แห่ ช้างเผือก ฟื้นชีวิตแม่น้ำลี้ ที่ลำพูน

ออกอากาศ วันเสาร์ที่ 6 สิงหาคม 2548 ชีวิตของคนลำพูนผูกพันกับแม่น้ำลี้มาช้านาน แต่วันนี้สายน้ำลี้กำลังจะหายไปจากความทรงจำของผู้คนที่นี่ ด้วยสภาพแม่น้ำลี้ที่แปรเปลี่ยนไปพร้อมกับชะตากรรมของคนลำพูนที่อยู่ในวังวนของคำที่ว่า “น้ำแล้ง หนี้เพิ่ม และป่าลด”

 

สารคดี ตอน แห่ ช้างเผือก ฟื้นชีวิตแม่น้ำลี้ ที่ลำพูน

ออกอากาศทางเนชั่นแชนแนล ทีทีวี1 วันเสาร์ที่ 6 สิงหาคม 2548
 

ชี วิตของคนลำพูนผูกพันกับแม่น้ำลี้มาช้านาน แต่วันนี้สายน้ำลี้กำลังจะหายไปจากความทรงจำของผู้คนที่นี่ ด้วยสภาพแม่น้ำลี้ที่แปรเปลี่ยนไปพร้อมกับชะตากรรมของคนลำพูนที่อยู่ในวังวนของคำที่ว่า น้ำแล้ง หนี้เพิ่ม และป่าลด

วันนี้คนลุ่มน้ำลี้ได้รวมตัวกันที่จะดึงภูมิปัญญาดั้งเดิมมาสืบสานเชื่อมต่อในปัจจุบันด้วยการพลิกฟื้นประเพณีแห่ช้างเผือก ที่ขาดหายไปหลายสิบปีขึ้นมาอีกครั้ง เพื่อสานสัมพันธ์คนปลายน้ำไปสู่คนต้นน้ำ และเพื่อให้กระบวนการแห่งวิถีวัฒนธรรม การสื่อสารสัมพันธ์ในประเพณีนี้ปลุกจิตสำนึกคนลำพูนให้ร่วมกันฟื้นชีวิตสายน้ำลี้กลับคืนมา

เส้า สุดวงรัตน์ ผู้อาวุโสบ้านศรีเตี้ย อ.บ้านโฮ่ง จ.ลำพูน


น้ำชุบชีวิตคน ให้อยู่ร่มเย็นเป็นสุข น้ำนี้ไม่ได้ไปเลี้ยงผู้ใดผู้หนึ่ง เลี้ยงทั้งหมด ทั้งแผ่นดิน เทวดา เราลืมเขา เขาก็ลืมเรา ลืมที่จะตอบแทนบุญคุณของท่าน แต่เดี๋ยวนี้เราก็ดีแล้ว ที่สร้างช้างเผือกมาตอบแทนบุญคุณ แม่น้ำลี้ไปถึงไหนก็กระจายไปถึงนั่น สามัคคีกันหมด ไม่ว่าต่ำหรือว่าสูง เราจะช่วยเหลือเพื่อให้แม่น้ำลี้มีความอุดมสมบูรณ์

 

แม่น้ำลี้เป็นแม่น้ำที่มีต้นน้ำและปลายน้ำตลอดความยาว 180 กิโลเมตรอยู่ในจังหวัดลำพูน ต้นน้ำอยู่ที่บ้านหนองหลัก อำเภอทุ่งหัวช้าง ไหลผ่านอำเภอลี้ อำเภอบ้านโฮ่ง และไหลลงสู่แม่น้ำปิง ที่กิ่งอำเภอเวียงหนองล่อง ซึ่งที่นี่คือจุดตั้งต้นของประเพณีแห่ช้างเผือก

แม้ความพยายามแก้ปัญหาจะมีมาโดยตลอด แต่การแก้ปัญหาที่ว่ามุ่งใช้เพียงวิธีการสมัยใหม่ เช่นการสร้างเขื่อน ฝายคอนกรีต โดยมองข้ามการจัดการน้ำในมิติของชุมชนท้องถิ่น

ศรีวัง ตาปัญญ ผู้อาวุโสบ้านทุ่งโป่ง ต.เหล่ายาว อ.บ้านโฮ่ง
จ.ลำพูน

คือสมัยก่อนนี้พอใกล้ฤดูทำนา เขาจะไปทำฝายแบบใช้ไม้ พวกชาวนาเตรียมไม้ทุกฝาย แต่เดี๋ยวนี้ฝายเป็นคอนกรีต การทำเหมืองฝายของชาวบ้านก็เลยหายไป

ความร่วมแรงร่วมใจไม่มีเลย คอยแต่ใช้น้ำอย่างเดียว เดี๋ยวนี้เจาะบาดาลบ้าง ขุดบ่อบ้าง ก็ใช้เครื่องสูบน้ำ ก็เลยไม่ค่อยสนใจเรื่องเหมืองฝาย แบบตัวใครตัวมัน

