดขึ้นแบบมัดมือชก สุดท้ายก็หลงเหลือเอาไว้ซึ่งหายนะ และความสูญเสียที่คนสวนใหญ่เป็นผู้แบกรับชะตากรรม

ที่มา :สำนักข่าวประชาธรรม  

Be the first to comment on "แผนเงียบเซาเทิร์นซีบอร์ด กับการแปลงโฉมภาคใต้ (จบ)"

Leave a comment

Your email address will not be published.