โครงการ ชชต.ประชุมความร่วมมือภาคีชายแดนใต้
เลขา เกลี้ยงเกลา : รายงาน
ประธานโครงการสนับสนุนชุมชนท้องถิ่นเพื่อฟื้นฟูชายแดนภาคใต้ (ชชต.) ประชุมปรึกษาหารือแนวทางสนับสนุนโครงการฯ คณะทำงานสนับสนุนวิชาการระดับจังหวัด 3 จังหวัด มีหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง พร้อมรับข้อเสนอแนะเพื่อให้การทำงานร่วมกันในพื้นที่เป็นไปด้วยดี
เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2557 นายแพทย์พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนาและประธานโครงการ ชชต.เป็นประธานในการประชุมปรึกษาหารือแนวทางสนับสนุนโครงการ ชชต. คณะทำงานสนับสนุนวิชาการระดับจังหวัด 3 จังหวัด โดยมีหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง นายกองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น (อบต.) ทั้ง 6 ตำบล ผู้ประสานงานในพื้นที่และผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม ณ ห้องกลางชล โรงแรมซี.เอส.ปัตตานี
นายแพทย์พลเดช กล่าวถึงผลการดำเนินงานของโครงการ ชชต.ในระยะแรกว่า มีการประสานงานกับหน่วยงานรัฐไม่มาก แต่ใกล้ชิดกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในโครงการระยะที่สองจึงเป็นการทำงานประสานงานกับหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องมากขึ้น
“โครงการ ชชต. เป็นการทำงานแบบไตรภาคคือ ธนาคารโลก กระทรวงการคลัง และสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา ซึ่งทำงานในพื้นที่มาตั้งแต่ปี 2552- 2555 เป็นเวลา 3 ปี ที่มั่นใจในผลงานและทางธนาคารโลกสนับสนุนอีก 4 ปี จนถึงปี 2559 ในพื้นที่ 6 ตำบล 43 หมู่บ้านนำร่องของ 3 จังหวัดชายแดนใต้ และมีคณะทำงานสนับสนุนวิชาการระดับจังหวัดทั้งสามจังหวัด ซึ่งโครงการที่ลงไปทำในชุมชนอาจดูน้อยแต่เรามุ่งมั่นทำงานเชิงคุณภาพให้ได้องค์ความรู้ ให้ชุมชนพัฒนาด้วยความเข้มแข็ง ดูแลตัวเองได้ท่ามกลางสถานการณ์ความไม่สงบ การลงไปฝังตัวทำงานอย่างต่อเนื่องถึง 7 ปีทำให้ตกผลึกในความรู้และประสบการณ์ที่เป็นประโยชน์ เป็นทรัพย์สินทางปัญญาที่มีคุณค่า ข้าราชการได้นำไปใช้ให้เป็นประโยชน์ในการทำงานต่อไป”
นายแพทย์พลเดช กล่าวต่อว่า ผลผลิตที่ได้เป็นภูมิปัญญา เป็นความรู้ที่มีคุณค่าสำหรับการพัฒนาชายแดนใต้ในระยะยาว
“เราต้องการให้ช่วยรับฟังการพัฒนาที่นักพัฒนาอิสระของเราทำอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยคณะทำงานสนับสนุนวิชาการควรมีการประชุมเป็นประจำอย่างน้อย 2 เดือนต่อครั้ง เพื่อรายงานความก้าวหน้าอย่างเป็นทางการ รับข้อร้องเรียน ข้อเสนอแนะ ปัญหาและอุปสรรค กลไกการดูแลสนับสนุนและความเข้าใจกันอย่างต่อเนื่อง และขอให้พูดคุยกันอย่างเปิดเผยเพราะเมื่อจบโครงการในสามปีจะต้องส่งมอบโครงการต่อให้กับทางภาครัฐ
พบว่าภายในเวลา 3 ปีที่มีแนวทางที่ให้ชุมชนขับเคลื่อนด้วยตัวเอง ทำให้การสานสัมพันธ์ในชุมชนกลับมา มีเป้าหมายที่ชุมชนคิดเอง ทำเองเช่นกลุ่มออมทรัพย์ กลุ่มทำขนม ซึ่งทางโครงการได้ช่วยอำนวยความสะดวกและวิเคราะห์ เห็นได้ชัดว่า เกิดผู้นำธรรมชาติ ชาวบ้านกล้าพูด มีความมั่นใจ กล้าจัดการ มีทักษะและประสบการณ์ เกิดภาวะความเป็นผู้นำและสัมพันธ์ในชุมชนที่มีความสงบและเข้าใจต่อกัน”
การดำเนินงานในชุมชน นอกจากผู้ประสานงานในพื้นที่ของโครงการ ช.ช.ต.แล้วยังมีบัณฑิตอาสาเป็นแรงหนุนสำคัญ ทุกชุมชนที่โครงการเข้าไปดำเนินการล้วนเป็นประโยชน์ต่อชาวบ้านซึ่งนายแพทย์พลเดชกล่าวว่า
“ธนาคารโลกเป็นเพื่อนที่มีคุณค่า ที่ให้ชุมชนขับเคลื่อน การทำงานในที่เดิม ชุมชนเดิมให้มีความแข็งแรงต้องทำซ้ำประมาณ 5 รอบ กระบวนการทำงานเป็นการสอนและฝึกชุมชนในการพูดคุย ปรึกษากันในชีวิตประจำวันได้แท้จริง ในเวลา 3 ปีที่โครงการลงไปจะเป็นชุมชน เข้มแข็งกระจายตัวออกไป สร้างเมล็ดพันธุ์ที่แข็งแรง สร้างบุคลากรในพื้นที่ใหม่อย่างมีคุณภาพและทักษะแบบใหม่ สิ่งที่ทำมาทั้งหมดคือการสร้างคน สร้างลูกหลานให้เป็นผู้นำในอนาคต เป็นนักพัฒนาในมิติใหม่”
