3 ปีแรกของการปฏิรูปประเทศไทย

การขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศไทยที่นำโดยสองผู้ทรงคุณวุฒิ กำลังออกตัวไปอย่างแข็งขันท่ามกลางความคาดหวังของคนจำนวนมาก

และเสียงดูหมิ่นถิ่นแคลนของคนอีกจำนวนหนึ่ง แต่คนทั่วไปที่เป็นพลังเงียบส่วนข้างมากของประเทศยังคงสาละวนกับการทำมาหากินเพื่อยังชีพไปวันๆ

ความขัดแย้งทางการเมืองจนถึงขั้น เผาบ้านเผาเมือง โดยมีคนไทยในคู่ขัดแย้งต้องสังเวยชีวิตร่วมร้อย และบาดเจ็บอีกนับพัน ธุรกิจเอกชนและเศรษฐกิจของประเทศถูกผลกระทบหนัก เหล่านี้ล้วนเป็นอาการที่สะท้อนว่าสังคมไทยมีความที่เกรี้ยวกราด, เอาแต่ใจตัว, อมโรค และอ่อนแอ

 

ธรรมชาติของการปฏิรูปใดๆ ล้วนเป็นกระบวนการต่อเนื่องที่ต้องอาศัยระยะเวลา และความวิริยะอดทน แต่คนไทยมักอยากได้สินค้า หรือบริการแบบสำเร็จรูปมากกว่า มักขาดความมีสำนึกว่าตนเองต้องร่วมลงแรงด้วย อุปมาดั่งการสั่งบริษัทมาติดตั้งแอร์เพื่อแก้ปัญหาอากาศร้อนในห้องนอนและจ่ายเงินซื้อ จากนั้นก็นั่งกระดิกเท้ารอรับสินค้า และบริการ หากไม่ได้ดั่งใจก็โวยวายอาละวาด

ท่านอานันท์ ปันยารชุน และอาจารย์ประเวศ วะสี กับคณะผู้ทรงคุณวุฒิของท่านไม่ใช่บริษัทรับเหมาติดตั้งแอร์นะครับ หากใครจะเข้าใจเช่นนั้นด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่ คงได้ผิดหวังแน่

หากเปรียบเทียบกับการปฏิรูปของสหรัฐอเมริกาภายหลังสงครามกลางเมือง คราวนั้นเขาใช้เวลา 12 ปีเต็ม (1865-1877) ส่วนญี่ปุ่นกับเยอรมันหลังการพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่สอง ก็ใช้เวลาฟื้นฟูประเทศถึงสองทศวรรษ นอกจากนั้นความสูญเสียของประเทศไทยในครั้งนี้เทียบไม่ได้กับประเทศทั้งสามในครั้งกระโน้น แรงกดดันให้คนไทยเกิดสำนึกการเปลี่ยนแปลงจึงไม่เท่าเขา ดังนั้นด้วยความเป็นธรรม เราควรเตรียมใจเพื่อการขับเคลื่อนขบวนการปฏิรูปไว้อย่างน้อยสิบปีครับ

อย่างไรก็ตาม หน้าต่างแห่งโอกาสที่เกิดขึ้นจากวิกฤตบ้านเมือง ครั้งนี้ล้วนเกิดจากการเคลื่อนไหวของกลุ่ม-ฝ่ายต่างๆ รวมทั้งสื่อมวลชน นักสันติวิธี ฝ่ายความมั่นคง และรัฐบาล เป็นเหตุปัจจัยประกอบกัน ผมจึงหวังว่าทุกขบวน ทุกกลุ่มจะเข้ามาขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใหญ่ ร่วมกัน โดยมีเป้าหมายใน 3 ปีแรกดังนี้ :

 

 

1. เร่งปรับเปลี่ยนทัศนคติ และสำนึกของคนไทยบางประการ

 

บทเรียนในการปฏิรูปการเมือง ปฏิรูประบบราชการ และปฏิรูปการศึกษาที่ผ่านมา เราเน้นที่การปฏิรูปกฎหมาย กลไก และระบบดำเนินงานกันเป็นส่วนใหญ่ โดยละเลยการปฏิรูปที่ตัวบุคคลที่รับผิดชอบ และสังคมที่เกี่ยวข้อง ในที่สุดนอกจากไม่ประสบความสำเร็จแล้ว บางเรื่องยิ่งทำให้ปัญหาซับซ้อนหนักไปกว่าเดิม

