โอกาสอยู่ที่ตัวคุณ

“ทุกคนมีโอกาสขึ้นอยู่ที่เราจะไขว่คว้ามันหรือไม่” คำพูดลักษณะนี้ได้ยินบ่อยจนกลายเป็นสูตรสำเร็จในหนังสือฮาวทูที่วางขายเกลื่อนแผง …แต่ประเด็นสำคัญอยู่ที่ โอกาสมันเท่าเทียมกันและจะผ่านเข้ามาให้สำหรับทุกคนหรือไม่นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

 

โอกาสอยู่ที่ตัวคุณ



โดย : พิสิษฐ์ แซ่เบ๊  เมื่อ : 1/02/2005


วันหยุดสุดสัปดาห์อาจจะเป็นวันพักผ่อนของใครหลายคน แต่สำหรับผมนานๆ จะมีโอกาสย้ายตัวเองไปในสถานที่แปลกหูแปลกตาสักครั้งก็เป็นเรื่องดี เพราะไม่เช่นนั้นคงต้องขลุกตัวอยู่ในห้องเช่าใต้หลังคาที่ร้อนเหมือนเตาอบ และคงดีกว่าเปิดโทรทัศน์ทิ้งให้รายการเกมโชว์ดูเราอยู่ทั้งวัน “ไปพักผ่อนจิตใจช่วยเหลือคนอื่นบ้างชีวิตจะได้ดีขึ้น” เขาว่าอย่างนั้น โดยส่วนตัวแม้ไม่ได้หวังจะไปเก็บบุญเผื่อใช้ชาติหน้า แต่ก็ไม่ใช่เรื่องเลวร้าย และการได้รู้ได้เห็นก็ไม่ใช่เรื่องขาดทุนอะไร

สะพานปูนแคบๆ เลาะไปตามร่องน้ำครำของซอยราษฎร์บูรณะ 26 พอให้เห็นเค้าเดิมว่าเมื่อก่อนแถบนี้คงเป็นชุมชนสลัมที่ใหญ่แห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร บ้านหลายหลังยังรักษาเอกลักษณ์ดั้งเดิม ใต้ถุนยกสูงหนีน้ำ ฝาบ้านถูกตีปิดด้วยคัตเอาท์หาเสียงและป้ายโฆษณาหลากสี เรามาหยุดยืนที่บ้านหลังหนึ่ง ป้ายเขียนว่า สถานรับเลี้ยงเด็กยากจนบ้านครูน้อย

“มาเลี้ยงอาหารใช่มั้ยคะ” เสียงเจ้าหน้าที่ตะโกนถามแข่งกับเสียงเด็กที่เจี๊ยวจ๊าวภายในบ้าน ก่อนเดินมาเปิดประตูพาเราเข้าไปภายใน อาหารถูกจัดเตรียมไว้พร้อมแล้วจากการประสานงานล่วงหน้า ทั้งเด็กเล็กเด็กโตนั่งกันเต็มลานบ้าน เหมือนรอประธานตัดริบบิ้นเปิดงาน

“ถ้าไม่มีใครมาเลี้ยงเด็กที่นี่คงไม่ได้กินดีๆ อย่างนี้หรอก” นวลน้อย ทิมกุล หรือครูน้อย เจ้าของบ้านกล่าวขึ้นขณะที่เด็กกำลังตั้งหน้าตั้งตาอยู่กับการรับประทานอาหารเย็นที่เราจัดเลี้ยง จะว่าไปแล้ว สถานสงเคราะห์เด็กยากจนแห่งนี้ตั้งขึ้นมาตั้งแต่ ปี 2523 เพื่อให้เด็กยากจน ลูกกรรมกรก่อสร้าง เด็กที่ครอบครัวแตกแยก หรือพ่อแม่ที่ต้องโทษจำคุกจากคดียาเสพติด ได้มีที่พัก ได้มีอาหารประทังชีวิต ที่สำคัญได้เรียนหนังสือ ครูน้อยจึงเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป

เด็กทุกคนมีภูมิหลังที่แตกต่างกัน พฤติกรรมที่แสดงออกอาจจะก้าวร้าวรุนแรง และไม่ไว้วางใจคนรอบข้าง นั่นเพราะสถานการณ์สร้างให้พวกเขาเป็นเช่นนี้ ครูน้อยเชื่อว่าความรักและการเอาใจใส่บวกกับโอกาสที่มอบให้จะทำให้เขากลับมาใช้ชีวิตร่วมกับคนในสังคมอย่างมีคุณภาพต่อไป แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่สลัดเบื้องหลังอันบอบช้ำแล้วไขว่คว้าหาโอกาสหรือที่ยืนในสังคมได้สำเร็จ

“ทุกคนมีโอกาสขึ้นอยู่ที่เราจะไขว่คว้ามันหรือไม่” คำพูดลักษณะนี้ได้ยินบ่อยจนกลายเป็นสูตรสำเร็จในหนังสือฮาวทูที่วางขายเกลื่อนแผง ฟังดูคล้ายกับคำพูดที่ว่า “ความพยายามอยู่ที่ไหนความสำเร็จอยู่ที่นั่น” แต่ประเด็นสำคัญอยู่ที่ โอกาสมันเท่าเทียมกันและจะผ่านเข้ามาให้สำหรับทุกคนหรือไม่นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

วันนี้มีใครประมาณการได้หรือไม่ว่า ทั้งขอทานเก๊และขอทานจริงมีอยู่จำนวนมากน้อยเท่าไหร่ในกรุงเทพฯ คำตอบคงไม่เป็นที่แน่ชัด เขาเหล่านั้นไม่ลุกขึ้นมาไขว่คว้าหาโอกาสที่ดีกว่าอย่างนั้นหรือ แต่เราจะสรุปแบบง่ายๆ สั้นๆ ได้หรือไม่ว่า เขาและเธอเหล่านี้คือผลพวกแห่งการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน จนถูกสังคมเบียดขับให้กลายเป็นองค์ประกอบชำรุดหน่วยหนึ่งของประชากร และจำต้องคัดทิ้งหากมีการจัดลำดับประชากรคุณภาพ

ไม่เลย !!! หลายคนอาจโต้แย้งในประเด็นนี้ เขาอาจพอใจและเลือกที่จะเป็นเช่นนี้ต่างหาก ที่สำคัญพวกเขาไม่ต้องการอะไรมากไปกว่าเศษสตางค์ที่คุณหยิบยื่นให้ ทั้งๆที่ทุกคนมีโอกาสถีบตัวขึ้นมายืนอยู่แถวหน้าได้เท่าเทียมกัน จากนั้นก็มักจะมีตัวอย่างประกอบมากมาย ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นคนเด่นดังที่เรารู้จักในวงสังคม

สรุปก็คือโอกาสมีพอเพียงสำหรับคนที่ยื่นมือออกมาคว้ามัน คำอธิบายในทำนองนี้ผมมักได้ยินอยู่เสมอๆเช่นกัน

เหตุใดหญิงขายบริการในบ้านเราถึงมีสูงถึง 200,000 กว่าคน และในจำนวนนี้ 40,000 คนเป็นเด็ก!!! แน่ใจได้อย่างไรว่าเธอเลือกที่จะหลบซ่อนอยู่ตามมุมมืดของต้นมะขาม และแอ่นอกให้สังคมตรีตราว่า ‘กระหรี่‘ อย่างหน้าชื่นตาบาน ในประเทศเดียวกันนี้เองมีลูกของกรรมกรก่อสร้างประมาณ 30,000 คนที่ไม่ได้รับการดูแลและเล่าเรียน มีเด็กเร่ร่อนครอบครัวแตกแยกอยู่13,322 คน (ข้อมูลจากองค์กรทุนแห่งสหประชาชาติหรือ UNICEF) ไม่เพียงแค่นั้น ข้อมูลจากกรุงเทพมหานครระบุว่า มีชุมชนแออัดอยู่ 1,224 แห่งและมีประชากร 1.26 ล้านคน มีเด็กที่อยู่ในวัยเรียน 75,163 คนแต่ 36 เปอร์เซ็นต์ไม่ได้เรียนหนังสือ…

เอาล่ะนี่เป็นสถิติที่ทำไว้เมื่อ 10 กว่าปีที่แล้วซึ่งปัจจุบันอาจมีการคลาดเคลื่อนเรื่องตัวเลข แต่ผู้คนเหล่านี้เขายอมจำนนต่อชะตากรรมโดยไม่คิดยื่นมือออกมาคว้าโอกาสกระนั้นหรือ ???

