โค้งสุดท้ายโหวตปฏิรูป : มังกรไฟ หรือ คชสาร

โค้งสุดท้ายโหวตปฎิรูป : มังกรไฟ หรือ คชสาร

     

     ๑. ไร้ร่องรอยพรรคปฏิรูป

จนแล้วจนรอด ตลอด 50 วันของการรณรงค์โหวตปฏิรูปไม่พบว่ามีพรรคการเมืองใดเลยที่เสนอขายนโยบายปฏิรูปการเมือง-การปกครองแก่ประชาชนผู้มีสิทธิลงคะแนนเลือกตั้งครั้งนี้

ทุกพรรคมัวแต่แข่งนโยบายประชานิยมและพร่ำพูดคำปรองดองกันอย่างนามธรรมโดยมิเอ่ยถึงการปฏิรูปการเมือง-การปกครองในเชิงโครงสร้างซึ่งเป็นผลประโยชน์ระยะยาวของประเทศชาติ ดังนั้นหากภาคประชาชนยังคงมุ่งหวังที่จะได้มาซึ่งนโยบายดังกล่าว จำเป็นต้องอาศัยพลังปฏิรูปนอกสภาในการผลักดันให้รัฐบาลใหม่บรรจุเรื่องนี้ไว้ในนโยบายที่จะแถลงต่อรัฐสภา นี่คือภารกิจในการตั้งทิศประเทศในช่วง ๑๐๐ วันต่อไปของเครือข่ายพลเมืองอภิวัฒน์

 

๒. พลังนอกสภาหลังเลือกตั้ง

                ขณะนี้ทุกฝ่ายเห็นตรงกันหมดว่า ภายหลังการเลือกตั้ง ๓ กรกฎาคมนี้ ใครมาเป็นรัฐบาลก็เละทั้งคู่ ไม่ว่าจะเป็นพรรคเสื้อแดง หรือพรรคสีฟ้าเพราะประเทศยังคงอยู่ในช่วงของความโกลาหลไร้ระเบียบ ความแตกแยกรุนแรงรอวันระเบิดและ CHAOS ที่ใหญ่กว่ากำลังจะมาถึงใน ๑-๒ ปีข้างหน้า ใครเป็นรัฐบาลก็อย่านึกว่ามีเสถียรภาพแล้ว แม้ว่าจะครองเสียงข้างมากแบบถล่มทลายเพราะพลังการเมืองภาคประชาชนวันนี้แข็งแรงมากและพร้อมที่จะลุกขึ้นมาต่อต้านหากทำอะไรบ้าๆ องค์กรอิสระตรวจสอบและศาลรัฐธรรมนูญคือพลังตุลาการภิวัฒน์ที่เป็นตัวถ่วงดุลย์สำคัญ นอกจากนั้นพลังกองทัพที่มีภารกิจในการพิทักษ์ราชบัลลังก์ และปกป้องบ้านเมืองก็มีท่าทีที่ไม่ย่อมนิ่งเฉยเช่นกัน

 

๓. โหวตยุทธศาสตร์

กระแสความนิยมของพรรคเสื้อแดงโดยรวมทั่วประเทศดูเหมือนว่าจะเหนือกว่าพรรคสีฟ้าอยู่มาก จนทำให้ปัญญาชนและชนชั้นกลางที่รังเกียจพฤติกรรมคนเสื้อแดงอย่างเข้าไส้ ชักหวั่นวิตก การรณรงค์ไม่เลือกพรรคเผาบ้านเผาเมืองจึงเกิดขึ้นอย่างเร่งด่วนในช่วงโค้งสุดท้าย ด้วยวิธีนี้จะสามารถแก้เกมส์พรรคเสื้อแดงซึ่งเชี่ยวชาญด้านการตลาดอย่างเหนือชั้นได้ทันเวลาหรือไม่ อีก๒-๓วันเท่านั้นจะได้รู้กัน แต่สำหรับพวกเราพลังการเมืองภาคพลเมือง จะต้องยึดมั่นในเรื่องการโหวตเชิงยุทธศาสตร์โดยไม่ปล่อยให้อารมณ์ชอบ-ไม่ชอบในทางส่วนตัวมาทำให้ไขว้เขว การโหวตยุทธศาสตร์ต้องเอาประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติในระยะยาวเป็นที่ตั้ง

๔. รัฐบาลเป็ดง่อย

 

