ไฟใต้…เมื่อไรจะเจรจาจริงจัง

ไฟใต้…เมื่อไรจะเจรจาจริงจัง

พลเดช  ปิ่นประทีป  /  เขียนให้โพสต์ทูเดย์  พุธที่ ๓ มิถุนายน ๒๕๕๖

          อันที่จริงผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่ายได้ริเริ่มการพูดคุยสันติภาพชายแดนใต้กันมาก่อนหลายปี  ต่อมาเมื่อคุณทักษิณ ชินวัตรได้ทำให้เป็นเรื่องครึกโครมในช่วงหลัง จะด้วยเจตนาอะไรก็ตามเถอะ มันได้จุดประกายความหวังทางสันติภาพให้ขยายไปในวงกว้าง โดยเฉพาะกับผู้คนที่อยู่อาศัยในพื้นที่ แต่สุดท้ายก็ยังไปไม่ถึงไหน

ส่วนหนึ่งเพราะทั้งรัฐไทยและกลุ่มขบวนการ ต่างฝ่ายต่างรู้ตัวดีว่าไม่สามารถรับปากอะไรกันได้แบบเต็มร้อย ไม่มีใครการันตีในความเป็นเอกภาพของฝ่ายตนได้  ต่างฝ่ายต่างก็มีทั้งเหยี่ยวและพิราบบินว่อนอยู่ข้างหลัง   ตัวแทนที่ไปนั่งพูดคุยต่างคนไม่มีใครมีอำนาจในการตัดสินใจจริงในการปรับเปลี่ยนทิศทางการปฏิบัติการในภาคสนาม

มาถึงวันนี้ ด้วยฐานประชาชนมลายูและมุสลิมในท้องถิ่นที่มีความผูกพันกันทางเชื้อชาติและศาสนานับล้านกับมวลชนในจัดตั้งนับแสน  และกองกำลังติดอาวุธที่อยู่ใต้ดินของฝ่ายขบวนการอีกร่วมหมื่น   ปราบอย่างไรก็ไม่หมดหรอกครับ

น่าเสียดายที่ฝ่ายรัฐเตรียมตัวน้อย ไม่ค่อยเป็นทีมและเอาแต่มองกล้องมากไปหน่อย  ในขณะที่ฝ่ายขบวนการมีข้อเสนอเชิงรุกทุกครั้งและเดินสองขาประสานกันทั้งในและนอกเวที  การพูดคุยที่สร้างสรรค์ไม่ควรมีใครได้เปรียบเสียเปรียบและควรมีความจริงใจต่อกันเป็นพื้นฐาน

ผมมีข้อเสนอบางประการต่อสาธารณะและผู้มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องในช่วงสถานการณ์นี้ ดังนี้

๑.รัฐไทยและบีอาร์เอ็นต้องตกลงใจเข้าสู่การเจรจาจริงเสียที

กระบวนการเจราจาสันติภาพมี ๔ ขั้นตอนใหญ่ๆ ๑) ขั้นการพูดคุยสร้างความคุ้นเคย ไว้วางใจ เชื่อมั่นต่อกัน  ๒) ขั้นการเจรจาต่อรองหรือการไกล่เกลี่ยโดยคนกลางเพื่อหาข้อยุติ  ๓) ขั้นการลงนามข้อตกลงสันติภาพ  ๔) ขั้นการติดตามผลการปฏิบัติตามข้อตกลงสันติภาพ

ขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นที่ ๑ แต่หลายฝ่ายเข้าใจผิดว่านี่เป็นการเจรจาแล้วและวุ่นวายไปกับการตอบโต้ประเด็นต่างๆ กันด้วยอารมณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพูดคุยผ่านสื่อแบบไม่ระมัดระวังและขาดประสบการณ์ยิ่งทำให้การเจรจามีความยากลำบาก  จึงควรที่คู่เจรจาทั้งสองฝ่าย ต้องตัดสินใจร่วมกันที่จะเข้าสู่การเจรจาจริงเสียที  ภายในสิ้นปีนี้ถือว่าไม่ช้าหรือเร็วจนเกินไปนะครับ

๒. ต้องตกลงกรอบประเด็นการเจรจากันเสียก่อน

สันติภาพไม่ใช่แค่การหยุดสู้รบเฉพาะหน้าเท่านั้น ที่สำคัญต้องนำไปสู่การแก้ไขรากเหง้าของความขัดแย้ง จึงจะเกิดความยั่งยืน

ในขั้นนี้คู่เจรจาหลักต้องร่วมกันกำหนดกรอบประเด็นเพื่อเป็นหัวข้อในการเจรจาอันจะนำไปสู่ข้อตกลงทีละข้ออย่างครบถ้วน เป็นชุด เช่นสมมติว่ามี ๑๐ ประเด็น ก็ประกาศออกมาให้ชัดเจน  