นายอับดุลอาซิซ เจะมามะ รองประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาส กล่าวว่า อย่าทอดทิ้งเรื่องที่เกี่ยวข้องกับศาสนา เพราะความเชื่อมั่นจะลดลงทันที
“ประชาชนในพื้นที่ต้องการสันติภาพและความสงบสุข และต้องการพื้นที่ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมที่มีความสงบสุขอย่างแท้จริง ซึ่งโครงการนี้คงไม่เกินแรงของอบต.แต่ละแห่ง และอย่างทอดทิ้งในเรื่องที่เกี่ยวกับศาสนาเพราะจะทำให้ความเชื่อมั่นลดลงในทันที”
นายรอซีดี เลิศอริยะพงษ์กุล เลขานุการสภาประชาสังคมชายแดนใต้ กล่าวว่า การใช้คนเป็นศูนย์กลางและใช้การพัฒนานำไปสู่ความเข้มแข็ง ต้องดูว่าเครื่องมือการพัฒนาจะนำไปสู่การแก้ปัญหาความไม่สงบและลดความขัดแย้งได้หรือไม่ จะหาจุดร่วมในความเหมือนและความต่างอย่างไรที่จะนำไปขยายผลในพื้นที่ต่างๆ หากมีพื้นที่ที่เป็นรูปธรรมก็จะสามารถใช้ได้ในทุกพื้นที่
ทั้งนี้ ในระยะเวลา 3 ปีแรก โครงการฯ ได้ดำเนินการสนับสนุนชุมชนท้องถิ่นและภาคประชาสังคมใน 2 แนวทางคือ 1) แนวทาง CDD(Community-Driven Development Approach) ในพื้นที่เป้าหมาย 27 ชุมชน 107 โครงการ จำนวนเงิน 16,146,465 บาท ผู้ได้รับผลประโยชน์จากโครงการ 16,667 คน คิดเป็นร้อยละ 61 ของประชากรในพื้นที่เป้าหมาย ร้อยละ 25 เป็นโครงการของกลุ่มผู้หญิง 2)แนวทาง PPF เป็นการสนับสนุนโครงการพัฒนาขนาดเล็กแก่กลุ่ม องค์กรและเครือข่ายภาคประชาสังคมภายใต้กองทุน Peace-building Partnership Fund (PPF) ให้การสนับสนุนทุนรวม 25 โครงการ จำนวนเงิน 9,223,860 บาท มีผู้ได้รับประโยชน์จากโครงการทั้งสิ้น 114 กลุ่ม/องค์กร ครอบคลุมใน 83 ชุมชน 92 ตำบล
โครงการระยะที่สองเริ่มตั้งแต่เดือนกันยายน 2556-กุมภาพันธ์ 2559 ได้รับความร่วมมือจากองค์กรภาคี 8 หน่วยงานได้ลงนามความร่วมมือ ณ กระทรวงการคลังเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2556 ประกอบด้วย สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง, สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา มูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา,ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้,กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย, กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย, กระทรวงแรงงาน, สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
สำหรับโครงการ ชชต.ในระยะขยาย(Expanding Community Approaches in Conflict Situation in Three Southernmost Provinces in Thailand-ECACS)มีภารกิจประกอบด้วย 1)ขยายการมีส่วนร่วมของชุมชนในการวางแผนและพัฒนาครอบคลุมทุกชุมชนในพื้นที่ 6 ตำบลคือ ต.ปะเสยะวอ อ.สายบุรี และ ต.พ่อมิ่ง อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี / ต.อาซ่อง อ.รามัน และ ต.ห้วยกระทิง อ.กรงปินัง จ.ยะลา / ต.โคกเคียน อ.เมือง และ ต.เกาะสะท้อน อ.ตากใบ จ.นราธิวาส 2)สนับสนุนการทำงานและเสริมพลังเครือข่ายภาคประชาสังคมที่มีศักยภาพได้แก่ เครือข่ายสภาประชาสังคมชายแดนใต้ เครือข่ายสตรี เครือข่ายสิ่งแวดล้อม และเครือข่ายเยาวชน รวมทั้งทุนสนับสนุนองค์กรประชาสังคมในโครงการที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการสันติภาพอีก 10 โครงการ 3)พัฒนาศักยภาพบุคลากร ชุมชน นักกิจกรรมสังคมและอาสาสมัครในพื้นที่ (Capacity Building-CB) 4)ติดตาม ประเมินผลและสื่อสารสังคม (Monitoring Evaluation and Communication-MEC) ในหลากหลายช่องทางและรูปแบบ 5)นิเทศและประสานสนับสนุน(Supervision Support and Coordination-SSC)
Be the first to comment on "โครงการ ชชต. ประชุมความร่วมมือภาคีชายแดนใต้"