ถ้าคนไทยโดยรวมยังมีวิธีคิดและพฤติกรรมอย่างที่เป็นอยู่แม้บ้านเมืองจะเกิดการปฏิวัติประชาธิปไตยสำเร็จอย่างที่คนบางกลุ่มอยากเห็น ผมก็เชื่อว่าในที่สุดแล้วทัศนคติ สำนึก และนิสัยที่เป็นจุดอ่อนของคนไทยบางอย่างจะทำให้ความใฝ่ฝันดีๆต้องเสียของไปได้ในเวลาที่รวดเร็ว เหมือนหลายๆอย่างที่เคยไปลอกแบบฝรั่งมาแล้ว

ภายใน 3 ปีแรกของการปฏิรูป เราควรต้องรณรงค์ทุกรูปแบบอย่างมีศิลปะ และอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้คนไทยมีสำนึกรังเกียจคอร์รัปชั่นอย่างเข้ากระดูกดำ , ต้องทำให้คนไทยมีสำนึกในการปกครองด้วยตนเอง(self-governing) เพราะสำนึกแบบราษฎรในปกครองที่เอาแต่คอยเลือกนายหรือเรียกหาอัศวินม้าขาวมาช่วยนั้นไม่ได้แล้ว หรือแม้แต่สำนึกในการมีส่วนร่วมแบบตั้งรับก็ไม่เพียงพอเช่นกัน, ต้องทำให้คนไทยสำนึกรักชาติ รักชุมชนท้องถิ่น แน่นอนต้องเป็นความรักในเชิงสร้างสรรค์ ไม่ใช่บ้าคลั่ง และต้องทำให้คนไทยมีสำนึกต่อต้านการใช้ความรุนแรงตัดสินปัญหาอดทนและเคารพในความเห็นที่แตกต่าง ไม่ยอมให้ใครเผาบ้านเผาเมืองอีก ฯลฯ

ถึงเวลาที่สื่อมวลชน และศิลปินผู้รักชาติบ้านเมืองและมีสติปัญญาทั้งหลาย จะต้องมาช่วยกันทำงานนี้อย่างเต็มกำลังครับ

 

2. รณรงค์สร้างกระแสประชามติหนุนขบวนการปฏิรูปให้ต่อเนื่องต่อไป

 

 

 

อย่างที่ได้กล่าวแล้วข้างต้นว่าการปฏิรูปเป็นกระบวนการที่ต้องการความต่อเนื่องและใช้เวลา ดังนั้นภายใน 3 ปีแรก จำเป็นต้องสร้างกระแสสนับสนุนจากสาธารณชนให้กว้างขวางและแข็งแรงเพียงพอ จนถึงขนาด “ติดลมบน” ให้ได้ ทั้งนี้เพื่อเป็นหลักประกันว่าในปีต่อๆไป ขบวนการปฏิรูปจะยังคงขับเคลื่อนโดยไม่หยุดชะงักไปตามการเปลี่ยนแปลงด้านรัฐบาล

 

 

 

การรณรงค์สร้างกระแสสังคมเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ที่รอการรังสรรค์ของผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงทั้งหลายในทุกระดับซึ่งสื่อดั้งเดิมและสื่อมิติใหม่จะมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่ง นอกจากนั้นการสำรวจประชามติอย่างมียุทธศาสตร์ (Strategic Poll) ก็มีความสำคัญครับ

 

3. สนธิพลังเครือข่ายทางสังคมให้แข็งแกร่งทั้งแผ่นดิน

 

พลังประชามติเป็นกระแสสังคมที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ โดยไม่มีใครสามารถจัดตั้งสั่งการได้ ส่วนพลังเครือข่ายคือพลังที่เกิดจากการจัดตั้งหรือจัดการ ซึ่งทั้งสองรูปแบบเป็นองค์ประกอบสำคัญของพลังทางสังคมในภาพรวม