หัวข้อเหล่านี้จะใช้เจรจากันบนโต๊ะ  ไม่ใช่เจรจาผ่านสื่อ การเจรจาไม่ใช่งานพีอาร์ ใครที่รีบร้อนแสดงท่าทีต่อประเด็นไหนอาจตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบก็ได้ ต่างฝ่ายต่างต้องระมัดระวังคนของตนกันเอาเอง  ประเด็นที่ฝ่ายขบวนการเสนอออกมา ๕ ข้อ ๘ ข้อหรือฝ่ายรัฐจะเสนออะไรก็ให้นำมาขึ้นประเด็นเอาไว้ก่อน            

ตัวอย่างกรอบประเด็นการเจรจา  อาทิ  การยุติความรุนแรงรายวัน  การปล่อยตัวผู้ต้องหาคดีความมั่นคง  การยอมรับสถานะผู้ร่วมเจรจาและผู้เกี่ยวข้อง  สิทธิในการกำหนดตัวเองของชาวมลายูมุสลิมในด้านการปกครองและการพัฒนาพื้นที่  สถานะภาพคนไทยพุทธ คนจีนและชนกลุ่มน้อยอื่นๆ ในพื้นที่  ระบบยุติธรรมและความเป็นธรรมทางสังคม  การจัดการด้านการศึกษา ภาษาและวัฒนธรรม  รูปแบบการกระจายอำนาจ  การฟื้นฟูเยียวยาและการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นภายหลังเหตุการณ์  ฯลฯ

๓. ต้องกำหนดรูปแบบ โครงสร้างและองค์ประกอบผู้เข้าเจรจาให้ชัดเจน

 

ในสถานการณ์การพูดคุยในวันนี้ ผมคิดว่ารูปแบบที่เหมาะสมน่าจะเป็นการเจรจาไกล่เกลี่ยโดยมีคนกลาง (mediation)  มาถึงขั้นนี้แล้วไม่ควรคิดว่าเป็นเรื่องที่เสียหน้าเสียตาอะไรอยู่เลยครับ  มาเลเซียน่าจะเหมาะที่จะเป็นคนกลางอยู่แล้ว แต่เพื่อความสบายใจจะเพิ่มภาคประชาสังคมเข้าไปเสริมก็ยิ่งดี  ภาคประชาสังคมไม่ควรอยู่ในทีมของฝ่ายใด เพราะเป็นพลังอิสระที่จะสามารถช่วยได้ทุกฝ่ายเมื่อถึงทางตัน

 

สำหรับคู่เจรจาจะมีฝ่ายละกี่คน ระดับไหน ต่างฝ่ายต่างต้องเสนอมาให้เป็นที่ยอมรับร่วมกันเสียก่อนจึงเริ่มเข้าสู่เนื้อหาสาระ  ที่สับสนกันอยู่ตอนนี้ก็เพราะยังไม่ทันตกลงกรอบประเด็น หลักการและกระบวนการ ก็รีบกระโจนลงไปสู่เนื้อหา และไม่รู้ใครต่อใครออกมาแสดงความเห็นกันให้มั่วไปหมด

๔. ต้องตกลงกติกาการเจรจาให้ชัดเจนตั้งแต่แรก

จากประสบการณ์การเจรจาทั่วโลก  มีกฎกติกาที่มักตกลงกันก่อนอย่างน้อย ๓ เรื่องคือ  ๑)จะไม่ตกลงอะไรกันจนกว่าจะตกลงกันได้ครบทุกข้อแล้ว   ๒)จะไม่มีการแทรกแซงการถกเถียงภายในของอีกฝ่ายหนึ่ง   ๓)เวลาจะสื่อสารเรื่องราวสู่ภายนอก ทุกฝ่ายต้องยึดหลักจรรยาบรรณร่วมกัน

           ๕. ควรกำหนดกรอบเวลาการทำงานไว้เป็นเบื้องต้น

โดยทั่วไปการเจรจาสันติภาพจะใช้เวลาจริงเฉลี่ย ๕-๖ปี  สำหรับกรณีชายแดนใต้ คู่เจรจาอาจกำหนดกรอบในเบื้องต้นไว้ เช่นว่าจะพยายามบรรลุข้อตกลงหยุดยิงชั่วคราวให้ให้ภายในสามเดือน และบรรลุข้อตกลงสันติภาพทั้งชุดภายในสามปี เป็นต้น   

กรอบเวลาจะช่วยทำให้ทั้งสองฝ่ายต่างรู้ว่าจะต้องทำอะไรในช่วงไหน   ไม่ควรกำหนดกรอบเวลาที่เร่งรัดจนต่างฝ่ายต่างไม่มีโอกาสได้คิดใคร่ครวญอย่างรอบคอบ

          เมื่อเจรจากันจนได้ข้อตกลงครบถ้วนและพอใจในภาพรวมร่วมกันแล้ว จึงค่อยกำหนดพิธีลงนามข้อตกลงสันติภาพอย่างเป็นทางการ ซึ่งในสาระสำคัญของข้อตกลงดังกล่าว จะต้องไม่ลืมที่จะมีโรดแม็ปในการดำเนินการตามข้อตกลงและระบุกลไกการติดตามประเมินผลที่ชัดเจนเอาไว้ด้วย

Be the first to comment on "ไฟใต้…เมื่อไรจะเจรจาจริงจัง"

Leave a comment

Your email address will not be published.