ปัญหาใหญ่ของการเมืองไทยที่มีมาอย่างยาวนานคือ เรื่องการบริหารประเทศโดยรัฐบาลพรรคผสม ซึ่งทำให้อ่อนแอ เกิดการประนีประนอมผลประโยชน์ ควบคุมกันไม่ได้ ไร้ประสิทธิภาพ ไม่มีประสิทธิผลจนเป็นที่มาทางการปฏิรูปการเมืองครั้งแรก จากนั้นเมื่อมีรัฐธรรมนูญ ๒๕๔๐ ทำให้เรามีกลไกอิสระตรวจสอบเกิดขึ้นมากมาย มีการเมืองภาคพลเมืองที่เติบใหญ่และได้รัฐบาลคุณทักษิณที่คุมเสียงข้างมากจึงแข็งแรงสมใจนึก แต่โชคไม่ดีที่รัฐบาลพรรคเดี่ยว ของคุณทักษิณกลับมีปัญหาทุจริตคอรัปชั่นอย่างมโหฬารจนประชาชนกลุ่มใหญ่ทนไม่ได้จึงลุกขึ้นมาขับไล่ตุลาการภิวัฒน์ต้องออกโรงทำหน้าที่ สังคมแตกแยกเป็นสองขั้วอย่างรุนแรงและทำท่าจะเกิดการปะทะกันบานปลาย ทหารจึงเข้ามาทำรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ แต่เป็นการแทรกแซงในฐานะผู้ปกป้อง (Protector) มิใช่ผู้ยึดอำนาจเพื่อปกครอง (ruler) ต่อมาเกิดโชคไม่ดีซ้ำสอง เมื่อฝ่ายคุณทักษิณและมวลชนที่ศรัทธาไม่ยอมแพ้ มีการต่อสู้กันไปมานำมาสู่การจราจลใหญ่ถึงขั้นยึดสนามบินและเผาบ้านเผาเมืองติดต่อกันถึง ๓ ปี คือ ๒๕๕๑ ๒๕๕๒ และ๒๕๕๓ ในช่วงหลังสุดรัฐบาลคุณอภิสิทธิ์เป็นรัฐบาลผสมที่ต้องเอาใจพรรคขนาดกลางอย่างเหนือหัว เพื่อประคับประคองบ้านเมือง การคอรัปชั่นยิ่งทวีความรุนแรงจนนักธุรกิจทนไม่ได้ลุกขึ้นมาประกาศก่อตั้งเครือข่ายต่อต้านทุจริตอย่างครึกโครม มวลชนเสื้อแดงถือโอกาสก่อกวนไม่หยุดหย่อนจนกระทั่งถึงเวลารัฐบาลยุบสภาเพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ซึ่งคนทั่วไปต่างคาดกันว่าคงจะได้รัฐบาลพรรคผสมซึ่งเป็นรัฐบาลเป็ดง่อยอีกตามเคย

 

๕. รัฐบาลพรรคเดี่ยว

 

เป้าหมายของการโหวตยุทธศาสตร์ ๒๕๕๔ คืออะไรแน่ ระหว่างโหวตแซงก์ชั่นนักการเมืองสีเทา-หลังยาว-ดิบเถื่อน หรือโหวตเลือกพรรคที่เอาปฏิรูป (ซึ่งไม่มีพรรคใดเลย) หรือโหวตโนสั่งสอนนักการเมืองและเปิดทางขับเคลื่อนปฏิรูปการเมืองหลังเลือกตั้ง (ซึ่งกลุ่มเสื้อเหลืองรณรงค์ และประชาชนหลายส่วนลังเล-สับสน) เครือข่ายพลเมืองอภิวัฒน์รณรงค์โหวตปฏิรูปในช่วง ๕๐ วันก่อนการเลือกตั้งอันหมายรวมถึงการโหวตทั้ง ๓ แบบข้างต้น แต่เมื่อประเมินสถานการณ์ในช่วงโค้งสุดท้ายอย่างรอบคอบรอบด้านแล้วจึงเห็นว่าการโหวตยุทธศาสตร์ ๒๕๕๔ น่าจะพุ่งเป้าไปที่การให้มีพรรคใดพรรคหนึ่งที่ชนะแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเพื่อให้สามารถจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดี่ยวได้เพราะรัฐบาลพรรคเดี่ยวจะมีเสถียรภาพภายในและมีศักยภาพในการบริหารบ้านเมืองให้เกิดประสิทธิผลมากกว่ารัฐบาลพรรคผสม ยิ่งในยามที่ประเทศต้องเข้าเผชิญกับ CHAOS ใหญ่ที่กำลังจะมาถึง ยิ่งต้องการทั้งรัฐบาลที่แข็งแรงและพลังสังคมที่เข้มแข็งประกอบกัน ถึงเวลาที่พลังการเมืองภาคพลเมืองหรือพลังปฏิรูปนอกสภาจะต้องกล้าใช้งานรัฐบาลมังกรไฟ หรือรัฐบาลคชสาร ไม่ใช่รัฐบาลที่ป้อแป้แบบเป็ดง่อย โดยท้าทายตัวเองว่าจะต้องขึ้นคาบขี่มันให้ได้ เพื่อใช้เป็นพาหนะขับเคลื่อนประเทศออกจากวิกฤตที่เรื้อรังเสียที

