16 เดือนที่ผมเป็นนักการเมือง: ตอนที่ 2 “สถานการณ์ยังร้อนแรง”

เปิดฉากสัปดาห์นี้ด้วยงานประชุมหารือเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง พี่เอนก นาคะบุตร อดีตเลขาธิการ LDI, อดีตผู้อำนวยการโครงการกองทุนเพื่อการลงทุนทางสังคม (Social Investment Fund : SIF), ปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการสถาบันจัดการความรู้ท้องถิ่น (LMI)และเป็นที่ปรึกษา World Bank ที่ประเทศลาว เป็นผู้ชวนเชิญอยากจะหารือว่าควรขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงในวโรกาส 60 ปีครองราชย์ และ 80 ปี ในหลวง

ที่ประชุมมี คุณสนธิญาณ (หนูแก้ว) ชื่นฤทัยในธรรม ผู้บริหารวิทยุ/นสพ. เครือ INN และร่วมด้วยช่วยกัน-มูลนิธิรักบ้านเกิดมาร่วมด้วย นอกจากนั้นก็มี ดร.วีระพันธุ์ พรหมมนตรี (อดีตสหายช่วง แห่งเขตงาน พคท.196- ภูเขียว) และน้องๆที่ LDI เช่น ภุชงค์ กนิษฐชาติ, อุทัย อัตถาพร, วิษณุ ศรีทะวงษ์, ชาญ รูปสม, สุทิน ธราทิน ฯลฯ

บ่ายวันจันทร์ 4 กย. ประชุมกับ สป.สช. (สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ) กับ รองเลขาธิการ สปสช. (นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ) และเจ้าหน้าที่ เป็นการประเมินผลความก้าวหน้าของโครงการจัดตั้ง “กองทุนหลักประกันสุขภาพ อบต.” ซึ่งLDI ช่วยดำเนินการอยู่

กองทุนสุขภาพชุมชนได้จัดตั้งไปแล้ว 800 กว่ากองทุน ในภาพรวมดำเนินไปได้ดี มีอุปสรรคบ้างจากการดื้อเงียบของอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ที่ไม่ยอมทำหนังสือแจ้งไฟเขียวแก่ อบต.ในการโอนเงิน

Concept สำคัญของกองทุนนี้ คือ สปสช. และ อบต. ตกลงกันว่าจะสมทบเงินเข้ากองทุน แล้วบริหารร่วมกันโดยประชาชนในชุมชนท้องถิ่นมีส่วนร่วม สปสช.จะโอนเงิน 37.50 บาท/หัวประชากรไปเข้ากองทุน ส่วน อบต. สมทบ 50%, 20%, 10% ของส่วนที่ สปสช.ให้ ทั้งนี้ตามขนาดของ อบต. แบ่งเป็นใหญ่-กลาง-เล็ก ตามลำดับ

งานนี้ อบต.ตื่นตัวเข้าร่วมกันมาก แต่กรมส่งเสริมฯ กลับห่วงและหวงเอาไว้ แต่ถึงอย่างไร อบต.ก็ไม่ฟัง พวกเขาตัดสินใจทำในส่วนที่อำนาจหน้าที่เปิดให้และด้วยงานนี้เองที่ LDI ได้มีโอกาสถักทอความสัมพันธ์กับสมาคม อบต. แห่งประเทศไทยอย่างแน่นแฟ้นทั่วประเทศอีกครั้ง

6 กันยายนลงพื้นที่ จังหวัดปัตตานี ในโครงการวิจัยประเมินขวัญกำลังใจของข้าราชการ จชต. กลุ่มที่ทำ FocusGroup วันนี้มี 2 กลุ่มเป็นระดับผู้บริหาร 1 กลุ่ม และระดับผู้ปฏิบัติการ 1 กลุ่ม

นุชนาฎ (จุ๊บ) และสมเกียรติ (เม้ง) เป็นนักวิจัย LDI ที่รับงานวิจัยชิ้นนี้มาจากศูนย์สนับสนุนการฟื้นฟูและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้กระทรวงศึกษาธิการ (ศพต.)

9 กันยายนไปพิษณุโลก เป็นประธานประชุมคณะกรรมการบริหาร สถาบันพัฒนาสี่แยกอินโดจีน (สพอ.) มีโอกาสไปเยี่ยมแม่และก๋งที่บ้านทั้งตอนเช้า และบ่ายกลับมานั่งเขียนหนังสือต่อที่บ้านจนถึงค่ำ

ทุกครั้งที่ประชุม สพอ. เรื่องหนึ่งที่กรรมการทุกคนอยากทราบคือ สถานการณ์บ้านเมือง!

ได้ชี้ให้พวกเขาเห็นประเด็นการต่อสู้ระหว่างทุนเก่ากับทุนใหม่ ได้คุยถึงหนังสือชื่อ The Revolutionary King :The True-Life Sequel to “The King and I” เขียนโดย William Stevenson หนังสือชี้ว่า ร.9 เผชิญกับอำนาจรัฐตำรวจมาตลอด การฆาตกรรม ร.8 เป็นฝีมือ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์, สมเด็จย่าอ้อนวอนภูมิพลไม่ให้ขึ้นเป็นกษัตริย์ แต่เมื่อขึ้นเป็น ร.9 จึงทรงงานหนัก และไม่ทรงยิ้ม มีการหนุนพลเอกสฤษดิ์ ธนรัชต์ โค่นเผ่าลง โดย CIA หนุนหลัง

ผมได้ชี้ประเด็นเพิ่มเติมให้คิดว่าวันนี้ ร.9 เผชิญกับเผด็จการ พรรคไทยรักไทยที่มี พตท.ทักษิณ ชินวัตร กุมอำนาจเบ็ดเสร็จ และกำลังทำให้ประเทศปกครองแบบรัฐตำรวจเช่นเดียวกับยุคเผ่า ศรียานนท์

สุดท้ายจึงได้คาดสถานการณ์การชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในวันที่ 20 กันยายน ว่าจะนำไปสู่ความรุนแรง !

นพ.พลเดช ปิ่นประทีป
10 กันยายน 2549

Be the first to comment on "16 เดือนที่ผมเป็นนักการเมือง: ตอนที่ 2 “สถานการณ์ยังร้อนแรง”"

Leave a comment

Your email address will not be published.