เช้าวันจันทร์ 18 ก.ย.ไปสอนหนังสือที่โรงเรียนนายอำเภอ รุ่น 61 ที่วิทยาลัยการปกครอง
อ.ธัญบุรี
หลักสูตรนายอำเภอในระยะหลัง เขาได้บรรจุหัวข้อ “ประชาสังคมและการมีส่วนร่วมในการพัฒนา” ทำนองนี้เอาไว้ทุกรุ่น และมักจะเชิญผมไปเป็นอาจารย์บรรยายประจำเลยทีเดียว คราวละ 3 ชั่วโมงเต็ม สอนมาทั้งหมดร่วม 10 รุ่นแล้ว
เป้าหมายก็มุ่งพยายามให้ข้าราชการฝ่ายปกครองระดับอาวุโสที่กำลังจะเป็นนายอำเภอได้มีความรู้ความเข้าใจต่อการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนและมีทัศนคติเชิงบวก มิใช่มองอะไรที่คับแคบ ตายตัวและยึดติดภาพของ NGO แล้วเหมารวมว่าองค์กรภาคประชาชน-ภาคประชาสังคมทั้งหมดคือ NGO ที่มีปัญหากับราชการ
องค์กรภาคประชาชน (People Organization) มีทั้งที่เป็น
– NGO องค์กรพัฒนาเอกชน (Non Government Org.)
– CSO องค์กรภาคประชาสังคม (Civil Society Org.)
– CBO องค์กรชุมชน (Community-Based Org.)
ให้เข้าใจการเคลื่อนไหวเชิงสังคมวัฒนธรรม (Social Movement) ว่าแตกต่างจากการเคลื่อนไหวกดดันทางการเมือง (Political/Mass Moment) อย่างไร
ทางวิทยาลัยคงประเมินว่าวิชานี้เป็นประโยชน์ต่อนักศึกษาและได้รับการตอบรับที่ดี จึงคงไว้ในหลักสูตรมาค่อนข้างยาวนาน
19 กันยายน 2549 วันอังคาร มีนัดที่ LDI ทีมพูดคุยโครงการเศรษฐกิจพอเพียง มาติดตามงานกันว่าใครคิดและทำไปถึงไหน
คุณสนธิญาณ มาแต่เช้า ระหว่างรอประชุมได้เข้ามาพูดคุยด้วยที่ห้องพัก โดยสนธิญาณเปิดประเด็นว่าพรุ่งนี้ (20 ก.ย.) พลังของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจะมีมากแค่ไหน ทหารจะปฏิวัติแล้วหมอรู้ไหม?
ในส่วนตัวแล้ว ผมรับว่าไม่คิดเลยว่าการรัฐประหารยึดอำนาจจะเกิดขึ้นได้อีกหลังจากเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 เป็นต้นมา จึงฟังแบบผ่านๆ พร้อมกับซักถามต้อยถึงหลักฐานเหตุการณ์ที่เป็นสัญญาณบ่งบอก (Evidence)
สนธิญาณในฐานะนักหนังสือพิมพ์ผู้มีแหล่งข่าววงในมากมายบอกว่าในช่วง 2 สัปดาห์มานี้ ทหารฝ่ายเปรมซึ่งมี ผบ.ทบ. (พลเอกสนธิ บุณยรัตกลิน) โยงไปถึงพลเอกสุรยุทธ จุลานนท์ และพลเอกชวลิต ยงใจยุทธด้วย พวกนี้ได้พูดคุยกันค่อนข้างโจ่งแจ้งถึงเรื่องการยึดอำนาจ
ผมนึกย้อนกลับไปเมื่อ 2 วันก่อน ที่ปัตตานีทั้งพลเอกสุรยุทธ์, พลเอกพงศ์เทพ และพลตรีนินนารถ ทำไมดูนิ่งจัง ไม่มีอะไรบ่งบอกว่าจะมีเหตุการณ์ใหญ่เลย
สนธิญาณ ยกหูให้ลูกน้องที่กอง บก.ข่าว INN เช็คดูว่าเช้านี้นายกทักษิณสั่งประชุมด่วนทาง teleconference แต่ไร้เงาของ ผบ.ทบ. และ ผบ.เหล่าทัพ ใช่หรือไม่ ผมได้ยินเสียงสั่งทางโทรศัพท์ให้พาดหัวหนังสือพิมพ์ INN เลยว่า “นายกเรียกประชุมด่วน แต่ไร้เงา ผบ.เหล่าทัพ!”
