ชีวิตของคนลำพูนผูกพันกับแม่น้ำลี้มาช้านาน แต่วันนี้สายน้ำลี้กำลังจะหายไปจากความทรงจำของผู้คนที่นี่ ด้วยสภาพแม่น้ำลี้ที่แปรเปลี่ยนไปพร้อมกับชะตากรรมของคนลำพูนที่อยู่ในวังวนของคำที่ว่า “ น้ำแล้ง หนี้เพิ่ม และป่าลด”…
บทสารคดี ตอน แห่ ช้างเผือก ฟื้นชีวิตแม่น้ำลี้ ที่ลำพูน ออกอากาศทางเนชั่นแชนแนล ทีทีวี1 วันเสาร์ที่ 6 สิงหาคม 2548 |
||||||
ชี วิตของคนลำพูนผูกพันกับแม่น้ำลี้มาช้านาน แต่วันนี้สายน้ำลี้กำลังจะหายไปจากความทรงจำของผู้คนที่นี่ ด้วยสภาพแม่น้ำลี้ที่แปรเปลี่ยนไปพร้อมกับชะตากรรมของคนลำพูนที่อยู่ในวังวนของคำที่ว่า “น้ำแล้ง หนี้เพิ่ม และป่าลด”
วันนี้คนลุ่มน้ำลี้ได้รวมตัวกันที่จะดึงภูมิปัญญาดั้งเดิมมาสืบสานเชื่อมต่อในปัจจุบันด้วยการพลิกฟื้นประเพณีแห่ช้างเผือก ที่ขาดหายไปหลายสิบปีขึ้นมาอีกครั้ง เพื่อสานสัมพันธ์คนปลายน้ำไปสู่คนต้นน้ำ และเพื่อให้กระบวนการแห่งวิถีวัฒนธรรม การสื่อสารสัมพันธ์ในประเพณีนี้ปลุกจิตสำนึกคนลำพูนให้ร่วมกันฟื้นชีวิตสายน้ำลี้กลับคืนมา |
||||||
|
||||||
แม่น้ำลี้เป็นแม่น้ำที่มีต้นน้ำและปลายน้ำตลอดความยาว 180 กิโลเมตรอยู่ในจังหวัดลำพูน ต้นน้ำอยู่ที่บ้านหนองหลัก อำเภอทุ่งหัวช้าง ไหลผ่านอำเภอลี้ อำเภอบ้านโฮ่ง และไหลลงสู่แม่น้ำปิง ที่กิ่งอำเภอเวียงหนองล่อง ซึ่งที่นี่คือจุดตั้งต้นของประเพณีแห่ช้างเผือก
แม้ความพยายามแก้ปัญหาจะมีมาโดยตลอด แต่การแก้ปัญหาที่ว่ามุ่งใช้เพียงวิธีการสมัยใหม่ เช่นการสร้างเขื่อน ฝายคอนกรีต โดยมองข้ามการจัดการน้ำในมิติของชุมชนท้องถิ่น |
||||||
|
||||||
|
||||||
การพื้นฟูประเพณีแห่ช้างเผือกในครั้งนี้ได้เริ่มต้นที่ปลายน้ำและเดินทางผ่านชุมชนท้องถิ่นต่าง ๆ ตลอด 14 วันไปตามสายน้ำลี้ที่ไหลพาดผ่านเพื่อนำช้างเผือกขึ้นไปถวาย ณ ต้นน้ำลี้ ที่ดอยสบเทิม ตลอดเส้นทางของการเดินทาง ได้รื้อฟื้นอดีตที่เคยลืมเลือน ความทรงจำที่เคยห่างหาย และคุณค่าที่ดีงามของประเพณีแห่ช้างเผือก ให้กลับคืนมาสู่จิตใจของผู้คนในท้องถิ่นลำพูน | ||||||