 

๖. มังกรไฟหรือคชสาร

พรรคหนึ่ง : ซาดิสม์ ถ่อยเถื่อน เอาใจคนรากหญ้า ประมาทหน้าชนชั้นกลาง การตลาดเยี่ยมยุทธ์ทั้งใต้ดินบนดิน ทั้งเผาเมืองทั้งขู่กรรโชก ฝักใฝ่เขมร แค้นเคืองเบื้องสูง มุ่งยึดอำนาจรัฐ ล้างมลทินส่วนตัว บริหารแบบธุรกิจ ทุจริตแบบเหนือเมฆ มวลชนถูกเสกนะจังงัง

พรรคหนึ่ง : สุภาพเชื่องช้า รากหญ้าไม่ชื่นชอบ นบนอบปัญญาชน ยึดกฎหมายเป็นหลักสรณะ ไม่อภัยคนทุจริต แต่ปล่อยคนใกล้ชิดขี้โกง บริหารเรื่อยเฉี่อย เหนื่อยใจภาคี เป็นผู้ดีตีนตะแคง ปกป้องสถาบัน ประจัญหน้ากัมพูชา ถึงเวลาต้องเลือกแล้ว

รัฐบาลเดี่ยวของพรรคแรกเปรียบเหมือน มังกรไฟ ส่วนรัฐบาลเดี่ยวของพรรคหลังคือ คชสาร ทั้งคู่มีพลังมากกว่า เป็ดง่อย แน่นอน และมีพลังมากพอที่จะนำพาสังคมไทยออกจากวิกฤตเรื้อรังได้

 

โหวตยุทธศาสตร์ ๒๕๕๔ คือเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งแบบบัญชีรายชื่อ และแบบแบ่งเขต

 

 

๗. การตัดสินใจของคนส่วนใหญ่

ในกระแสความนิยมขณะนี้ แม้ว่าพรรคมังกรไฟ (เสื้อแดง) จะมีโอกาสชนะมากกว่าแต่ก็ยังไม่เบ็ดเสร็จเด็ดขาด โอกาสที่พรรคคชสาร(สีฟ้า)จะชนะก็มีได้หากเกิดปรากฎการณ์แลนด์สไลด์สีฟ้าที่ภาคใต้และกทม.ขึ้นพร้อม ๆ กัน ดังนั้นการโหวตยุทธศาสตร์ทั่วประเทศและโดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคที่เป็นยุทธศาสตร์ของแต่ละพรรคมีความสำคัญระดับที่ชี้ขาดสำหรับเรา เครือข่ายพลเมืองอภิวัฒน์คงทำอะไรไม่ได้มากนักในช่วงสุดท้ายนี้ดังนั้นใครที่รับไม่ได้กับพรรคและแนวร่วมมวลชนที่เผาบ้านเผาเมือง ต้องหลับหูหลับตาเลือกพรรคสีฟ้ากันให้ถ้วนหน้าเพื่อให้ชนะคู่แข่งเด็ดขาด แต่ถ้าเบื่อหน่ายเหลือเกินกับพรรคที่พูดเก่ง บริหารงานยืดยาด ก็จงเลือกพรรคเสื้อแดงให้ขาดลอยไปเลย ส่วนใครที่ทำใจไม่ได้จะโหวตโนทั้ง ๒ แต้มก็ไม่มีใครว่า เพราะโหวตโนไม่ใช่เรื่องเสียของเสมอไป หากโหวตโนมีจำนวนมากถึง ๑ ล้านเสียงก็จะเป็นปัจจัยเอื้อให้กับพลังปฏิรูปนอกสภาที่จะใช้เพื่อควบขี่มังกรไฟหรือคชสารไปทำการใหญ่