วันนั้นทั้งวัน สนธิญาณคอยโทรมาบอกข่าวเป็นระยะๆ
บ่ายวันนั้น เรามีนัดประชุมกรรมการโครงการชุมชนปอเนาะเข้มแข็งที่มูลนิธิรัฐบุรุษ ซึ่งที่ประชุมมี พลตรีประยุทธ์ จันทร์โอชา รองแม่ทัพภาค 1 ซึ่งเป็นทหารเสือราชินีหมายเลข 2 ทำหน้าที่เป็นประธานเสียด้วย ปรากฎว่าประธานบอกผ่าน พต.นิธิ จึงเจริญ ซึ่งเป็นทหารคนสนิทว่าขอเลื่อนไปไม่มีกำหนดเพราะช่วงนี้ยุ่งมาก
ตอนนั้นผมรู้สึกว่าสิ่งที่สนธิญาณบอกมีน้ำหนักขึ้นเรื่อย ๆ แล้ว
คืนนั้นเอง การรัฐประหารที่ห่างหายไป 15 ปี ก็กลับมาเกิดอีกครั้งหนึ่งในตอนค่ำ ดร.วณี (ผู้เป็นใหญ่ในบ้านตัวจริง) เปิดโทรทัศน์คาเอาไว้ทั้งคืน รอว่าจะมีประกาศอะไรออกมาบ้าง
หลังการยึดอำนาจ ประกาศกฎอัยการศึก ห้ามชุมนุมเกิน 5 คน แต่เรายังคงประชุมทำงานกันภายในสำนักงานได้ตามปกติ โดยไม่มีใครมาห้ามปรามหรือขู่เข็ญในยุติ
หลายฝ่ายมองว่าการที่ “คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” (คปค.) ชิงการรัฐประหารเสียตั้งแต่คืนวันที่ 19 ก.ย.นั้นเป็นเพราะ เกรงว่าการชุมนุมใหญ่ของฝ่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจะนำไปสู่การปะทะรุนแรงกับฝ่ายมวลชนของรัฐบาล ทรท. เกรงจะเกิดความสูญเสียเลือดเนื้อและทรัพย์สินเกินกว่าที่จะคาดการณ์ได้และเกรงว่านายกทักษิณจะช่วงชิงกลับประเทศในวันที่ 21 ทั้ง ๆ ที่เดิมจะกลับ 24 ก.ย.โน่น
หลายฝ่ายโล่งอกเมื่อทหารยึดอำนาจในครั้งนี้ ชาวบ้านและสังคมทั่วไปนำดอกไม้ไปมอบทหารที่ประจำตามจุดต่าง ๆ ของกรุงเทพฯ พร้อมกับรถถัง ผล poll เชียร์ คปค. สูง 85-90% ทีเดียว
อาจารย์ผู้ใหญ่ท่านหนึ่งกล่าวว่าถ้าไม่มีการยึดอำนาจวันที่ 19 และปล่อยให้เหตุการณ์มาถึงวันที่ 20-21 อาจเกิดโกลาหล หรือจราจล ซึ่งอาจนำไปสู่ “การเปลี่ยนระบอบการปกครอง” เลยทีเดียว!!