 

พิธีแห่ช้างเผือก

 

การพื้นฟูประเพณีแห่ช้างเผือกในครั้งนี้ได้เริ่มต้นที่ปลายน้ำและเดินทางผ่านชุมชนท้องถิ่นต่าง ๆ ตลอด 14 วันไปตามสายน้ำลี้ที่ไหลพาดผ่านเพื่อนำช้างเผือกขึ้นไปถวาย ณ ต้นน้ำลี้ ที่ดอยสบเทิม ตลอดเส้นทางของการเดินทาง ได้รื้อฟื้นอดีตที่เคยลืมเลือน ความทรงจำที่เคยห่างหาย และคุณค่าที่ดีงามของประเพณีแห่ช้างเผือก ให้กลับคืนมาสู่จิตใจของผู้คนในท้องถิ่นลำพูน

สิงห์ใจ ปัญโญ ผู้อาวุโสบ้านทุ่งโป่ง ต.เหล่ายาว อ.บ้านโฮ

จ.ลำพูน
สมัยเป็นเด็ก เป็นหนุ่ม ยังได้หามนะ คนถามว่าเมื่อก่อนนี้ เขาช่วยกันตลอด ทุกหมู่บ้านในลุ่มแม่ลี้ที่อาศัยอยู่กินกับแม่น้ำลี้นะ ก็มีวัฒนธรรม การทำอย่างนี้มันจะคล้ายว่าเป็นการขอฝน เพราะว่าสมัยก่อนเชื่อว่าถ้าฝนไม่ตกเราจะไหว้วอนขออินทร์ขอพรหมให้ฝนตก
ถ้าเกิดว่าการฟื้นฟูของเก่าขึ้นมานี้ ถ้ามันเห็นผลทันตาในระยะปีนี้ น้ำดีขึ้นมา กลับคืนขึ้นมา ความเชื่ออาจจะสูงขึ้น วันนี้ก็มีแต่เป็นส่วนน้อย ไม่คำนึงเพราะกระแสอย่างอื่นเข้ามายุ่งนัก การทำมาหากินก็เลยลืมไปว่าสมัยก่อนถ้าฟ้า

ฝนไม่ตกเขาทำอะไรกันบ้าง จะว่าเป็นกุศโลบายก็ได้หมายความว่าเป็นอุบายที่จะทำให้คนฉลาด ความรู้ขึ้นมา ถ้าเอามาทำร่วมกันเป็นความสามัคคี บางคนจะได้รู้จักกัน

จากวัดสู่วัด ชุมชนสู่ชุมชน เพื่อรวมใจให้เป็นหนึ่ง ในการฟื้นฟูสายน้ำลี้ให้ไหลรินอีกครั้ง เป็นเวลากว่า 3 ปีแล้ว ที่ชาวบ้านตำบลบ้านปวง อำเภอทุ่งหัวช้าง ร่วมกันดูแลและฟื้นฟูป่าชุมชนแห่งนี้ และวันนี้ถือว่าเป็นวันพิเศษที่ชาวบ้านจากบ้านสันดอนฮอม ตำบลบ้านปวง มาช่วยกันปลูกป่า แน่นอนว่า การแห่ช้างเผือกคงไม่ใช่เป็นเพียงพิธีกรรมที่จัดขึ้นและจบไปเมื่อถึงต้นน้ำเท่านั้น แต่จะเป็นจุดเริ่มต้น ของการค้นหาเครือข่ายความร่วมมือในทุกภาคส่วน ร่วมกันศึกษาปัญหา ข้อเท็จจริง และช่วยกันดูแลรักษา เพื่อนำไปสู่การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในพื้นที่ลุ่มน้ำลี้ อย่างยั่งยืนต่อไ

ตระการชัย ธรรมานุวงศ์ คณะทำงานโครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะฯ จ.ลำพูน

ทุกเรื่องของวัฒนธรรม แฝงหรือซ่อนไว้ด้วยความดีทั้งนั้น ในอนาคตน้ำน่าจะเป็นกรณีที่มีความรุนแรงขัดแย้งสูง เพราะฉะนั้นช้างเผือกคงแฝงไว้ด้วยความสามัคคี คุณธรรม แต่ช้างเผือกคงเป็นการเชื่อมโยงไปสู่เรื่องการฟื้นฟู ก็ต้องมาพัฒนาคนก่อน โดยใช้วัฒนธรรมเป็นตัวสื่อ เป็นตัวเครื่องมือในการทำให้คนมีสำนึกมีจิตใจอยากร่วมช่วยเหลือกัน อยากสามัคคี อยากฟื้นฟู และกลับมาเป็นหมู่เดียวกัน เป็นพวกเดียวกัน

 

แสงเมือง ทาวี ชาวนาบ้านศรีดงเย็น ต.ตะเคียนปม อ.ทุ่งหัวช้าง จ.ลำพูน


สมัยก่อนห้วยใหญ่กว้าง ทำนามาก่อนห้วยนี้กว้างใหญ่ ลึก

 