๘. เผชิญความเป็นจริง

หากได้รัฐบาลมังกรไฟ แม้ว่าเขาจะฮึกเหิมมากแต่ก็จะไม่กล้าบุ่มบ่ามทำอะไรตามใจตัว เพราะเขารู้ว่ามีศัตรูมาก มีบทเรียนเจ็บปวดมาแล้วหลายครั้งและคงเกรงโอกาสที่ได้จะกลายเป็นวิกฤตซ้ำรอยเดิม จุดนี้จะเป็นช่องทางในการเข้าควบขี่ของกลุ่มพลังปฏิรูปนอกสภา ส่วนถ้าเป็นรัฐบาลคชสาร แม้เขาจะดีใจจนสุดขีดก็จะตระหนักถึงบุญคุณของพลังเงียบที่ออกมาทุ่มให้ในช่วงโค้งสุดท้ายจนชนะอย่าง เขาจะรู้ตัวว่าบัดนี้พลังทางสังคมเข้มแข็ง รู้เท่าทันและมีวุฒิภาวะสูงกว่าเก่า บทเรียน ๒ ปีครึ่งของการเป็นรัฐบาลช่วงที่ผ่านมาจะเป็นจุดอ่อนที่กลุ่มพลังปฏิรูปนอกสภาเข้าขับเคลื่อนได้โดยทันที

๙. เข้าสู่สนามประลอง

 

ถึงเวลาที่เครือข่ายพลเมืองอภิวัฒน์จะต้องเข้าสู่สนามพลังแห่งอำนาจ และเข้าร่วมในสนามประลองในฐานะพลังปฏิรูปนอกสภา ซึ่งจะต้องเผชิญหน้ากับรัฐบาลที่แข็งแรง ไม่ว่าจะเป็นมวยไฟเตอร์แบบรัฐบาลมังกรไฟ หรือเป็นมวยบ็อกเซอร์แบบรัฐบาลคชสาร ทั้งปะทะทั้งสังสัณฑ์ ทั้งตรวจสอบทั้งร่วมมือ ทั้งหวานชื่นทั้งขมขื่น แต่อย่าลืมว่าในสนามประลองที่เต็มไปด้วยภาวะ CHAOS ฝุ่นตลบอบอวนครั้งนี้ยังมีกลุ่มพลังอื่นๆ เข้าร่วมเล่มเกมส์นี้อยู่ด้วย ไม่ว่าจะเป็นพรรคฝ่ายค้าน วุฒิสภา องค์กรตรวจสอบตามรัฐธรรมนูญและกองทัพ อย่างไรก็ตามส่วนอื่นๆ ที่ว่านี้ ไม่มีส่วนใดเลยที่มีความมุ่งหวังการปฏิรูปแบบเดียวกับเรา ดังนั้นคู่ต่อสู้หลักในคราวนี้คือ เรา การเมืองภาคพลเมือง กับรัฐบาลผู้กุมอำนาจสูงสูด ส่วนคนอื่นเป็นเพียงภาวะแวดล้อมที่อาจเป็นทั้งแรงเสริมและปัญหาอุปสรรคก็ได้

 

๑๐. หาญกล้าท้าทาย

เมื่อ ๔๐๐ ปีที่ผ่านมา คราวศึกยุทธหัตถีอันลือลั่น ช้างศึกของพระนเรศวรพลัดตกไปอยู่ท่ามกลางกองทัพของพระมหาอุปราชา เมื่อฝุ่นจางลงพระนเรศวรทรงใช้พระปฏิภาณไหวพริบและความกล้าหาญ ร้องท้าขึ้นว่า …… การศึกครั้งนี้ยิ่งใหญ่นัก คงจะไม่มียุทธหัตถีเช่นนี้อีกในภายภาคหน้า…… ใยเจ้าพี่จะยังรออยู่อีก จงไสช้างออกมาทำศึกกับเยี่ยงวีระกษัตริย์ให้รู้แพ้รู้ชนะกัน….

                วันนี้ พระนเรศวรคือพลังปฏิรูปนอกสภา

                ส่วนพระมหาอุปราชคือพลังการเมืองที่เข้ายึดกุมอำนาจรัฐ ไม่ว่าเขาจะใส่เสื้อสีแดงหรือสีฟ้า ไม่ว่าเขาจะเป็นมังกรไฟหรือเป็นคชสาร

 

                ถึงเวลาไสช้างเข้าสู่สนามประลองแล้ว

 

 

พลเดช ปิ่นประทีป

Be the first to comment on "โค้งสุดท้ายโหวตปฏิรูป : มังกรไฟ หรือ คชสาร"

Leave a comment

Your email address will not be published.