อย่างไรก็ตามการทำงานก็ยังคงดำเนินต่อไป 20 ก.ย. ในการประชุมคณะกรรมการคัดเลือกรางวัลลูกโลกสีเขียว ที่ประชุมมีควันหลงจากเหตุการณ์ 19 ก.ย.มาคุยกันตลอดการประชุม
มีปัญหาฉุกเฉินเกิดขึ้นกับงานของ LDI เข้าจนได้เพราะเรามีโปรแกรมการประชุมขนาดใหญ่ ผู้เข้าร่วมประชุมระดับ 300-500 คน มีอยู่ 2 โครงการติด ๆ กัน ซึ่งได้ประกาศทางหนังสือพิมพ์และออกจดหมายเชิญผู้เข้าร่วมประชุมและวิทยากรไปหมดแล้ว
23-24 ก.ย.เป็นการประชุมใหญ่ โครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะ-ท้องถิ่นน่าอยู่ (HPL) ซึ่ง LDI, Civicnet, สสส. และข่ายงานประชาสังคม 35 จังหวัด ร่วมกันทำมา 3 ปี จบโครงการพอดี จะประชุมสั่งลาเป็นครั้งสุดท้ายในหัวข้อ “ทำการเมืองภาคพลเมืองในท้องถิ่นไทย”
26-27 ก.ย. เป็นการประชุมใหญ่ประจำปี ของโครงการเมืองน่าอยู่ (HC) ที่ LDI, มูลนิธิพัฒนาไท, สภาพัฒน์, สสส. ร่วมกันทำมาเป็นปีที่ 2
ทั้ง 2 งานได้เตรียมการไว้หมดแล้ว เรายืนยันไปกับทุกจังหวัดว่าคงไม่มีอะไรกระทบ เพราะเป็นงานวิชาการ ขออย่าได้หวั่นไหว
ต่อมาคุณกิตติศักดิ์ สินธุวณิชย์ รองเลขา สศช. เป็นฝ่ายออกปากมาว่า โครงการเมืองน่าอยู่ขอให้เลื่อนไปก่อนจะดีกว่า เขาอยู่ที่สภาพัฒน์ เขารู้สึกว่ากฎหมายของคณะรัฐประหารมันแรง กฎอัยการศึกจะทำเล่น ๆ ไม่ได้ พร้อมทั้งขอร้องว่าเลื่อนไปเถอะ
เดือดร้อนถึงผมในฐานะประธานโครงการทั้ง 2 โครงการ จะเอาไงดี?
จึงโทรไปหาพลเอกวิชิต ยาทิพย์ รอง.ผบ.ทบ. และเป็น รอง ผบ. กองบัญชาการคณะปฏิรูปฯด้วย พลเอกวิชิตเป็นลูกน้องคนสนิทของพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ซึ่งสนิทสนมกันดี เพราะท่านจิ๋วได้ตั้งพี่วิชิตเป็นประธาน ศตจ.จชต. โดยมีผมทำหน้าที่เป็นเลขา ศตจ.จชต.
พี่วิชิตบอกว่าหมอเลื่อนไปก่อนเถอะ พี่ว่าหมอคุมคนไม่ได้หรอก คน 300-500 คน เขาจะคุยอะไร ก่อตัวอย่างไร มันล่อแหลมมาก แต่ถ้าหมอจำเป็นจริง ๆ ขอให้ทำหนังสือมาที่พี่โดยตรงที่ บก.นะ
ผมกลับมานั่งชั่งใจดูหลายรอบ เสียดายที่เตรียมงานไปมากแล้ว และอยากให้จบงานเป็นชิ้น ๆ ไป
ในที่สุดก็คิดตก สั่งเลื่อนการประชุมทั้ง 2 งานออกไปโดยไม่มีกำหนด พวกน้อง ๆ ที่ LDI พากันโล่งอก พวกเขาก็คงกังวลด้วยกันทั้งนั้น แต่ก็แล้วแต่หัวหน้าทีมจะสั่ง สั่งเดินหน้า ก็ต้องเดิน สั่งถอยหลังก็ต้องถอย
เป็นอันว่า วันศุกร์ทั้งวัน รวมทั้งวันพฤหัสทั้งคืนต้องแจ้งยกเลิกประชุมไปยังเครือข่ายหลายร้อยคน ทำเอาสายโทรศัพท์แทบไหม้เลยทีเดียว
สัปดาห์นี้ทั้งสัปดาห์ งานหลายอย่างต้องชะงัก ทำให้มีเวลามาอยู่สำนักงานและพูดคุยกับน้องๆ ในสถาบันมากขึ้น และมีเวลาได้สะสางเอกสารที่คั่งค้างมาเสียที
นพ.พลเดช ปิ่นประทีป
24 กันยายน 2549
Be the first to comment on "16 เดือนที่ผมเป็นนักการเมือง: ตอนที่ 4 “คปค.ยึดอำนาจ”"