แม้ความเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นมากมายในทุกวันนี้ แต่สำหรับชาวปกาเกอญอที่บ้านหนองหลักยังคงสืบทอดความเชื่อและพิธีกรรมดั้งเดิมเกี่ยวกับการดูแลรักษาป่า และต้นน้ำลำธาร เช่นเดียวกับการแห่ช้างเผือก แม้ในระยะหลังจะทำไม่ทั่วถึงทุกอำเภอในลุ่มน้ำลี้ แต่ที่บ้านหนองหลักยังคงสืบทอดประเพณีพิธีกรรมนี้มาตลอด

พ่อหลวงสุคำ ปุ๊ดแค เล่าว่าในอดีตการนำช้างเผือกขึ้นไปถวายยังต้นขุนน้ำลี้ที่ดอยสบเทิม ต้องใช้การเดินทางด้วยเท้าตลอดระยะทาง 11 กิโลเมตร แต่หลังจากมีการสร้างอ่างเก็บน้ำแม่ลี้ตอนบนขึ้นมา เมื่อปี พ.ศ.2535 ในบริเวณเส้นทางเดินขึ้นสู่ต้นน้ำ ทำให้ไม่สามารถขึ้นไปถวาย ณ จุดต้นน้ำที่แท้จริงได้ จึงได้ใช้อ่างเก็บน้ำแม่ลี้เป็นจุดต้นน้ำในการถวายช้างเผือกแทน

สุคำ ปุ๊ดแค พ่อหลวงบ้านหนองหลัก ต.ตะเคียนปม อ.ทุ่งหัวช้าง จ.ลำพูน

สมัยนั้นเดินไปถวาย ไปขอขมาลาโทษ ชาวบ้านชาวช่องที่ทำสิ่งที่ไม่ดี กับแม่น้ำลำคลอง ขอขมาลาโทษ และเอาช้างเผือกไปถวาย ขอน้ำฝน เราก็ทำกันมา สมมติปีไหนไม่มีมา และบ้านเมืองไม่แห้งแล้ง ก็มีฟ้ามีฝนอยู่เราก็ไม่ทำ ถ้าว่าปีไหนบ้านเมืองแห้งแล้ง ไม่ค่อยมีฟ้ามีฝน เราก็ทำ ทำอย่างนี้ตลอดไป

คิดว่าคนลุ่มน้ำจะได้รู้จักกัน ส่วนมากถ้าได้คุยกัน ได้ปรึกษากัน ได้วางแผนกัน มันถึงดี ฝนไม่ได้ตกมาห่า (ครั้ง)เดียว เป็นน้ำมาเลยมันก็ไม่ค่อยมี มันต้องตกมาหลาย ๆ (ครั้ง)ห่า แต่ว่าถ้าป่าหมด ของนี้มันเกี่ยวโยงกันทั้งนั้น มันต้องรักษาป่าด้วย รักษาแม่น้ำลำคลองด้วย ถ้าไม่คิดร่วมกัน ไม่ทำร่วมกัน ไม่ช่วยเหลือกัน จะกลับมา100เปอร์เซ็นต์เป็นไปไม่ได้

 

ตระการชัย ธรรมานุวงศ์ คณะทำงานโครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะฯ จ.ลำพูน

จากช้างเผือกเสร็จ ต่อไปจะพัฒนาเป็นคณะกรรมการลุ่มน้ำแม่ลี้ภาคท้องถิ่น เป็นคนท้องถิ่นล้วน ๆ ลุกขึ้นมาบอกว่าเขาอยากทำอะไร เป็นตัวชี้อันหนึ่งที่บอกได้ว่า หลังจากช้างเผือก ชะตากรรมเหล่านี้ คงต้องผูกติดรวมกัน พูดคุยกัน ช้างเผือกคงเป็นกรณีหนึ่งของวัฒนธรรมท้องถิ่นที่ทำให้จิตวิญญาณของท้องถิ่นเข้มแข็งขึ้นและมีพลังมากขึ้น จะด้วยวิธีใดก็แล้วแต่ที่จะสามารถให้ท้องถิ่นเข้มแข็ง และพึ่งตัวเองได้ ตรงนี้สำคัญ ถ้าเมื่อไหร่ท้องถิ่นอ่อนแอ การพัฒนาหรือการก้าวไปข้างหน้ามีปัญหาแน่

 

สารคดี : บ้านเมืองเรื่องของเรา ชุดชีวิตสาธารณะ – ท้องถิ่นน่าอยู่
ผลิตโดย : งานพัฒนาการสื่อสารฯ โครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะท้องถิ่นน่าอยู่ สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา

Be the first to comment on "แห่ ช้างเผือก ฟื้นชีวิตแม่น้ำลี้ ที่ลำพูน"

Leave a comment

Your email address will not be published.