เช้าวันจันทร์ 11 ก.ย. หารือกับ สสส. (คุณณัฐพงศ์ – ผอ.แผนงานด้านชุมชน) ซึ่งได้รับมอบหมายให้ดูโครงการยุทธศาสตร์แก้ปัญหา จชต.โครงการเสนอไป 49 ล้าน แต่เขาคงยากลำบากและไม่สุกงอมที่จะสนับสนุนเต็มที่นัก จึงตกลงกันว่าจะลดขนาดลงเหลือเพียง 9 ล้านบาทและให้ปรับโครงการใหม่
งาน จชต. นั้นยากที่จะหาคนที่มีความรู้ ความเข้าใจและมีเงื่อนไขที่จะช่วยคลี่คลายปัญหาได้จริง ส่วนใหญ่นักวิชาการและผู้ทรงคุณวุฒิทั้งหลายก็มีแต่ความเห็นและจากความรู้สึกนึกคิดทั้งนั้น
ในช่วงที่ผ่านมา นับตั้งแต่เกิดเหตุปล้นปืนที่ค่ายปิเหล็ง อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เมื่อ 4 ม.ค. 2547 เป็นต้นมา ผมมีโอกาสได้เกาะติดสถานการณ์ ทำงานในทีมรองนายกฯ จาตุรนต์ ฉายแสง และรองนายกฯ พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ มาตลอด มีโครงการและกิจกรรมในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ทำงานใกล้ชิดกับแม่ทัพภาคที่ 4 ทั้ง พล.ท.พิศาล วัฒนวงศ์คีรี และ พล.ท.ขวัญชาติ กล้าหาญ
ในช่วงหลัง ความทราบถึงพระเนตร พระกรรณ สมเด็จพระราชินี ซึ่งต่อมาทีมทหารเสือราชินี (พล.ตรีประยุทธ จันทรโอชา) และ ดร.จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา (ผอ.สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์) จึงได้นัดพบปะหารือ และมีโครงการทำร่วมกัน
ปลายปี 2548 ได้รับการนัดหมายและถูกพาตัวไปพบกับทีมทหารเสือราชินี ที่ตำหนักทักษิณราชนิเวศ รวม 2 ครั้ง LDI ได้รับเงินสนับสนุนโครงการเยียวยาชุมชนจาก สนง.ทรัพย์สิน 550,000 บาท และสนับสนุนโครงการศูนย์เรียนรู้ชุมชนปอเนาะเข้มแข็ง ผ่านมูลนิธิรัฐบุรุษ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ 11.8 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้โครงการกำลังดำเนินการอยู่ เรื่องแบบนี้คนทั่วไปไม่มีใครรู้ รวมทั้ง ส.ส.ส.ด้วย เหตุผลผมที่บอก สสส. (นพ.สุภกร บัวสาย-ผู้อำนวยการ) คือ งานไฟใต้นั้น เรา ฝ่ายสันติวิธีอย่างไรเสียก็คือกระแสรอง แต่งานพัฒนาที่กำลังดำเนินอยู่นี้ มันมีความหมายยิ่งในฐานะที่เป็นสายใยเส้นท้าย ๆ ที่จะทำให้ สังคมมุสลิม จชต. ไม่ขาดสะบันไปจากสังคมใหญ่ งบประมาณทำงาน จชต.นั้นเราหาได้ไม่ยากเลย อยากทำอะไรก็มักจะมีเงินได้ทำเสมอ ทั้งจากรัฐและจากเบื้องบน แต่งบประมาณที่ได้นั้นมักเป็นลักษณะ Project-based ทำให้ขับเคลื่อนเชิงยุทธศาสตร์-ยุทธวิธีไม่ได้มากนัก จึงต้องการงบที่ยืดหยุ่นและมีอำนาจตัดสินใจใช้ได้เองอย่างคล่องตัวกว่า ถ้าเห็นว่าจะช่วยแก้ปัญหา จชต.ได้ และมี Trust ก็สนับสนุนมา ถ้าไม่ได้ก็ไม่ว่ากัน
สัปดาห์นี้ลงพื้นที่ปัตตานี 2 รอบ, ไปน่าน และไปลำปางอีกแห่งละวัน
พุธที่ 13 ก.ย. จัดเวทีระดมความคิดยุทธศาสตร์การพัฒนาซึ่งเป็นผลงานของคณะทำงานยุทธศาสตร์พัฒนา จชต.ของ ศพต. ที่ รมต.จาตุรนต์ แต่งตั้ง เอาร่างกรอบแนวคิดของคณะทำงานลงไปรับฟังความคิดเห็นกลุ่มเล็กๆ ที่มีความสำคัญในพื้นที่ ผู้เข้าร่วมประมาณ 40 คน ประเด็นระดมความคิดคือ
“จะพัฒนา จชต.อย่างไร จึงจะนำไปสู่การยุติสงคราม?”
“จะพัฒนา จชต.อย่างไร ให้สอดคล้องกับมิติทางประวัติศาสตร์, ชาติพันธุ์และวิถีชีวิตวัฒนธรรม?”