สิบปีที่ผ่านมานี้มีเครือข่ายทางสังคมเกิดขึ้นและขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ทั้งในเชิงพื้นที่ เชิงประเด็น และในวงการอาชีพต่างๆ ดังนั้นการสนธิกำลังระหว่างเครือข่ายที่มีศักยภาพต่างๆ ในลักษณะข้ามพื้นที่ ข้ามประเด็น ข้ามวัฒนธรรม คือ เป้าหมายรูปธรรมในการสร้างพลังทางสังคม อันเป็นพลังหลักในการปฏิรูปประเทศไทย ทั้งเฉพาะหน้า และในระยะยาว

ขบวนสมัชชาปฏิรูป 14 เครือข่าย ที่คณะของอาจารย์หมอประเวศ กำลังเตรียมการ แท้ที่จริงคือภารกิจที่ว่านี้

 

 

4. จัดตั้งกองทุนสนับสนุนการปฏิรูปภาคปฏิบัติอย่างเพียงพอ

 

เพื่อเป็นการเตรียมการขับเคลื่อนขบวนปฏิรูปประเทศไทยให้ต่อเนื่อง ภายใน 3 ปีแรกจึงควรใช้ความพยายามอย่างเต็มที่ในการจัดตั้ง และพัฒนาระบบกองทุนสนับสนุนเครือข่ายปฏิบัติการของภาคประชาชนให้เกิดขึ้นอย่างเพียงพอ ซึ่งรูปแบบกองทุนเพื่อการลงทุนทางสังคม (SIF) และกองทุน สสส. นับเป็นต้นแบบที่ดี

ในด้านสิ่งแวดล้อม เรามีกองทุนสิ่งแวดล้อมดำเนินงานมานานเกือบ 20 ปีแล้ว ภายใต้กระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมแต่มีบทบาทแคบมาก และอยู่ในระบบราชการ หากปฏิรูปเสียใหม่ให้เป็นองค์กรมหาชนแบบ สสส. โดยอาจยึดโยงอยู่กับคณะกรรมการอิสระด้านสิ่งแวดล้อมที่กำลังจะออกเป็นกฎหมายก็ได้

ในด้านสังคม เรามีกองทุนอยู่แล้วมากมายที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พ.ม.) คือกองทุนพัฒนาเด็กฯ กองทุนผู้สูงอายุฯ กองทุนส่งเสริมสวัสดิการสังคมฯ กองทุนฟื้นฟูคนพิการ และกองทุนต่อต้านการค้ามนุษย์ แต่ทั้ง 5 กองทุนนี้อยู่ในระบบราชการเช่นกันจึงไม่เอื้อต่อการสนับสนุนภาคประชาชนเท่าที่ควร ดังนั้นถ้าบูรณาการ 5 กองทุนขึ้นเป็นกองทุนพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยให้เป็นองค์การมหาชน ก็จะสามารถทำงานได้กว้างขวางและมีประสิทธิภาพกว่าที่เป็นอยู่แบบก้าวประโดด

ในด้านการเมือง เรามีกองทุนพัฒนาการเมืองที่ดูแลโดยสถาบันพระปกเกล้า แต่ยังไม่มีผลงานที่โดดเด่น แม้ในช่วงวิกฤตทางการเมืองก็ไม่เห็นบทบาทเท่าที่ควร อาจเป็นเพราะมีเงินไม่มาก และองค์กรแม่มีภารกิจอื่นจนล้นมือ ดังนั้นเมื่อครบเงื่อนไข 3 ปีตามที่กฎหมายกำหนดในปี 2554ควรพิจารณาให้เกิดการแยกกองทุนนี้ออกมาเป็นองค์การมหาชนอิสระ และเพิ่มภารกิจในการสนับสนุนการตรวจสอบทุจริต แก่องค์กรภาคประชาชนด้วยก็จะยิ่งครอบคลุมได้มากขึ้น

ฝากคณะกรรมการปฏิรูปและท่านอานันท์ ปันยารชุน ไว้พิจารณาด้วยนะครับ

พลเดช  ปิ่นประทีป

Be the first to comment on "3 ปีแรกของการปฏิรูปประเทศไทย"

Leave a comment

Your email address will not be published.