จากวัดสู่วัด ชุมชนสู่ชุมชน เพื่อรวมใจให้เป็นหนึ่ง ในการฟื้นฟูสายน้ำลี้ให้ไหลรินอีกครั้ง เป็นเวลากว่า 3 ปีแล้ว ที่ชาวบ้านตำบลบ้านปวง อำเภอทุ่งหัวช้าง ร่วมกันดูแลและฟื้นฟูป่าชุมชนแห่งนี้ และวันนี้ถือว่าเป็นวันพิเศษที่ชาวบ้านจากบ้านสันดอนฮอม ตำบลบ้านปวง มาช่วยกันปลูกป่า แน่นอนว่า การแห่ช้างเผือกคงไม่ใช่เป็นเพียงพิธีกรรมที่จัดขึ้นและจบไปเมื่อถึงต้นน้ำเท่านั้น แต่จะเป็นจุดเริ่มต้น ของการค้นหาเครือข่ายความร่วมมือในทุกภาคส่วน ร่วมกันศึกษาปัญหา ข้อเท็จจริง และช่วยกันดูแลรักษา เพื่อนำไปสู่การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในพื้นที่ลุ่มน้ำลี้ อย่างยั่งยืนต่อไป |
||||||
|
||||||
|
||||||
แม้ความเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นมากมายในทุกวันนี้ แต่สำหรับชาวปกาเกอญอที่บ้านหนองหลักยังคงสืบทอดความเชื่อและพิธีกรรมดั้งเดิมเกี่ยวกับการดูแลรักษาป่า และต้นน้ำลำธาร เช่นเดียวกับการแห่ช้างเผือก แม้ในระยะหลังจะทำไม่ทั่วถึงทุกอำเภอในลุ่มน้ำลี้ แต่ที่บ้านหนองหลักยังคงสืบทอดประเพณีพิธีกรรมนี้มาตลอด
พ่อหลวงสุคำ ปุ๊ดแค เล่าว่าในอดีตการนำช้างเผือกขึ้นไปถวายยังต้นขุนน้ำลี้ที่ดอยสบเทิม ต้องใช้การเดินทางด้วยเท้าตลอดระยะทาง 11 กิโลเมตร แต่หลังจากมีการสร้างอ่างเก็บน้ำแม่ลี้ตอนบนขึ้นมา เมื่อปี พ.ศ.2535 ในบริเวณเส้นทางเดินขึ้นสู่ต้นน้ำ ทำให้ไม่สามารถขึ้นไปถวาย ณ จุดต้นน้ำที่แท้จริงได้ จึงได้ใช้อ่างเก็บน้ำแม่ลี้เป็นจุดต้นน้ำในการถวายช้างเผือกแทน |
||||||
|
||||||
ตระการชัย ธรรมานุวงศ์ คณะทำงานโครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะฯ จ.ลำพูน
จากช้างเผือกเสร็จ ต่อไปจะพัฒนาเป็นคณะกรรมการลุ่มน้ำแม่ลี้ภาคท้องถิ่น เป็นคนท้องถิ่นล้วน ๆ ลุกขึ้นมาบอกว่าเขาอยากทำอะไร เป็นตัวชี้อันหนึ่งที่บอกได้ว่า หลังจากช้างเผือก ชะตากรรมเหล่านี้ คงต้องผูกติดรวมกัน พูดคุยกัน ช้างเผือกคงเป็นกรณีหนึ่งของวัฒนธรรมท้องถิ่นที่ทำให้จิตวิญญาณของท้องถิ่นเข้มแข็งขึ้นและมีพลังมากขึ้น จะด้วยวิธีใดก็แล้วแต่ที่จะสามารถให้ท้องถิ่นเข้มแข็ง และพึ่งตัวเองได้ ตรงนี้สำคัญ ถ้าเมื่อไหร่ท้องถิ่นอ่อนแอ การพัฒนาหรือการก้าวไปข้างหน้ามีปัญหาแน่ |
||||||
สารคดี : บ้านเมืองเรื่องของเรา ชุดชีวิตสาธารณะ – ท้องถิ่นน่าอยู่ ผลิตโดย : งานพัฒนาการสื่อสารฯ โครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะ – ท้องถิ่นน่าอยู่ สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา |
Be the first to comment on "แห่ช้างเผือก ฟื้นชีวิตแม่น้ำลี้ ที่ลำพูน"