ศุกร์ 15 ก.ย. ไปพื้นที่ป่าชุมชนตำบลศิลาแลง อ.ปัว จ.น่าน ไปดูเป็นป่าที่เคยได้รางวัลลูกโลกสีเขียว ปีนี้กำลังจะพิจารณาให้รางวัล 5 ปี แห่งความยั่งยืน ที่นั่น อบต.มี 7 หมู่บ้านที่อยู่ติดชายป่า เนื้อที่ 12,000 ไร่ เขาตื่นตัวในเรื่อง “ป่าคือชีวิต” “น้ำคือสายเลือด” และดูแลทรัพยากรป่าได้อย่างดีเยี่ยม อาจกล่าวได้ว่าตำบลนี้คือตำบลเศรษฐกิจพอเพียงที่อิงฐานทรัพยากรป่าอย่างแท้จริง
16 กันยายนไปลำปางร่วมกับทีมงาน สปสช. ไปดูงานกองทุนสวัสดิการ ออมวันละ 1 บาท ของคุณสามารถ พุทธา ที่นี่คือจุดเริ่ม “กองทุนวันละบาท” เพราะเป็นแห่งแรกของประเทศก่อนที่ครูชบ ยอดแก้ว จะมาพบและนำไปขยายต่อที่สงขลาและที่อื่น ๆ ทั่วประเทศ สปสช.กำลังจะขอให้ LDI พัฒนารูปแบบการส่งเสริมระบบสวัสดิการของชาวบ้านแบบนี้ กลับจากพื้นที่แล้วมีการบ้านที่จะต้องสังเคราะห์และ design รูปแบบในการทำโครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการเสนอ สปสช.โดยเร็ว
วันอาทิตย์ที่ 17 กันยายน ลงปัตตานีอีกครั้งเพื่อเตรียมพื้นที่และร่วมงานเทปูนลงเสาเอก อาคารที่พักนักเรียนปอเนาะในโครงการสานใจไทยสู่ใจใต้ โครงการนี้เป็นโครงการที่ LDI เป็นฝ่ายริเริ่มไอเดีย สนง.ทรัพย์สินเป็นผู้สนับสนุนงบประมาณ (11.8 ล้าน) มูลนิธิรัฐบุรุษ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นผู้รับมอบเงินบริจาค ส่วนผู้ทำคือ LDI และเครือข่ายประชาคมมุสลิม จชต. ที่ร่วมงานกันมา 2 ปี กว่าตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ โครงการนี้อยู่ภายใต้ร่มโครงการสานใจไทยสู่ใจใต้ ที่มี ฯพณฯ องคมนตรี พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นประธาน วันนี้ พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์, พลเอกพงศ์เทพ เทศประทีป (อดีต เสธ.ทบ.), พลตรีนินนารถ (นายทหารคนสนิท) และคณะจากกรุงเทพฯ ลงไปร่วมพิธี งานจัดที่โรงเรียนปอเนาะวัฒนธรรมอิสลาม (ปอเนาะพ่อมิ่ง) อ.ปานาเระ จ.ปัตตานี พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ กล่าวกับผู้นำศาสนาและผู้นำชุมชนว่า “งานนี้ทั้งหมด คุณหมอพลเดช เป็นผู้ทำงานตัวจริง” ซึ่งก็เป็นการตอบสนองต่อประโยคที่ ท่านบาบอเฮง (เจ้าของโรงเรียน) กล่าวขึ้นก่อนว่า “หมอพลเดช อยู่ไหน ไปตามมาร่วมเทปูนลงเสาเอกด้วย เพราะโครงการนี้จะมีไม่ได้เลยถ้าขาดคุณหมอ”
ที่โรงเรียนปอเนาะพ่อมิ่งวันนี้คึกคักมาก โรงเรียนได้ซื้อที่ดินออกไปอีกหลายไร่เพื่อรอรับอาคารที่จะสร้างนี้ พี่แอ๊ด (พลตรีกลชัย สุวรรณบูรณ์) และดอน (วรรณชัย ไตรแก้ว) ช่วยกันเป็นธุระจัดการ ประสานอบจ. ให้เอาเครื่องจักรมาถมดินปรับพื้นที่ จนทันงานเทปูนเสาเอกพอดี ที่สวยมาก ทั้งแม่ทัพ ทั้งผู้ว่า ทั้งนายอำเภอ วันนี้มากันเพียบ เด็กนักเรียนและผู้ปกครองก็มากันอย่างเป็นระเบียบมาก หลังงานเลิก น้อง ๆ ในทีมประชาคมมุสลิม จชต. จับกลุ่มกันโดยมีมุกตาร์ กีละ เลขาธิการพรรคสันติภาพไทย และอดีต สส.ประชาธิปปัตย์หลายคนจับกลุ่มคุยการเมืองกัน เตรียมวอร์มอัพการเลือกตั้งที่จะมาถึง มุกตาร์เอาภาพโปสเตอร์ขนาดใหญ่เท่าผนังตึกคลี่ออกดู เป็นรูปทีมว่าที่ผู้สมัครของพรรคฯถ่ายกันเป็นหมู่ ทั้ง 3 จชต. ทุกคนมุงดูและพูดจากระเซ้าเย้าแหย่เป็นที่สนุกสนาน ผมแอบเชียร์พวกเขาอยู่ในใจ อยากเห็นพวกเขามีพรรคการเมืองของท้องถิ่นและเพื่อท้องถิ่นอย่างจริงจังเสียที
แต่ก็นั่นแหละวันข้างหน้าจะเป็นอย่างไร คงขึ้นอยู่กับพระประสงค์ของพระอัลเลาะห์ !
นพ.พลเดช ปิ่นประทีป
17 กันยายน 2549
—————————————————————————
Be the first to comment on "16 เดือนที่ผมเป็นนักการเมือง : ตอนที่ 3 สานใจไทยสู่ใจใต้"