เราน่าจะมีการสำรวจกันให้ชัดเจนไปเลยว่า มีใครบ้างที่ต่อสู้จากความไม่มีอะไรเลย เผชิญหน้ากับความยากจนข้นแค้นแสนสาหัสแต่กลับประสบความสำเร็จ อย่างที่รายการสู้แล้วรวยชอบเอามาออกอากาศ และมีกี่คนที่ล้มระเนระนาด พังพาบอยู่กับพื้น เชื่อแน่ว่าอย่างหลังไม่ได้ออกอากาศ ที่กล่าวมาทั้งหมดไม่ได้แสดงว่าผมค้านคัดมนุษย์เดินดินกินข้าวแกงที่มีความมุมานะทำงานจนร่ำรวย กลับยิ่งชื่นชมยินดีอยู่ในใจ แต่มีความเป็นไปได้น้อยมากที่จะใช้สูตรสำเร็จของใครบางคนมาเป็นบรรทัดฐานสำหรับทุกคน

ในยุคจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งเป็นยุคที่เริ่มมีการใช้แผนพัฒนาแห่งชาติ มีคำขวัญที่ว่า “ไม่มีความยากจนในหมู่คนขยัน” ฟังผิวเผินก็อาจจะจริง แต่รูปธรรมที่มองเห็นมันฟ้องความลักลั่นสวนทางกันโดยสิ้นเชิง กรรมกรก่อสร้างทำงานแทบตายรายได้ไม่พอยาท้อง เกษตรกรลงแรงเพาะปลูกพืชทั้งปี ผลผลิตที่ได้ไม่พอค่าปุ๋ยค่ายา รัฐท่านก็หวังดีเอาพืชพาณิชย์ไปให้ปลูก เกษตรกรต้องไปกู้หนี้ยืมสินสุดท้ายราคาตลาดตกต่ำ จำต้องบุกทำเนียบฯร้องทุกข์ ท่านกลับเอาหมามาไล่กัดแล้วบอกช่วยไม่ได้เป็นไปตามกลไกตลาด แต่ค่าหัวคิวในการประมูลเมล็ดพันธุ์ไปนอนรออยู่ในกระเป๋าเรียบร้อยแล้ว ส่วนประเด็นเรื่องฮั้วประมูลก็ละไว้ในฐานที่เข้าใจ

แต่แล้วท่านก็ยังเหลือใยส่งโครงการใหม่ลงไปให้อีก เหมือนอย่างในโฆษณาทีวีที่ให้ชาวบ้านเร่งสร้างผลิตภัณฑ์ โดยเอาท่อนซุงใหญ่ลงไปให้ ปรากฏว่าจากท่อนซุงทำไปทำมากลายเป็นไม้จิ้มฟัน ในความเป็นจริง กว่าที่จะมาถึงหมู่บ้านท่อนซุงก็กลายเป็นไม้จิ้มฟันเสียก่อนแล้ว แทะมาตามรายทางจนเหี้ยนไปหมด เนื้อหาในโฆษณากลับแสดงออกมาในทำนองที่ดูถูกชาวบ้านว่าโง่ไม่มีความคิด โครงสร้างสังคม กลไกรัฐ มันไม่ได้เอื้อประโยชน์และโอกาสให้แก่คนอย่างทั่วถึง แต่กลับเปิดช่องให้คนเพียงบางกลุ่มเข้าฉกฉวยโอกาสแก่พรรคพวกเพื่อนพ้อง ช่องทางที่จะเดินไปสู่ความสำเร็จนั้นจึงกว้างแคบไม่เท่ากัน

ลูกกรรมกรก่อสร้างกับลูกผู้มีอันจะกิน โอกาสทางการศึกษาย่อมแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ครั้นต้องวิ่งสู่ระบบการแข่งขันก็ย่อมเสียเปรียบเป็นธรรมดา สุดท้ายบางคนต้องเลิกเรียนไป สถานการณ์ทำให้การเดินทางไปสู่ใบปริญญาเป็นเรื่องยากเย็นเกินกว่าจะเข้าใจในคนปกติ ฉะนั้นอย่าได้โยนคำว่าไม่รักดีให้แก่ผู้อื่นโดยเราไม่รู้สภาพที่แท้จริง

วันนี้สังคมต่างฉุดกระชากให้คนเข้าสู่ตระแกรงร่อน ฐานะ ตำแหน่งทางการงานและหน้าตาในสังคมกลายบรรทัดฐานความสำเร็จของชีวิต ต่างฝ่ายจึงวิ่งเข้าหาโอกาสและพยายามตะเกียกตะกายขึ้นมาไม่ว่าจะด้วยวิถีทางที่ถูกต้องหรือไม่ก็ตาม ขณะเดียวกันก็หาทางปรับเปลี่ยนช่องโอกาสให้เปิดรับเฉพาะบางกลุ่ม ปิดช่อง กีดกันผู้ที่เข้ามาแข่งโอกาสกับตน

เมื่อวัตถุ ความสะดวกสบายคือเครื่องการันตีคุณค่าชีวิต กลไกทางสังคม ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว เพื่อนฝูง สถาบันการศึกษา และค่านิยมทางสังคม ก็ทำหน้าที่หลอมรวมให้ผู้คนวิ่งไปตามซองที่กำหนด เราต่างปลาบปลื้มที่ได้เชือดเฉือนเหนือคู่แข่งในโลกธุรกิจ และยังกวาดต้อนให้ลูกของเราเชื่อว่านี่คือที่สุดของการมีชีวิตคุณภาพ ผิดจากนี้ก็คือความนอกคอกไม่รักดี โดยลืมไปว่าในวันหนึ่งๆ เรากำลังใส่อะไรลงไปในวิญญาณของเด็ก ทำให้เขาขลาดกลัวเกินกว่าจะตั้งข้อสงสัยเรื่องความมั่นคงในชีวิตที่แท้จริง และเมื่อมนุษย์คนแรกตัดสินใจเดินออกจากถ้ำ นั่นแสดงว่าคุณจะเผชิญกับความความน่ากลัวของสัตว์ป่าในทุ่งโล่ง การดูถูกหยามหยัน ประณามว่าเป็นคนล้มเหลว

ผมคาดหวังที่จะเห็นโครงสร้างอันพิกลพิการนี้เปลี่ยนไป แต่ก็ไม่ใช่แค่ลืมตาตื่นจะเป็นจริง แม้สิ่งที่ครูน้อย ทำในตอนนี้จะเป็นการช่วยเหลือในระยะสั้น หรือบางคนจะพูดว่าเกาไม่ถูกที่คัน ควรจะเข้าไปแก้ปัญหาที่ต้นตอสาเหตุ ไม่เช่นนั้นปัญหาเด็กยากจน ครอบครัวแตกแยก ฯลฯ ก็ไม่มีทางหมดไปจากสังคม นั่นก็คงถูกส่วนหนึ่ง แต่เมื่อเราเห็นคนที่กำลังจมน้ำอยู่ต่อหน้า เราจะไม่ยื่นมือเข้าช่วยก็กระไรอยู่ สังคมคงเหมือนกับขาตั้งกล้องที่ขาดขาหนึ่งขาใดไปไม่ได้ ต้องช่วยกันประคับประคองดูแลเท่าที่เงื่อนไขของแต่ละคนจะอำนวย แต่เมื่อถึงที่สุดแล้วเด็กทุกคนต่างต้องออกไปแสวงหาที่อยู่ที่ยืนของตัวเอง และเมื่อโอกาสผ่านเข้ามา มันขึ้นอยู่กับตัวเองว่าจะเลือกหรือใช้โอกาสนั้นไปเพื่อสิ่งใด

 

ที่มา :

www.Thaingo.org 

Be the first to comment on "โอกาสอยู่ที่ตัวคุณ"

Leave a comment

Your email address will not be published.